อสังหาฯ ปะทะ 2 วิกฤตซ้อน | ก่อสร้างและที่ดิน

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

อสังหาฯ ปะทะ 2 วิกฤตซ้อน

 

เวลานี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ใหญ่ 2 วิกฤตพร้อมๆ กัน วิกฤตโควิด แล้วตามซ้ำด้วยวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

วิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้เกิดปัญหาด้านกำลังซื้อตกต่ำลง เพราะการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ปิดกิจการ การเลิกจ้าง ลดเงินเดือน ลดชั่วโมงการทำงาน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว บันเทิง และเกี่ยวเนื่องต้องหยุดกิจการ ธุรกิจบริการอื่นๆ ก็ลดหลั่นกันลงมา

แต่กำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดต่ำลงก็ไม่ได้ลดทั้งหมดทุกเซ็กเมนต์ตลาด ที่อยู่อาศัยแนวราบระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นมากลับขายดีขึ้นกว่าเดิม เพราะผู้คนใส่ใจกับคุณภาพชีวิตและให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตมากขึ้น

กลางปี 2564 การผลิตและฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วโลกได้มากขึ้น เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น เพราะกำลังการผลิตสะดุดขาดหายไปช่วงโควิดระบาด ที่เห็นได้ชัดในวงการอสังหาฯ คือเหล็กเส้น

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างอันเนื่องมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการปรับตัวของการผลิตสินค้าเหล่านี้ ก็ค่อยๆ มีแนวโน้มกลับมาสมดุลเมื่อมีกำลังการผลิตมากขึ้นตามลำดับ

 

วิกฤตใหม่ล่าสุด คือวิกฤตราคาพลังงาน อันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ส่งผลต่อมาถึงราคาสินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้แก่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ อิฐมวลเบา ฯลฯ และที่สำคัญต้นทุนการขนส่งซึ่งมีผลกับต้นทุนสินค้าทุกประเภท

สำหรับงานก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย เวลานี้ประเมินกันคร่าวๆ เบื้องต้นว่า น่าจะเพิ่มขึ้นรวมๆ เกือบ 10% แล้ว

วิกฤตหลังสุดมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปทันที ราคาสินค้า ราคาอาหารปรับขึ้น ส่งผลให้ดัชนีอัตราเงินเฟ้อสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ผ่านมาสูงขึ้นเป็น 5.73% คาดเฉลี่ยทั้งปี 4-5%

ความรุนแรงของผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับไทย คือการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังเดินเครื่องอยู่ ระหว่างโควิดระบาด แต่เมื่อเกิดสงครามดังกล่าว การส่งออกก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ถึงขนาดธนาคารโลกต้องประเมินอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศไทยใหม่จากเดิมเมื่อเดือนมกราคมให้ปี 2565 นี้ไทยจะโต 3.9% ล่าสุดแถลงเมื่อ 5 เมษายน ลดลงเหลือ 2.9% ถือว่าลดมากเป็นพิเศษเลยทีเดียว เทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ จีน เกาหลี ไต้หวัน ธนาคารโลกลดประมาณการเติบ GDP ลงเช่นกัน แต่ลดน้อยกว่าเพียง 0.4% จาก 5.4% ลดเหลือ 5.0%

 

สรุป อสังหาฯ เวลานี้ต้องเจอ 2 วิกฤตซ้อน วิกฤตโควิดมีผลทำให้กำลังซื้อลดลง วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

จะว่าไปแล้ว ไทยมีอีกวิกฤตหนึ่ง เป็นวิกฤตที่ 3 ที่มาซ้ำเติม คือวิกฤตความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

จากการประเมินเรตติ้งของสถาบันทางเศรษฐกิจระดับโลกก็เห็นได้

หรือแค่เปิดข่าวสารโซเชียล หรือเปิดโทรทัศน์ก็เห็น

โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายว่า ความสามารถอยู่ในระดับใด •