สุวรรณภูมิ ในบันทึกจีน? / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

สุวรรณภูมิ ในบันทึกจีน?

 

“สุวรรณภูมิ” เป็นคำสันสกฤต ใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกของชมพูทวีป มีพยานอยู่ในชาดก หรือเอกสารเก่าแก่ทั้งของอินเดีย และลังกาจำนวนมาก

และก็ไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่า ดินแดนทางทิศตะวันออกของชมพูทวีปที่ว่า หมายถึงพื้นที่อีกฟากข้างหนึ่งของอ่าวเบงกอล ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า “อุษาคเนย์” นี่แหละ

คำว่า “สุวรรณภูมิ” แปลตรงตัวว่า “แผ่นดินทอง” ชาดกในพระพุทธศาสนาอย่างพระมหาชนกอ้างว่าผู้ที่สามารถมาทำการค้ายังสุวรรณภูมิได้กลับไปจะกลายเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย จึงไม่แปลกอะไรที่ดินแดนแห่งนี้จะถูกเรียกว่าสุวรรณภูมิ

แต่ก็มีผู้ที่เชื่อว่า ดินแดนละแวกนี้จะมีแหล่ง “ทองคำ” อยู่จริงๆ ทั้งที่ในช่วงราว พ.ศ.1 จนถึงราว พ.ศ.1000 อันเป็นช่วงเวลาที่เอกสารขากชมพูทวีปเรียกอุษาคเนย์ว่าสุวรรณภูมินั้น เป็นช่วงที่ทำการค้าขายแร่ธาตุที่หายากในภูมิภาคอื่นของโลก แต่มีมากในอุษาคเนย์คือ “ทองแดง” และ “ดีบุก” ซึ่งเมื่อนำมาผสมกันแล้วก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า “สำริด”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “สำริด” น่าจะเป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพราะในเอกสารโบราณฉบับต่างๆ มักจะเรียกสำริด หรือ “bronze” ในโลกภาษาอังกฤษว่า “ทองแดง” หรือไม่ก็เรียกว่า “ทอง” กันอย่างลุ่นๆ

 

ใช่ครับใช่ คำว่า “ทอง” ในเอกสารโบราณหมายถึงได้ทั้งทองแดง และทอง โดยมักจะเน้นว่าหมายถึงทอง ด้วยการเลือกใช้คำว่า ทองคำ แทน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดถ้าดินแดนแถบอุษาคเนย์ ภาคผืนแผ่นดินใหญ่นี้จะเคยถูกเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” เพราะเป็นแหล่งทองแดงใหญ่ของโลกยุคโบราณ ไม่ใช่แหล่งทองคำอย่างที่มักจะเข้าใจกัน

แถมลักษณะเช่นนี้ยังมีปรากฏเช่นกันในโลกของภาษาอื่นด้วยเช่นกัน เช่น ในโลกของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายครั้งก็เรียกเครื่องครัวที่ผลิตขึ้นจากสำริดว่า เครื่องครัวทองแดง มันเสียอย่างนั้นแหละ แถมหลายหนการเลือกใช้คำว่าภาชนะหรือเครื่องครัวทองแดง แทนที่จะเรียกว่าสำริด ก็ยังปรากฏในเอกสารวิชาการยุคเก่าๆ เสียด้วยซ้ำ

ที่น่าสนใจก็คือ ในเอกสารของพวกโรมันคือ จดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei (Periplus of The Erythrean Sea คือบันทึกการเดินเรือในทะเลเอรีเธรียน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ทะเลแดง” แต่ทะเลแดงในความหมายของกรีกหมายรวมถึงอ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดียด้วย) เขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงราว พ.ศ.500 หรือเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า พวกเขาอิมพอร์ตทองแดงส่วนหนึ่งจากโลกตะวันออกเข้ามา เพื่อนำมาสร้างเป็นแปรรูปเป็นเครื่องใช้สำริด และประติมากรรมต่างๆ

 

ส่วนโลกตะวันออกที่ในเอกสารโรมันหมายถึง แต่เดิมนั้นเข้าใจกันว่าคืออินเดีย แต่ปรากฏว่า มีการค้นพบเอกสารโบราณอายุประมาณ 2,300 ปีที่ระบุว่า ชาวอินเดียก็ไปหาซื้อทองแดงมาจากดินแดนทางตะวันออกของตนเองคือ “สุวรรณภูมิ” มาอีกทอดเหมือนกัน

แถมของที่นำเข้านั้น ยังไม่ใช่ทองแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง “ดีบุก” และเทคโนโลยีในการสร้าง “เครื่องสำริดแบบที่ผสมดีบุกในปริมาณสูง” อย่างที่เรียกกันว่า “high tin bronze” ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักทั้งโรมันและอินเดียในสมัยนั้น แต่มีอยู่ในให้เพียบในอุษาคเนย์ โดยมีกลองมโหระทึกเป็นตัวอย่างสำคัญ

ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่า การผสมดีบุกเข้าไปในทองแดงนั้น ทำให้ได้สีของเครื่องสำริดที่กลายเป็นสีทองแวววาว แถมการผสมดีบุกลงไปเป็นจำนวนมากนั้น ยังช่วยให้สามารถทำเครื่องสำริดที่มีรูปทรงซับซ้อนขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่จะมีคำเรียกเครื่องสำริดว่า “ทองสำริด” อย่างที่ได้ยินกันบ่อยๆ

และนี่ก็หมายความด้วยว่า การผลิตเครื่องสำริดที่มีดีบุกผสมในปริมาณมาก ไม่ว่าจะในอินเดีย หรือในโรม ก็ล้วนแต่มีหลักฐานการนำเข้าทั้งวัตถุดิบ และเทคโนโลยีการผลิตมาจากภูมิภาคอุษาคเนย์เป็นสำคัญ จนทำให้พวกเขาเหล่านั้นเรียกภูมิภาคแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่มีการผลิตกลองมโหระทึกใช้งานโดยทั่วไปในภูมิภาคแห่งนี้นั่นเอง

 

แถมโลกตะวันตกนั้นก็ดูจะเรียกอุษาคเนย์ว่า เป็นดินแดนแห่งทอง ไม่ต่างจากอินเดีย จดหมายเหตุฝรั่งชิ้นเก่าแก่สุดที่อ้างถึงดินแดนที่มีชื่อตรงกับสุวรรณภูมิคือตำราภูมิศาสตร์ “Cosmographia” (Cosmography) เขียนโดยปอมโปนิอุส เมลา (Pomponius Mela) นักภูมิศาสตร์ชาวโรมันเชื้อสายสเปนตอนใต้ ในช่วงคริสต์ศตวรรษแรก ระบุว่า “Chryse” หรือ “แผ่นดินทอง” ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอินเดีย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ยังจำกัดอยู่ในสมัยนั้น ทำให้พวกฝรั่งเข้าใจผิดว่าสุวรรณภูมิเป็น “เกาะ”

บันทึก Naturalis Historia (Natural History) ของพลินี (Gaius Plinius Secundus หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ Pliny the elder) นักธรรมชาติวิทยา และรัฐบุรุษคนสำคัญชาวโรมันที่มีอายุอยู่ร่วมสมัยกับเมลาก็กล่าวถึงสุวรรณภูมิเช่นกัน แต่ดูจะสับสนยิ่งกว่าเอกสารของเมลา เพราะบรรยายไว้ว่าแผ่นดินทองนั้นเป็นแหลม แต่ในขณะเดียวกันก็อธิบายว่าเป็นเกาะด้วย

ส่วนในจดหมายเหตุ Periplus Maris Erythraei ที่ผมอ้างถึงไปแล้วข้างต้นนั้น ได้ระบุข้อมูลเอาไว้ว่า

“แผ่นดินทอง เป็นดินแดนแห่งสุดท้ายที่คนอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกไกลสุดของโลก ณ บริเวณที่ตะวันขึ้น”

ที่สำคัญก็คือ พวกฝรั่งเองก็มีทัศนะต่อแผ่นดินทองไม่ต่างไปจากพวกพราหมณ์อินเดีย คือเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง

หนังสือ Antiquitates Judaicae (Antiquities of the Jews) ของฟลาวิอุส โจเซฟุส (Flavius Josephus) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเอกสารฝรั่ง ที่ผมกล่าวถึงมาข้างต้นมาทั้งหมด ถึงกับอ้างว่า “แผ่นดินทอง” ก็คือ “Ophir” เมืองแห่งขุมทรัพย์บรรณาการของกษัตริย์โซโลมอนตามข้อความในพระคัมภีร์ (bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ส่วนพันธสัญญาเก่า

ดังนั้น ทัศนคติที่พวกฝรั่งมีต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “แผ่นดินทอง” จึงใกล้เคียงกับภาพที่ชนชาวชมพูทวีปคิดเห็นต่อ “สุวรรณภูมิ” เป็นอย่างยิ่ง

 

ในทำนองคล้ายๆ กัน จีนก็เรียกพื้นที่บริเวณอุษาคเนย์ปัจจุบันว่า “จินหลิน” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ก็มักจะเชื่อกันว่า คำนี้ก็มีความหมายไม่ต่างไปจากสุวรรณภูมิในภาษาสันสกฤต หรือ “แผ่นดินทอง” ในเอกสารฝรั่ง เพราะถอดความออกมาได้ไม่ต่างกันว่า “ดินแดนทอง” เหมือนกัน

แต่ก็มีนักวิชาการหลายท่านที่ไม่เห็นเป็นอย่างนั้น เช่น ศาสตราจารย์พอล วีตลีย์ (Paul Wheatley) ที่ทำการศึกษาเรื่องสุวรรณภูมิจากเอกสารโบราณหลายฉบับ จนตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า “The Golden Khersonese” (อาจจะแปลชื่อหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างทื่อๆ ตรงตัวได้ว่า “แหลมทองคำ”) ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2504 โดยวีตลีย์ได้เสนอว่า ตัวอักษรจีนที่ใช้สะกดคำว่า “จินหลิน” ที่อยู่เอกสารต้นฉบับเป็นตัวอักษรที่ใช้เขียนแทนเสียงในภาษาอื่น (ทำนองคล้ายกับตัวอักษรที่ใช้ในคาราโอเกะ) ดังนั้น เมื่อถอดความออกมา จึงไม่ได้แปลว่า ดินแดนแห่งทอง

คำว่า “จินหลิน” ที่ว่านั้น ปรากฏอยู่ในหนังสือ “เหลียงซู” ซึ่งเป็นพงศาวดารของราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.1045-1100) อันเป็นราชวงศ์หนึ่งในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ.963-1132) ที่จีนแตกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ และมีราชวงศ์เหลียงปกครองอยู่ทางใต้ (จึงมักเรียกกันในอีกชื่อว่า ราชวงศ์เหลียงใต้) โดยมีเมืองหลวงคือนครเจี้ยนคัง (ปัจจุบันคือ เมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู) ได้กล่าวถึงการติดต่อกับชาติต่างๆ (ซึ่งราชวงศ์เหลียงถือว่าเป็น “อนารยชน”) โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรกที่เหลียงซูคือกลุ่มชนที่อยู่ทางทะเลใต้ (หมายถึงอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาค) ในบทที่ชื่อว่า “หนานซู” และได้กล่าวถึง “จินหลิน” ไว้เพียงผ่านๆ เมื่อพูดถึงรัฐ “ฝูหนาน” (ที่ในโลกภาษาไทยนิยมออกเสียงว่า ฟูนัน)

ในส่วนนี้ โดยผมได้เคยไหว้วานให้มิตรสหายที่เชี่ยวชาญอักษรจีนโบราณ ช่วยถ่ายถอดจากภาษาจีนออกมาเป็นภาษาไทยอย่างลำลองเมื่อนานมาแล้ว ดังมีข้อความว่า

“เมื่อฟ่านม่านขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็เริ่มขยายอาณาเขตของฝูหนาน โดยเริ่มโจมตีรัฐใกล้เคียงนับสิบรัฐ จนสามารถขยายดินแดนได้ถึงหกพันตารางลี้ หลังจากนั้น ฟ่านม่านก็ประสงค์จะเข้าตีจินหลิน แต่ล้มป่วยลงเสียก่อน จึงได้ส่งรัชทายาทที่ชื่อ จินเซิง เป็นผู้นำทัพเข้าตีจินหลิน”

จะเห็นได้ว่า “จินหลิน” ในเอกสารจีนโบราณนั้น ไม่ได้ถูกพูดถึงในแง่ที่เป็นดินแดนแห่งทอง หรือความมั่งคั่ง เช่นเดียวกับในเอกสารฝรั่งหรืออินเดียเลยสักนิด และอันที่จริงแล้ว พงศาวดารราชวงศ์เหลียงฉบับนี้ ก็ดูแทบจะไม่ได้ใส่ใจกับอะไรที่เรียกว่าจินหลินเลย ที่กล่าวถึงก็เพราะเล่าถึงประวัติของฝูหนานเสียด้วยซ้ำไป •