คารวาลัยยอดสตรีศรีล้านนา ‘เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน’ (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

คารวาลัยยอดสตรีศรีล้านนา

‘เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน’ (จบ)

 

ใครที่เคยพบเห็นตัวเป็นๆ ตัวจริงเสียงจริงของ “เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน” มาก่อน รายไหนรายนั้นย่อมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “สุภาพสตรีท่านนี้สง่างามและฉลาดเฉลียวเหลือเกิน พูดจาเสียงดังไม่มีสั่นเครือ อาจหาญในทุกสถานการณ์ หูตาไม่ฝ้าฟาง ความจำเป็นเลิศเกินคนรุ่นเดียวกัน ไม่มีหลงลืม ด้านสรีระนั้นเล่าเป็นคนเดินเร็วคล่องแคล่ว ไม่ยอมให้ดิฉันช่วยถือกระเป๋าให้ ซ้ำยังป่ายปีนขึ้นเขาลงห้วยอย่างกระฉับกระเฉง ดังนั้น ท่านน่าจะมีอายุยืนยาวกว่า 90-100 ปีเป็นแน่แท้”

ร้อยทั้งร้อย รายไหนรายนั้นต่างการันตีแก่ดิฉันว่า ขอให้วางใจเถิดว่าอย่างไรเสีย เจ้าป้าชวนคิดยังจะต้องช่วยเป็น “คู่คิด คู่คุย คู่ลุย คู่เผชิญชะตากรรม” อยู่เคียงข้างสองบ่าไหล่ให้แก่ดิฉัน หยัดสู้กับอุปสรรคขวากหนามนานัปการ เพื่อสรรค์สร้างวัฒนธรรมอันงดงามกลับคืนสู่เมืองลำพูน (และล้านนา) อย่างน้อยอีก 15 ปี

โดยที่ไม่คาดฝัน นับแต่โรคร้ายโควิด-19 เริ่มระบาดหนักในเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เราสองคนก็ถูกจับแยกโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ต่างๆ นานาหลายฉบับ เช่น ห้ามเดินทางข้ามเขตเชียงใหม่-ลำพูน ห้ามจัดประชุมสัมมนาเกินกว่า 50 คน

ไอ้ครั้นจะชวนเจ้าป้าไปลุยเก็บข้อมูลตามวัดต่างๆ ก็มีคำสั่งจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าให้วัดทุกแห่งปิดรับนักท่องเที่ยวและคนนอกหมู่บ้านอีก

เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน

ประตูวิหารปิด กิจกรรมจบ พบปะชุมชนก็ไม่ได้ เจ้าป้าชวนคิดได้แต่นอนซมเก็บตัวอยู่ที่บ้านไม้โบราณในซอยราชภาติกวงษ์ ใกล้กาดหนองดอกตามลำพัง

ระหว่างนั้นท่านค่อยๆ ผอมซูบลง และเมื่อไปตรวจร่างกายพบว่าเป็น “โรคลำไส้กลืนกัน” เรื้อรังมานานแล้วโดยที่ท่านไม่รู้ตัวมาก่อน

“ลำไส้กลืนกัน” เป็นโรคที่ชื่อแปลกมาก ส่งผลให้ช่วงหลังของครึ่งปี 2563 เจ้าป้าต้องเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ด้วยวิธีส่องลำกล้อง ที่โรงพยาบาลมหาราชสวนดอก จากนั้นพักรักษาตัวที่บ้านลำพูนอย่างยาวนาน มีน้องสาวที่อายุห่างกัน 14 ปีชื่อ “พี่ก้อย ชวนชม” คอยปรนนิบัติดูแล

หัวใจเจ้าป้ายังคงปรารถนาที่จะโบยบินไปทำกิจกรรมที่คั่งค้าง ทุกลมหายใจที่เคยทุ่มเท หลงใหล ทว่า ดินฟ้าไม่ปรานี ตลอดปี 2564 แม้หลังจากรักษาโรคลำไส้กลืนกันจนหายขาดแล้ว กลับพบว่าท่านมีโรคมะเร็งเข้ามาแทรกซ้อนสำทับอีก

ประกอบกับบรรยากาศทั่วทุกหย่อมย่านของโลกมีแต่เชื้อโควิดกระจาย กระหน่ำซ้ำเติมให้ท่านทรุดหนักต้องนอนติดเตียง

ดิฉันขอนำเสนอเศษเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำที่ขออนุญาตบันทึกไว้แทนหนังสืองานศพ ซึ่งญาติไม่ได้รวบรวมประวัติของท่านไว้ในช่วงงานฌาปนกิจศพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน และผู้เขียน

ด้วยจิตวิญญาณแห่งบรรณารักษ์

ภัณฑารักษ์-นักโบราณคดีอาสา

เจ้าป้ามีความสุขมากเมื่อได้เข้ามาสัมผัสกับโลกของ “นักโบราณคดี-ภัณฑารักษ์-บรรณารักษ์” ท่ามกลางเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวศิลปากร โดยมีดิฉันเป็นผู้เปิดประตูให้ท่านย่างก้าวเข้ามาเป็น “สมาชิกเพื่อนพิพิธภัณฑ์ตลอดชีพ”

สืบเนื่องมาจากความสนใจในเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” อย่างลงลึก เห็นได้จากเมื่อไปวัดไหนๆ ก็ตาม เจ้าป้ามักจะเปรยกับเจ้าอาวาส ว่าไม่อยากให้วัดปล่อยปละละเลยทอดทิ้งวัตถุ เสนาสนะ บ้างถูกทิ้งกระจัดกระจายหายสูญ บ้างจัดวางแบบผิดฝาผิดตัว จนวัดหลายแห่งเกลียดขี้หน้าเราสองคนที่ไปชี้แนะ แต่เราก็ยอม

เมื่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในสมัยที่ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ได้มาประสานกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ว่าขอให้หน่วยงานเราเป็นเครือข่ายจัดทำโครงการสรรหา “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตัวอย่าง” ประมาณ 10 แห่งในลำพูนและจังหวัดอื่นๆ ในล้านนาร่วมกัน

ดิฉันเสนอชื่อให้เจ้าป้าเป็นตัวแทนเข้ารับการอบรม ร่วมสัมมนาโครงการต่างๆ ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ท่านต้องตะลอนๆ เดินทางไปศึกษาดูงานที่แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย ฯลฯ จนเจ้าป้าได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในแถบ 8 จังหวัดล้านนา

ส่วนบทบาทของเจ้าป้าด้านโบราณคดีนั้นเล่า ท่านจะไม่สบายใจเลย ทันทีที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ว่าโบราณวัตถุ-โบราณสถานไม่ว่าที่ใดก็แล้วแต่ทั้งในและนอกลำพูน ถูกละเลยหรือถูกทำลาย

เราสองคนจักรีบปุเลงๆ กันลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์บุคคลในที่เกิดเหตุ ตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นหูเป็นตา แล้วทำจดหมายรายงานข้อเท็จจริงให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสายตรงคือสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

สถานะหนึ่งของเจ้าป้า คือทำหน้าที่เฝ้าระวังมิให้โบราณวัตถุ โบราณสถาน และมรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดินถูกทำลาย เสมือนหนึ่งเครือข่ายด้านโบราณคดีให้กับกรมศิลปากร หรือที่เรียกว่า “อส.มศ.”

เจ้าป้าปฏิบัติงานด้านนี้อย่างมุ่งมั่นเข้มแข็ง นำมาซึ่งการที่ท่านได้รับคัดเลือกจากกรมศิลปากร ให้เข้ารับพระราชทานเข็มรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะเป็นบุคคลดีเด่นในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม พร้อมเกียรติบัตรของกระทรวงวัฒนธรรมในปี 2556

จากพื้นฐานของอดีตนักศึกษาที่จบด้านบรรณารักษ์มา ทำให้เจ้าป้าเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง ไปวัดไหน ไปงานสัมมนาที่ใดก็ตาม เจ้าป้าจะต้องขอหนังสือจากโต๊ะลงทะเบียนมา 2 ชุด (ในกรณีที่ดิฉันไม่ได้ไปด้วย อีก 1 ชุดเจ้าป้าตั้งใจจะเอามาฝากดิฉัน) หากเราไปด้วยกันก็หยิบมาแค่คนละชุด

หนังสือทุกเล่มหลังจากที่เจ้าป้าอ่านและใช้งานเสร็จแล้ว ท่านจะมอบให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ทันที

รวมทั้งหนังสือส่วนตัวทุกเล่มในบ้านของท่านที่เก็บสะสมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสาวรุ่น หลังจากที่ท่านได้ละโลกนี้ไปแล้ว น้องสาวของท่านได้รวบรวมทำการส่งมอบให้แก่ห้องสมุด มจร.ลำพูน หมดทุกเล่มเรียบร้อยแล้วตามเจตนารมณ์ของอดีตบรรณารักษ์ผู้มีหัวใจรักในหนังสือ

เจ้าป้าชวนคิด ณ ลำพูน และผู้เขียน

คนของประชาชน คนดีศรีล้านนา

ด้านการอุทิศตนให้กับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ดิฉันขอพรรณนาเท่าที่หน้ากระดาษอำนวย ดังนี้

เจ้าป้าเป็นรองประธานมูลนิธิเจ้าพ่อกู่ช้าง ซึ่งมูลนิธินี้ตามการรับรู้ของคนทั่วไปคือทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ตั้งโบราณสำคัญ “กู่ช้าง” (สุสานช้างศึก-ช้างทรงปู้ก่ำงาเขียวของพระนางจามเทวี) กับดูแลเรื่องพิธีกรรมการเซ่นไหว้บวงสรวงพญาช้างปู่ก่ำงาเขียวตามความเชื่อของคนในพื้นที่

สิ่งที่เหนือไปกว่านั้น บริเวณไม่ไกลจากโบราณสถานกู่ช้าง ด้านทิศตะวันออกที่เป็นลานจอดรถ มีพื้นที่กู่ร้างอีกแห่งหนึ่ง ใครจะเรียกว่า “กู่แมว-กู่วานร-กู่ลิง” หรือแม้แต่ “กู่ม้า” (หมายความว่า ชื่อที่เรียกโบราณสถานขนาดใหญ่ว่า กู่ม้า องค์ที่ตั้งเคียงข้างกับกู่ช้างนั้น เป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง)

เอาเป็นว่าซากเนินโบราณสถานกองอิฐขนาดใหญ่จะมีชื่อเรียกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ (ยังต้องถกเถียงทางวิชาการกันอีกหลายยก) ทว่า ตัวซากอิฐนี้ยังไม่ได้รับการขุดแต่งทางโบราณคดี

เจ้าป้าชวนคิดเป็นตัวตั้งตัวตีเชิญนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ มาทำแบบประมาณการว่าหากจะมีการขุดค้นทางโบราณคดีต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ อีกทั้งท่านจะรับหน้าที่เจรจาเคลียร์เรื่องกรรมสิทธิ์ของผู้ถือครองพื้นที่แห่งนี้ให้เปิดไฟเขียวแก่กรมศิลปากรด้วย หากจะมีการขุดศึกษาพื้นที่ในอนาคต

โครงการนี้หยุดชะงัก คาราคาซังหลังจากที่ไม่มีเจ้าป้ามาเป็นแม่งานขับเคลื่อน

นอกจากนี้ เจ้าป้ายังเป็นกรรมการฝ่ายวิชาการของมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย (ตั้งอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์ครูบาฯ หน้าวัดศรีโสดา)

ท่านปรารภกับดิฉันเสมอว่า อยากทำให้มูลนิธิแห่งนี้เป็น One Stop Survice รวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัยแบบไม่ขโมยซีนวัดบ้านปาง โดยเฉพาะการที่มูลนิธินี้มีคำว่า “สถาบัน” ยิ่งควรเน้นหนักในด้านวิชาการ

เจ้าป้าเสนอให้มีการรวบรวมถ่ายเอกสารหนังสือ งานวิจัยทุกเล่มที่เขียนถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย จำนวนมากกว่าพันชิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของนักเขียนเก่า ใหม่ นักเขียนมีชื่อเสียงหรือโนเนม วิทยานิพนธ์ทุกฉบับ บทความที่เขียนถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อให้ผู้สนใจเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยในทุกมิติ เมื่อเข้ามาในมูลนิธิสถาบันแห่งนี้ ได้รับคำตอบหายสงสัยในทุกประเด็น

โครงการนี้หยุดชะงัก ไม่ได้รับการสานต่อหลังจากที่เจ้าป้าวายชนม์

เจ้าป้ามีความสุข สนุกสนาน “ม่วนอกม่วนใจ” มากกับการเป็นนักจัดรายการวิทยุด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีให้กับวิทยุชุมชนของวัดสันป่ายางหลวง เจ้าป้าจะขออนุญาตดิฉันทุกครั้ง ว่าจะขอนำบทความที่ดิฉันเขียนถึงประเด็นประวัติศาสตร์โบราณคดีลำพูน ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์คอลัมน์ปริศนาโบราณคดี หัวเรื่องต่างๆ ที่ท่านชอบ ไปอ่านให้คนลำพูนฟัง

ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าท่านยังเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมชาวยองลำพูน และสมาคมฅนยองเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในกลุ่มก่อตั้ง “สภาพลเมืองลำพูน” หรือกลุ่ม Think Tank เพื่อพัฒนาบ้านเมืองลำพูนในทุกๆ มิติ สมัยที่ ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

ปณิธานที่ท่านตั้งใจจะทำให้สำเร็จ ทว่า เป็นงานที่ใหญ่ยิ่ง จึงยังทำค้างไว้ คือท่านมีความตั้งใจที่จะรวบรวมประวัติวัดในลำพูนทั่วทุกแห่งมาเขียนเรียบเรียงใหม่ เนื่องจากข้อมูลเท่าที่มีทุกวันนี้เป็นข้อมูลเดิมของกรมการศาสนาตั้งแต่ปี 2524

ทว่า ในปัจจุบัน มีวัดใหม่เกิดขึ้นหลายแห่ง บางแห่งสร้างทับที่วัดร้างเดิม วัดร้างบางแห่งหายไป เจ้าป้ามองว่าควรจัดสร้างองค์ความรู้ให้อนุชนรุ่นหลังได้นำไปต่อยอด

นอกจากนี้ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เจ้าป้าอุทิศเวลาให้กับการนั่งสมาธิวิปัสสนา วัดที่เจ้าป้าไปปฏิบัติธรรมอยู่เนืองๆ ได้แก่ วัดป่าศรีพุทธพจน์หริภุญไชย วัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นต้น

 

เจ้าป้าจากไปในคืนวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลา 3 ทุ่มเศษๆ

จวบจนวันนี้ ดิฉันยังไม่หายจากอาการโศกเศร้า เซาซึมนั้นได้เลย

เพราะเจ้าป้าชวนคิดเป็นทั้ง “คู่คิด คู่คุย คู่ลุย เป็นเพื่อนชีวิตทั้งในยามทุกข์และสุข”

เป็นมิตรแท้เพียงไม่กี่คนเท่าที่ฟ้าประทานมาให้แก่ดิฉัน •