ถั่วงอก(もやし)…ขอขึ้นราคา/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ถั่วงอก(もやし)…ขอขึ้นราคา

 

หอการค้าญี่ปุ่น(日本商工会議所)ได้ทำการสำรวจธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับการคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ พบว่าธุรกิจเกินกว่า 90% มีความกังวลต่อผลกระทบจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน มาตรการคว่ำบาตรและสถานการณ์ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ

มีธุรกิจถึง 21.6% ตอบว่า “ขณะนี้ได้รับผลกระทบแล้ว” ส่วน 71% ตอบว่า “ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่กังวลถึงอนาคต”

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแล้ว 79.1% มีสาเหตุชัดเจนจาก “ต้นทุนด้านพลังงาน ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นมาก” และ 56.2% “ราคาต้นทุนค่าสินค้าที่แพงขึ้น”

ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจ 64.1% ตอบว่า “ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง” 24.7% ตอบว่า “ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่กังวลถึงการดำเนินธุรกิจในอนาคต”

หอการค้าญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ในยูเครนส่งผลต่อราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีต้นทุนสูงขึ้น เป็นอุปสรรคสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และคงเลี่ยงไม่ได้ที่สินค้าต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับราคา

จากสถานการณ์รัสเซียรุกรานยูเครน ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของคนทั้งโลกแล้ว และมีสินค้าอีกหลายอย่างที่เริ่มขาดแคลน

มาดูสารพัดสินค้าในญี่ปุ่น ที่พร้อมใจกันพาเหรดกันขึ้นราคาอย่างฉุดไม่อยู่ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เริ่มตั้งแต่เครื่องปรุงอาหาร ซอสมะเขือเทศ ขึ้นราคา 3 – 5% เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบมะเขือเทศ ชีสที่บริโภคในครัวเรือน ขึ้นราคาขายปลีกประมาณ 4 -10% น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร ปรับราคากิโลกรัมละ 40 เยน เนื่องจากถั่วเหลือง ที่นำเข้ามีราคาสูงขึ้น กระดาษทิชชู และกระดาษชำระ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปปรับขึ้น 10% รวมทั้งอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ไม่เว้นแม้แต่ กาแฟสตาร์บัคส์ ปรับราคาเมนูหลักๆ อีก 10 – 55 เยน

 

มาถึง “ถั่วงอก”(もやし)อาหารคู่ครัวเรือน โปรตีนจากพืชที่ราคาถูก บรรจุในถุงพลาสติก ใหม่ สด สะอาด ฉีกซองแล้วปรุงอาหารได้ทันทีไม่ต้องล้างน้ำซ้ำ โดยทั่วไปขนาด 200 กรัม ราคาขายปลีก 30 เยน (8.4 บาท) ยืนราคานี้มานานหลายปี บางครั้งมีโปรโมชั่น ถุงละ 10 เยน (2.8 บาท) ก็เคยมี ราคาถูกแสนถูกในบรรดาผักทั้งหลายเมื่อเทียบกับคุณค่าทางอาหาร ถั่วงอกอยู่ในเมนูผัดผัก บะหมี่น้ำราเมง ผัดยากิโซบะ ทำซุปต่างๆ เติมลงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปช่วยให้อิ่มท้องขึ้น นับเป็นเพื่อนทั้งยามมีและยามยาก ก็จะขึ้นราคาด้วย

สาเหตุที่ทำให้ถั่วงอกจำเป็นต้องขึ้นราคาเพราะ “ถั่วเขียว” มีราคาเพิ่มสูงมาก การปลูกถั่วเขียว จำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีความชื้นต่ำ ฤดูกาลเก็บเกี่ยวคือช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่มีฝนตกน้อย ต้องเป็นช่วงที่อากาศไม่แปรปรวน ปัจจุบันญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดถั่วเขียวจากจีน มีปริมาณกว่าครึ่งหนึ่งของการบริโภคภายในประเทศ

แต่ขณะนี้ผู้ปลูกถั่วเขียวในจีนพากันหันไปปลูกพืชอื่นที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เช่น ข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชอื่นๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนการปลูกจากรัฐบาลอีกด้วย จึงมีแนวโน้มพื้นที่การปลูกถั่วเขียวทั่วประเทศจีนลดลง นอกจากนี้ สถานการณ์ยูเครนในขณะนี้ทำให้ค่าขนส่งทางเรือพุ่งสูงขึ้น และ “ค่าเงินเยนอ่อน” ยิ่งซ้ำเติมต้นทุนนำเข้าสินค้าต่างๆ รวมทั้ง “ถั่วเขียว” ด้วย

ผู้จัดการโรงงานผลิตถั่วงอกแห่งหนึ่งในจังหวัดอิบารางิ กำลังหนักใจกับราคาถั่วเขียวที่เป็นต้นทุนของถั่วงอก โรงงานแห่งนี้ผลิตถั่วงอกส่งซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ในโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง วันละประมาณ 20,000 ถุง ขณะนี้ถั่วเขียวที่ซื้อจากบริษัทผู้นำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเป็นราคาสูงที่สุดที่เคยมีมา และยังมีสถานการณ์ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตถั่วงอกสูงขึ้นอีก

โรงงานแห่งนี้ มีกระบวนการผลิตที่ต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ เพื่อความใหม่สด ต้องใช้เชื้อเพลิงซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วราว 40% ฤดูหนาวที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเดือนละ1.5 ล้านเยน (4แสนกว่าบาท) นอกจากนี้ค่าบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ค่าขนส่ง ฯลฯ ก็เพิ่มขึ้นด้วย

ที่ผ่านมา โรงงานพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างสุดความสามารถ พยายามลดต้นทุนแม้เพียง 1 เซน (銭) (เป็นมูลค่าทางบัญชี ไม่มีเหรียญใช้จริง 100 เซนเป็น 1 เยน) ก็ยังดี แต่ก็มาถึงจุดที่แบกรับต่อไปไม่ไหวแล้ว ต้องแจ้งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นคู่ค้าหลายแห่ง ขอปรับราคาขึ้นจากเดิม10% โรงงานไม่เคยปรับราคามา 5 ปีแล้ว คู่ค้าส่วนหนึ่งเข้าใจสถานการณ์และยอมรับการปรับราคาใหม่

ผู้จัดการโรงงานบอกว่า การที่ “ถั่วงอก” ที่เป็นวัตถุดิบราคาถูกสุดของอาหาร เพื่อนยามยากของหลายๆ คน ต้องมีราคาสูงขึ้น เป็นเรื่องน่าเห็นใจผู้บริโภคจริงๆ แต่ผู้ผลิตก็แบกรับภาระต้นทุนจนหมดแรงแล้ว ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งที่ไม่ยอมรับราคาใหม่ของถั่วงอก เพราะจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านั้นลดน้อยลง เพราะผู้บริโภคหนีไปซื้อที่อื่นที่ยังไม่ขึ้นราคาแทน ทางโรงงานจะพยายามเจรจาขอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตยอมลดส่วนแบ่งกำไรลงบ้าง เพื่อความอยู่รอดของผู้ผลิต

ส่วนผู้ผลิตถั่วงอกรายใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ให้ความเห็นว่า แต่ไหนแต่ไรมา การปรับราคาขึ้นเป็นวิธีสุดท้ายของผู้ผลิตอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ขณะนี้ผู้ผลิตไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว คนกลางอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเสนอทางเลือกให้ผู้ผลิต จะให้ทำอย่างไรเพื่อความอยู่รอด ถ้าผู้ผลิตอยู่ไม่รอด แล้วผู้บริโภคล่ะ…

ไม่คิดเลยว่า…“ถั่วงอก” ก็ทนไม่ไหวแล้วนะ