ผลพูดคุยเพื่อสันติภาพ รัฐบาลไทย-บีอาร์เอ็น นำไปสู่รอมฎอนสันติสุข/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ผลพูดคุยเพื่อสันติภาพ

รัฐบาลไทย-บีอาร์เอ็น

นำไปสู่รอมฎอนสันติสุข

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

ทั้งสื่อมาเลเซียและไทยต่างรายงานข่าวว่าระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานี BRN/สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยกับคณะผู้แทน BRN ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องร่วมกันใน “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” เตรียมจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนลดความรุนแรง

คณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายซึ่งของไทยนำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ กับคณะผู้แทน BRN (ปาตานี) นำโดยอุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ได้มีการพบปะหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมีตันซรี อับดุล รอฮีม บิน มุฮัมมัดนูร เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ทั้งนี้ ผลการพูดคุยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นหมุดหมายที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างสันติภาพปาตานี/สันติสุขชายแดนภาคใต้ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 คณะพูดคุยไทยและ BRN ได้รับรองเอกสาร “หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะพูดคุยกันในรายละเอียด โดยกำหนดให้มีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเกียรติและเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อบรรลุทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามแนวคิดชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2) ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องร่วมกันใน “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และสร้างความไว้วางใจต่อกระบวนการพูดคุย ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะมีลักษณะเป็นการปฏิบัติที่ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติอย่างเกื้อกูลกัน เพื่อลดความรุนแรง ในพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

3) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้พูดคุยเรื่องบทบาทและขอบเขตหน้าที่การทำงานของคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนการพูดคุยในประเด็นสารัตถะ 3 คณะ ประกอบไปด้วย

1) คณะทำงานร่วมเรื่องการลดความรุนแรง

2) คณะทำงานร่วมเรื่องการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่

3) คณะศึกษาร่วมเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีการมอบหมายบุคคลผู้ประสานงานเพื่อประสานการปฏิบัติของคณะดังกล่าว คณะพูดคุยทั้งสองขอความร่วมมือให้ประชาชนและทุกภาคส่วน ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ติดตามสถานการณ์ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน

โดยทั้งสองฝ่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ในขณะที่ BRN แถลงว่า ในการเจรจาครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้น ได้แก่

1. การทำให้หลักการทั่วไปเป็นทางการซึ่งลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติสองคน และเสร็จสิ้นโดยการแลกเปลี่ยนจดหมายยืนยันโดย BRN และ RTG (รัฐไทย) เพื่อเป็นหลักประกันความตกลงของหลักการทั่วไป

2. ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนจนถึงวันที่ 10 เชาวาล ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน-14 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ข้อตกลงนี้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนปาตานีในพื้นที่โดยเฉพาะ และตามกระบวนการสร้างความมั่นใจระหว่างทั้งสองฝ่ายในความพยายามที่จะสร้างสันติภาพที่มีความหมายในปาตานี

3. ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอกรอบการทำงานหรือ TOR ที่เกี่ยวข้องกับคณะทำงานร่วม (JWG) ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาทางการเมือง 2) การปรึกษาหารือสาธารณะ และ 3) การลดความรุนแรงทั้งสองฝ่าย

4. ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งบุคคลที่ติดต่อภายใต้การจัดเตรียมของสำนักเลขาธิการของผู้อำนวยความสะดวกสำหรับประเด็นที่เป็นสาระสำคัญแต่ละประเด็นที่อยู่ใน “หลักการทั่วไป” โดยมีคณะทำงานสามคนสำหรับแต่ละฝ่าย

(ฟัง/ชมย้อนหลังใน https://fb.watch/c98WdsgfWr/)

จากข้อตกลงดังกล่าวส่วนใหญ่จะจับตาไปที่ตกลงหยุดยิงยาวถึง 40 วัน เพราะเดือนรอมฎอน 30 วันบวกอีก 10 วันของเดือนเชาวาล – ตั้งรายออีดิลฟิตร์ถึงรายอ 6 (ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน-14 พฤษภาคม 2565) อันเป็นสารตั้งต้นเพื่อให้เกิดบรรยากาศการไว้ใจซึ่งกันและกัน หรือสื่อใช้คำว่าสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างทั้งสองฝ่ายในการหารือต่อไป ซึ่งข้อตกลงสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน 8 กลุ่มที่จัดเวทีเสนอต่อแม่ทัพภาคที่ 4 และหัวหน้าคณะพูดคุย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ก่อนข้อตกลง เมื่อ 28 มีนาคม 2565 แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น อวยพรเดือนรอมฎอนแต่ติงรัฐไทยเรื่องโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์การปกครองโดยกล่าวว่า ความขัดแย้งอันยืดยาวที่ปาตานีเกิดจากการไม่ยอมรับความเป็นจริงแห่งประวัติศาสตร์ การปฏิเสธอัตลักษณ์และสิทธิความเป็นเจ้าของ (hak pertuanan) ต่อดินแดนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

บรรดานักล่าอาณานิคมสยามและพวกอนุรักษนิยมสยามพยายามจะรักษาการปกครองแบบอาณานิคมโดยอาศัยระบบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ (authoritarianimsm) ตั้งแต่ 130 ปีที่แล้วจนถึงทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ นักล่าอาณานิคมสยามได้สร้างโครงสร้างอำนาจและการปกครองโดยมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ทับซ้อนและเอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเขตพื้นที่พิเศษทางเศรษฐกิจโดยหน่วยงานทั้งสองหน่วยงานดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พวกนายทุนจากต่างประเทศ

(โครงสร้างเช่นนี้) ยังเปิดโอกาสให้แก่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรทางพลังงานจากพื้นที่ผ่านการบัญญัติกฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ยูเรเนียมและไฟฟ้า

นอกจากนี้ พวกสยามยังบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน มิหนำซ้ำ รัฐบาลไทยยังพยายามจะบัญญัติกฎหมายที่จำกัดพื้นที่การเคลื่อนไหวขององค์กรนอกภาครัฐ (NGO) และองค์กรภาคประชาสังคมด้วย

อย่างไรก็ตาม บีอาร์เอ็นยังตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ทางการเมืองโดยภาพรวมสำหรับจังหวัดที่เป็นเขตพื้นที่ของประชาชนปาตานีทั้งหลาย รวมไปถึงเสรีภาพทางการเมืองที่ปลอดภัยเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกความใฝ่ฝันทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชน ขอให้เดือนรอมฎอนอันประเสริฐที่จะมาถึงนี้เป็นเดือนแห่งสันติภาพสำหรับเสียงของประชาชนปาตานีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติอะไรก็ตาม

(ที่มาเฟซบุ๊ก ‘ฮารา ชินทาโร’ นักวิชาการด้านภาษามลายู https://www.facebook.com/photo/?fbid=10210166996407312&set=a.1116426326789)

หลังข้อตกลง เมื่อ 2 เมษายน 2565 ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เส้นทางสู่รอมฏอนสันติสุข” ปล่อยลูกโป่งสีขาว พร้อมแสดงป้ายปฏิเสธความรุนแรงขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสันติสุข ต้อนรับเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1443

พร้อมกันนี้แม่ทัพภาคที่ 4 มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาทิ อินทผาลัม เครื่องดื่มน้ำหวานใช้ในการละศีลอดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และนำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ นำท้องถิ่น ส่วนราชการ ตลอดจนพี่น้องประชาชน เยาวชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเข้าร่วม ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงทั้งปัตตานี สงขลา ยะลา และนราธิวาส

กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนความต้องการผู้นำศาสนาและประชาชนที่จะสามารถทำศาสนกิจเดือนรอมฎอนและการที่รัฐ “ทยอยถอดป้ายรางวัลนำจับกลุ่มผู้คิดต่าง” สะท้อนความตั้งใจปฏิบัติตามข้อตกลง

ดั่งทัศนะ อ.สุวรา แก้วนุ้ย นักวิชาการและนักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่กล่าวว่า “ขอบคุณตัวแทน BRN กับรัฐบาลไทย ที่มีข้อตกลงจากการพูดคุย จนนำมาซึ่งการปลดป้ายผู้ต้องหาคดีความมั่นคงตามจุดตรวจต่างๆ รู้สึกดีมาก เพราะการตีตราได้หายไปจากพื้นที่อย่างน้อยที่สุดในเดือนนี้ ครอบครัวหลายครอบครัวไม่ต้องช้ำเมื่อเห็นภาพลูกชาย สามี หรือคนในครอบครัวปรากฏอยู่ ลูกหลายคนไม่ต้องทนฟังคำล้อว่าพ่ออยู่บนป้ายประกาศ ขอบคุณที่ยอมรับและหาทางออกร่วมกัน”

พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ในเรื่องของภาครัฐกับบีอาร์เอ็น ไม่มีความกังวลเพราะว่าเชื่อมั่นในความจริงจังและจริงใจของทั้งสองฝ่าย

แต่ที่จะกังวลมาก คือมือที่สามที่จะสร้างสถานการณ์ขึ้นมา และโยนไปให้ภาครัฐและบีอาร์เอ็น

ข้อกังวลของแม่ทัพน้อยดังกล่าว สอดคล้องกับผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่ง สะท้อนว่า “ชายแดนใต้มีเจ้าที่ – จนท.นอกคอกเพียบ อีกทั้งกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มยาเสพติด กลุ่มนี้ยากที่จะพูด เพราะพวกนี้ไม่มีอุดมการณ์ ทำทุกอย่างเพื่อเงิน ซึ่งลึกๆ ก็คิดว่ายากที่จะทำให้รอมฎอนนี้เป็นรอมฎอนแห่งสันติจริงๆ เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างมีเจ้าที่ครอบครองและมีหลายกลุ่ม”

สอดคล้องกับนักวิชาการ และประชาสังคมยังมีข้อกังวลเมื่อดูข้อตกลงหยุดยิงเดือนรอมฎอนตั้งแต่ปี 2013 ล้มเหลวตลอดมา

รวมทั้งตั้งคำถามกลไกตรวจสอบทั้งสองฝ่าย ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้มั่นใจ วันที่พูดคุยที่เคแอล น้องชาย “มูฮัมหมัดมูริส ลาเต๊ะ” หนึ่งในคณะพูดคุย ฝ่ายผู้เห็นต่างโดนยิง

ดังนั้น การละเมิดการหยุดยิงเหล่านี้เป็นทั้งปัญหาและความท้าทาย รอมฎอนสันติภาพ?

ท้ายนี้ ขอนำคำอวยพรจากจุฬาราชมนตรี ซึ่งนายอรุณ บุญชม ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ได้เป็นตัวแทนอ่านสารจากนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี มีเนื้อหาว่า

“ในโอกาสเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1443 พุทธศักราช 2565 ในโอกาสของการจำเริญเดือนรอมฎอนอันประเสริฐยิ่งได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง รอมฎอนเป็นเดือนที่อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า ทรงประทานให้เป็นโอกาสพิเศษสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน ในการปฏิบัติคุณงามความดี การให้อภัยซึ่งกันและกัน และการขออภัยโทษต่อพระองค์ ตลอดช่วงดวงอาทิตย์ส่องแสงและดวงอาทิตย์อัสดงในยามค่ำคืน เพื่อผู้ศรัทธาทุกคนจะได้เพิ่มพูนผลบุญให้แก่ตนเอง ได้ขัดเกลาทั้งร่างกายและจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากมลทินที่สะสม…”

“และวิงวอนขอพรจากพระองค์ได้โปรดอภิบาลให้พี่น้องร่วมชาติทุกคนมีความสุข ความจำเริญและความมั่งคั่งยั่งยืนตลอดไป”