จับตารัฐบาล…เพิ่ม ‘อุดหนุนรายหัว’ ช่วย น.ร.หรือแค่นโยบายหาเสียง?? / การศึกษา

การศึกษา

 

จับตารัฐบาล…เพิ่ม ‘อุดหนุนรายหัว’

ช่วย น.ร.หรือแค่นโยบายหาเสียง??

 

แม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดในแต่ละปี แต่สังคมเคยสงสัยหรือไม่ว่า งบฯ ที่ ศธ.ได้รับหลายแสนล้านบาทเพื่อใช้พัฒนา และจัดการศึกษา แต่ทำไม “คุณภาพ” การศึกษาของประเทศไปไม่ถึงไหนเสียที!!

งบฯ มากมายมหาศาลขนาดนั้น ลงไปถึง “เด็ก” จริงหรือไม่??

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่างบฯ ที่ ศธ.ได้มา มากถึง 80% เป็นงบฯ ใช้จ่ายประจำ คือเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น จะเหลือเพียง 20% ที่เป็นงบฯ พัฒนาการศึกษา และเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 รายการ

สำหรับ “อัตรา” เงินอุดหนุนรายหัว ที่ไม่ได้ปรับมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แน่นอนว่าสร้างผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

จนเกิดคำถามว่า ที่ผ่านมา “รัฐบาล” สนใจพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจังหรือไม่ เหตุใดถึง “ไม่เพิ่ม” เงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียน ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น

 

ที่ผ่านมา งบฯ ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 รายการ มีดังนี้

1. ค่าจัดการเรียนการสอน เงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนปกติ ก่อนประถมศึกษา 1,700 บาท/คน/ปี ประถมศึกษา 1,900 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 3,500 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 3,800 บาท/คน/ปี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1-3 11,736 บาท/คน/ปี

2. ค่าหนังสือเรียน ก่อนประถมศึกษา 200 บาท/คน/ปี ชั้น ป.1 656 บาท/คน/ปี ชั้น ป.2 650 บาท/คน/ปี ชั้น ป.3 653 บาท/คน/ปี ชั้น ป.4 707 บาท/คน/ปี ชั้น ป.5 846 บาท/คน/ปี ชั้น ป.6 859 บาท/คน/ปี ชั้น ม.1 808 บาท/คน/ปี ชั้น ม.2 921 บาท/คน/ปี ชั้น ม.3 996 บาท/คน/ปี ชั้น ม.4 1,384 บาท/คน/ปี ชั้น ม.5 1,326 บาท/คน/ปี ชั้น ม.6 1,164 บาท/คน/ปี และระดับ ปวช.1-3 2,000 บาท/คน/ปี

3. ค่าอุปกรณ์การเรียน ก่อนประถม 200 บาท/คน/ปี ประถมศึกษา 390 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 420 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 460 บาท/คน/ปี และระดับ ปวช.1-3 460 บาท/คน/ปี

4. ค่าเครื่องแบบนักเรียน ก่อนประถม 300 บาท/คน/ปี ประถมศึกษา 360 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 450 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 500 บาท/คน/ปี ระดับ ปวช.1-3 900 บาท/คน/ปี

และ 5. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ประกอบด้วย กิจกรรมวิชาการ กิจกรรมคุณธรรม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ทัศนศึกษา และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ดังนี้ ก่อนประถมศึกษา 430 บาท/คน/ปี ประถมศึกษา 480 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 880 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 950 บาท/คน/ปี และระดับ ปวช.1-3 950 บาท/คน/ปี

 

ทั้งนี้ ความหวังเริ่มเกิดขึ้นหลัง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกมาเปิดเผยว่า มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปวิจัย และวิเคราะห์เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“เงินอุดหนุนรายหัวไม่ได้ปรับเพิ่มมานานกว่า 10 ปี ขณะนี้ได้รับรายงานว่า สกศ.ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวเสร็จแล้ว โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ด้านนายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ.ออกมารับลูกทันที โดยระบุว่า สกศ.ได้วิเคราะห์การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวโดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี งบประมาณรายจ่ายของประเทศ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ประกอบกับไม่ได้ปรับเพิ่มมานานกว่า 10 ปี จึงได้ข้อสรุปว่า งบฯ รายหัวแต่ละสังกัด จะต้องเพิ่มขึ้นเท่าตัว

“ที่ผ่านมา ได้หารือสำนักงบประมาณ เห็นว่าการเพิ่มลักษณะนี้ จะเป็นภาระทางงบฯ ของประเทศ ฉะนั้น วิธีการดำเนินการที่สอดคล้องกับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ที่มีทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย จึงเสนอให้ปรับในรูปแบบขั้นบันได แทนที่จะขึ้นครั้งเดียว 100% ให้ปรับขึ้นปีละ 30% เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงบฯ” นายอรรถพลระบุ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมีการผลักดันให้เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ได้สร้าง “ความหวัง” ให้กับสถานศึกษาทุกสังกัด โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินอุดหนุนรายหัวในรูปแบบขั้นบันได ควรจะอนุมัติขึ้นครั้งเดียว 100% จะทำให้นักเรียน และผู้ปกครอง มีเงินใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และหนังสือเรียนเพิ่มมากขึ้น

“ขณะนี้โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศกำลังรอฟังข่าวดีจากรัฐบาล มองว่ารัฐบาลอยากจะช่วยเหลือผู้ปกครอง และนักเรียน ถ้าอนุมัติเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จะช่วยเหลือนักเรียน และผู้ปกครองอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนทุกสังกัด ทั้งรัฐ และเอกชน” นายศุภเสฏฐ์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม มีเสียงติงมาจาก ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ที่มองว่าการเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้ผู้เรียนทุกสังกัด เป็นเรื่องที่ดีมาก สอดคล้องกับสภาพปัญหาเศรษฐกิจ และความต้องการของประชาชน แต่ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายนี้อาจจะท่าดีทีเหลว เพราะค่าใช้จ่ายรายหัวไม่ได้ปรับขึ้นมากว่า 10 ปี แล้วทำไมมาปรับในช่วงเวลานี้

เป็นการปรับเพราะ “หวังผล” ทาง “การเมือง” ที่จะใกล้ “เลือกตั้ง” หรือไม่!!

“ไม่มั่นใจว่าการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวแบบขั้นบันไดจะสำเร็จ เพราะกลัวรัฐบาลจะอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี งบฯ ไม่เพียงพอ ท้ายที่สุดจะเพิ่มงบอุดหนุนรายหัวในอัตราที่ต่ำมาก อาจจะเพิ่มแค่หลักสิบบาทเท่านั้น แต่ในความจริงจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน นักเรียนควรได้รับเงินค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มตั้งแต่ 200-500 บาท” ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ทิ้งคำถามไว้น่าสนใจ ว่าทำไมรัฐบาลถึงคิดช้า ปล่อยเวลามา 10 ปี ไม่เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียน รัฐบาลทราบหรือไม่ ว่าการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนช้า มีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาขนาดไหน และเด็กลาออกกลางคันเพิ่มมากขึ้น

จึงหวังว่าการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวครั้งนี้ อย่าแค่ท่าดีทีเหลว อย่าสร้างความหวังให้ประชาชน และท้ายที่สุดก็ทำประชาชนผิดหวัง อย่างน้อยหากทำสำเร็จ จะทำให้ประชาชนมีความหวังกับการศึกษามากขึ้น

ต้องจับตาดูว่าการ “เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว” ครั้งนี้ จะแค่ “ขายฝัน” ที่แรกเริ่มทำให้ดูดี ทำให้ประชาชนมีความหวัง แต่ท้ายสุดกับล้มเหลว พังไม่เป็นท่า อย่างที่หลายคนกังวลหรือไม่…

ได้แต่หวังว่า “ผู้มีอำนาจ” จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับเด็กๆ และเยาวชน ที่จะต้องเติบโตไปเป็นอนาคตของประเทศอย่างมีคุณภาพ!! •