3 อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประสานเสียง ชี้นโยบายการคลัง-การเงินอ่อน หวั่นรัฐบาลหนี้ท่วม-แก้ยากระยะยาว-บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

3 อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประสานเสียง

ชี้นโยบายการคลัง-การเงินอ่อน

หวั่นรัฐบาลหนี้ท่วม-แก้ยากระยะยาว

 

บนเวทีเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 80 ปี เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนที่น่าสนใจจากอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจยุคปัจจุบันที่ค่อนข้างน่ากังวล

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. (ดำรงตำแหน่งช่วง 31 กรกฎาคม 2540-4 พฤษภาคม 2541) กล่าวว่า สถานการณ์การเงินการคลังภาครัฐขณะนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมายาวนาน และภาระหนี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอดีตจะมีการพูดกันถึงการคลังที่ยั่งยืน โดยเมื่อมีการขาดดุลมาก ก็จะต้องเร่งแก้ไข แต่ตอนนี้ แม้ไม่มีภาวะขาดดุลแฝด เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล แต่ภาครัฐมีการขาดดุลค่อนข้างมาก

“ภาครัฐตอนนี้ ได้ทำอะไรต่อเนื่องกันมา จนทำให้คนเชื่อว่า ประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไปเยอะแยะ เอาเข้าจริงๆ ฐานะการคลังตอนนี้ ก็ยังซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไว้เยอะแยะมาก เมื่อไหร่การคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระก็จะตกมาที่นโยบายการเงิน แล้วหลายเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น ต้นเหตุอยู่ที่เรียลเซ็กเตอร์ หรือคนอื่นเป็นคนทำ เสร็จแล้วก็มาโผล่ที่การเงิน ว่าการเงินไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเราอยู่ปลายเหตุ แต่ก็ต้องรับภาระ”

“ดังนั้น เราก็ต้องพยายามออกแรง ผู้ว่าการ ธปท.ก็ต้องพยายามพูดคุยกับรัฐบาล พยายามทำหน้าที่ของเราให้มากที่สุด แล้วถ้าเมื่อไหร่มีความจำเป็น ชัดเจนว่าเราจะต้องทำนโยบายเข้มงวด แบบที่คนอื่นไม่ชอบ ก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเรา (ธปท.) เป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการดำเนินนโยบายมีความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิตอลเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดเครื่องมือหรือแนวทางใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งข้อดี คือช่วยตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน และหลายเรื่องก็เป็นทางเลือกที่ใช้การได้ แต่ในฐานะ ธปท.สิ่งสำคัญคือต้องมองไปข้างหน้า

“การทำงานของ ธปท.ในอนาคตอาจจะยากลำบากขึ้น เพราะจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น อย่างปัจจุบัน ธปท.กับวงการตลาดทุนและประกันภัย ก็มีความร่วมมือกันหลายๆ เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานเหล่านี้เปิดใจทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์กล่าวด้วยว่า ธปท.ต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง มีจุดยืนและกล้าทำนโยบายที่ยาก แม้ไม่เป็นประชานิยม แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากนี้ นโยบายการเงินต้องมีหลายองค์ประกอบ ทั้งแง่ความพอดี ความสมดุล รวมถึงต้องมีความคล่องตัว

 

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. (ดำรงตำแหน่งช่วง 31 พฤษภาคม 2544-6 ตุลาคม 2549) กล่าวเสริมว่า ธปท.ควรจะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร เพียงแต่ต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ทำงานเสริมสร้างเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ด้วย แล้วนำความเห็นมาคิดประกอบการทำนโยบาย โดยนโยบายการเงินจะต้องประสานกับนโยบายการคลัง เพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ

“ผู้ว่าการ ธปท.ต้องประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เข้าใจกันเป็นอย่างดี ไม่ควรทำตัวเหนือกระทรวงการคลัง แต่ก็ไม่ใช่ทำตามทั้งหมด” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า นโยบายการคลังขณะนี้ เหมือนไม่มีนโยบาย เพราะมีแต่ใช้เงินไปเรื่อยๆ ไม่ได้คำนึงว่าการขาดดุลในน้ำหนักแค่ไหนถึงจะเพียงพอ ดังนั้น ประเทศชาติตอนนี้ต้องเน้นที่การมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ส่วนนโยบายการเงินก็เดินตามเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป แต่ก็ต้องสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่มีการเติบโตก็จะเก็บภาษีไม่ได้

“ปัญหาคือ ตอนนี้คนดำเนินนโยบายการคลัง เขาไม่ดำเนินนโยบายอย่างที่สมควร ถ้าดำเนินนโยบายการคลังอย่างที่ควร แล้วนโยบายการเงินสนับสนุนก็จะหมดปัญหาไป อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลมากกว่าที่จะคิดเรื่องนี้หรือไม่คิด” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

 

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. (ดำรงตำแหน่งช่วง 1 ตุลาคม 2553-30 กันยายน 2558) กล่าวว่า สมัยก่อนที่ตนเป็นผู้ว่าการ ธปท. มีการพูดกันมากถึงบทบาทนโยบายการเงินการคลัง จากนั้น เมื่อตอนตนเป็นผู้ว่าการ ธปท. โดยเฉพาะช่วงปลาย ก็มีการพูดกันถึงเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างมาก

แต่พอมาถึงจุดนี้ คิดว่าปัญหาใหญ่อาจจะไม่ใช่แค่นั้น แต่เป็นเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศ เป็นเรื่องระบบที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การปกครองของประเทศไม่ดี

ซึ่งต้องมาคิดกันใหม่ ต้องปฏิรูปกันใหม่

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลด้านการคลัง พบว่า ในช่วงการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี 2557 ก็มีการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอด ประกอบด้วย ปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท หรือ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี), ปีงบประมาณ 2557 ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท, ปีงบประมาณ 2559 ขาดดุลเพิ่มเป็น 3.9 แสนล้านบาท, ปีงบประมาณ 2560 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท, ปีงบประมาณ 2561 ขาดดุลเพิ่มเป็น 4.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ปีงบประมาณ 2562 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท, ปีงบประมาณ 2563 ขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท, ปีงบประมาณ 2564 ขาดดุลเพิ่มเป็น 6.23 แสนล้านบาท, ปีงบประมาณ 2565 ขาดดุลเพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 ที่อยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณ รัฐบาลตั้งเป้าทำงบประมาณขาดดุลที่ 6.95 แสนล้านบาท

ส่วนระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี รายงานล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.17% ของจีดีพี ซึ่งรัฐบาลประมาณการว่า ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62.61% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่เพิ่งขยายจาก 60% ไปเป็น 70% ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังได้รายงาน “ความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2564” ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ โดยชี้ว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิต่อจีดีพี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 16.74% ในปีงบประมาณ 2556 เหลือ 14.64% ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 จากการที่รัฐบาลเก็บรายได้ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลทั้งสิ้น 8.36 แสนล้านบาท

ไม่น่าแปลกใจเลยที่อดีตผู้ว่าการ ธปท. จะแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ออกมา เพราะจากสัญญาณเหล่านี้ อาจจะนำพาประเทศไทยไปลงเหวได้ หากไม่เร่งจัดการแก้ไข