2503 สงครามลับ สงครามลาว (76)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (76)

 

พันเอกเหงียน ชวง บันทึกการพิชิตบีซี 609 บนยอดภูเทิงของทหารไทยต่อไปว่า…

“การสู้รบยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ฝ่ายเราเตรียมปรับกำลังเพื่อเข้าตีครั้งใหม่ รองผู้บังคับหมู่ เหงียน ดิน ไน (Nguyen Dinh Nhi) บุกเข้าชาร์จเข้าที่หมาย ใช้ระเบิดไร้สะเก็ดทำลายที่ตั้งยิงข้าศึกได้สำเร็จ ทำให้การเข้าตีสามารถคืบหน้าไปได้ กระสุนข้าศึกเจาะเข้าที่ขาทั้งสองข้างของผู้บังคับหมู่ เหงียน ชวน คิว (Nguyen Xuan Quy) แต่คิวไม่ยอมให้ธงหลุดออกจากมือ ผู้บังคับกองร้อยคิมวิ่งเข้ามารับธงจากคิว แล้วโบกไปมาเพื่อส่งสัญญาณให้หน่วยเข้าบุกและสังหารข้าศึกให้สิ้น”

“หลังจากขว้างระเบิดเข้าใส่แนวคูติดต่อแล้วยิงตามด้วยอาก้าในมือ พลทหารใหม่ ลวง บา ซัน (Luang Ba Son) ก็ล้มลงกับพื้น กระสุนปืนข้าศึกเต็มแผ่นอก ซันส่งปืนในมือให้กับผู้บังคับหมู่ก่อนหายใจครั้งสุดท้าย”

“นาทีสุดท้ายของการเข้าตีเป็นไปอย่างดุเดือด ทหารของเราโผล่ขึ้นให้เห็นที่โน่นที่นี่แล้วก็ผลุบหายไปในคูติดต่อ การเข้าตีเป็นไปอย่างรวดเร็ว”

“ขณะเดียวกันนั้น กองร้อยที่ 3 ก็เข้าตีอย่างรุนแรงลึกเข้าไปในที่มั่นแข็งแรงของข้าศึกเพื่อสนับสนุนและเปิดทางให้กับการเข้าตีหลักของกองร้อยที่ 1 ผู้บังคับกองร้อย โง ตรวง โด (Ngo Troung Do) และนายทหารการเมือง ตรัน วัน ตุค (Tran Van Tuc) นำกองร้อยเข้าตีที่บังคับการกองพันบีซี 609 จากด้านตะวันตกเฉียงใต้”

“ในที่สุด ทหารของกองร้อยที่ 1 และกองร้อยที่ 3 ก็สามารถปักธงกองร้อยซึ่งบัดนี้เต็มไปด้วยรูกระสุนและเปียกโชกไปด้วยเลือดของเหล่าสหายไว้บนที่บังคับการกองพันบีซี 609 รูปขบวนเข้าตีของกองร้อยทั้งสองบรรจบกัน ณ ที่มั่นแข็งแรงที่ 2”

“ประวัติการรบที่ภาคภูมิใจของกองพลระหว่างศึกเดียนเบียนฟูบัดนี้กลับปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังจาก 20 กว่าปีที่แล้ว สปิริตของกองพัน ‘เป็นหนึ่งเดียว-กล้าหาญ-ชัยชนะ’ ยังคงดำรงอยู่และยิ่งเข้มข้นขึ้นกับการรบครั้งใหม่นี้”

อย่างไรก็ตาม ต่อมาฝ่ายเวียดนามเหนือจะสรุปบทเรียนจากการรบว่า การตัดสินใจโถมกำลังเข้ากวาดล้างบีซี 609 ที่ภูเทิงก่อนเวลา 4 วันตามแผนเดิมเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงเพราะทำให้กรม 635 แทบสิ้นสภาพในช่วงเวลาสำคัญของการรบ เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของการสนับสนุนทางอากาศใกล้ชิดโดยหวังพึ่งสภาพลมฟ้าอากาศที่เลวร้าย ทำให้เกิดความสูญเสียเฉพาะที่หมายนี้กว่า 200 คน

ตรงกับรายงานของฝ่ายไทยและซีไอเอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนการปฏิบัติเป็นส่วนรวมในขั้นตอนต่อไปของฝ่ายเวียดนามเหนือ

 

บันทึกของซีไอเอ

เจมส์ อี.ปาร์เกอร์ จูเนียร์ เดสก์ ออฟฟิซเซอร์ บันทึกสถานการณ์ที่ภูเทิงเมื่อ 19 ธันวาคม 2514 เริ่มจาก 16.45 น.ของวันที่ 19 ธันวาคม เมื่อที่มั่นของบีซี 609 บนภูเทิงตกอยู่ภายใต้การระดมยิงถึง 1,500 นัดจาก ค.120 ม.ม. ค.82 ม.ม. และ ปรส.ติดตามด้วยการยิงจากปืนใหญ่สนาม ป.130 ม.ม. 122 ม.ม. และ 85 ม.ม.

เวลา 17.10 น. เครื่องบิน F-4 ฟอลคอน 82 และ 83 ซึ่งมี “ลาเรโด 17” เป็นผู้นำอากาศยานหน้าขณะบินผ่านเหนือฐานยิงสนับสนุนไลอ้อน ฟอลคอน 82 เกิดระเบิดกลางอากาศ เป็นไปได้ว่าอาจถูกยิงจาก ปตอ.เวียดนามเหนือ ขนาด 23 ม.ม. หรือ 37 ม.ม. หรือจากกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงด้วยวิถีโค้งของฝ่ายเรา

ที่มั่นแข็งแรงทั้งหมดของกองพันทหารเสือพราน BC-609 ที่ภูเทิง ถูกเข้ายึดก่อนค่ำของวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2514 เช้าวันรุ่งขึ้น การตรวจการณ์ทางอากาศสามารถนับศพทหารเวียดนามเหนือที่เสียชีวิตบริเวณรั้วลวดหนามรอบที่ตั้งกองพันทหารเสือพราน BC-609 ได้กว่า 200 ศพ

หลังความสำเร็จของกรม 165 ภายใต้การบังคับบัญชาของพันเอกเหงียน ชวง ที่สามารถปักธงชัยเหนือบังเกอร์กองบังคับการกองพัน ทสพ. บีซี 609 บนยอดภูเทิงอันเป็นที่หมายสำคัญสูงสุดเมื่อค่ำ 19 ธันวาคม พ.ศ.2514

จากนั้นการขยายผลความสำเร็จก็ติดตามมาทันทีในวันรุ่งขึ้น

ที่หมายคือฐานยิงไลอ้อนที่อยู่ไม่ห่างกัน

 

ไลอ้อนถอนตัว

“ผาอิน” บันทึกสถานการณ์สุดท้ายอวสานของฐานยิง “ไลอ้อน” ใน 19 ธันวาคม ไว้ดังนี้

“เมื่อข้าศึกยึดภูเทิงอันเป็นยอดเนินสูงสุดด้านตะวันออกได้ก็ทุ่มกำลังลงสู่ฐานยิงไลอ้อน ซึ่งอยู่เบื้องล่างทางทิศตะวันตก กำลังพลอีกส่วนหนึ่งซึ่งเตรียมกรุยทางให้รถถังไว้พร้อมแล้วตั้งแต่ตอนกลางคืนและเคลื่อนมาจากสนามบินลาดห่วงทางทิศตะวันออกของฐานยิงมัสแตงก็เคลื่อนพลทันที”

“ข้าศึกตั้ง ปรส.และ ค.จากที่สูงและปรับการยิงปืนใหญ่ลงสู่ฐานยิงไลอ้อนอย่างแม่นยำ ทำลายปืนใหญ่รวมทั้งคลังกระสุนของฝ่ายเราเสียหายหนัก ที่ตั้งศูนย์อำนวยการยิงก็ถูกระดมยิงเสียหายไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้”

“พร้อมกันนั้นข้าศึกก็เริ่มโอบล้อมจากทางด้านใต้ เพื่อปิดเส้นทางถอยของฝ่ายเราทางทิศตะวันตก ส่วนทางทิศตะวันออกของฐานยิงไลอ้อน ข้าศึกจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยอาวุธหนัก เข้ายึดสนามบิน 343 และระดมยิงฝ่ายเราทั้งด้านฐานยิงไลอ้อน และที่ตั้ง พัน.ทสพ.607 อยู่ตลอดเวลา”

“ผบ.ฐานยิงไลอ้อน จึงตัดสินใจถอนตัวทิ้งฐานยิงออกมารวมกับ พัน.ทสพ.605 ซึ่งอยู่ถัดไปทางตะวันตกและกำลังถูกข้าศึกเข้าเกาะ และระดมยิงจนเสียกำลังพลไปแล้ว 48 นาย การตัดสินใจถอนตัวของฐานยิงไลอ้อน กระทำก่อนหน้าที่จะถูกข้าศึกปิดล้อมเช่นเดียวกับพัน ทสพ.609 เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น และต่อจากนั้นไม่นานทั้งฐานยิงไลอ้อน และพัน.ทสพ.605 ก็ไม่สามารถทนต่อการกดดันของข้าศึกเป็นจำนวนมากกว่าหลายเท่าได้ จึงต้องถอนตัวมุ่งเข้าสู่บริเวณภูเซอ เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.”

“ภูสิน” แห่งฐานยิงไลอ้อน บันทึกการถอนตัวของพัน.ทสพ.605 หลังได้รับคำสั่งให้หน่วยทหารปืนใหญ่ทุกหน่วยแปรสภาพเป็นทหารราบ ยึดและรักษาที่มั่นไว้ให้นานที่สุด ดังนี้

“ระหว่างนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็รวบรวมผู้บาดเจ็บจากการรบ ผู้บาดเจ็บจากการรบเมื่อเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ปฐมพยาบาลไปตามความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมา และสถานภาพยา และเวชภัณฑ์ที่ไม่ค่อยจะมีแล้วก็ให้ไปอยู่ที่พักของตนเพื่อรอ ฮ.มารับกลับไปล่องแจ้ง แต่ ฮ.ถูกยิงไปตั้งแต่เมื่อวานและไม่กล้ามารับอีก หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องแต่พอปลีกตัวได้ก็มาช่วยกันทำเครื่องอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเหล่านั้น ผู้ที่พอเดินได้ก็ทำไม้ค้ำยันให้ ผู้ที่เดินไม่ได้ก็ทำเปลหามไป”

“ถึงแม้เราจะทราบดีว่า บางรายคงไม่สามารถทนต่อการเดินทางอันลำบากครั้งนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก็ไม่มีใครคิดรังเกียจหรือคิดทอดทิ้งกัน พูดให้กำลังใจกันเสมอว่า อย่างไรๆ ก็ต้องหอบหิ้วกันไปให้ปลอดภัยกันให้หมด”

ครั้นเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงอย่างถึงที่สุด เวลา 22.00 น. ฐานยิงไลอ้อนและพัน.ทสพ. 605 ก็ตกลงใจถอนตัวพร้อมกันไปทางตะวันตกเฉียงใต้มุ่งสู่สนามบินที่ถ้ำตำลึงใกล้เนินซีบร้า ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรอเคลื่อนย้ายกลับล่องแจ้งต่อไป

 

ไลอ้อนถอนตัว

“ภูสิน” บันทึกต่อไปว่า

“19 ธันวาคม 2514 เวลา 22.00 น. กำลังระวังป้องกัน พัน ทสพ.605 เริ่มถอนตัว ส่วนพัน ป.ทสพ.636 เริ่มถอนตัวประมาณ 22.30 น. ในช่วงแรกของการถอนตัวจากการรบเป็นช่วงวิกฤตที่สุด ต้องรักษาความลับอย่างดียิ่ง เพราะเราใช้วิธีผละจากการรบพร้อมกันทั้งหน่วย และต้องทำให้ข้าศึกเข้าใจว่าเรายังอยู่ในที่ตั้งเหมือนเดิมด้วย ปืนใหญ่นั้นชำรุดยิงไม่ได้มาตั้งแต่เย็นแล้ว ข้าศึกคงไม่เห็นเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ก็ต้องทำลายโดยถอดเข็มแทงชนวน ถอดเครื่องกลการยิง แล้วปล่อยน้ำมันรับแรงสะท้อนออกมาให้หมด เพื่อไม่ให้ปืนใหญ่ใช้การได้อีกต่อไป”

“ที่เป็นการลวงคือแต่ละส่วนจุดเทียนไว้ให้เป็นปกติ ระงับการใช้วิทยุทุกชนิด จำกัดการใช้แสงเสียง ทุกคนเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นและสามารถนำไปได้ด้วยตนเอง”

“อาหารหลักคือข้าวตากบรรจุในถุงกระดาษสีน้ำตาลเคลือบพลาสติก ผนึกสนิทกันน้ำได้ เวลาจะกินก็เติมน้ำลงไปทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ข้าวจะดูดน้ำเป็นข้าวสุกรับประทานได้ กับข้าวแต่ละถุงจะมี 2 อย่าง และน้ำพริก หมูหยอง ปลาไส้ตันทอดกรอบ น้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง เกลือป่น ปลาแห้งทอด เป็นต้น”

“ผมหยิบติดตัวมา 5-6 ถุงคิดว่าพอ เพราะผมกระเพาะเล็ก กะเดินไม่เกิน 4 วันก็ถึงที่หมาย น้ำ นำไปได้เพียงคนละกระติกน้ำสนามที่มีติดตัวเพียงคนละ 1 ใบ แต่ตามเส้นทางต้องผ่านลำน้ำหลายสาย พอหมายน้ำบ่อหน้าได้”

“อาวุธ กระสุน ทุกคนมีปืนเล็กยาว เอ็ม 16 และกระสุน คนละประมาณ 300 นัด แต่ของผมเอาไปเพียง 60 นัด เพราะไม่ค่อยสันทัดยิงปืนเล็กๆ ระดับหัวหน้าจะมีปืนพกอีกคนละ 1 กระบอกพร้อมกระสุนคนละ 14 นัด สิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนคงมีเท่านี้ แต่คนที่มีหน้าที่พิเศษก็ต้องเตรียมเครื่องมือพิเศษของตน เช่น เจ้าหน้าที่เสนารักษ์ พนักงานวิทยุ ฯลฯ”

“สำหรับผมมีพิเศษคือ วิทยุซึ่งสามารถติดต่อกับหน่วยเหนือและอากาศยานไปด้วย หนักหน่อยแต่มีคนช่วยหิ้วอีกข้างหนึ่งค่อยยังชั่วนิด โอเวอร์โค้ตตัวเก่งที่ใช้ถ่ายแบบที่ฐานยิงซีบร้า ไม่ได้เอาไป ใช้เพียงเสื้อแจ๊กเก็ตสนามก็พอสู้อากาศที่หนาวเหน็บในทุ่งไหหินได้ และมีกระเป๋าหลายใบบรรจุสัมภาระได้มากหน่อย แผนที่เข็มทิศต้องใช้ในการเดินทาง และของพิเศษของผมคือ ลูกระเบิดขนาดเล็กประมาณลูกมะนาว จำไม่ได้ว่าเขาเรียกแบบอะไร ตั้งใจว่าหากถึงคราวคับขันจวนตัวเป็นที่สุดแล้วก็จะปลดสลักอมไว้ในปาก นึกอะไรสัก 3-4 วินาทีก็คงหมดปัญหา”

“แต่ผมยังโชคดีที่ไม่ต้องกระทำอย่างที่คิด นับว่าพระสยามเทวาธิราชยังทรงต้องการให้ผมถวายงานอีกต่อไปและต่อมาจนเกษียณอายุราชการ หมวกเหล็กปิดทองที่เอาทองเหลือจากปิดพระศอพระรูปสมเด็จพระปิยมหาราชมาปิดเป็นหน้าหมวก คืนแรกนี้เราเดินกันจนสว่างคาตา”