ราษฎร์พิธี: เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ราษฎร์พิธี: เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483

 

“วันนี้เป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยได้รับอิสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ ไชโยๆ ขอให้รัฐธรรมนูญจงถาวรชั่วฟ้าสลาย” (นิกร การุณวงศ์)

 

การศึกษางานฉลองรัฐธรรมนูญนี้เป็นการหาความหมาย และตีความบทบาทของงานฉลองรัฐธรรมนูญที่มีต่อชีวิตของผู้คนภายหลังการปฏิวัติในช่วงราว 1 ทศวรรษว่าก่อให้เกิดกระแสความเชื่อ วัฒนธรรมของพลเมืองไทยแบบใหม่ การเปิดพื้นทีใหม่ กิจกรรมใหม่ๆ สัญลักษณ์ใหม่ คุณค่าใหม่ ชีวิตสาธารณะ การเกิดตัวตนแบบใหม่ ตลอดจนความสุข ความรื่นเริง และความทรงจำให้กับผู้คนร่วมสมัยอย่างไร

ในช่วงหลายปีแรกระหว่างปี 2475-2482 นั้น ไทยมีวันฉลองรัฐธรรมนูญ 2 วัน คือ 27 มิถุนายน อันเป็นวันประกาศใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม หรือ “ฉบับคณะราษฎร” และวันที่ 10 ธันวาคม ต่อมาในปี 2483 รัฐบาลประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญแต่เพียงวันเดียว เนื่องจากประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติแล้ว กิจกรรมฉลองรัฐธรรมนูญและแสดงมหรสพในเดือนธันวาคมจะจัดในช่วงวันดังกล่าว

บริบททางการเมือง ตลอดจนความต่อเนื่องของงานและบรรยากาศสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลายประการ

อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ 2483 และสามเกลอตอนเที่ยวรัฐธรรมนูญ 2483
เครดิตภาพ ศรัญญู เทพสงเคราะห์, Sakchai Limonado Phanawat

การขยายตัวของคนชั้นกลาง

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ที่สถาปนาการปกครองของประชาชนสามัญธรรมดาขึ้น มีการส่งเสริมการศึกษาขนานใหญ่ทั้งระดับประถม มัธยมและอุดมศึกษาอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ประกอบกับบรรยากาศแห่งเสรีภาพและความเสมอภาค และเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าในระบอบเก่าส่งผลให้สังคมเริ่มลืมตาอ้าปากได้ เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมมาสู่คนชั้นกลางสะดวกมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในกิจกรรมรื่นเริงของงานที่หนุ่มสาวในครั้งนั้นให้ความสนใจมาก คือ การลีลาศประจำปีในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลานั้น การลีลาศถือเป็นประตูทางสังคมของหนุ่มสาวคนชั้นเดียวกันในสมัยนั้นให้มารู้จักกัน เป็นการสังสันทน์ รื่นเริงอย่างอิสระของหนุ่มสาวอันปลอดจากค่านิยมจากขนบธรรมเนียมแบบเก่า (อติภพ, 2556, 78)

ด้วยเหตุที่งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรื่นเริงของประชาชนในระดับชาติ มีความหรูหราและยิ่งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน (ปรีดี หงษ์สต้น, 2562) ประชาชนและคนหนุ่มสาวในครั้งนั้นต่างเฝ้ารอคอยการมาถึงของงานสำคัญประจำเดือนธันวาคมของทุกปี ผู้มาเที่ยวงานจึงพิถีพิถันในการแต่งกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาเที่ยวงานในยามค่ำ พวกเขาและเธอจึงแต่งกายกันอย่างหรูหรา

ดังเห็นจากหัสนิยายแห่งยุคสมัย พลนิกรกิมหงวน ตอนเที่ยวรัฐธรรมนูญ 2483 ป.อินทรปาลิตได้บันทึกบรรยากาศครั้งนั้นเอาไว้ว่า หากท่านมาเที่ยวงานจะได้เห็น “ถนนหน้าพระลานพระบรมรูปทรงม้า ถูกปิดกั้นเป็นอาณาเขตบริเวณ มองจากถนนราชดำเนินจะแลเห็นแสงไฟสว่างเย็นตา ภายในนั้นอุทยานสวรรค์…” (ป.อินทรปาลิต, 2483)

การแต่งกายสมัยใหม่และแฟชั่นสวมหมวกสมัยสร้างชาติ และคู่มือลีลาศ พิมพ์ช่วง 2490

งานในปีนี้ถูกจัดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในช่วงชิงอินแดนในอินโดจีน ดังที่เขาตั้งข้อสังเกตว่า “ถึงแม้ไทยกับฝรั่งเศสกำลังรบกัน งานฉลองรัฐธรรมนูญก็หางดไม่ คงครึกครื้นเหมือนปีที่แล้วๆ มา ประชาชนมาเที่ยวเตร่กันแน่นขนัดแสดงว่าคนไทยมีขวัญดีมาก ไม่มีใครคิดเกรงกลัวฝรั่งเศสเลย สภาผู้แทนราษฎรสว่างไสวด้วยโคมไฟฟ้า ด้านซ้ายมือคือสวนอัมพรแสงไฟสว่างราวกับกลางวัน ต้นอโศกหน้าพระลานประดับประดาด้วยโคมไฟสีต่างๆ รถไฟเล็กจากถนนเสือป่ากำลังแล่นข้ามถนนคอนกรีตตรงไปยังสวนอัมพรมีผู้โดยสารแน่นเอี๊ยด”

ด้วยเหตุที่งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นพื้นที่ความรื่นเริงสำหรับชนหลากชั้น ด้วยสายตาอันคมกริบของเขาได้บันทึกถึงผู้คนที่หลั่งไหลมาเที่ยวงานในครั้งนั้นว่า

“พ่อเทพบุตรและเทพธิดาเดินคลอกันมาเป็นคู่ๆ ที่มีอัฐหน่อยก็มารถส่วนตัว ไปจอดในที่ที่เช่าไว้สำหรับรถของตนตลอดงาน คันละห้าบาท พวกนี้โก้หน่อย แต่งเนื้อแต่งตัวภาคภูมิ ที่มีอัฐพอประมาณก็มาแท็กซี่ ที่มีอัฐไม่สู้มากนักมาสามล้อ แล้วที่เบี้ยน้อยหอยน้อยก็เพียงแต่ขี่รถรางมาลงที่สวนมิสกวัน ย่ำต๊อกเอาอีกหน่อย บางคนที่ไม่มีอัฐเลย แต่มีความเฉลียวฉลาดก็อาศัยมากับรถเก๋งคันงามๆ”

งานฉลองในปีนี้ จัดที่สวนอัมพรเป็นปีที่สอง ด้วยเหตุที่ช่วงนั้นรัฐบาลจอมพล ป.มีนโยบายสร้างชาติ ให้ทุกคนเริ่มต้นสร้างตนเอง สร้างครอบครัวอันมีผลต่อการสร้างชาติ (ณัฐพล ใจจริง, 2563, 256-257)

ดังนั้น ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนี้ จึงมีการประกวดแบบบ้านต่างๆ ทั้งบ้านพักอาศัย และบ้านพักตากอากาศ ตามนโยบายของรัฐบาล ป.อินทรปาลิตจึงให้สามเกลอเดินชมงานไปทั่วและได้เห็นบ้านจำลองที่ปลูกอยู่บนสนาม กิมหงวนติดใจบ้านเล็กๆ หลายหลังที่ประกวดชิงรางวัล พลางบอกกับพล นิกรว่า เขาอยากจะปลูกสักหลังเหมือนกัน

การจัดงานในปีนี้มีความยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม จนถูกบันทึกว่า “ความงดงามของสถานที่โดยรอบบริเวณ ถ้าหากจะให้บรรยายกันโดยละเอียดแล้ว อีก 5 วัน 5 คืน ท่านก็อ่านไม่จบ มองไปทางไหนล้วนน่าดูน่าชมทั้งนั้น” และ “ร้านรวงต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งตบแต่งอย่างวิจิตรงดงามราวกับก่อสร้างด้วยคอนกรีตจริงๆ” (ป.อินทรปาลิต, 2483)

สำหรับความทรงจำของเด็กชายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เขาเคยเล่าไว้ว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญ คืองานประจำปีที่สร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กๆ สมัยนั้นมาก ในงานมีการออกร้าน “หรูหรา” มีการแสดง “นิทรรศการ” ของหน่วยราชการต่างๆ มีโรงเรียนวิชาชีพออกร้านขายสินค้า (สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 2527, 235)

อาคารลีลาศ สวนอัมพร สร้าง 2482 เครดิตภาพ ศรัญญู เทพสงเคราะห์

จากประตูร้านถึงประตูบ้าน

กรมรถไฟ เดลิเวอรี่

นวัตกรรมในการบริการประชาชนที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งของกรมรถไฟ ในสมัยที่ถือนโยบายว่า รถไฟของประชาชน คือบริการส่งสินค้าให้ผู้มาเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2483 ถึงบ้าน ดังเรียกกันในปัจจุบันว่า บริการเดลิเวอรี่นั่นเอง

ด้วยเหตุที่งานฉลองรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายปี มีผู้คนมาเที่ยวงานจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมากมาย ประกอบกับมีร้านค้าของหน่วยราชการและเอกชนต่างนำผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ทันสมัย มีคุณประโยชน์มานำเสนอและจำหน่ายให้กับกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองที่เติบโตขึ้น รวมทั้งการมีตลาดนัดสำหรับพ่อบ้านและแม่บ้านที่ต้องการซื้ออาหาร ผักผลไม้จากเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรมอย่างย่อมเยาว์ ทำให้มีการซื้อขายสินค้ากันอย่างคึกคัก

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเห็นว่า เกิดปัญหาที่การซื้อขายไม่คล่องตัวเท่าที่ควร เนื่องจากพบว่า ผู้เข้าเที่ยวงานอยากอุดหนุนสินค้าที่มาขาย แต่ไม่ต้องการหิ้วหรือแบกสินค้าที่น้ำหนักมากไปเดินเที่ยวงาน หรือนำไปร่วมในงานรื่นเริงหรืองานเต้นรำด้วย ทำให้สินค้าขายดีไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้น กรมรถไฟจึงริเริ่มการบริการนี้ให้กับประชาชน

ในปี 2483 บริษัทค้าพืชผล ซึ่งเป็นบริษัทของกรมรถไฟเริ่มจัดบริการส่งของถึงบ้านตามนโยบายที่เรียกว่า “Door to Door” หรือจากประตูร้านถึงประตูบ้าน เพื่อแก้ปัญหาผู้มาเที่ยวงาน “อยากซื้อแต่ขี้เกียจหอบ” โดยบริษัทจะขนส่งสินค้าจากร้านค้าในงานส่งถึงหน้าบ้าน ซึ่งเป็นบริการที่มีขึ้นครั้งแรก

ทั้งนี้ ขั้นตอนในการรับบริการไม่ยาก เริ่มจากเมื่อท่านซื้อสินค้าแล้วให้ท่านบอกร้านค้านั้นว่าจะให้ส่งของถึงบ้าน จากนั้น ให้ท่านนำใบเสร็จไปแจ้งที่บริษัทค้าพืชผล พร้อมแจ้งที่อยู่ให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทจะออกไปนำสินค้าจากร้านที่ท่านซื้อแล้วนำไปส่งให้ท่านที่บ้าน (กรมรถไฟ, 2483)

อย่างไรก็ตาม จากบรรยากาศของงาน กลุ่มคนที่มาเที่ยวงาน การแต่งกาย การนิยมจับจ่ายใช้สอยและรสนิยมต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มคนชั้นใหม่ภายหลังการปฏิวัติทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง

แบบบ้านพักตากอากาศที่ข้าประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2483
คนงานของกรมรถไฟกำลังลำเลียงสินค้าในครั้งนั้น