Mission Speakers / เครื่องเสียง : พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

 

Mission Speakers

 

ในห้วงยุคทองของวงการเครื่องเสียงบ้านเราซึ่งเป็นช่วงต้นๆ ทศวรรษที่ 80s นั้น มีเครื่องและลำโพงตลอดจนบรรดา ‘เครื่องเคียง’ ในความหมายของพวก Accessories นานาประเภท เข้ามาให้นักเล่นและบรรดาผู้ชื่นชอบในเสียงเพลงและดนตรีได้มีโอกาสเลือกซื้อหามาลองกันมากกว่ามาก หลากยี่ห้อหลายแบรนด์ ทั้งจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น รวมทั้งสินค้าที่ผลิตจากไต้หวัน (ส่วนใหญ่จะเป็นพวกอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกกันว่าเครื่องจีน) แต่ติดแบรนด์เป็นของตะวันตกได้เริ่มมีเข้ามาให้เห็นกันก็เป็นช่วงนั้นนั่นละ

และหากจะว่าไป เป็นแวดวงลำโพงนี่แหละครับที่ออกจะคึกคักมากที่สุด เพราะมีให้เลือกเล่นกันหลายยี่ห้อมาก รวมทั้งมีให้เลือกครบทุกระดับราคาทั้งกลุ่ม Entry Level, กลุ่ม Mid-Fi ตลอดจนบรรดา Hi-End

คือมีรองรับพร้อมสรรพ ไม่เลือกหน้า ว่ากันตั้งแต่มือใหม่ประเภทเบี้ยน้อยหอยน้อย ไปยันบรรดานักเล่นพวกที่เงินไม่ใช่ปัญหานั่นเลย

จำได้ว่าช่วงนั้นระบบเสียงของยุโรปโดยเฉพาะจากแถบสหราชอาณาจักรเข้ามาให้นักเล่นกลุ่มมือใหม่ และมิด-ไฟได้ฮือฮากันมาก ทั้งเครื่องเสียงและลำโพง และเป็นที่นิยมกันไม่น้อยด้วยเอกลักษณ์ของเสียงแบบที่นักเล่นยุคนั้นเรียกกันว่าเสียงผู้ดีอังกฤษ

กล่าวคือ ในห้วงเวลานั้นแวดวงคนเล่นเครื่องเสียงจะเรียกรูปแบบของเสียง หรือคุณลักษณะเสียงในภาพรวม ออกเป็นสองแบบด้วยกัน คือเสียงแบบผู้ดีอังกฤษกับเสียงแบบอเมริกา

แบบอังกฤษจะเป็นน้ำเสียงค่อนข้างเรียบ มีความเป็นธรรมชาติ ฟังดูอบอุ่น อย่างที่ฝรั่งใช้คำว่า Flat, Natural กับ Warm

ส่วนเสียงแบบอเมริกาก็ออกไปทางสดใส มีชีวิตชีวา หรือน้ำเสียงค่อนข้างหวือหวา แบบ Lively Sound นั่นแหละครับ

นั่นหมายถึงภาพรวมของเสียงแบบกว้างๆ ที่คนเล่นเครื่องเสียงยุคนั้นเขาแยกกันนะครับ ส่วนบุคลิกของลำโพงค่ายไหนเป็นอย่างไร ก็จะว่ากันไปลึกกว่านั้นอีกหน่อย

 

เมื่อแบ่งข้างแบ่งกลุ่มกันแล้ว คราวนี้ก็จะเกิดมีกูรู (พวกเล่นมาก่อน) ทำตัวเป็น ‘กูรู้ดี’ คอยให้คำแนะนำเพื่อน (มือใหม่) ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในยุทธจักรนี้บ้าง ทำนองว่าถ้าชอบเสียงที่ฟังเรียบง่าย ไม่หวือหวา มีความเป็นธรรมชาติสูง ต้องเลือกลำโพงยุโรป หรือลำโพงอังกฤษ จะฟังได้นานไม่รู้สึกเหนื่อยหรือล้า

แต่ถ้าชอบเสียงแบบที่ฟังแล้วสะดุดหู มีชีวิตชีวา ออกไปทางหวือหวาคึกคักสักหน่อย ก็ต้องเลือกลำโพงอเมริกัน แต่ต้องฟังนานๆ หน่อย ว่าชอบจริงไหม เพราะพวกนี้ฟังติดต่อกันได้ไม่ค่อยจะนาน มักจะล้าหูเสียก่อน, อะไรทำนองนั้นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม ที่เรียกและแยกภาพรวมของเสียงออกเป็นสองแบบดังว่านั้น ไม่ใช่มีแต่นักเล่นบ้านเรานะครับ พวกฝรั่งเองก่อนหน้านี้ก็เคยอ่านเจออยู่เนืองๆ เหมือนกัน

และหากจำไม่ผิดเมื่อสักปีกว่าๆ หรือกว่าสองปีที่ผ่านมาไม่นานนี้แหละครับ เห็นบทความผ่านตาในหน้าหนังสือเครื่องเสียงของอังกฤษชิ้นหนึ่ง จ่าหัวเรื่องทำนองว่า ‘เสียงแบบอังกฤษนั้นมีอยู่จริงหรือ’

ส่วนเนื้อหาหรือความว่าอย่างไรจำรายละเอียดได้ไม่แม่นแล้วล่ะครับ ไว้จะลองค้นดูอีกครั้งหากเจอจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ว่าฝรั่ง (คนเขียน) เขามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

แต่หลังๆ ไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงเสียงแบบที่ว่านั้นอีกแล้วล่ะครับ ไม่ได้แบ่งกลุ่มแยกเสียงเป็นสองแบบกันชัดๆ อย่างนั้นอีกเลย

 

 

เที่ยวนี้เริ่มต้นขึ้นมาก็พาย้อนความไปไกลร่วมสี่ทศวรรษ นั้นก็เนื่องเพราะใคร่พูดถึงลำโพงยี่ห้อที่จ่าหัวเอาไว้นั่นแหละครับ เพราะเป็นแบรนด์หนึ่งที่เข้ามาบ้านเราในช่วงที่คนเริ่มเล่นเครื่องเสียงจะต้องเลือกก่อน ว่าชอบเสียงแบบอังกฤษหรืออเมริกา แล้วจากนั้นค่อยไปหาฟังเอา ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ยอดนิยมของนักเล่นมือใหม่ กับกลุ่มที่จะก้าวไปสู่มิด-ไฟในยุคนั้นก็คือ Mission นี่ละ และได้รับความนิยมพอๆ กันกับเพื่อนพ้องจากละแวกเดียวกัน ที่หากจำไม่ผิดน่าจะเข้ามาทำตลาดในบ้านเราไล่ๆ กัน นั้นคือลำโพงแบรนด์ KEF ครับ

แต่หากพูดถึงระยะเวลาที่อยู่ในตลาดบ้านเราแล้ว KEF ออกจะมีความต่อเนื่องมากกว่า ขณะที่ Mission มีบางช่วงที่หายไปบ้าง ขณะที่ปัจจุบันนี้กลับมาได้สักระยะแล้วล่ะครับ และเที่ยวนี้น่าจะอยู่กันไปยาวๆ เพราะผู้นำเข้านั้นขลุกอยู่ในวงการมาตั้งแต่ผมยังไม่ได้ย่างก้าวเข้ามาในยุทธจักรนี้เลยด้วยซ้ำไป

ลำโพง Mission นั้น แต่เดิมสังกัด Mission Electronics Ltd., ในสหราชอาณาจักร ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย Farad Azima เมื่อปี ค.ศ.1977 ซึ่งชั่วเวลาไม่นานก็เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาด้านวิศวกรรมเสียง ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรังสรรค์ลำโพงที่ให้ความคุ้มค่าในทุกระดับอย่างแท้จริง

โดดเด่นอย่างมากเมื่อได้เปิดตัว Model 770 ในปี ค.ศ.1978 ที่เสมือนเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมลำโพงอยู่ในที เมื่อได้นำ Polypropylene มาใช้ในการขึ้นรูปกรวยลำโพงที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำ ทั้ง Woofer และ Mid/Bass Driver เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมลำโพงในเวลาต่อมา ทั้งยังนำมาซึ่งรางวัลที่ได้รับจากสถาบันต่างๆ มากมาย กระทั่งปี ค.ศ.2001 ได้สร้างปรากฏการณ์อันโดดเด่นอีกครั้ง เมื่อได้เปิดตัว Model Pilastro ซึ่งเป็นลำโพงระดับไฮ-เอ็นด์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นลำโพงคู่หนึ่งที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการนี้ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดกับลำโพงอนุกรมต่างๆ ในเวลาต่อมา

กระทั่งปี ค.ศ.2003 แบรนด์ได้เข้าไปอยู่ในเครือ IAG : International Audio Group ของสองพี่น้องฝาแฝดตระกูล Chang ซึ่งเป็นค่ายที่ถือแบรนด์เครื่องเสียงและลำโพงชั้นนำเอาไว้ในมือมากมาย อาทิ Audiolab, Castle, Luxman, Quad และ Wharfedale เป็นต้น มีโรงงานผลิตอันกอปรไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านวิศวกรรมอันทันสมัย ทั้งในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์และลำโพง โดยผลิตภัณฑ์ระบบเสียงนั้น มีทั้งสำหรับใช้งานในบ้านตลอดจนอุปกรณ์สำหรับมืออาชีพ โดยมีสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตหลักอยู่ใน Shenzhen ทั้งยังมีสำนักงานและฝ่าย R&D ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสินค้าอยู่ในสหราชอาณาจักรและอเมริกาเหนือด้วย

โดยลำโพง Mission คู่แรกที่ได้ถูกผลิตจากโรงงานในเครือนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2005

ปัจจุบันทีมงานด้านวิศวกรรมของ Mission อยู่ในความรับผิดชอบของ Peter Comeau ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการออกแบบเชิงอะคูสติกตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างเป็นสำคัญ ในการทำให้ลำโพงแบรนด์นี้ได้รับรางวัลจากต่างๆ มากมายตลอดหลายปีติดต่อกันมา

ทั้ง Best Loudspeaker Award ของนิตยสาร What Hi-Fi?, Speaker of the Year ของสถาบัน EISA : Expert Imaging and Sound Association (แต่เดิมที่เริ่มก่อตั้งสมาคมนั้น อักษร E ใช้แทนคำว่า European) ตลอดจนรางวัล Best AV System ของนิตยสาร Home Cinema Choice

 

หนนี้หยิบเรื่องราวของ Mission มาพูดถึง ก็เนื่องเพราะเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ค่ายนี้ได้เปิดตัวลำโพงรุ่นพิเศษออกมา น่าสนใจดี

เที่ยวหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะอีกไม่นานก็คงเข้ามาบ้านเรา

ถือซะว่าทำความรู้จักเอาไว้ก่อนละกันนะครับ •