‘ทิ้งปืน เก็บคาโนลี่’ 50 ปี เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ (ในไทยแลนด์)/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ธิรินทร์

 

‘ทิ้งปืน เก็บคาโนลี่’

50 ปี เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ (ในไทยแลนด์)

 

ซีนหนึ่งของหนังเรื่อง เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ คลีเมนซา คนสนิทของดอน วีโต้ คอร์เลโอนี ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ “เก็บ” พอลลี่ คนขับรถของดอน วีโต้ ผู้หักหลังทำให้เขาถูกลอบยิงแทบเสียชีวิต

ในวันปฏิบัติการ คลีแมนซาวางแผนให้พอลลี่ขับรถพาเขาไปซื้อของ เมื่อพอลลี่ขับรถมารับเขาถึงบ้านดอน วีโต้ ลูกสาวของดอน วีโต้ ซึ่งไม่ทราบถึงปฏิบัติการนี้ เดินออกมาส่งคลีเมนซาที่รถ เพื่อเตือนว่า “อย่าลืมซื้อคาโนลี่นะ”

คลีเมนซาตอบรับในขณะอยู่ในรถ

แล้วพอลลี่ก็ขับรถออกไป ในระหว่างเดินทางกลับ คลีเมนซาขอให้พอลลี่จอดรถข้างทางเพื่อให้ตัวเองลงไปทำธุระ

เมื่อทำธุระเสร็จ ยังไม่ทันที่จะกลับมาถึงรถ มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด พอลลี่ถูกสังหารโดยผู้ที่นั่งอยู่หลังรถ

เมื่อคลีเมนซามาถึงที่รถ เขาให้มือสังหารทิ้งศพพอลลี่ ทิ้งรถ และบอกต่อว่า “ทิ้งปืนซะ เก็บมาแต่คาโนลี่”

คาโนลี่ เป็นของหวานอิตาเลียน ทำด้วยแผ่นแป้งที่ถูกนำมาม้วนเป็นท่อน มีรูใหญ่ตรงกลาง เอาไว้ใส่ไส้ครีมรสชาติต่างๆ

คาโนลี่ที่ทำเสร็จจะมีลักษณะคล้ายทองม้วน แต่ทำด้วยแป้งที่หนากว่า แลเห็นครีมที่หัวท้าย

ซีนสั้นๆ ซีนนี้ แม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่ากับซีนอื่นใน เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ แต่ก็เป็นซีนที่สื่อถึงเนื้อหาหลักของหนังที่ว่าด้วยอำนาจ อาชญากรรม ความอำมหิต ความภักดี ความรักในครอบครัว และวัฒนธรรมอิตาเลียน

ประโยค “ทิ้งปืน เก็บคาโนลี่” (Leave the Gun, Take Cannoli) กลายเป็นชื่อหนังสือเล่มใหม่ที่เขียนเกี่ยวกับหนัง เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ โดย มาร์ค ซีล คอลัมนิสต์ของนิตยสาร Vanity Fair วางจำหน่ายเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว น่าจะเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของหนังเรื่องนี้

ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มีหนังสือเกี่ยวกับ เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ที่ไม่ใช่นิยายต้นแบบของมาริโอ พูโซ วางขายหลายสิบเล่ม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ระลึกปกแข็ง ราคาแพง หนังสือแนววิจารณ์เชิงลึก หนังสือแนวเบื้องหลังการถ่ายทำ ซึ่งมีทั้งที่เขียนโดยผู้กำกับฯ ฟรานซิส คอพโพล่าเอง หรือคนอื่น หนังสือเกี่ยวกับมาเฟีย หนังสือที่ตีพิมพ์บทภาพยนตร์ทั้งบท ฯลฯ

ถึงกระนั้นก็ตาม หนังสือเล่มใหม่ของมาร์ค ซีล ก็ยังเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งในหมวดหนังสืออ้างอิงสำหรับภาพยนตร์บน Amazon ทั้งในหมวดหนังสือปกแข็ง และในหมวดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ในขณะนี้

สำหรับตัวหนัง เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ นั้น ก็ได้รับการเวียนกลับมาฉายอยู่หลายรอบในวาระสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในโรงภาพยนตร์หรือบนจอโทรทัศน์ในประเทศสหรัฐ หรือแม้แต่การเป็นเจ้าของหนังเสียเอง ด้วยการซื้อแผ่นในยุค DVD มาจนถึงยุค Blu-Ray หรือแม้แต่การมีให้ชมแบบสตรีมมิ่ง

ที่ในบ้านเราก็ได้ชมกันเมื่อปีที่แล้ว แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า การมาลงโรงใหม่ของ เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ในวาระครบ 50 ปีในระบบ 4K ในช่วงที่คนยังไม่แน่ใจกับการระบาดคลื่นล่าสุดของโรคโควิด และยังสลดใจกับการเกิดสงครามในยุโรป หนังเรื่องนี้ก็ยังเป็นหนังที่ทำรายได้เฉลี่ยต่อหนึ่งโรงฉายสูงสุด สูงกว่าหนังใหม่ทุกเรื่องที่เปิดฉายในช่วงสุดสัปดาห์เดียวกัน รายได้ทั่วโลกในสัปดาห์นั้นทำได้มากกว่าหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนในบ้านเรา ทวีตจาก UIP ที่นำหนังมาฉายใหม่ ระบุว่าในเวลาหนึ่งสัปดาห์ มีคนไทยเข้าชม เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ในโรงจำนวนมากกว่า 2,700 คน ซึ่งนับว่าไม่น้อย จนทำให้มีการยืดเวลายืนโรงออกไปอีก

หากจะย้อนหลังไปประมาณ 50 ปี ในประเทศไทย หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เกี่ยวกับเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ น่าจะได้แก่ เพลงโรแมนติก ชื่อ Speak Softly Love ของแอนดี วิลเลียมส์ ซึ่งเป็นการนำดนตรีท่อน love theme ของดนตรีประกอบของหนัง ที่ประพันธ์โดยนีโน่ โรต้า มาใส่เนื้อร้องภาษาอังกฤษ

เพลงนี้ถูกเปิดตัวสู่สาธารณะครั้งแรกด้วยการร้องสดของแอนดี วิลเลียมส์ ในงานฉายรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1972 ในโรงภาพยนตร์ Loew ในนิวยอร์ก

หลายท่านอาจจะพอทราบว่า ทำนองของท่อน love theme นี้ กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้ดนตรีประกอบของนีโน่ โรต้า ถูกตัดสิทธิ์ ไม่สามารถเข้าชิงออสการ์สาขาดนตรีประกอบในปีนั้น เหตุเพราะทำนองของดนตรีท่อนนี้ เคยถูกใช้ประกอบหนังอิตาเลียนชื่อ Fortunella เมื่อปี 1958 (ผู้สนใจสามารถหาฟังเพลงนี้ได้ใน YouTube)

ซึ่งเดิมเพลงนี้เป็นเพลงเร็ว จังหวะคึกคัก สนุกสนาน ต่างจากที่นำมาประกอบในเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ที่ถูกแปลงให้มีจังหวะช้า กลายเป็นเพลงที่งดงาม แม้จะเหงา และเศร้า โดยเฉพาะเมื่อถูกบรรเลงด้วยแมนโดลิน เป็นเครื่องดนตรีหลัก เหมือนอย่างในหนัง

ในขณะที่หนังเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ โด่งดังได้ทั้งเงินและกล่องในสหรัฐ และกำลังถูกทยอยนำออกฉายทั่วโลก ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารตัวเอง ของจอมพลถนอม กิตติขจร อาจไม่น่าแปลกใจนักที่จะพบว่า ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าที่ เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ จะได้รับอนุญาตให้เข้าฉายในบ้านเรา

ก่อนที่จะเข้าฉายรอบปกติสำหรับคนดูทั่วไป ในวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นการเปิดฉายที่ช้ากว่าการฉายรอบปฐมทัศน์โลก เป็นเวลาปีครึ่งนั้น เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ได้รับการฉายในรอบที่เรียกว่าพรีวิวพิเศษที่ สิริฮอลล์ ของโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นโรงแรมอันดับหนึ่งของกรุงเทพมหานครในยุคนั้น

คุณวิรัช เชียงสงค์ นักวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยรายวัน รายงานว่า “คนแห่ไปดูแทบจะเหยียบกันตายในดุสิตธานี” และจั่วหัวบทวิจารณ์หนังเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ บทเดียวกันนี้ ที่ตีพิมพ์ในวันเดียวกับที่หนังเปิดฉายไว้ว่า “หนังดีที่อาจไม่ทำเงิน”

เดอะ ก๊อดฟาเธอร์เปิดฉายในกรุงเทพฯ พร้อมกัน 3 โรง ซึ่งเป็นโรงที่มีอยู่ทั้งหมดในเวลานั้นของเครือเมเจอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนสั่งหนังจากสตูดิโอผู้ผลิตในฮอลลีวู้ด มาฉายโดยตรง

ในขณะที่เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ เป็นที่เลื่องลือถึงความรุนแรง เหี้ยมเกรียม อำมหิต เครือโรงภาพยนตร์สยามมหรสพ ซึ่งเหมือนจะเป็นคู่แข่งกับเครือเมเจอร์ในยุคนั้น ได้นำหนังที่เป็นด้านตรงข้ามของ เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ คือหนังเพลงแฟนตาซี มีเนื้อหาบางเบา ขายวิวทิวทัศน์ และได้รับการทุ่มทุนสร้าง แต่ไม่ได้ทั้งเงินและกล่องเรื่อง Lost Horizon ชื่อไทย รักสุดขอบฟ้า มาเข้าฉายประกบในสัปดาห์เดียวกัน

อีกทั้งในคืนวันศุกร์ที่ 28 กันยายน ยังมีการทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มาทรงเป็นประธานในการเปิดฉายรอบพิเศษ ตัดหน้าเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ไปหนึ่งวัน

แต่แล้วการฉาย เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ และหนังทุกเรื่องในบ้านเราในช่วงนั้น ก็ต้องหยุดพร้อมกันชั่วคราว ด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดขึ้นหลังเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ เปิดฉายได้สองสัปดาห์

 

หลังจากได้รัฐบาลใหม่ เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ หนังเรื่องต่างๆ ได้ลงโรงกันต่อ เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ยืนโรงอยู่ได้ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน ซึ่งนับเป็นการฉายครั้งแรกในบ้านเรา ด้วยเวลาฉายทั้งหมดประมาณสองเดือน

และสุดท้าย หนังก็ยังอยู่ห่างไกลจากการทำเงินตามคำวิจารณ์

หนังต่างประเทศที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทยในปี พ.ศ.2516 นั้น เป็นหนังเรื่อง “ไอ้ก้านยาว” ซึ่งมีชื่อดั้งเดิมว่า Walking Tall เป็นหนังแอ๊กชั่นเกรดบี ที่พลิกผันกลายเป็นหนังทำเงินมโหฬารอย่างไม่คาดฝัน และยืนโรงฉายมายาวนานตั้งแต่ก่อนเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ จะเปิดตัว ไอ้ก้านยาวทำมาจากเรื่องจริงของนักมวยปล้ำอาชีพ ที่ได้มาเป็นนายอำเภอ และใช้กระบองแท่งโตไล่ทุบพวกมิจฉาชีพ

หนังเรื่องนี้ทำเงินในบ้านเราเกือบ 4 ล้านบาทในปีนั้น และเป็นที่มาของการเรียกผู้ถือกระบองท้าสู้ทหารในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาว่า ไอ้ก้านยาว

ต่อมา หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และมีรัฐประหารอีกครั้ง รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปกครองประเทศได้ไม่นาน ต้นปี พ.ศ.2520 รัฐบาลนี้สั่งขึ้นภาษีหนังต่างประเทศ จากเดิมคิดฟุตละ 2.20 บาท กลายเป็นฟุตละ 30 บาท ทำให้สตูดิโอผู้ผลิตหนังในฮอลลีวู้ดคว่ำบาตร งดนำหนังเข้ามาฉายในประเทศไทย

ซึ่งการประท้วงนี้ยืดเยื้อต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 4 ปี จนถึงรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กว่าที่หนังกระแสหลักจากสตูดิโอใหญ่ในฮอลลีวู้ด จะยอมกลับเข้ามาฉาย

และก็เป็นในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ในกลางปี พ.ศ. 2522 ที่หนังสือแปลจากนิยายของมาริโอ พูโซ เรื่อง เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ฉบับสมบูรณ์ แปลโดยธนิต ธรรมสุขคติ ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งห่างจากการวางจำหน่ายครั้งแรกของนิยายต้นฉบับในสหรัฐร่วมสิบปี

ผลพวงจากกำแพงภาษีหนังต่างประเทศ และการบอยคอตที่เกิดขึ้น ทำให้โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ในขณะนั้น ขาดหนังป้อนเข้าโรง จึงต้องนำหนังคลาสสิกในอดีตมาเข้าโรงแทน

เริ่มจากหนังเพลงที่ทุกคนรู้จักดี The Sound of Music หนังสนุกเรื่อง The Sting มาจนถึงหนังระทึกขวัญเรื่อง Wait Until Dark และเรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ซึ่งอาจนับเป็นการฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นครั้งที่สอง

 

หากจะนับการฉายเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ในโรงภาพยนตร์ในปีนี้ ว่าเป็นการฉายครั้งที่สาม

นั่นหมายถึงว่า การฉายเดอะ ก๊อดฟาเธอร์ในโรงภาพยนตร์ในบ้านเราทั้งสามครั้ง เกิดขึ้นในยุคสมัยที่มีหัวหน้ารัฐบาลเป็นทหาร

แม้ 50 ปีจะผ่านไป แต่เรื่องบังเอิญแบบนี้ ก็ยังเกิดขึ้นได้เสมอ ในไทยแลนด์