พรรคการเมืองไทย จะไปทางไหนกัน (2)/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

พรรคการเมืองไทย

จะไปทางไหนกัน (2)

 

หากเป้าหมายสำคัญของการตั้งพรรคการเมือง คือ การเลือกตั้งและการได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลเพื่อเข้าไปบริหารประเทศให้เกิดการพัฒนาตามนโยบายของพรรคการเมืองที่แถลงต่อประชาชน พรรคการเมืองในประเทศไทยที่มีกว่า 80 พรรคในปัจจุบัน คงมีโอกาสประสบความสำเร็จไม่เกิน 1 ใน 4 หรือไม่เกิน 20 พรรค เพราะแม้การจัดตั้งรัฐบาลผสมครั้งหลังสุดที่นับว่ามีพรรคการเมืองเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ก็ยังอยู่ที่ 18-19 พรรค

ยิ่งการเปลี่ยนแปลงกติกาของรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.ให้มี ส.ส.เขตที่เพิ่มขึ้นเป็น 400 คน ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน และให้มีการนับคะแนนแบบคู่ขนานจากบัตรแต่ละใบ โอกาสที่พรรคการเมืองขนาดเล็กจะได้รับเลือกตั้งยิ่งลดน้อยถอยลง

แต่การณ์กลับว่า มีพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ให้เห็นตลอดเวลา

อะไรคือปัจจัยเหตุที่ทำให้นักการเมืองยังคิดว่า การตั้งพรรคใหม่ยังเป็นโอกาสของความสำเร็จในบริบทของการเมืองในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สมควรหาคำตอบ

 

พรรคเก่า ใช่ว่าจะได้เปรียบพรรคใหม่

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 เป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองตั้งใหม่ 2 พรรค คือพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคอนาคตใหม่ ที่มีระยะเวลาก่อตั้งโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง กลับสามารถประสบความสำเร็จ กลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับสอง และอันดับสามของสภา เอาชนะพรรคดั้งเดิม เช่น ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ที่ตกไปอยู่อันดับที่สี่ ห้า และเจ็ด (พรรคเสรีรวมไทย ได้อันดับที่หก)

กรณีของพรรคพลังประชารัฐอาจเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเป็นพรรคที่จัดตั้งโดยทหารที่ยึดอำนาจมา ย่อมรู้ดีว่าจำเป็นต้องสร้างพรรคการเมืองเพื่อการเลือกตั้งหากประสงค์จะอยู่ในอำนาจต่อ และความได้เปรียบในฐานะเป็นคณะรัฐประหารและเป็นผู้กำหนดกติกาต่างๆ ย่อมทำให้นักการเมืองที่ปรารถนาจะเกาะกับการมีอำนาจในคณะรัฐบาลข้างหน้ารวมทั้งนายทุนทางการเมืองทั้งหลายหลั่งไหลเข้าสู่พรรค กลายเป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จได้ในข้ามคืน

ส่วนกรณีของพรรคอนาคตไทย กลับมาจากการที่พรรคสามารถเสนอจุดยืน นโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่อต้านเผด็จการและมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่ตอบสนองกับความต้องการของคนในสังคมจำนวนหนึ่ง จึงได้รับการต้อนรับเกินคาด

สำหรับประเทศไทยจึงต้องบอกว่านาทีนี้ พรรคเก่าหรือพรรคใหม่ ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อม กำลังทรัพย์ และความสามารถนำเสนอนโยบายและจุดยืนที่เป็นที่ยอมรับของสังคมก็มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง

 

พรรคอนุรักษ์อยู่ในภาวะเสื่อมถอย

แนวทางการดำเนินงานของพรรคการเมืองต่างๆ ในปัจจุบัน พอแยกได้เป็น 2 แนวทางคือ แนวอนุรักษนิยม (Conservative) และแนวเสรีนิยม (Liberal)

โดยแนวทางแรกมักจะเป็นแนวทางของพรรคการเมืองที่จัดตั้งมานาน หรืออยู่กับฝ่ายผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง (Status Quo) คล้อยตามกับการบริหารในแนวทางที่เคยปฏิบัติ เชื่อฟังระบบราชการและยึดมั่นกับกฎระเบียบที่มีอยู่ในบ้านเมือง

ดังนั้น ความปรารถนาของพรรคการเมืองแนวนี้ คือ การที่สังคมเชื่อฟังในกฎหมาย เห็นความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นเรื่องดีงาม และเปลี่ยนแปลงสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไปคู่ไปกับการรักษาสถานะของคนที่ได้เปรียบในสังคมในดำรงอยู่ต่อไป

แนวทางเสรีนิยมกลับตรงกันข้าม เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ หากมีสิ่งใดที่เป็นปัญหาอุปสรรคต้องแก้ไข มองระบบราชการที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบเป็นสิ่งที่ต้องเร่งเปลี่ยนแปลง เน้นการเปิดโอกาสให้คนในสังคม

แนวทางดังกล่าวส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกและมักจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่แปลกใหม่และเป็นที่สั่นสะเทือนของคนรุ่นเก่า สังคมจึงอาจจะดูวุ่นวายและกระทบโดยตรงกับกลุ่มคนที่มีสถานะมั่นคงในสังคม

โดยธรรมชาติแนวอนุรักษนิยมนั้น มักจะเป็นที่นิยมของคนวัยกลางคนขึ้นไป

ในขณะที่แนวเสรีนิยมได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มนักศึกษาหรือคนในวัยเริ่มทำงาน

ดังนั้น การเสื่อมถอยของฝ่ายอนุรักษนิยมจึงเป็นเรื่องปกติ ที่คนวัยกลางคนและสูงอายุจะลดน้อยลงและคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงตามกฎของธรรมชาติ หากแต่ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงกลับเป็นการกระทำของฝ่ายอนุรักษนิยมเอง

เพราะหากยอมรับ ไม่ขัดขืน มีการปรับตัวตามพองาม ฝ่ายอนุรักษ์ยังสามารถคงความนิยมและได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่ได้ในระดับหนึ่ง

แต่หากคิดเพียงเอาชนะ ใช้อำนาจของตนที่มีสร้างกติกาที่มุ่งสร้างความได้เปรียบแก่ฝ่ายตน ใช้กฎหมายในมือมุ่งทำลายแต่ฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ธรรม ไม่เคยรับฟังเสียงประชาชน กระแสการเปลี่ยนการแปลงที่เนิบช้าอาจถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยน้ำมือของตนเอง

 

รวมพรรคใหญ่หรือแยกพรรคเล็ก

ต้องรอดูความชัดเจนของกติกา

การเป็นพรรคใหญ่ย่อมมีความได้เปรียบมากกว่าพรรคเล็ก เนื่องด้วยความพร้อมของสรรพกำลังต่างๆ ยิ่งเป็นพรรคที่ฝ่ายการเมืองประเมินว่าจะมีโอกาสชนะเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ ทั้งผู้สมัครในพื้นที่เป็นแถวหน้า ทั้งนายทุนทางการเมืองที่หวังประโยชน์จากรัฐบาลหลังเลือกตั้งย่อมหลั่งไหลไปสู่

อย่างไรก็ตาม การออกแบบกติกาใน กม.ลูก คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ตามต่อมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องระบบการเลือกตั้งและการนับคะแนนเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับหลังการการเลือกตั้งยังคงเป็นปัจจัยสุดท้ายที่นักการเมืองจะวางเกมเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะรวมเป็นพรรคใหญ่ หรือแตกกระจายเป็นพรรคเล็ก

แม้แนวโน้มของกติกาค่อนข้างไปในแนวทางเดียวกัน คือ นับแบบคู่ขนาน (parallel counting) บัตรใครบัตรมัน โดยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นมาจากคะแนนของพรรคในบัตรบัญชีรายชื่อคิดเป็นสัดส่วนร้อยละของบัตรบัญชีรายชื่อทั้งหมดและเทียบจำนวนทั้งหมดเป็น 100 คนแล้วก็ตาม

แต่สำหรับประเทศไทย ที่กติกามักถูกออกแบบเพื่อผู้มีอำนาจ และสามารถให้เหตุผลทุกอย่างเมื่อฝ่ายตนได้ประโยชน์

เป็นห่วงว่าวันหนึ่งเมื่อเริ่มรู้สึกว่า กติกาการนับคะแนนแบบนี้ จะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตรงข้าม นำความพ่ายแพ้มาแก่หมู่คณะของตน

การกลับตัวแบบ 360 องศาอาจเกิดขึ้น กติกาการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจเปลี่ยนกลับเป็นการคิดจากสัดส่วนของ ส.ส.ที่พึงจะมี หรือเอา 500 หาร ก่อนจะมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ เพื่อส่งเสริมให้พรรคเล็กต่างๆ มีโอกาสไปต่อ โดยหวังการได้รับค้ำจุนจากพรรคเล็กๆ เหล่านี้ในการคงอำนาจอย่างต่อเนื่องต่อไป

การตั้งพรรคการเมืองใหม่ จึงเป็นทางเลือกสำรองของทุกฝ่ายที่ตั้งขึ้นมาก่อน แต่จะใช้หรือไม่ใช้ปล่อยให้เหี่ยวเฉาไปเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่ต้องเสียดาย

ความหวังของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองไทยในวันนี้ จึงไม่ต้องคาดหวังอะไรมากทั้งพรรคเก่า ทั้งพรรคใหม่ หากดูแล้วพรรคเหล่านี้ไม่มีแนวทางการดำเนินกิจกรรมพรรคที่แตกต่างกันจริง เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อหาคะแนนนิยมใหม่ๆ จากประชาชนในกรณีที่ของเก่านั้นขายไม่ออกแล้ว

เหล้าเก่าในขวดใหม่ หรือ จะเหล้าเก่า ขวดเก่า ในสลากใหม่ ก็คงเป็นเหล้าเก่า เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรู้ทันและรู้จำแนก