สงครามและความล้มเหลว : ปัญหาทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามและความล้มเหลว

: ปัญหาทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย!

 

“สงครามคือการใช้กำลังเพื่อบังคับให้ข้าศึกกระทำตามความปรารถนาของเรา”

เคลาซวิทซ์ (นักยุทธศาสตร์ชาวปรัสเซีย)

“เป็นหลักการพื้นฐานที่จะต้องยอมรับถึงบทบาทและความสำคัญของข้าศึก”

โคลิน เกรย์ (นักยุทธศาสตร์ร่วมสมัย)

 

นักเรียนในวิชายุทธศาสตร์จะถูกสอนด้วยคำกล่าวของคาร์ล ฟอน เคลาซวิทซ์ เสมอว่า สงครามเป็นเครื่องมือที่รัฐ (ในความหมายคือรัฐบาล) ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบีบบังคับให้รัฐเป้าหมายกระทำตามความต้องการของรัฐตน

ซึ่งแน่นอนว่าคำสอนของเคลาซวิทซ์ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ไม่มีความล้าสมัยไปกับการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาแต่อย่างใด

แต่การจะบังคับให้รัฐเป้าหมาย (หรือในความหมายของสงครามคือ การเป็นรัฐข้าศึก) กระทำตามความต้องการของเรา โดยมีสงครามเป็นเครื่องมือนั้น ไม่ใช่เรื่องจะประสบความสำเร็จได้ในทุกกรณี

และหลายครั้งที่จะพบว่าความคาดหวังที่จะเป็น “รัฐผู้ชนะสงคราม” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อย่างใด

เพราะในด้านหนึ่งกองทัพข้าศึกไม่ได้เป็น “เป้านิ่ง” ให้ถูกกระทำโดยไม่มีการตอบโต้

และกองทัพข้าศึกยังคงมีสถานะเป็น “กองกำลังติดอาวุธ” ที่สามารถกระทำการตอบโต้กลับในทางทหารได้เช่นกันด้วย

สภาวะเช่นนี้ทำให้นักยุทธศาสตร์ร่วมสมัยอย่างเกรย์ตอกย้ำเสมอว่า การวางแผนยุทธศาสตร์ทหารจะต้องคิดคำนึงถึง “ปัจจัยข้าศึก” เสมอ เนื่องจากสงครามเกิดขึ้นจากการใช้กำลังของรัฐคู่พิพาท มิใช่เกิดจากการใช้กำลังฝ่ายเดียว

โดยข้าศึก (ทั้งในความเป็นรัฐและกองทัพ) ไม่ได้เปิดปฏิบัติการทหารตอบโต้กลับ หรืออาจกล่าวเป็นข้อเตือนใจได้ว่า “ข้าศึกเองเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นผู้กำหนดความเป็นไปของสงคราม” และอาจมีนัยในทางทหารอีกด้วยว่า “ข้าศึกเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินการแพ้ชนะของสงคราม”

คำสอนสองประโยคในวิชายุทธศาสตร์ศึกษาในข้างต้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนได้จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้ว่ายิ่งสงครามยืดระยะเวลาออกไป พร้อมกับการที่กองทัพและประชาชนยูเครนยังสามารถต้านทานการรุกรานของกองทัพรัสเซียได้ ยิ่งเท่ากับสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีปูติน

โดยเฉพาะ “การประเมินข้าศึกในทางยุทธศาสตร์” ซึ่งดูจะเป็นความผิดพลาดของมอสโกอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ข้าศึกไม่ใช่เป้านิ่ง!

สงครามยูเครนเริ่มต้นด้วยการเปิดปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนอาจกล่าวได้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นสงครามที่ใหญ่ที่สุดของรัฐยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ของยุโรปในยุคหลังสงครามเย็นก็ตาม แต่ก็เป็นการใช้กำลังในระดับจำกัด ที่ไม่ใช่การใช้กำลังทหารอย่างเต็มรูปแบบของรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นในปัจจุบัน

แต่ในกรณีของสงครามยูเครน รัสเซียเปิด “สงครามตามแบบ” อย่างที่ฝ่ายตะวันตกไม่คาดคิดมาก่อน เพราะหากย้อนกลับไปสู่วิกฤตจอร์เจียในปี 2008 และในวิกฤตไครเมีย วิกฤตดอนบาสในปี 2014 รัสเซียไม่ได้ใช้กำลังขนาดใหญ่อย่างที่โลกได้เห็นในสถานการณ์ยูเครนวันนี้

การใช้กำลังรบขนาดใหญ่ของรัสเซียครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่ารัสเซียจะสามารถดำเนินการสงครามเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการในการเข้าควบคุมยูเครนได้หรือไม่

ซึ่งเงื่อนไขเบื้องต้นที่พอจะคาดคะเนได้คือ การควบคุมเช่นนี้จะเกิดขึ้นจริงต่อเมื่อรัสเซียสามารถเข้าควบคุมเมืองหลวงของยูเครน และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่นิยมรัสเซียขึ้นแทนรัฐบาลเดิมของประธานาธิบดีเซเลนสกี

หรืออาจกล่าวในทางการเมืองได้ว่า จุดหมายปลายทางของรัสเซียคงต้องการเห็นรัฐบาลใหม่ยูเครนเป็นไปในทำนองเดียวกับรัฐบาลเบลารุส หรืออีกนัยหนึ่งคือการทำให้ยูเครนมีสถานะเป็น “รัฐบริวาร” ที่ต้องอยู่ภายใต้ “การอารักขา” ของรัสเซีย และจะต้องไม่เดินออกไปจากกรอบที่ผู้นำมอสโกกำหนดไว้

ดังนั้น เมื่อรัสเซียเปิดการรุกทหารเต็มรูปเข้าสู่พื้นที่ของยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จึงทำให้เกิดการประเมินสถานการณ์ทางทหารในสุดสัปดาห์แรกว่า ยูเครนไม่น่าจะสามารถรับมือกับการโจมตีที่เกิดได้เลย และอายุของเคียฟที่เป็นเมืองหลวงน่าจะอยู่รอดได้เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ตามมาด้วยการล้มลงของรัฐบาล และสถานการณ์สงครามคงจบลงในไม่ช้าด้วยชัยชนะของกองทัพรัสเซีย

หลายฝ่ายที่เห็นภาพการเคลื่อนกำลังที่เป็นขบวนรถทหารของรัสเซีย มักจะประเมินในช่วงต้นว่า รัสเซียน่าจะ “ปิดเกมสงคราม” ได้ในระยะเวลาไม่น่าจะเกินหนึ่งเดือน

และหลังจากนี้ฝ่ายตะวันตกจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับยูเครนภายใต้การควบคุมของรัสเซีย…

ความฝันของประธานาธิบดีปูตินไม่ซับซ้อน

แต่ความฝันเช่นนี้จะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อการต้านทานทางทหารของยูเครนอ่อนแอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ดูจะเป็น “ฝันร้าย” ของผู้นำรัสเซียมากกว่า

ดังจะเห็นได้ว่ายิ่งเวลาผ่านไปทีละสัปดาห์ ก็ยิ่งเห็นถึงปัญหาทางทหารของกองทัพรัสเซีย และยิ่งเห็นมากขึ้นในแต่ละวันของการยุทธ์ที่เกิดในสนาม จนกลายเป็นภาพสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของกองทัพรัสเซียอย่างไม่คาดคิด

ประเด็นเช่นนี้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านการทหารหลายคนเชื่อว่า ถึงเวลาที่จะต้องประเมินขีดความสามารถทางทหารของรัสเซียใหม่

ซึ่งว่าที่จริงในมิติทางทหารนั้น ปัญหาประสิทธิภาพของกองทัพรัสเซียได้ปรากฏให้เห็นมาแล้ว เช่น ในกรณีของปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในสงครามต่อต้านการเรียกร้องเอกราชที่เชเชน และในสงครามกลางเมืองซีเรีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กองทัพรัสเซียมีความได้เปรียบทางด้านอำนาจกำลังรบ โดยเฉพาะการใช้อาวุธหนักเช่นปืนใหญ่และจรวดในการยิงทำลาย (ถล่ม) เป้าหมายแบบไม่จำแนก กล่าวคือ ความสำเร็จของการยึดเป้าหมายของรัสเซียจะเกิดขึ้นด้วยการโจมตีทางทหารอย่างหนัก โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านมนุษยธรรมต่อชีวิตของผู้คน และความเสียหายที่เกิดกับชีวิตของเมืองแต่อย่างใด

ตัวแบบของปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในเชเชนและซีเรียเช่นนี้หวนคืนให้เราเห็นอีกครั้งในการโจมตีเมืองของยูเครน

และอาจรวมถึงการสังหารชีวิตชาวยูเครนเป็นจำนวนมาก เช่นในกรณีการสังหารที่เมืองบุชชา (Bucha) เป็นต้น

 

ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์

หากพิจารณาจากสถานการณ์แล้ว คงจะต้องยอมรับความจริงว่ากองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จในการใช้อำนาจกำลังรบทำลายการต่อต้านทางทหารของยูเครน

อีกทั้งกองทัพรัสเซียเองก็ประสบกับปัญหาในตัวเองอย่างมาก จนอาจต้องสรุปในเบื้องต้นว่าเป็น “ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์” ของรัฐบาลและกองทัพรัสเซีย

เช่นเดียวกับที่เป็น “ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์” ของรัฐบาลและประชาชนยูเครน ที่สามารถต้านทานการรุกรานของรัสเซียได้อย่างกล้าหาญ

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงต้นของสงคราม แทบไม่มีนักวิเคราะห์คนใดเลยกล้าที่จะประเมินว่า ยูเครนจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับ “สงครามของผู้รุกราน” ที่เป็นมหาอำนาจได้มากกว่าหนึ่งเดือน

แต่จนก้าวเข้าเดือนที่สองแล้ว เคียฟยังไม่ถูกยึดครอง รัฐบาลยูเครนยังไม่ล่มสลาย แม้กองทัพรัสเซียจะใช้อาวุธหนักและใช้การทิ้งระเบิดทางอากาศทำลายหลายเมืองของยูเครน มีชาวยูเครนเสียชีวิต และต้องอพยพหนีภัยสงครามเป็นจำนวนมาก

แต่สงครามก็มิได้เดินทางไปถึงจุดสุดท้ายด้วยการประกาศชัยชนะของประธานาธิบดีปูติน และ “ฝันร้าย” กำลังเริ่มขึ้น

ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นจากอัตราความสูญเสียของกำลังพลในสนาม ซึ่งข้อมูลของฝ่ายตะวันตกประเมินว่า จำนวนทหารรัสเซียเสียชีวิตมีจำนวนระหว่าง 7,000 ถึง 15,000 นาย และบาดเจ็บประมาณ 40,000 นาย (ฝ่ายที่สนับสนุนรัสเซียในสงครามยูเครนอาจจะไม่ยอมรับตัวเลขดังกล่าว เพราะถือเป็นตัวเลขประเมินของตะวันตก แต่ก็ใกล้เคียงกับตัวเลขที่เคยหลุดออกมาจากทางฝ่ายรัสเซียเอง)

นอกจากนี้ ยังมีการสูญเสียนายทหารระดับสูง (ในระดับพันเอกถึงระดับนายพล) หลายนาย ประมาณว่านายพลรัสเซียเสียชีวิตในการรบครั้งนี้ไปแล้ว 7 นาย อันเป็นการสูญเสียนายทหารระดับนายพลมากที่สุด แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของการรบก็ตาม

ความล้มเหลวอีกด้านหนึ่งเกิดจากการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายรัสเซีย ที่เชื่อว่าประชาชนยูเครนจะเปิดประเทศ “รอต้อนรับ” กองทัพรัสเซีย เหมือนเช่นในครั้งที่กองทัพรัสเซียเข้าไปปลดปล่อยยุโรปตะวันออกจากกองทัพนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

และยิ่งเมื่อประธานาธิบดีปูตินสร้างวาทกรรมการ “ปลดปล่อยยูเครนจากการยึครองของนาซี” แล้ว ก็ยิ่งเป็นจินตนาการว่าชาวยูเครนกำลังรอรับการมาของกองทัพรัสเซีย และพวกเขาจะไม่ต่อต้านทหารรัสเซีย แต่จะหันไปต่อต้านรัฐบาลของตนเอง

อีกทั้งมอสโกประเมินด้วยจินตนาการที่ผิดพลาดตาม “ความเชื่อของประธานาธิบดีปูติน” ว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีเซเลนสกีกำลังนับถอยหลังอายุของตนเอง เพราะประชาชนยูเครนกำลังรอกองทัพรัสเซียเข้ามาปลดปล่อยจากรัฐบาลนาซีที่เคียฟ

การประเมินทางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดไปจากความเป็นจริงเช่นนี้คือ พื้นฐานของความล้มเหลวตั้งแต่วันแรกของการเคลื่อนทัพ แต่อาจจะเป็นผลจากการควบคุมทางการเมืองอย่างเข้มงวดของระบอบอำนาจนิยมแบบรัสเซีย พร้อมกับการสร้าง “วาทกรรมโฆษณาชวนเชื่อ” ทางการเมือง ที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลปูติน อันทำให้วาทกรรมเช่นนี้ถูกใช้เพื่อเป็นเข็มมุ่งของงานฝ่ายเสนาธิการในการวางแผนการยุทธ์ และเป็นดังการวางแผนที่ถูกกำหนดด้วยการเมือง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความล้มเหลวทางทหารจะเกิดในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางการข่าว การส่งกำลังบำรุง และการควบคุมและบังคับบัญชา เป็นต้น

และความล้มเหลวเช่นนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การลดระดับวัตถุประสงค์ ดังที่ผู้นำทางทหารของรัสเซียออกมากล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อควบคุมพื้นที่ดอนบาสที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน

ซึ่งว่าที่จริง รัสเซียขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่นี้ตั้งแต่วิกฤตในปี 2014 และเข้าควบคุมเต็มรูปในช่วงต้นของสงคราม

 

แพ้การเมือง!

หากต้องการยึดเพียงพื้นที่ของดอนบาสแล้ว รัสเซียไม่จำเป็นต้องเปิดสงครามใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในยุโรป

เพราะสงครามครั้งนี้ส่งผลลบกับรัสเซีย โดยเฉพาะการแซงก์ชั่นที่ตัดเศรษฐกิจรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก ตลอดรวมถึงการสร้างให้เกิดการต่อต้านรัสเซียในรูปแบบต่างๆ จนประธานาธิบดีปูตินถูกกล่าวหาจากฝ่ายต่อต้านว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” ในเวทีโลกไปแล้ว

อีกทั้งผลอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองระหว่างประเทศคือ การสร้างเอกภาพของโลกตะวันตก พร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งของนาโต ทั้งที่แต่เดิมนั้นนาโตเป็นดังองค์กรความมั่นคงที่ “ตกยุค” สำหรับยุโรปในยุคหลังสงครามเย็น แต่สงครามยูเครนกลับเป็นปัจจัยในการ “ชุบชีวิต” นาโตให้เกิดอีกครั้งได้อย่างไม่น่าเชื่อ

อีกทั้งสงครามยูเครนยังทำให้เกิดเอกภาพของฝ่ายตะวันตก จนรัฐบาลจีนเองก็อาจต้องประเมินใหม่เช่นกันด้วย

และอาจต้องประเมินด้วยว่ารัสเซีย “แพ้การเมือง” ในสงครามยูเครน!