พิชัย รัตตกุล กับการกำกับดูแลกิจการลูกเสือ/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

วูดแบดจ์สองท่อน 3

 

พิชัย รัตตกุล

กับการกำกับดูแลกิจการลูกเสือ

 

กิจการลูกเสือไทย มีพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นปีที่ 63 ในรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระปรมินมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช) — ประมวลกฎหมายลูกเสือ (ฉบับใช้งาน) ว่าที่ ร้อยเอก ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา พ.ศ.2561–

ตามพระราชบัญญัติ มาตรา 4 “ลูกเสือ” หมายความว่า เด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า “เนตรนารี”

“บุคลากรทางการลูกเสือ” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ อาสาสมัครลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นสภานายก รองนายกรัฐมนตรีเป็นอุปนายก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

เมื่อนายพิชัย รัตตกุล (ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา และจะมีการบำเพ็ญกุศล 50 วัน ในวันที่ 18 เมษายนนี้) ร่วมเป็นคณะรัฐบาลที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ

นายพิชัยครั้งเข้าโรงเรียนได้ 1 ปี อายุ 7 ขวบ เรียน ป.1 ได้เป็นลูกเสือสำรอง บันทึกไว้ในหนังสือ “สุภาพบุรุษผู้นำทำเพื่อส่วนรวม พิชัย รัตตกุล ฯลฯ” (อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภา คนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานโรตารีสากล “ความจริงที่ผมอยากบอก”) – จริยา ธารมรรค เรียบเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนธันวาคม พ.ศ.2555 ราคา 275 บาท) ช่วงนั้นว่า การได้เป็นลูกเสือสำรองทำให้ได้อะไรดีๆ ในชีวิต อันดับแรกรักษาสัจจะ ซื่อสัตย์ เรามีคำปฏิญาณว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” สองคือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเด็ก ผู้หญิง คนแก่ ช่วยเหลือผู้ด้อยกว่าเรา และผมได้นำมาใช้ในชีวิตจริงๆ

“ครั้งหนึ่งตอน ป.3 ผมนั่งรถประจำทางจะกลับบ้าน เห็นคนแก่ขึ้นรถมาไม่มีที่นั่ง ผมลุกให้คนแก่นั่ง ซึ่งปัจจุบันเราจะไม่ค่อยได้เห็นภาพแบบนั้น ผู้ชายก็หมดน้ำใจ ไม่เป็นสุภาพบุรุษ ไม่รู้จักเสียสละ เห็นผู้หญิง คนแก่ หรือเด็กก็ไม่ยอมลุกให้นั่ง ทำท่าเฉย หรือไม่ก็นั่งหลับตา”

ผมรู้สึกชอบการเป็นลูกเสือมากๆ รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนดี ถึงแม้จะเรียนไม่ดี แต่ได้ทำอะไรดีๆ คือมีโอกาสบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ก็รู้สึกภูมิใจ…

“…กระทั่งเรียน ป.4 และสอบได้ลูกเสือเอก อายุ 9 ขวบ ทางโรงเรียนไม่บังคับ แต่ผมอยากได้แง่ง (เหมือนแง่งนายสิบ) สีแดง อยากได้มาก ก็ไปสมัครสอบ แต่สอบตกวิชาตีธง เราตีไม่เป็น สอบไม่ได้ แต่มันก็เป็นความภาคภูมิใจในการได้เป็นลูกเสือ…”

เมื่อนายพิชัย ซึ่งให้ความสนใจในกิจการลูกเสือตั้งแต่เป็นลูกเสือสำรองกระทั่งได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เข้ารับการฝึกอบรมลูกเสือในคณะลูกเสือแห่งชาติ ระดับผู้กำกับขั้นความรู้ชั้นสูง ATC (Advanced Unit Training Course) พร้อมกับนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างเข้ารับการอบรมในหลักสูตร ATC ทั้งสองคนพัก กิน นอน ในค่ายลูกเสือวชิราวุธทุกวันทุกคืนกระทั่งเสร็จสิ้นการอบรม

นายพิชัยขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในฐานะอุปนายกสภาลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ ค่ายวชิราวุธ อำเภอศรีราชา ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมงานนับหมื่นคนจากสมาชิกในภาคพื้น เมื่อ พ.ศ.2528

ทั้งยังยกฐานะกองลูกเสือ กรมพลศึกษา เป็นสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

ขณะอยู่ในคณะรัฐบาล นายพิชัยได้ให้การสนับสนุนกิจการลูกเสือโดยตลอด จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสภาลูกเสือแห่งชาติกิตติมศักดิ์ (ตลอดชีพ เป็นตำแหน่งเฉพาะตัว)

พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 (แทนพระราชบัญญัติลูกเสือ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2530) หมวด 5 เหรียญลูกเสือ และการยกย่องเชิดชูเกียรติ มาตรา 53 ให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดี ชั้นพิเศษ (เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับที่ 26 (จากลำดับสูงสุด) ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ประกาศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 มีนาคม 2536) ไว้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่งและได้มีอุปการคุณช่วยเหลือกิจการลูกเสืออย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่ง

(เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ มีมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงได้รับเป็นพระองค์แรก เป็นดวงตรา ด้านหน้าลักษณะเป็นรูปไข่พื้นลงยาสีน้ำเงิน ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3.3 เซนติเมตร กลางดวงตรามีตราหน้าเสือประกอบวชิรเงินล้อมด้วยเม็ดไข่ปลาสีทอง และมีรัศมีเงินโดยรอบแปดแฉกคั่นด้วยกระจังสีทอง เบื้องบนมีพระมหามงกุฎรัศมีฉลุโปร่ง และเลข “๙” สีทอง ด้านหลังกลางดวงตราเป็นดุม พื้นลงยาสีม่วงมีรูปตราของคณะลูกเสือโลก เบื้องล่างมีอักษรสีเงินว่า “เราจะทำนุบำรุงกิจการลูกเสือสืบไป” ที่ขอบส่วนบนของดวงตรามีห่วงห้อยแพรแถบสำหรับคล้องคอ ขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร มีริ้วสีเหลืองกว้าง 2.2 เซนติเมตร อยู่กลางริมทั้งสองข้าง มีริ้วสีขาวกว้าง 3 มิลลิเมตร และริ้วสีดำกว้าง 6 มิลลิเมตร-มาตรา 54-)

ผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ นับแต่ปี 2531 (หนังสือการประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2558) คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ อัครราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ (ระหว่างดำรงพระยศ ณ ขณะนั้น) และสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน

รองนายกรัฐมนตรี นายพิชัย รัตตกุล ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ปี 2532

ผู้ได้รับต่อมา มีอาทิ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร นายบุญสม มาร์ติน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นายอภัย จันทวิมล พล.ต.ต.สมควร หริกุล นายเพทาย อมาตยกุล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน พล.ท.เยี่ยม อินทรกำแหง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นางสุมน สมสาร นายพะนอม แก้วกำเนิด นายธรรมนูญ หวั่งหลี นายสุธรรม พันธุศักดิ์ นายอาณัฐชัย รัตตกุล

นายยงยุทธ วัชรดุลย์ นายบรรจง พงศ์ศาสตร์ นายกว้าง รอบคอบ นายโกวิท วรพิพัฒน์ เรือตรีหญิงสุรี บูรณธนิต นายอารีย์ วงศ์อารยะ นายนิคม อินทรโสภา นายจรวยพร ธรณินทร์ ท่านผู้หญิงเพ็ญศรี วัชโรทัย พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ นายสมมาต สังขพันธ์ พล.ร.ต.สมัคร หนูไพโรจน์ นายคงวุฒิ ไพบูลย์ศิลป ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัตฐิติ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา พล.อ.อาชวินทร เศวตเศรนี นายชวน ภูเก้าล้วน

นายประพัฒนพงศ์ เสนาฤทธิ์ พล.อ.อ.ณพฤษภ มัณฑะจิตร นายเดช วรเจริญศรี พล.อ.สุพิทย วรอุทัย นายศุภกร วงศปราชญ นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นายเศรษฐนันท์ อังกูรภาสวิชญ์ เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดี ชั้นพิเศษไว้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่งและได้มีอุปการคุณช่วยเหลือกิจการลูกเสืออย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่หนึ่ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เหรียญลูกเสือสดุดี และเหรียญลูกเสือยั่งยืนให้เป็นสิทธิแก่ผู้ได้รับพระราชทาน เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ ให้ตกทอดแก่ทายาทเพื่อรักษาไว้เป็นที่ระลึก (มาตรา 65)

นอกจากนั้น ยังมีเหรียญลูกเสือยั่งยืน (มาตรา 61) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการให้แก่บุคลากรทางการลูกเสือที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าปีด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทำงานด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดผลดีต่อกิจการลูกเสือ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด

(เท่าที่ทราบ เหรียญลูกเสือยั่งยืน คณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ว่าเป็นประการใดวันนี้จึงยังไม่มีการพิจารณาให้มีผู้ใดได้รับเหรียญนี้)

เรื่องของ “พิชัย รัตตกุล” ที่ปรากฏในหนังสือ “สุภาพบุรุษ ผู้นำ ทำเพื่อส่วนรวม ฯลฯ” น่าสนใจ อาทิ

ตรงข้ามเยื้องๆ กับบ้านที่ถนนพญาไทเป็นโรงเรียนปทุมวัน หน้าปากซอยคือ บ้านหมอทวี บ้านในซอยถัดจากร้านกาแฟหน้าปากตรอกจุฬาซอย 11 เป็นบ้านที่ผลิตนักไวโอลินมือ 1 ในประเทศไทย ส่วนหมอทวีเป็นคนมีบทบาทสำคัญกับคุณพ่อของผมในภายหลัง เพราะคุณพ่อไม่เชื่อฟังใคร แต่เชื่อหมอทวีคนเดียว

เรื่องราวของหมอทวียังอยู่ในความทรงจำของผมอย่างชัดเจน คือ ทุกวันผมจะต้องลงรถเมล์แล้วเดินเข้าบ้าน ต้องเดินผ่านบ้านของหมอทวี ผมก็จะได้ยินเสียงสองเสียง

เสียงแรกคือเสียงไวโอลิน อิ๊ดๆ อ๊อดๆ ฟังไม่ระรื่นหูเลย มันจะดังขึ้นก่อน หลังจากนั้นก็จะได้ยินเสียงคนถูกเฆี่ยนเสียงดังขวับ…ขวับ… ฟังแล้วสยอง ขนลุก รู้สึกเจ็บเหมือนถูกตีเสียเอง

แล้วเสียงที่สองตามมาก็คือ เสียงร้องไห้ เสียงคนที่ร้องไห้คือ เสียงของเด็กเล็กๆ คนหนึ่งที่ถูกพ่อกำกับการฝึกสอนให้สีไวโอลิน บรรยากาศที่ผมเดินผ่านมักจะเป็นเช่นนี้ประจำ แต่เสียงของไวโอลินก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ จากอีอี้…อี๊แอ…ออดแอด ก็เริ่มฟังเพราะเสนาะหู จนตอนหลังหลายปีต่อมา เด็กชายคนนี้คือนักไวโอลินอันดับ 1 ของเมืองไทย เขาชื่อ สุทิน เทศารักษ์

…คุณพ่อเอาแนวทางคนโบราณมาใช้กับผมที่บอกว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี…!”

“ไม้เรียวสร้างคนเป็นนายกรัฐมนตรี” ไม่เพียงแต่นายกฯ รองนายกฯ อย่างผมก็ได้ดีเพราะไม้เรียว

พิชัยบอกเองว่า – คุณพ่อชี้หน้าว่าผมเสมอว่า “แกไม่ใช่หัวไม่ดี แต่แกขี้เกียจ ไม่ตั้งใจ ก็เลยเรียนแย่”

 

พิชัย รัตตกุล ถูกคุณพ่อส่งไปเรียนที่ฮ่องกงซึ่งปรับตัวได้กลายเป็นคนใหม่ เป็นเด็กเรียนเก่ง ตั้งใจเรียนตามที่พ่อเคยบอกเคยพูดว่า ผมหัวดี แต่ที่ไม่ดีคือขี้เกียจและไม่ตั้งใจ พอผมตั้งใจ ผมเรียนได้ดีมาก อยู่ในระดับต้นๆ และคิดว่าจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้

…แต่ความคิดกับความเป็นจริงก็ไม่ได้ไปทางเดียวกัน เพราะเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นกับชีวิตของผมเสียก่อน! …คือเมื่อตอนที่ผมเรียนอยู่ ม.5 ผมอายุ 15 ปี ถูกทหารจับเป็นเชลย เป็นเรื่องไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น…

จริยา ธารมรรค บันทึกเรื่องของพิชัย รัตตกุล ถูกจับไปเป็นเชลยศึกที่ฮ่องกง น่าตื่นเต้นว่า

วันนั้นตรงกับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เป็นวันจันทร์ แต่เป็นวันโรงเรียนหยุด ผมนัดหมายกับเพื่อนๆ ไปเล่นสเก๊ตกัน…แต่ปรากฏว่าไมได้ไป เพราะมีทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาทางเมืองจีน เกาลูน ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นเริ่มทำศึกโจมตีฐานทัพสหรัฐที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ บนเกาะฮาวาย และที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ตลอดจนประเทศไทย…โรงเรียนของผมอยู่ใกล้ป้อมปืนใหญ่ ซึ่งอยู่หลังคุก…นักเรียนที่เป็นคนฮ่องกงก็ถูกเรียกกลับบ้าน เหลือนักเรียนที่เป็นนักเรียนต่างถิ่นมีทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รวมกันราวสามสิบกว่าคน…

พอเกิดรบกัน ครูใหญ่ และภริยาก็อยู่รวมกับเรารวมทั้งครูจีน นอกจากนี้ ยังมีครูฝรั่งอีก 3 คน…ซึ่งขณะนั้นการรบยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะที่เกาลูน…เราทั้งหมดไปไหนไม่ได้ ญี่ปุ่นพยายามส่งทหารมายึดด้วยการยกพลขึ้นบก…พวกเราพลอยโดยลูกหลงหลายสิบลูก ได้เห็นการยิงต่อสู้และสุดท้ายการต่อสู้ชนิดถึงตัวที่เรียกว่าประจัญบานก็เกิดขึ้น

ชั้นล่างที่พวกเรานอน จำได้ว่าคืนวันนั้นเป็นวันคริสต์มาส 25 ธันวาคม แต่เป็นวันที่มีแต่เลือด และความตายเกลื่อนชั้นล่างของโรงเรียน…

โรงเรียนของเราเปรียบเสมือนป้อมปราการสุดท้ายก่อนที่ทหารญี่ปุ่นจะเข้าถึงป้อมปืนใหญ่ได้

ตอนช่วงประมาณตี 4 พวกผมกำลังนอนหลับต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงปืนสนั่นหวั่นไหว มีการยิงกันอย่างรุนแรงที่สนามเทนนิสและชั้นล่างของตึกนอนที่พวกเรานอนอยู่…เสียงปืนกลดังสนั่นไปทั่วบริเวณ พวกเราตาเหลือกคลานมารวมเป็นกลุ่มเดียวกันในห้องนอนชั้น 2 รวมกันกว่า 30 กว่าคนเบียดเสียดยัดเยียดเพราะความกลัวสุดขีด… ผมยอมรับว่ามีความกลัวที่สุดในชีวิต กลัวจนตัวสั่น ไม่เคยกลัวอะไรเท่านี้มาก่อน เสียงปืนดังกระแทกหูและใจผมเหลือเกิน

ผมเชื่อว่าเราทุกคนรู้สึกกลัวไม่ต่างกัน

 

…กระทั่ง 6 โมงเช้า เสียงรองเท้าทหารหลายคนกระทบพื้นดังแทรกขึ้นท่ามกลางความเงียบ เสียงนี้มาจากข้างนอก…ปึง…ปึง…ปึง!!!

เสียงดังใกล้เข้ามาทุกที พวกเรามองหน้ากัน สายตาประหวั่นพรั่นพรึงนึกภาวนาอยู่ในใจ ไม่อยากให้เป็นทหารญี่ปุ่นเลย ขอให้เป็นทหารอังกฤษเถอะ จะได้ปลอดภัย ถ้าเป็นญี่ปุ่นอาจจะตายหมู่กันทั้งหมดนี่ ขณะที่นึกถึงพ่อแก้วแม่แก้วอยู่นั้น ประตูห้องก็ถูกถีบอย่างแรงเปิดผางเข้ามา ภาพที่ปรากฏคือ ทหารญี่ปุ่นหลายคนถือปืนกลจังก้า บ้างก็ถือปืนยาวติดดาบปลายปืน อยู่ในท่าเตรียมพร้อมสาดกระสุนเข้าใส่ ดวงตาของทุกคนจ้องเขม็งมายังพวกเรา ผมเห็นดวงตาเพชฌฆาตของพวกนี้แล้วแทบช็อก เพราะทุกแววตาเป็นนักฆ่าเลือดเย็น…

สิ่งที่พวกเราแทบอาเจียนก็คือ กลิ่นเหม็นที่โชยมาปะทะจมูก ทั้งกลิ่นคาวเลือด กลิ่นหงื่อไคล เหม็นราวกับกลิ่นซากศพ บ่งบอกถึงว่าพวกทหารเหล่านี้กรำศึกมาอย่างหนัก “ไม่ได้อาบน้ำ” หรือทำความสะอาดเนื้อตัวกันเลย…

หนึ่งในนั้นตะโกนเสียงดังพูดภาษาญี่ปุ่น พวกเราฟังไม่ออก ไม่รู้ว่าพูดอะไร สักพักก็พากันออกไป ผมรู้สึกหายใจคล่องขึ้น สีหน้าของคนในห้องดูผ่อนคลายแล้ว กลิ่นหายเหม็นรู้สึกปลอดภัย คล้ายกับว่ารอดไปได้ครั้งหนึ่ง

 

พอสายหน่อย…ทหารญี่ปุ่นก็เข้ามาอีก ก่อนจะเข้ามา ได้ยินเสียงภรรยาครูใหญ่พูดภาษาอังกฤษกับพวกนั้นว่า “They are just students please don’t harm them”

แล้วสักครู่เสียงภรรยาครูใหญ่ก็เงียบไป สักพักได้ยินเสียงครูอีกคนขึ้นมา ส่งภาษากับพวกทหารญี่ปุ่น เรามาทราบภายหลังว่า ครูคนนั้นถูกแทงตาย แต่ภรรยาอาจารย์ใหญ่กับอาจารย์ใหญ่ ซึ่งต่อมาภายหลังเราก็รู้ว่าทั้งคู่รอดจากการถูกทหารญี่ปุ่นฆ่า แต่ถูกจับคุมขังอยู่ในค่ายเชลยศึก ตลอดเวลา 4 ปีแห่งสงคราม…

ต่อมาทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามากวาดตามองไปทั้งห้องแล้ว หนึ่งในนั้นยศชั้นนายสิบก็เอาดาบปลายปืนกระชากสายไฟในห้องลงจนหมด แล้วสั่งให้เรารวมกลุ่มกัน ก่อนจะใช้สายไฟมัดพวกเราเอามือไข้วหลังรวมเราไว้ 30 กว่าคน ผูกไว้เป็นพวงเดียวกัน เรียกว่าเราลุกหรือขยับตัวกันไม่ได้ คือ ถ้าใครขยับก็จะต้องกระเทือนกัน เจ็บไปหมด จนต้องมีการพูดบอกกันภายหลังว่า “เฮ้ย…จะลุกจะนั่งช่วยบอกด้วยจะได้ทำพร้อมๆ กัน”

พวกเราถูกจับมัดอยู่พักใหญ่ๆ ทหารญี่ปุ่นยศนายร้อยเดินเข้ามาปล่อยตัวพวกเราจากการมัด พวกเราดีใจได้เดี๋ยวเดียว แล้วต้องเกือบช็อกตาย เมื่อทหารญี่ปุ่นชี้ไปที่นาฬิกาข้อมือที่เขาสวมอยู่ แล้วยกนิ้ว 3 นิ้ว ก่อนจะแสดงท่าเชือดคอ ท่าทีของเขาเอาจริงจัง ไม่ได้ล้อเล่น ทำเอาพวกเราหัวใจแทบหยุดเต้น…

บ่าย 3 โมง เวลาตายมาถึงแล้ว!

กระทั่งเช้า…เมื่อไม่เห็นว่ามีเหตุร้ายอะไร ผมกับเพื่อนเกิดอาการหิว เราทุกคนต่างหิว เพราะไม่มีอาหารตกถึงท้องมาตั้งแต่เมื่อวาน เรากลัวกันจนลืมหิว ผมจึงชวนเพื่อนสามสี่คนลงไปข้างล่างเพื่อหาของกินในครัว ตอนนั้นข้างล่างเงียบมาก เงียบเหมือนไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย

ผมกับเพื่อนต่างย่องกันลงมา แต่ต้องตกใจพากันผงะเกือบล้มทั้งยืนกับภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า!?

…ผมไม่เคยคิดเลยว่า ตัวเองต้องเดือดร้อนและได้รับผลจาก “สงคราม” มากมายขนาดนี้ ทำให้ความฝันทั้งหมดสลายไป…

อนาคตผมดับวูบ…จำเป็นต้องไปทำงานทั้งที่ยังไม่จบชั้นมัธยมปลาย!

 

ชีวิตพิชัย รัตตกุล จากวันนั้น ปรับเปลี่ยนมากระทั่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานโรตารีสากล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับข้อหา “คอมมิวนิสต์” จากการไปสร้างสัมพันธ์กับเวียดนาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2529 ขึ้นสู่ความนิยมสูงสุด ได้ ส.ส.กว่า 100 คน แต่หัวหน้าพรรคไม่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เจ้าตัวถึงกับรู้ว่า ความแน่นอนอาจเป็นความไม่แน่นอนได้ และภาษิตไทยที่ว่า “แข่งเรือแข่งพายพอจะสู้ได้ แต่แข่งบุญวาสนานั้นไม่สามารถสู้ได้”

คุณพิชัยพูดเรื่อง “ลาตาย” ไว้กับ “MATICHON TV” เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 นำมาออกอากาศ “Exclusive” สนทนา “พิชัย รัตตกุล” ก่อนลาจาก เปิดแผนและขั้นตอนการเตรียมตัวครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ตอนหนึ่งว่า

“…สั่งคุณเลขาฯ ไว้แล้ว… ผมตายขอใส่กางเกงแพร เสื้อผ้าป่านเหมือนอย่างที่ผมนอนกลางคืนที่บ้านนี้ อย่าไปใส่เสื้อขาวเต็มยศ ผมไม่เอา…ผมไม่ต้องการ เป็นเหมือนคนเพลน คนธรรมดา คนธรรมดาตายก็ไม่มีชุด เค้ามีเสื้อผ้าคนชาวนาก็มีม่อฮ่อม ผมต้องการอย่างนั้น นอนสบายเสื้อผ้าป่าน กางเกงแพร และนอนใส่หีบ ขอให้ดีหน่อยนะ ให้มีหมอนด้วย… ผมชอบ

“หนึ่ง ผมไม่สูบบุหรี่ ผมไม่กินเหล้า ไม่กินเบียร์ แอลกอฮอล์ผมไม่กิน ผมกินข้าวไม่อิ่ม กินข้าวให้คิดว่าจะอิ่ม…คิดว่าจะอิ่มแล้วพอ หยุด มันอิ่มเอง ถ้าคิดว่าต้องกินให้อิ่มเลิกกิน แล้วมันจะอิ่มเกินไป สอง เมื่อตอนสมัยผมหนุ่มๆ ผมออกกำลังกาย (ทำท่าชกมวย) นี่ไม่ได้ไปชกใครนะ ไม่ใช่ ออกกำลังกายเล่นเทนนิส ว่ายน้ำ ผมเล่นกีฬาทุกอย่าง วิ่ง 1,500 เมตร กระโดดสูง เล่นบาสเกตบอล เล่นฮ็อกกี้ เล่นสเก๊ต ผมเล่นทุกอย่างตอนเป็นนักเรียน ผมคิดว่าผมสร้างพลังขึ้นมา ไม่ได้กินยา ไม่มียากินพิเศษที่จะให้กำลัง ไม่มีเลย ไม่เคยกินวิตามิน ไม่เคยกินอะไรทั้งสิ้น…

“แต่ผมกินอาหารระวัง ขณะนี้ผมไม่มีโรค มีโรคอย่างเดียวว่า หมอกลัวว่าโพแทสเซียมในตัวสูงเกินไป ถ้าสูงมากเกินไปมันจะไปถึงตับ ถึงไต ถึงหัวใจได้ หมอบอกให้ผมลด หนึ่งลดน้ำหนักก่อน เพราะน้ำหนัก 95 กิโล หมอโรงพยาบาลกรุงเทพบอกท่านต้องลดน้ำหนักก่อน ผมถามหมอว่าต้องลดกี่กิโล 95 ตอนนี้ ขอลด 5 กิโล ผมบอกหมอ ผมท้าหมอเลย ผมไม่เอา 5 กิโล ผมจะเอา 15 กิโล ผมหยุดกินข้าว ไม่กินข้าว คาร์โบไฮเดรต กินผักสลัดตอนเย็นๆ ภายใน 4 เดือน 5 เดือน ผมลด 15 กิโล ได้ 80 พอดี…

“แล้วผมไม่เคยเที่ยวที่ไหน ขณะนี้ผมอยู่คนเดียว ภรรยาผมก็เสียแล้ว เสียไป 5 ปีแล้ว จนบัดนี้ผมยังคิดถึงภรรยาผมอยู่ แล้วผมไม่เผา ผมจะเผาพร้อมกับภรรยาผม แล้วทุกวันเสาร์ที่ภรรยาผมเสีย ผมไปเยี่ยมเค้าที่วัดธาตุทอง ทุกวันเสาร์ผมอยู่กรุงเทพฯ ผมต้องไปเยี่ยมเค้า ไปเยี่ยมอย่างไร ศพวางไว้อย่างนั้น หีบศพวางไว้อย่างนั้น แล้วผมก็นั่งอย่างนี้ นั่งคุยกับเค้า คิดถึงความหลัง เรารู้จักกันมา 3 ปี แต่งงานอยู่ด้วยกันมา 69 ปี เบ็ดเสร็จรู้จักกันมา 72 ปี คุณลองคิดดูสิว่าคนที่อยู่กันมา รักกันมา 72 ปี มันลึกซึ้งขนาดไหน โดยเฉพาะเวลาเค้าป่วย ผมไปหาเค้าในห้อง เค้าก็จะขอมือมา ขอจับมือพ่อหน่อยเถอะ…

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งทำให้ผมปลื้มใจว่าผมมีภรรยาคนเดียว มีลูกที่ดี พิจิตต อาณัฐชัย และหลานที่ดี อันนี้ทำให้ผมอายุ…หรือแม้จะอยู่คนเดียวก็มีความสุข ไม่วายคิดถึงภรรยา… และหนังสือแจกในงานศพผมและภรรยาผม ผมเขียนเสร็จหมดแล้ว ปึก เสร็จหมดเลย รวมทั้งคำสอนสั่งผมเป็นไมโครโฟน ผมอัดเสียงไว้ ผมจะพูดมาก่อน สมมุติว่าจะมีพระองค์ใดมางานพระราชทานเพลิงศพ ผมจะให้เปิดเพลง ความฝันอันสูงสุด ที่ผมรักมาก เพลงนี้ และผมจะพูดออกมาว่าผมจะไปแล้ว ผมขอลาเพื่อนแล้วมันคงไม่ได้พบกันอีกแล้ว แต่ผมจะรักเพื่อนตลอดไป…

“ผมขอเพื่อนอย่างเดียวขอสุดท้าย เวลาขึ้นเมรุ อย่าไปมุงกันเต็มเลย น่าเกลียด ขอให้โปรดเรียงลำดับเหมือนอย่างที่เจ้าคุณวัดชลประทานสั่งไว้ตลอดเวลา ไม่นั้นคุณจะเห็นบางคนบางวัดจะเห็นคนเต็มแย่งกันขึ้นไปวางดอกไม้ ผมบอกขอร้องอย่างเดียวก่อนที่คุณจะมาเผาผม ผมไม่หนีไปไหนแล้ว ตายนอนอยู่ 2 คน ผมไม่หนีไปไหนแล้ว…ให้มันมีระเบียบเรียบร้อยมันยังน่าชื่นชมกว่า ผมขออย่างเดียว หวังว่าเพื่อนฝูงคงให้ ผมเตรียมขนาดนั้นเลย…

“นี่ผมเล่าให้ฟังเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนตัวผมคิดว่าคนเราต้องคิดถึงอนาคต ว่าเราถึงเวลาต้องตาย เราต้องเตรียมตัวอะไรไว้บ้าง…

“ถ้าเราเตรียมตัวทุกอย่างไว้แล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อย ฉันใดฉันนั้น การเมืองก็เหมือนกัน การมียุทธศาสตร์ถูกต้องดี แต่การวางยุทธศาสตร์ 20 ปี นั้น มันทำไม่ได้หรอก นี่เล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังด้วย…”

 

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายพิจิตต รัตตกุล บุตรชายคนโต แจ้งว่านายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าเพรรคประชาธิปัตย์ เข้ารักษาตัวด้วยอาการป่วยมะเร็งปอด ที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ทั้งนี้ ก่อนถึงแก่อสัญกรรมได้สั่งเสียครอบครัวไว้เรียบร้อยทุกประการ

นายพิชัย รัตตกุล เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2469 สิริรวมอายุ 96 ปี