กรุงเทพฯต้องเดินไปทางไหน ? ผลึกจาก เวทีParadise หรือ Parasite ไฉน ‘กทม.’ เป็นเมืองเหลื่อมล้ำ?

ในงานเสวนาพิเศษ Paradise หรือ Parasite ไฉน “กทม.” เป็นเมืองเหลื่อมล้ำ? จึงจัดขึ้นเพื่อฉายด้านที่อาจเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่และพื้นฐานที่สุด “ความเหลื่อมล้ำ” มาร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนมุมมองผ่านแขกรับเชิญ อาทิ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจเพื่อนชัชชาติ, กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก ผู้ออกแบบอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยเรื่องคนไร้บ้าน ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ “ธันย์” สาวน้อยคิดบวก ผู้พบเหตุพลิกผันในชีวิต

ท่ามกลางกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมีขึ้น หลังห่างหายมานานกว่า 9 ปี

ผศ.ดร.เกษรากล่าวว่า กรุงเทพฯ ถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นเมืองที่น่าเที่ยวอันดับ 1 ที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน แต่พอถามว่าน่าอยู่ไหม เราอยู่อันดับที่ 98 คนอยู่นานๆ อาจรู้สึกไม่ดีมาก นี่เป็นคำถามสำหรับคนกรุงเทพฯ คำถามที่ว่า ทำไมกรุงเทพฯ ถึงไม่น่าอยู่มากกว่าน่าเที่ยว เพราะความเหลื่อมล้ำ ถ้าดูดัชนีความเหลื่อมล้ำ เราอยู่อันดับ 4 ของอาเซียน ถือว่าสูงมาก

เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่วัดได้คือรายได้ ต่อมาคือความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน โดยที่ดินเป็นตัวชี้วัด 75% ของคนไทยมีที่ดินไม่ถึง 10% ส่วนคน 5% ถือครองที่ดินถึง 80% และยังมีความเหลื่อมล้ำอีกอย่างคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการบริการสาธารณสุข

“ทำไม กทม.ถึงเกิดสิ่งแบบนี้ ช่องว่างรายได้ ฐานะ การศึกษาต่างกันขนาดนี้ อยากชวนคุยกันก่อนว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ กทม.ก็น่าอยู่และเป็นมิตรกับคนมีรายได้สูง คนที่ส่งลูกไปเรียนอินเตอร์หรือสามารถไปโรงพยาบาลเอกชนดีๆ ก็บอกว่า กทม.ไม่ต้องแก้ไขแล้ว” ผศ.ดร.เกษรากล่าว

ผศ.ดร.เกษรากล่าวต่อว่า ไม่ว่ามีรายได้ดีหรือไม่ก็ไม่สามารถมีเมืองน่าอยู่ได้ ถ้าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ อยากถามว่าทำไมถึงเกิดขึ้นแบบนี้ ไม่ใช่จู่ๆ เกิดขึ้น แต่สะสมจนมาถึงปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ก็ตอบว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดเพราะเมืองบริหารแบบเศรษฐกิจระบบตลาด ใครเก่ง ขยันกว่าย่อมสร้างรายได้มากว่า เรามักเชื่อว่าระบบนี้สร้างเศรษฐกิจที่ดีได้ แต่ระบบนี้เน้นการแข่งขัน ใครเก่งใครได้ ถ้ากลไกตลาดดำเนินแบบนี้ต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นยังไงหากรัฐไม่ดูแลคนทุกคน

สิ่งที่อยากพูดทั้งหมดคือ กรุงเทพฯ ของพวกเรา เต็มไปด้วยความขาวและดำ เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งเราปล่อยให้ประเทศ มีวิถีเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ซึ่งไม่ผิด แต่สิ่งที่เตรียมตัวน้อยไปคือ เราไปกับระบบตลาดแต่เราประคับประคองคนทุกคนหรือไม่

จึงอยากเน้นให้ทุกคนเห็นว่าความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่และมีเยอะมากแล้ว เราต้องลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสให้ได้

ด้านอนรรฆกล่าวว่า ประเด็นคนไร้บ้านหรือคนเปราะบางในเมืองเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของความเหลื่อมล้ำ เวลาออกแบบนโยบายเมืองที่ไม่ครอบคลุมหรือสร้างการมีส่วนร่วมคนทุกกลุ่มได้ ความเหลื่อมล้ำจะเกิดตามมา หลายประเทศได้ใช้ตัวเลขการเพิ่มขึ้น-ลดลงของคนไร้บ้าน เป็นตัวชี้วัดและครอบคลุมนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพของเมือง และยังสะท้อนได้หลายเรื่อง

ปัญหาคนไร้บ้าน ไม่ใช่ว่าคนไร้บ้านเป็นตัวปัญหา แต่เป็นผลลัพธ์ของสถานการณ์ปัญหา ทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม สถาบันทางสังคมเบียดขับออกมา ทำให้ต้องประสบความเสี่ยงและความเปราะบาง อาจเห็นได้จากโควิด-19 คนกลุ่มรายได้น้อยกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือหลักประกันทางสังคมที่ไม่เพียงพอ การไม่พูดถึงคนเหล่านี้

จากการศึกษาข้อมูลร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่า คนไร้บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ส่วนใหญ่เป็นคนไร้บ้านที่ เป็นแรงงานที่เคยเห็นหน้าตาตามร้านอาหาร แต่ธุรกิจปิดตัวลง การจ้างงานลดลง ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดรายได้ และเข้าถึงที่อยู่อาศัยไม่ได้ ต้องนอนตามที่สาธารณะ กลับต่างจังหวัดไม่ได้ กลับไปก็ไม่มีใครรู้จักแล้ว ไม่มีแม้แต่เงินจะกลับบ้าน สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเบียดขับคนให้เปราะบาง ยังเป็นความเหลื่อมล้ำในแง่นโยบาย ไม่มีการพูดถึงคนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม

“จากที่ได้คุยกับหลายคน ก็จะบอกว่า เขาเลือกเป็นคนไร้บ้าน แต่ความจริงไม่ใช่ ภาวะไร้บ้านเป็นทางเลือกสุดท้ายของชีวิต เพราะว่าเงื่อนไขการเป็นคนไร้บ้านไม่ง่าย ชีวิตประสบความเสี่ยงทั้งสุขภาพกายและใจ กลายเป็นคนชายขอบของชายขอบอีกที ขณะเดียวกันนโยบายเมืองไม่ได้นึกถึงคนกลุ่มนี้ เป็นคนไร้เสียงอย่างแท้จริง” อนรรฆกล่าว

และว่า “ผมคิดว่าในระยะยาว ถ้าสถานการณ์หนักขึ้น ที่คนเสี่ยงเข้าสู่ภาวะคนไร้บ้านจะทำให้คนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น ความเปราะบางของเมืองมากขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการขยับฐานะทางเศรษฐกิจ พลิกกลับมามีชีวิตที่ดี กลายเป็นคนไร้บ้านถาวร”

คนไร้บ้านนอกจากสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยังชี้วัดการถูกเมินจากนโยบาย จึงต้องสร้างนโยบายที่เป็นตาข่ายที่รองรับคนกลุ่มนี้ให้มากที่สุด

ส่วนกชกรกล่าวว่า การมีพื้นสาธารณะในเมืองสะท้อนหลายอย่าง สัดส่วนพื้นที่สาธารณะต่อคนใน กทม. ยังไม่ถึงค่ามาตรฐานระดับสากล เราจะเห็นว่า เมืองเล็กๆ แห่งนี้ เวลาไม่ถึงร้อยปี ขยายตัวออกไปมากบนพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งน้ำท่วมเป็นสิ่งปกติในแง่ภูมิศาสตร์ การที่พูดว่าเมือง กทม.ไม่อยากเปียกแล้วเราแก้ไขยังไง หรือว่าตั้งวิธีคิดที่ถูกไหม อาจเป็นการฝืนธรรมชาติหรือตั้งประเด็นเมืองมากกว่าเรื่องภูมิศาสตร์ การตั้งเมืองจนมองข้ามเรื่องภูมิศาสตร์ แล้วทำให้กลายเป็นปัญหาและสร้างความเหลื่อมล้ำมากมาย แต่จะมาพูดถึงในแง่สิ่งแวดล้อม ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี ต่อให้เมืองเท่าเทียม เมืองจะไม่มีทางยั่งยืน

“เมืองไม่ใช่เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพ หรือเรื่องการจัดการน้ำก็ส่งผลทุกมิติ การคิดแต่แค่เรื่องเมืองหรือคน จึงไม่เพียงพอ” กชกรกล่าว

และว่า “จากรายงานศึกษา กทม.ถูกจัดเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงจมบาดาล เป็น 5 อันดับของโลก เรื่องน้ำและการเข้าถึงที่สาธารณะ จะพูดถึงยังไง หรือเรื่องอาหาร ทั้งที่ไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่อาหารคุณภาพกลับไม่ถูกพูดถึง เรากำลังพูดถึงการป้องกันคนเปราะบางและให้เข้าถึงทรัพยากรนี้ยังไง”

อย่างโครงการสวนสาธารณะลอยฟ้า ถามว่า คน กทม.มีที่สาธารณะให้สูดดมอากาศไหม เป็นการสร้างมิติต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่สุขภาพคน แต่ยังพูดถึงสุขภาพของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ถ้าไม่พูดถึงสิ่งแวดล้อม ระบบอื่นจะอยู่ยังไง ยังมีการสื่อสารถึงองค์กร ถ้ากลไกไม่ส่งเสริมการปฏิบัติได้จริง การแก้ไขความเหลื่อมล้ำก็เป็นได้แค่นโยบาย คือกรุงเทพฯ กับความเหลื่อมล้ำ ดูเป็นเรื่องเดียวกันแต่ก็แก้ไขได้ กทม.มีหน่วยงาน 7-8 หน่วย การแก้ไข กทม.ต้องแก้เรื่องบูรณาการ

การมีพื้นที่สาธารณะที่ดี มีประโยชน์ในภาพรวม สิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ร่วมกันได้

ส่วนณิชชารีย์กล่าวว่า ตอนแรกไม่ได้สนใจว่าเมืองดีต่อผู้พิการเป็นยังไง เราใช้ชีวิตปกติมากเลยไม่ได้สนใจและมองข้ามไป แต่พอประสบอุบัติเหตุและเป็นผู้พิการจริงๆ มีหลายอย่างที่ตนมองข้าม ปัญหาที่ตัวเองเจอตอนนั่งวีลแชร์ เริ่มตั้งแต่บ้าน เราไม่สามารถบอกให้ทุกคนซื้อบ้าน หรือเหมาะกับผู้พิการได้เสมอไป การทำให้เมืองที่น่าอยู่ได้ ควรคำนึงถึงการใช้วีลแชร์ คำนึงถึงผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ปกติสิ่งปลูกสร้างมักทำเน้นความสวยงาม

“ยกตัวอย่างบางร้าน ขายของประเภทเดียวกัน แต่ถนนเป็นเกาะกลาง คนพิการจะไปร้านที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ในขณะที่อีกร้านบันไดเยอะ คือไม่ได้มีทางเลือกให้ผู้พิการ ต้องเรียกคนช่วยตลอดเวลา เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสถานที่ ทางเลือกในชีวิตก็น้อยลง พอใช้ชีวิตเองก็เห็นว่า ผู้บริหารประเทศมีการดูแลสถานที่ต่างๆ ในการเข้าถึงมากขึ้น แต่ลืมจุดระหว่างทางเพื่อไปถึงสถานที่ ไม่ว่าฟุตปาธ ทางเท้า” ณิชชารีย์กล่าว

ณิชชารีย์เสนอว่า คนพิการรู้ดีที่สุด ไม่ต้องคาดหวังแทนพวกเขา เราต้องให้ผู้พิการมีส่วนร่วม จุดเริ่มต้นง่ายๆ ให้คนพิการได้มีโอกาสสื่อสาร ส่วนมุมมองผู้บริหาร กทม. เขาจะมองว่าจุดนี้เป็นปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้นสร้างความเหลื่อมล้ำ แล้ว กทม.จะเป็นสังคมที่น่าอยู่ ไม่ใช่แค่ผู้พิการ แต่รวมถึงสตรีมีครรถ์ คนใช้รถเข็นทั้งไทยและต่างชาติ ได้รู้สึกว่าเป็นเมืองที่แบ่งปันและเป็นมิตร

สามารถบอกได้ว่าประเทศนี้เข้าถึงทุกคน ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ถึงว่าที่ผู้ว่าฯ-กทม.ในอนาคต

ผศ.ดร.เกษรากล่าวว่า กทม.วันนี้ น่าอยู่แล้วสำหรับบางคน แต่มีคนอีกมากคือความท้าทายรายวัน ไม่ควรทำให้คน กทม.เกิดมาเหมือนกันแต่ต่างกันมาก เราไม่ควรมองอะไรเป็นเรื่องสำคัญก่อนหลัง เราทำพร้อมกันได้ และเราไม่มีทางได้เมืองดีสำหรับทุกคน ถ้าไม่มีคนทุกคนทำให้เมืองน่าอยู่ ต่อให้มีผู้ว่าฯ ยอดมนุษย์ก็ทำไม่ได้ หากปราศจากการช่วยเหลือจากคน กทม.ทุกคน

อนรรฆกล่าวว่า ต้องฟังเสียงทุกกลุ่ม ก่อนเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ต้องฟังเสียงทุกคนอย่างแท้จริง ที่ผ่านมา กทม.มีโลกสองใบซ้อนกัน คนจนคนรวยอยู่ย่านเดียวกัน แต่ตอนนี้ความเหลื่อมล้ำถ่างมากขึ้น คนกลุ่มหนึ่งไม่รู้จักคนอีกหลายกลุ่ม

นี่จะเป็นปัญหาในอนาคต และเป็นความยากต่อผู้นำในการออกแบบนโยบายเพื่อทุกคน จึงต้องฟังเสียงทุกคนและรวมโลกสองใบให้กลายเป็นโลกใบเดียวกัน เพราะตอนนี้คนรวยที่มีโลกตัวเอง คนจนมีอีกโลกแยกจากกัน

กชกรกล่าวว่า เชื่อในการเปลี่ยน ปัจจัยหนึ่งที่อยากคำนึงในการพัฒนาคือ พลวัตของระบบนิเวศ ไม่อยากคิดแค่เรื่องคน แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากที่พยุงชีวิตเรา โรคระบาดที่เกิดขึ้น อาหารคุณภาพแย่ ก็มาจากเรื่องสิ่งแวดล้อม อยากได้สิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างก็ต่อยอดต่อไป

ทั้งนี้ ณิชชารีย์กล่าวว่า ทุกปัญหาไม่จำเป็นต้องเรียงหรือค้นใหม่ ทุกคนมีปัญหาในใจ แค่ฟังเสียงก็จับมือแก้ไขได้เร็วขึ้น

สามารถทำให้เราเดินหน้าแก้เรื่องอื่นๆ ได้

ชมรายการเต็ม