โรมัน อบราโมวิช จากสแตมฟอร์ดบริดจ์ สู่เวทีเจรจาสันติภาพ/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Russian billionaire and owner of Chelsea football club Roman Abramovich arrives at a division of the High Court in central London October 31, 2011. REUTERS/Andrew Winning/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

โรมัน อบราโมวิช

จากสแตมฟอร์ดบริดจ์

สู่เวทีเจรจาสันติภาพ

 

ภาพข่าวการนั่งโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนจากรัสเซีย และยูเครน ที่พระราชวังดอลมาเบห์เช่ ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี การเจรจาครั้งสำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

ในภาพข่าวนั้นมีคนคนหนึ่งที่มีใบหน้าคุ้นเคยโดยเฉพาะคนในวงการกีฬา บุคคลผู้นั้นคือ นายโรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เจ้าของทีมเชลซี สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่รู้จักกันดี

ครั้งนี้ อบราโมวิชไม่ได้นั่งอยู่บนอัฒจันทร์ที่ “สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์” รังเหย้าของสิงโตน้ำเงินครามในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อย่างที่เคย แต่วันนั้น มหาเศรษฐีวัย 55 ปี เป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนทีมเจรจาของรัสเซียที่ทั่วโลกจับตามองว่าจะยุติสงครามที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ลงได้อย่างไร

“นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน” ประธานธิบดีตุรกี ชาติที่รับหน้าที่เป็นตัวกลางของการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน กล่าวถึงบทบาทของอบราโมวิชในวันนั้นว่า “อบราโมวิชเข้าร่วมการเจรจาในฐานะตัวแทนจากรัสเซีย” และนั่นแสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้นี้ได้รับ “ความไว้วางใจ” จากรัฐบาลรัสเซีย

รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีอย่าง “เมฟลุต คาวูโซกลู” ระบุถึงอบราโมวิชด้วยว่ามีความพยายามอย่างจริงใจเพื่อสันติภาพนับตั้งแต่วันแรกของสงคราม และมีส่วนร่วมกับแนวทางทางการทูตใน “แง่บวก”

ทางฝั่งรัสเซียเอง “ดมิทรี เปสคอฟ” โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ก็ระบุถึงอบราโมวิชด้วยว่า แม้อบราโมวิชไม่ใช่ตัวแทนเจรจาอย่างเป็นทางการของรัสเซีย แต่มีส่วนในการประสานการติดต่อสื่อสารระหว่างรัสเซียและยูเครนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

โรมัน อบราโมวิช เป็นชาวรัสเซียลูกครึ่งอิสราเอล-โปรตุกีส เกิดในปี 1966 เสียพ่อและแม่ไปตั้งแต่อายุก่อน 4 ขวบ และถูกเลี้ยงดูขึ้นมาโดยญาติ อบราโมวิชใช้ชีวิตวัยเด็กในสาธารณรัฐโคมี ตอนเหนือของรัสเซีย

อบราโมวิชเคยทำธุรกิจหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตตุ๊กตา ทำฟาร์มหมู ค้าน้ำมัน ค้าไม้ น้ำตาลและอื่นๆ ก่อนจะสร้างความร่ำรวยขึ้นมาในช่วงเวลาหลายปีหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในทศวรรษที่ 90

โดยอบราโมวิชได้ครอบครองสินทรัพย์ของรัฐบาลรัสเซียในราคาต่ำกว่าตลาดจากนโยบายหาเงินเข้ารัฐอันอื้อฉาวที่เรียกว่า “เงินกู้แลกหุ้น” เกิดการเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของจากรัฐสู่เอกชน โดยเอกชนได้จำนวนหุ้นความเป็นเจ้าของไป ส่วนรัฐบาลได้เงินกู้มาใช้จ่าย

หลังจากซื้อทีมเชลซีในปี 2003 อย่างที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าอบราโมวิชเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชูคอตตา ดินแดนที่มีประชากรเบาบางทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย ระหว่างปี 2000-2008 และใช้เงินลงทุนในพื้นที่ซึ่งพัฒนาน้อยที่สุดในประเทศไปเป็นจำนวนมาก

อบราโมวิชยังเคยเป็นเจ้าของร่วม สถานีโทรทัศน์ชาแนลวัน ของรัสเซีย โดยถือหุ้นร่วมกับรัฐบาลรัสเซีย สถานีโทรทัศน์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเสนอข่าวเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลรัสเซียในช่วงสงครามยูเครนที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ซึ่งบรรณาธิการข่าวหญิงคนหนึ่งถือป้ายประท้วงรัสเซียออกรายการสดจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

อบราโมวิชปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นชาแนลวัน ลงเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ก่อนจะขายหุ้นส่วนที่เหลือให้กับธนาคารของรัสเซียในเดือนมีนาคมปี 2019

ผลกระทบจากการเปิดสงครามของรัสเซียในยูเครน ส่งผลกระทบกับทรัพย์สินของอบราโมวิชโดยตรง โดยนิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า ทรัพย์สินสุทธิของอบราโมวิชลดลงเหลือ 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากก่อนเกิดสงครามที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงเกือบครึ่งเลยทีเดียว

 

แม้จะมีชื่อเสียงบนเกาะอังกฤษในฐานะเจ้าของทีมฟุตบอลมานานเกือบ 19 ปี แต่เป็นที่รู้กันดีว่าอบราโมวิชเป็นคนขี้อาย และไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ แต่เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา อบราโมวิชออกแถลงการณ์ส่วนตัวที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยประกาศขายทีมเชลซี แม้ว่าการคว่ำบาตรของทางการอังกฤษจะทำให้อบราโมวิชไม่สามารถรับเงินจากการขายดังกล่าวได้ก็ตาม

แถลงการณ์ถูกเขียนอย่างระมัดระวัง โดยไม่วิจารณ์การรุกรานของรัสเซียเลย โดยอบราโมวิชระบุว่าจะมีการตั้งมูลนิธิ เพื่อประโยชน์ของเหยื่อสงครามในยูเครนทุกคน รวมไปถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูระยะยาวในยูเครนด้วย

บทบาทของอบราโมวิชในกระบวนการเจรจาสันติภาพนักวิเคราะห์ระบุว่า เป็นผลประโยชน์โดยส่วนตัวของอบราโมวิชเอง นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงบทบาทที่จะทำให้ได้รับการไว้วางใจจากชาติตะวันตกกลับคืนมา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสดีสำหรับอบราโมวิชที่จะได้อยู่ในฝ่ายที่ถูกต้องในหน้าประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม อบราโมวิชก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าเป็นบุคคลวงในใกล้ชิดกับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ความสัมพันธ์ที่ทำให้อบราโมวิชคงความร่ำรวยเอาไว้ได้อย่างยาวนาน

ขณะที่อบราโมวิชก็เลี่ยงการถูกอายัดทรัพย์บางส่วนจากการคว่ำบาตรด้วยการนำเรือยอชต์ 2 ลำอย่าง “อีคลิปส์” และ “โซลาริส” ไปจอดไว้ที่ท่าเรือในประเทศตุรกีที่ไม่ได้ร่วมคว่ำบาตรกับอียู

อบราโมวิชเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกันว่า บทบาทของอบราโมวิชในการเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงการพีอาร์เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของอบราโมวิช ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อสันติภาพ มีเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้

แต่ที่ทุกคนรู้และเห็นร่วมกันก็คือหนทางที่จะยุติสงครามในครั้งนี้ก็คือการเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่ “อบราโมวิช” กำลังพยายามอยู่ในเวลานี้นั่นเอง