ทนทายาด-ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

ทนทายาด

 

เชื่อแน่ว่า ชั่วโมงนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี อยากก้าวลงจาก “หลังเสือ” เต็มประดาแด เพียงแต่จะหาเหตุผล กลวิธีใดให้หลบรอดปลอดภัย เสือไม่กัด การผูกขาดอยู่บนศูนย์อำนาจมายาวนาน ใกล้จะ 8 ปีอยู่หลัดๆ ปัญหาสารพัดมันค่อยๆ สะสมดำเนินมา กองพะเนินเทินทึก

เมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าหนทางข้างหน้าอันตราย เข้าสู่ภาวะคับขัน ปีนภูเขาสูงชัน ต้องฉลาดพอกับการเอาตัวรอด ในการก้าวลงจากหลังเสือ

ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าว “บิ๊กตู่” เมื่อวันที่มีการเปิดรับผู้สมัครลงชิงชัย “ผู้ว่าฯ กทม.” วันแรก “ลุง” แก่ปรารภกับกองทัพผู้สื่อข่าว ฟังดูแปลกๆ ปลงๆ ในบางวรรค บางตอนว่า

“ผมพยายามทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุดนั่นแหละ ถึงแม้จะมีคนโจมตีว่าอะไรต่างๆ ผมไม่โกรธ โกรธไม่ได้หรอก เพราะผมทำให้เขาถูกใจไม่ได้ทั้งหมด แต่จำเป็นต้องทำเพื่อคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด ถ้ามีโอกาสก็ทำต่อไป ไม่มีโอกาสก็กลับบ้านนอนเท่านั้นเอง และหวังเป็นอย่างยิ่งใครจะได้ตำแหน่งหรือเป็นอะไร ขอให้ทำให้สำเร็จเถอะ แล้วเข้ามาแก้ปัญหาที่ผมเจอมาหลายร้อยปัญหา และพยายามแก้ แก้ให้ได้จริงๆ”

ย้อนไปดูก่อนหน้านี้ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีตลอดกาล มือกฎหมายสารพัดประโยชน์ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ก็คนหนึ่งแล้ว ปรารภกับคนใกล้ชิดว่าจะล้างมือในอ่างทองคำ อำลายุทธจักรการเมืองไปเลี้ยงหลาน

แม้กาลต่อมา จะเอ่ยปากปฏิเสธ แต่ไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำว่า พูดเล่นกับเพื่อนๆ หลายวันมาแล้ว และไม่ได้หมายความว่าในบัดดล “แต่เมื่อสิ้นรัฐบาลนะ”

คำจำกัดความว่า “สิ้นรัฐบาล” ก็มิได้หมายความอยู่ครบเทอมถึงปี 2566 เพราะรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” เวลานี้ เจอ “เรือใบ” รอเจาะยางอยู่อื้อซ่า มากมายก่ายกอง ใหญ่หลวงเกินคำบรรยาย นับเม็ด เช็ดถูกันไม่ถูก มีโอกาสจอดป้ายได้ทุกเรื่อง

 

1.”สภาผู้แทนราษฎร” กำหนดเปิดประชุมสมัยวิสามัญประจำปีในวันที่ 22 พฤษภาคม โคจรมาเป็นวันเดียวกับที่ “คสช.” เคยเปิดปฏิบัติการยึดอำนาจ โค่นรัฐบาลพลเรือน เมื่อปี 2557 และวันเดียวกับที่ กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาถรรพ์อะไรปานนั้น

เปิดปุ๊บ ทัวร์ลงปั๊บ ฝ่ายค้าน 6 พรรค “เพื่อไทย-ก้าวไกล-เพื่อชาติ-ประชาชาติ-เสรีรวมไทย-พลังปวงชนไทย” ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ มีข่าวคลุกวงในระบุว่า จะล่อเป้ากันหนักกว่าทุกครั้ง อาจจะมุ่งกระแทกกลาง “พล.อ.ประยุทธ์” คนเดียว

ปัญหาสารพัด หยิบเรื่องไหนมาชำแหละ ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ มาอภิปราย โดนทั้งนั้น ไม่ว่าแก้ปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจที่ตกต่ำ

เหนือสิ่งอื่นใด คือปมฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาล ตัวเลขที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่หัสเดิม 266 เสียง หักลบออกด้วยจำนวน 21 เสียงของ “พลังประชารัฐ” เหลือ 248 ที่นั่ง แม้ว่า 3 ที่นั่งจะย้ายไปซบ “ภูมิใจไทย” แต่ก็ถือว่า “ปริ่มน้ำ” น่าหวาดเสียวมาก

การที่ “ฝ่ายค้าน” เปิดเกมรุมกินโต๊ะ “พล.อ.ประยุทธ์” ล่อเป้าคนเดียว โดยใช้อาวุธหนักทุกรูปแบบ แข็งแกร่งแค่ไหนก็เอาไม่อยู่

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แห่งมาตรา 151 ระบุว่า เมื่อสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล หรือทั้งคณะ

เมื่อเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนสียง เมื่อมีการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลง

สรุปคือ ห้ามรัฐบาลยุบสภา หนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ

กรณีที่ว่า หาก “พล.อ.ประยุทธ์” จำนน จนกลางกระดาน ประโยชน์จะเอื้อกับ “พรรคภูมิใจไทย” มากกว่าใครเพื่อนเป็นลำดับแรก เพราะ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค เป็นหนึ่งเดียวที่มีชื่ออยู่ในทำเนียบนามนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอ

สามารถนับหนึ่งตามช่องทางที่ 1 ช่องทางเดิม และเช่นเดียวกับที่เคยโหวตชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2562

ไม่ต้องข้ามห้วยไปช่องทางที่ 2 ใช้เสียงข้างมาก 500 เสียง 2 สภารวมกัน

ตอนนี้ภูมิใจไทยยืนค้ำถ่อในฐานะพรรคร่วมอันดับ 2 เสียงไหลมาเทมา ทั้งที่เปิดเผยและปิดลับอยู่ขณะนี้ 77 ที่นั่ง น้อยกว่าพลังประชารัฐเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

2. เกิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “บิ๊กตู่” ทนทายาด โดนของหนักเต็มๆ สี่ซ้าห้าวันซ้อน ยังเห็นพระอาทิตย์ขึ้น จำบ้านเลขที่ได้ ก็เจอ “แบริเออร์” กองเบ้อเร่อใหม่ ว่าด้วย “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แห่งมาตรา 158

การนับหนึ่งของ “พล.อ.ประยุทธ์” ครบ 8 ปี หากเริ่มจากวันโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็เหลืออยู่แค่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วเท่านั้น

หรือจะนับจุดสตาร์ต วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 6 เมษายน 2560 “บิ๊กตู่” ยังอาศัยเป็นเกราะ ตีกรรเชียงรากงอกไปได้ถึงปี 2568 โน้น

แต่คอการเมืองส่วนใหญ่เชื่อกันว่า กรณีที่ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญของ “นายวรวิทย์ กังศศิเทียม” ปมมีวาระในตำแหน่งไม่เกิน 9 ปี หรือต้องอายุไม่เกิน 70 ปี เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา

ก็พากันเสียวแทน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามไปด้วย เกี่ยวกับวันเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่าจะเริ่มนับหนึ่งเมื่อไหร่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158

สรุป 1.ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2.ประเด็น 8 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งนายกฯ

เป็น 2 ปัจจัยใหญ่ เหมือนพญาอินทรีบินวนค้างฟ้าอย่างเงียบเชียบ อ้ากรงเล็บรอโฉบขย้ำเหยื่อ ที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

รอดหรือไม่รอด สี่ซ้าห้าเดือน น่าจะรู้ผลครับพี่น้อง