กว่าจะถึง SCBX ตอนที่ 1 จุดปะทะแห่งทศวรรษ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

กว่าจะถึง SCBX

ตอนที่ 1 จุดปะทะแห่งทศวรรษ

ในช่วงประวัติศาสตร์กึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ไม่มีธนาคารใดเป็นไปอย่างโลดโผน เช่นไทยพาณิชย์

ซีรีส์ใหม่ ถือว่าเปิดฉากด้วยบทนำ ซึ่งนำเสนอไว้แล้ว (โปรดอ่านอีกครั้ง “กว่าจะถึง SCBX” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 มีนาคม 2565) จับภาพธนาคารเก่าแก่ของไทยในห้วงเวลาสำคัญ – “ธนาคารไทยพาณิชย์ (หรือเอสซีบี-SCB) ครึ่งศตวรรษ (2516-2565)” เป็นฉากตอนที่มีความสำคัญ อย่างโฟกัส เป็นภาพใหญ่ภาพหนึ่งซึ่งประมวล เรียบเรียง ปรับปรุงและเพิ่มเติมมาจากงานเขียนเก่าหลายต่อหลายชิ้นของผมเอง เคยเสนอไว้อย่างกระจัดกระจายในช่วงกว่า 2 ทศวรรษมานี้ ทั้งนี้ มีข้อมูลบางตอนจะขอเทียบเคียงและอ้างอิงจากหนังสือประวัติอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 3 เล่ม จัดทำโดยธนาคารไทยพาณิชย์

จากหนังสือ “สยามกัมมาจล” 80 ปีธนาคารไทยพาณิชย์ (เมษายน 2530) โดยบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ (อดีตรองผู้จัดการใหญ่ ผู้วายชมน์) เป็นประธานกรรมการจัดทำ จนถึง หนังสือชุด 100 ปีธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งฉบับภาษาไทย “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” (2550) เรียบเรียงโดย นวพร เรืองสกุล และฉบับภาษาอังกฤษ “Century of Growth” (2007) Text by Stephen Lowy (EDITIONS DIDERS MILLET, Singapore)

ในบริบทซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ท่ามกลางแรงปะทะกับกระแสโลกครั้งสำคัญ เป็นไปทั่วด้าน ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เป็นภาพเชื่อมโยงกัน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง

จุดปะทุมาจากสงครามเวียดนาม เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม รวมทั้งเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย มาพร้อมกับอิทธิพลหลายมิติ ในจังหวะเทคโนโลยีระดับโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 

อิทธิพลสหรัฐในยุคสงครามเวียดนามมิได้มีเฉพาะการเมืองและการทหาร หากมีส่วนอย่างสำคัญในการปรับโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจไทย ในมิติสำคัญถือได้ว่าเปิดโอกาสครั้งใหญ่ให้เกิดผู้ประกอบการไทยใหม่ สังคมธุรกิจไทยขยายตัวอย่างมาก ขณะเดียวกันธุรกิจโลกตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐขยายการลงทุนขนานใหญ่ เข้ามาอย่างเป็นขบวน ทั้งผลิตสินค้าพื้นฐาน และสินค้าเพื่อผู้บริโภค ตอบสนองสังคมสมัยใหม่ เป็นบางมิติเชิงขยายสังคมบริโภค จากผู้คนในเมืองใหญ่ สู่ฐานที่กว้างขึ้นในหัวเมืองและชนบท ปรากฏการณ์อันคึกคักต่อเนื่องยิ่งขึ้น เมื่อมีการสมทบด้วยขบวนลงทุนระลอกใหญ่จากญี่ปุ่น อันที่จริงเป็นภาพต่อเนื่อง โหมโรงโดยเครือข่ายบริษัทการค้าใหญ่ที่เรียกว่า Trading company หรือ Sogoshosha ในความพยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และผู้ร่วมทุน

“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศไทยที่สำคัญมากอีกครั้งหนึ่ง แต่ต่อจากนั้นมาแม้ว่าการเมืองไทยจะลุ่มๆ ดอนๆ ประเทศเพื่อนบ้านจะเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาหลายด้านที่รุมเร้าเข้ามาจากภายนอกประเทศ ทั้งเรื่องน้ำมันแพงและดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ ปรากฏว่าระยะนี้ระบบการธนาคารก้าวหน้าไปอย่างแข็งแกร่ง” (อ้างจากภาพรวมจากบทหนึ่งในหนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” หัวเรื่อง “พ.ศ.2516 – พ.ศ.2531 แผ่สาขาล้ำหน้านวัตกรรม”)

บทอรรถาธิบายข้างต้นในมุมมองธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความสำคัญบางฉากตอน ว่าไปแล้ว เป็นภาพ “ชิ้นส่วน” ความเชื่อมโยง “ธุรกิจธนาคารซึ่งผนึกแน่นกับสถานการณ์มากขึ้น ทั้งเผชิญปัญหาและมีโอกาสทางธุรกิจ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้นๆ” ผมเคยว่าไว้ (จากเรื่อง “กว่าจะถึง SCBX”)

ในฐานะผู้ติดตามศึกษาเครือซิเมนต์ไทย (เดิมคือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ปัจจุบัน-เอสซีจี) พบว่าจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ทั้งเอสซีจีและเอสซีบี ในฐานะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนนายกกรรรมการในปี 2515 เป็นพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ มาในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อในเวลานั้น) นับเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยด้วย

พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เข้ามาเป็นกรรมการปูนซิเมนต์ไทยครั้งแรกในปี 2514 ในช่วงเวลาสำคัญในการปรับตัว เพื่อเข้าถึงยุคและแหล่งเงินทุนจากสหรัฐ สามารถกู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จาก IFC ตอบสนองแผนการขยายตัวครั้งใหญ่ และการเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ กลายเป็นแรงผลักดันให้มีการปรับโครงสร้าง เป็น “เครือซิเมนต์ไทย” (ปี 2515) จากนั้นพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการคนใหม่

ปูนซิเมนต์ไทย กับการปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจข้างต้น เป็นไปตามยุทธศาสตร์ใหญ่ ก้าวพ้นยุคเดนมาร์ก (ปูนซิเมนต์ไทย อยู่ภายใต้การบริหารของชาวเดนมาร์ก ตั้งแต่ก่อตั้งปี 2456 จนถึงปี 2517) ก้าวสู่ผู้นำธุรกิจไทยในยุคโอกาสเปิดกว้าง ขณะเดียวกันมีการแข่งขันมากขึ้น

กว่าจะมาถึงจุดนั้น แผนการหนึ่งของปูนซิเมนต์ไทย เป็นบทเรียนและโมเดลเทียบเคียงกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ในเวลาต่อมา นั่นคือการมาของมืออาชีพคนนอก

 

ปูนซิเมนต์ไทยเริ่มต้นแผนการอย่างเป็นขบวนมาก่อนหน้าพอสมควร ตั้งแต่ อายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา จากเชลล์เข้ามาดูแลการตลาด และ จรัส ชูโต จากเอสโซ่ เข้ามารับผิดชอบด้าน Logistics (ปี 2509) อมเรศ ศิลาอ่อน จากเชลล์ ดูแลงานการสร้างเครือข่ายการตลาดและโฆษณา ประชาสัมพันธ์ (ปี 2510) เสนาะ นิลกำแหง จากลีเวอร์บราเธอร์ ริเริ่มงานฝึกอบรม (ปี 2511) พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา จากเชลล์ (ปี 2512) และชุมพล ณ ลำเลียง จากทิสโก้ ดูแลการเงิน (ปี 2515)

“เมื่อสิ้น พ.ศ.2500 มีตัวเลขเงินฝากประมาณ 450 ล้านบาท สินเชื่อ 300 ล้านบาท และทุนประมาณ 43 ล้านบาท อีก 15 ปีให้หลังคือปลาย พ.ศ.2515 ธนาคารมีเงินฝากเกือบถึง 3,000 ล้านบาท สินเชื่อ 1,700 ล้านบาท ทุน 253 ล้านบาท และสินทรัพย์กว่า 3,313 ล้านบาท ตัวเลขต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า การเติบโตของระบบธนาคารและธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้แรงกระตุ้นจากสงครามในเวียดนาม และการลงทุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ…” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”)

ทว่า เมื่อเปรียบกับธนาคารอื่นๆ แล้ว ถือว่าเป็นการเติบโตที่ช้ากว่ามาก “ในปี 2515 ธนาคารกรุงเทพ มียอดเงินฝากเป็นอันดับหนึ่ง (ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ธนาคารกรุงไทย อันดับ 2 (8,600 ล้านบาท) ธนาคารกสิกรไทย อันดับ 3 (4,000 ล้านบาท) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อันดับ 4 (3,200 ล้านบาท) ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ยังอยู่อันดับ 5 (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ขณะที่ธนาคารต่างชาติ 14 แห่ง มีเงินฝากรวมกันยังไม่ถึง 4,000 ล้านบาท” (อ้างจากข้อมูลในหนังสือ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985, Suehiro Akira 1996) โดยเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2505 ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยอันดับที่ 2 เป็นรองแค่ธนาคารกรุงเทพ

ว่าในมิติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ในจังหวะปูนซิเมนต์ไทยเดินแผนการขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์กลับอยู่ในฐานะมีบทบาทอย่างจำกัดในการสนับสนุน

แรงกดดันการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีขึ้นเมื่อพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เข้ามาเป็นนายกกรรมการ (มีนาคม 2515) อย่างที่ว่าไว้ แต่การปรับเปลี่ยนสำคัญ เป็นเรื่องค่อนข้างฉุกละหุก เมื่ออาภรณ์ กฤษณามระ ผู้จัดการธนาคารซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 28 ปี ล้มป่วยและถึงแก่กรรมค่อนข้างกะทันหัน ไม่กี่เดือนจากนั้น (ตุลาคม 2515)

การปรับเปลี่ยนผู้บริหารครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วงแรกๆ ขลุกขลักอยู่บ้าง เมื่อเข้าที่จึงเดินแผนพลิกโฉมหน้าครั้งใหญ่ ประเดิมด้วย “ในปี พ.ศ.2516 นั่นเอง ธนาคารไทยพาณิชย์จึงประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียน จาก 3,300,000 บาท อันเป็นทุนดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งยังเป็นบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เป็น 40 ล้านบาท” (จากหนังสือ “สยามกัมมาจล” (2530)) •

 

อ่าน “กว่าจะถึง SCBX” ได้ที่นี่

กว่าจะถึง SCBX / วิรัตน์ แสงทองคำ