ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 เมษายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ที่ชื่อยุทธพงศ์ จรัสเสถียร แต่ก็ต้องให้เครดิตเขาในเรื่องการตามติดปัญหาการจัดซื้อเรือดำน้ำ
แน่นอนสิ่งที่ยุทธพงศ์พูดทุกอย่างอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องทั้งหมด แต่คือการจุดประเด็น การชักชวนให้คนในสังคมติดตามเรื่องเรือดำน้ำ ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมคาดหวังความโปร่งใส และการตรวจสอบข้อมูลจากของกองทัพอย่างมาก แต่ค่อนข้างจะได้รับการตอบสนองน้อย สังคมได้ข้อมูลความคืบหน้าต่างๆ จากผู้แทนฝั่งฝ่ายค้าน ไม่ใช่จากฝั่งรัฐบาล หรือฝั่งกองทัพ
หลังกองทัพเรือภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนมาเป็นเวลานานหลายปีจนประสบความสำเร็จลำที่ 1 ก็เจออุปสรรคสำคัญก็คือปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด อันเป็นเงื่อนไขทางสังคมที่ก่อให้เกิดปัจจัยทางการเมืองให้ฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมไปบีบรัดการเลื่อนจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 จนเป็นผลความสำเร็จ
แม้กองทัพเรือพยายามต่อสู้ทางความคิด กลางปี 2564 ผู้บัญชาการกองทัพเรือและทีมฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกองทัพเรือพยายามนำเสนอแนวคิด ความสำคัญของการมีเรือดำน้ำ มีการวางแผนประชาสัมพันธ์อย่างดี ทำเป็นคลิปวิดีโอเผยแพร่ทาง Social Media แต่ก็ไม่สามารถยึดกุมความคิดจิตใจของผู้คนในสังคมไว้ได้
แถมยังเจอการโจมตีจากฝ่ายค้านทั้งในศึกการอภิปรายงบประมาณและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคฝ่ายค้านรุมถล่มไปเล่นเรื่องเรือดำน้ำอย่างหนัก โดยได้ข้อมูลจากการประชุมในกรรมาธิการงบประมาณ และนั่นทำให้สังคมได้รับรู้ถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ แม้ในภาวะโควิด กองทัพเรือก็ยังเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3
สุดท้ายก็แพ้กระแสสังคม แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ต่างประสานเสียงกันขอให้เลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำ
หนักที่สุดคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพลังประชารัฐในตอนนั้นยังเป็นช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและขอให้กองทัพเรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำ ทนแรงกดดันไม่ไหวนายกรัฐมนตรีต้องออกมาสั่งให้ถอนงบฯ เรือดำน้ำออกไป
ยุทธพงศ์นับเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านที่ทิ่มแทงกองทัพเรือเรื่องเรือดำน้ำมากที่สุด ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 กลางเดือนมิถุนายน 2564 ครั้งนั้นยุทธพงศ์กล่าวกลางสภา ระบุว่าคนที่ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมดคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุทธพงศ์ยกให้ พล.อ.ประวิตรเป็นบิดาแห่งเรือดำน้ำไทย
“คนที่ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมดคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น ประเทศไทยนี้แปลกไหม การจะมีเรือดำน้ำ แทนที่กองทัพเรือจะเป็นบิดาแห่งเรือดำน้ำ กลับเป็นทหารบก” ยุทธพงศ์กล่าวในการอภิปราย
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หลังจากเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ถูกเลื่อนออกไป ก็มีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาของเรือดำน้ำลำที่ 1 ที่งบประมาณผ่านแล้วนั้น ยุทธพงศ์คนเดิมออกมาแฉปัญหาหลายเรื่องเกี่ยวกับการจัดสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 เช่น ปัญหาบริษัทที่มาเซ็นสัญญากับกองทัพเรือไม่ใช่รัฐบาลจีน ยังไม่ใช่การจัดซื้อแบบจีทูจีจริง หรือกรณีทางจีนส่งคนเข้ามาทำงานในไทยเพื่อก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำตามสัญญาที่เซ็นกันไปแล้วนั้น เมื่อไปดูผู้ที่เข้ามาพบว่าชาวจีนที่เข้ามาดังกล่าว เข้ามาโดยขออนุญาตในรูปแบบอาจารย์สอนภาษา จึงเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงหรือไม่
นั่นยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่ากับปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ เพราะตามสัญญาเรือดำน้ำของไทยจะใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตจากประเทศเยอรมนี เนื่องจากจีนไม่สามารถผลิตเครื่องยนต์ดังกล่าวได้ ในสัญญาที่ได้เซ็นระบุว่า เครื่องยนต์ที่จะติดตั้งจะต้องเป็นยี่ห้อ MTU เท่านั้น แต่ปรากฏว่าประเทศเยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำ MTU ให้กับประเทศจีน
ทางการจีนพยายามจะเอาเครื่องยนต์ที่จีนผลิตเองมาใส่ให้ ซึ่งยุทธพงศ์ก็กังวลว่าอาจจะมีปัญหา เพราะเครื่องยนต์เป็นเรื่องสำคัญ เรืออยู่ใต้น้ำ เกิดเครื่องยนต์เสียขัดข้อง อันตรายอาจตายยกลำได้เหมือนอินโดนีเซียที่เคยมีปัญหาก่อนหน้านี้ และที่สำคัญคือไม่ตรงตามสัญญา
พร้อมทิ้งท้ายว่าเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตรต้องรับผิดชอบ
กองทัพเรืออยู่นิ่งไม่ได้ ต้องออกมาชี้แจงทันทีในวันต่อมา พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกมายอมรับครั้งแรก ถึงปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข
3 มีนาคม พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระบุว่าได้แจ้งไปทางจีนแล้ว ว่าทางกองทัพเรือไทยขอยืนยันต้องทำตามสัญญาเดิมทุกประการ พร้อมยอมรับปัจจุบันสัญญาการส่งมอบได้เลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม ปี 2567
ความเคลื่อนไหวจากฝั่งเยอรมนี ผู้ช่วยทูตทหารของเยอรมนีในไทยออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลเยอรมนีไม่เคยได้รับการติดต่อจากประเทศจีนเพื่อซื้อเครื่องยนต์ MTU สำหรับติดตั้งเรือดำน้ำที่ขายให้กับประเทศไทย
6 มีนาคม ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เจ้าเก่า จึงขย่มต่อ ชี้ว่านี่ก็คือส่วนหนึ่งของความไม่รอบคอบ พร้อมทวงถามความรับผิดชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์และคณะกรรมการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่าทำไมจึงไปเลือกเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์
19 มีนาคม ยุทธพงศ์คนนี้ ก็ยังออกมาระบุอีกว่า กองทัพเรือได้ทุ่มงบฯ กว่า 4.1 พันล้านซื้อโดรนไร้คนขับ เรียนไปถึง พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ให้ไปตรวจสอบการจัดซื้อ เพราะบริษัทที่ขายโดรน Hermers 900 ก็คือกลุ่มเดียวกับที่ขายเรือดำน้ำให้กองทัพเรือก่อนหน้านี้ เกรงว่าจะซ้ำรอยเรือดำน้ำที่ซื้อมาแล้วไม่มีเครื่องยนต์
กองทัพเรือก็ออกมายอมรับในวันที่ 22 มีนาคม ว่ากองทัพเรือมีการจัดซื้อโดรนดังกล่าวจริง แต่ได้ตรวจสอบไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาเรือดำน้ำแต่อย่างใด การชี้แจงวันนั้นยังมีไฮไลต์สำคัญเรื่องหนึ่งคือการยอมรับเรื่องครูสอนภาษาว่าผิดพลาดจริง
“กองทัพเรือตรวจพบด้วยตนเองว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง จึงไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่โครงการก่อสร้างตั้งแต่ธันวาคม 2564” พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือระบุ
เรื่องเรือดำน้ำจีนยังคงร้อนต่อเนื่อง เพราะ VOA สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ออกมาตีพิมพ์รายงานระบุว่าแผนซื้อเรือดำน้ำจีนของรัฐบาลไทยที่สะดุดนั้น ที่จริงแล้วเกิดจากคำสั่งห้ามส่งออกอาวุธของสหภาพยุโรปหรืออียู นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุว่าบริษัทของเยอรมันส่งอุปกรณ์ขายให้กับรัฐบาลจีนมาโดยตลอด แต่ในกรณีการขายเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำจีนนั้น ปีนั้นเป็นเรื่องใหญ่ บริษัทสัญชาติเยอรมันนี้ไม่สามารถใช้อุบายเดิม
ขณะที่เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกองทัพเรือและจีนหารือเพื่อหาทางออก หลังเยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ใส่เรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อจากจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการต่อเรือ ว่าให้ดำเนินการให้สำเร็จ แต่ถ้าไม่ได้ตามสัญญา ก็ไฟเขียวให้ยกเลิกสัญญาได้ แล้วดำเนินการจัดหาใหม่
“มันไม่ได้กระทบที่เรา มันกระทบแค่เครื่องยนต์มาไม่ได้ เราจะกระทบกับใคร ประเทศไหนอีก เราไปสั่งเขาได้มั้ยเล่า ถ้าเครื่องยนต์นี้ไม่ได้ หาเครื่องยนต์ใหม่ยอมรับได้มั้ย ก็ยังไม่รู้ ก็ไปหามา ไม่ได้ก็ยกเลิกสัญญาแล้วจัดหาใหม่ทำนองนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
1 วันต่อมาผู้สื่อข่าวไปถามความเห็นเรื่องนี้กับ พล.อ.ประวิตรซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ โทนของน้ำเสียงที่ตอบกลับไม่เหมือนนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงจะยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำได้หรือไม่เพราะไม่มีเครื่องยนต์ พล.อ.ประวิตรตอบสวนกลับมาทันทีด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “มี” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แต่จะไม่ได้เครื่องยนต์ MTU ของประเทศเยอรมนีตามที่ระบุในสัญญา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “เดี๋ยวได้หมด”
คาราคาซังแบบนี้ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะถึงนี้ รัฐบาลคงต้องเตรียมคำอธิบายไว้เลย เพราะดูจากท่าทีการสัมภาษณ์ของ 2 ป.แล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าจะหาทางลงเรื่องนี้ยังไง เพราะถ้าไม่ได้เครื่องยนต์จากเยอรมนี โดนด่าหนักกว่านี้แน่นอน