ทราย เจริญปุระ : ปราสาทของ “แม่”

"ปราสาทของพ่อ" (The Glass Castle) เขียนโดย จีนแน็ตต์ วอลล์ส แปลโดย "ณวรา" ลิขสิทธิ์ภาษาไทย พ.ศ.2559 โดยบริษัท สันสกฤต จำกัด กำลังจะออกฉายในรูปแบบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน

ฉันเคยคิดว่า บ้านไหนๆ ก็คงเป็นแบบนี้

มีสิ่งแวดล้อมแบบนี้

เลี้ยงลูกแบบนี้

จนโตมานี่แหละถึงรู้ว่า, เมื่อคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีใครแทนใครได้ พอคนเหล่านั้นต้องมารวมกันในนามของ-ครอบครัว-ผลลัพธ์จึงสามารถมีได้แต่หมื่นเป็นล้านไม่ซ้ำทางกัน

จริงๆ สิ่งที่วัดความเป็นลูกที่ดีของฉันกับแม่ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ฉัน “ไม่ทำ” มากกว่าสิ่งที่ฉันทำหรือเป็น

เรื่องแบบนี่ก็คงแล้วแต่สไตล์ของแต่ละครอบครัวในการเลี้ยงลูก

แต่แม่ฉันดันมีตัวแปรเป็นอาการซึมเศร้า ซึ่งมาค้นพบว่าตัวเองป่วยก็เมื่อคลอดลูกออกมาแล้วตั้งสามคน

ความกระจองอแงบีบคั้นทางใจกับอาการซึมเศร้านั้นเป็นศัตรูกันอย่างชนิดผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ

เดี๋ยวนี้หลายๆ คนพอจะมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” หรือฉันจะเรียกทับศัพท์ง่ายๆ ว่าเบบี้บลูส์ก็แล้วกัน

แม่ฉันมีลูกติดๆ กันชนิดหัวปีท้ายปีจนดูเหมือนไม่มีเวลาเศร้า แต่เอาเข้าจริงแล้วเราก็หนีไม่ได้หรอก จะเป็นมากเป็นน้อยก็ดูจะขึ้นอยู่กับความลมเพลมพัดของโชคชะตา

ฉันถูกกำชับด้วยคำพูดและการกระทำจากทั้งพ่อทั้งแม่มาตั้งแต่เริ่มจำความได้ ว่าแม่ไม่สบาย พี่ทรายเป็นพี่คนโตต้องดูแลแม่ เข้าใจแม่ เสียสละให้น้อง

แล้วไอ้อาการไม่สบายของแม่นี่ก็ไม่ใช่ปวดหัวตัวร้อนอย่างใครเขา

แม่ฉันมีภาวะซึมเศร้าถึงขั้นอยากจะนอนตายไปพร้อมๆ ฉันเลย เพราะรู้สึกว่าเขาไม่มีวันเลี้ยงลูกได้แน่ๆ น้ำนมก็ไม่มี ต้องให้ฉันกินนมชง

หม่นเศร้าอยู่อย่างนั้นจนการเลี้ยงดูฉันเป็นหน้าที่ของพยาบาลพิเศษ พ่อ แล้วก็ยาย

เป็นอย่างนี้แม่ก็ยิ่งประสาทเสียว่าตัวเองทำไม่ได้ แถมไม่ได้มีฉันแค่คนเดียว ยังมีน้องออกมาอีกตั้ง 2 คน ไม่ได้ว่างเว้นจากความโหดร้ายทางฮอร์โมนบ้างแม้แต่น้อย

 

ตอนเด็กๆ ฉันเลยถูกหัดให้เซ็นลายเซ็นของแม่ โดยตัวแม่เอง เพื่อที่ฉันจะได้เซ็นสมุดการบ้าน เอกสารโรงเรียน หรืออะไรต่อมิอะไรให้ตัวฉันเองและน้องๆ ได้อย่างเรียบร้อย โดยไม่ต้องไปรบกวนแม่ในวันที่แม่เกิด “ช็อต” ขึ้นมา

เป็นภาพธรรมดาๆ ที่ฉันจะเห็นแม่นอนเฉยๆ อยู่บนโซฟาข้างล่างบ้านตอนเช้าก่อนฉันไปโรงเรียน

แล้วพอกลับมาแม่ก็ยังอยู่ในท่านั้น

แรกๆ แม่ฉันขับรถไปส่งฉันที่โรงเรียนได้ แต่แล้วหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ขับไปตั้งครึ่งทางแล้วแม่ก็เกิด “ช็อต” จนขับต่อไปไม่ได้ ปล่อยให้ฉันนั่งเหงื่อแตกใจเต้นตึกตักอยู่ในรถ

บ้านเราก็เลยใช้บริการรถรับส่งนักเรียนสำหรับลูกทุกคนเป็นการแก้ปัญหา

ที่ฉันบอกว่าความดีงามในการเป็นลูกของฉัน ต้องวัดจากสิ่งที่ฉัน “ไม่ทำ” มากกว่า “ทำ” ก็เช่น ฉันต้องไม่สร้างปัญหา ไม่เถียง ไม่ดื้อ ไม่ซน ไม่ทำให้หงุดหงิด (อันนี้ยากมาก เพราะเดาทางแม่ไม่ค่อยออก บางวันเรื่องไม่เคยหงุดหงิด แม่ก็เกิดปรี๊ดขึ้นมาเสียอย่างนั้น) ไม่มีปากมีเสียง

แม่ฉันบอกกับทุกคนว่าเลี้ยงลูกอย่างเพื่อน ซึ่งก็เป็นความจริงในความคิดของแม่เพียงคนเดียวเท่านั้น

ทั้งลูกทั้งพ่อรู้ดีว่าแม่นี่แทบจะเป็นจ่าครูฝึกทหารในหนังโหดๆ ได้สบาย

แต่ก็อย่างที่บอก, ว่าฉันไม่เถียงแม่ วิธีที่ง่ายที่สุดในการผ่านวันไปให้ได้อย่างสงบสุขกับแม่คือการทำตาม การตามใจ การตอบรับ

ยิ่งพอฉันเริ่มทำงาน ชีวิตฉันกับแม่ก็ถูกผูกติดกันมากขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่เป็นความเหนื่อย ความง่วง ความเบื่อก็จะถูกระบายออกมา

ไอ้ที่ว่าความเหนื่อยล้าที่ระบายออกมานั่นไม่ใช่จากฉันนะ

แต่มาจากแม่

เพราะข้อแม้สำคัญที่พ่อกำหนดเอาไว้เป็นกติกาในการทำงานของฉันก็คือ, ต้องให้แม่ดูแลรับส่ง บริหารจัดการชีวิตฉันไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ จะไม่มีการหาผู้จัดการส่วนตัว หรือเพื่อน หรือพี่ที่รู้จักมาทำหน้าที่นี้เป็นอันขาด

ต้องแม่แต่เพียงผู้เดียว

 

เลยกลายเป็นว่าวันไหนเหนื่อยๆ หนักๆ นอนน้อยๆ กันทั้งคู่ขึ้นมา แม่ก็จะกริ้วใส่ฉัน ว่าเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงที่แม่ต้องมาแบกรับ ถ้าฉันไม่ทำงานซะอย่างแม่ก็สบายได้พักผ่อนสวยๆ ไปแล้ว

เบื่อหนักเข้าแม่ก็พาฉันไปลาออกจากโรงเรียนตอน ม.4 เพราะขี้เกียจเถียงกับครูเวลาโดนเชิญไปพบ ว่าทำไมอินทิราดูง่วงนอนผิดปกติ หรือทำไมอินทิราตกพละ แม่ฉันเขาเลยตัดทุกปัญหาด้วยการพาไปลาออกเสีย แล้วไปเรียน กศน. สิ้นเรื่องสิ้นราวไป

เงินค่าตัวอะไรแม่ฉันก็เก็บให้หมด ฉันก็ไม่มีปัญหา แม่อยากทำอะไรก็เชิญตามสบาย ขอแค่ให้ฉันมีความสงบ ไม่โดนแม่วีนใส่ ได้อ่านหนังสือเงียบๆ บ้างก็พอ

แล้วฉันก็ชอบงานฉัน มีความสุขเวลาได้ไปกอง ดีใจที่ได้กินข้าวกอง หรือมีคนมาถามว่าวันนี้อยากกินอะไร เพราะไม่เคยถูกถามมาก่อน (ก็บอกแล้วว่าแม่ฉันมาสไตล์จ่าฝึกทหาร ขืนมาเลือกกินพิรี้พิไรเป็นอดกินกันทั้งมื้อนั่นแหละ)

ฉันไม่เคยรู้เลยว่าความสัมพันธ์แบบเอาง่ายเข้าว่า และยกให้แม่เป็นศูนย์กลางจักรวาลแบบนี้จะมาแว้งกัดเราทั้งสองคนเข้าอย่างเจ็บปวดที่สุดขึ้นมาจนได้ในวันหนึ่ง

 

จีนแน็ตต์ก็เคยคิดเช่นฉัน เมื่อตอนเธอยังเด็กๆ

ใครๆ ล้วนเป็นเช่นนี้กันทั้งนั้น

จีนแน็ตต์ วอลล์ส อยู่ในครอบครัวที่ใช้ชีวิตฉีกกรอบสังคมอย่างสิ้นเชิง พ่อของเธอเป็นคนฉลาด ช่างฝัน เต็มไปด้วยจินตนาการ เขารักลูกมาก ชอบสอนวิชาความรู้ต่างๆ ให้ลูก ทั้งฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา และพร่ำสอนให้ลูกกล้าหาญในการเผชิญกับโลกของความเป็นจริง

แต่ยามใดที่เหล้าเข้าปาก เขาจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

ในขณะที่แม่เป็นคนอารมณ์แปรปรวน มีโลกส่วนตัวและไล่ล่าความฝันที่จะเป็นศิลปิน แม่เกลียดการเป็นแม่บ้าน ปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ดูแลลูกๆ

พวกเด็กๆ จึงต้องช่วยเหลือตัวเอง

 

ทุกวันนี้ฉันโตขึ้นมากและแม่ก็แก่ลง สภาวะและสถานภาพต่างๆเปลี่ยนแปลงแบบกลับตาลปัตร ผู้คุมกฎของบ้านคือฉัน ไม่ใช่แม่

จริงๆ ฉันไม่อยากใช้คำว่า “ควบคุม” เลย เพราะฉันทำไม่ได้ ไม่มีใครควบคุมแม่ได้ และยิ่งคิดแต่จะคอยควบคุม แม่ก็ยิ่งมีวิธีแปลกใหม่ที่จะสร้างหนทางที่ต่างไปในแบบของแม่เอง

ฉันไม่รู้ว่าฉันทำได้ดีแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือแม่ก็ไม่พอใจฉันอยู่ดี

ในโลกที่สมบูรณ์แบบ คนเป็นพ่อเป็นแม่คงจะเลือกถอยออกไป เว้นระยะให้ลูกได้เติบโตเป็นตัวเอง

แต่ในโลกเฉพาะที่เรียกว่าครอบครัว เราต่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม