นงนุช สิงหเดชะ : อดีตลูกน้อง “จอร์จ โซรอส” หักเหลี่ยมลูกพี่ เชื่อ ศก.จีน “ไม่พัง” แต่กำลังเป็น “ขาขึ้น”

AFP PHOTO / FILES

ดูเหมือน จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน เจ้าของกองทุนเก็งกำไรหรือเฮดจ์ฟันด์ผู้ลือลั่น ซึ่งหากำไรด้วยการโจมตีค่าเงินของหลายประเทศจนทำให้เศรษฐกิจทรุดและเสียหายเป็นวงกว้างทั่วโลก เช่น กรณีโจมตีค่าเงินบาท จนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งทั่วเอเชีย จะไม่หยุดในการทำนายทางร้ายต่อเศรษฐกิจจีน

หากฟังอย่างผิวเผิน ก็ไม่ชวนให้คิดอะไรมาก คิดเพียงว่าเป็นเพียงการวิเคราะห์ของนักลงทุนผู้ช่ำชอง

แต่หากคิดละเอียดอีกนิด ดูเหมือนว่าจะมีนัยยะซ่อนเร้น

ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการออกมาตอกย้ำเรื่อยๆ มีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้นักลงทุนรายอื่นๆ คล้อยตาม

สร้างบรรยากาศเชิงลบ เพื่อโจมตีให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลงจริงๆ หรืออ่อนแอเกินจริง

อาจเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า เป็นเพราะโซรอสอยากทุบเงินหยวนให้อ่อนค่าถึงเป้าหมายที่เขาจะกลับเข้าไปรับซื้อในราคาถูก

เพราะก่อนหน้านี้เขาบอกเองว่าได้ขายเงินสกุลเอเชียบางสกุลออกไปเพราะประเมินว่าอนาคตค่าเงินจะลดลง

จนทำให้ทางการจีนออกมาเตือนโซรอสว่า อย่าได้คิดเสี่ยงพนันเก็งกำไรค่าเงินหยวน เพราะมีโอกาสที่จะ “เจ็บตัว” (จากการที่ต้นทุนของนักเก็งกำไรจะสูงขึ้น อันหมายความว่าทิศทางค่าเงินหยวนจะไม่เป็นไปตามที่โซรอสคาดหมาย)

พร้อมกับเย้ยว่าสงสัยโซรอสจะทำการบ้านมาน้อย

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ โซรอสทำนายว่าเศรษฐกิจจีนจะฮาร์ดแลนดิ้งหรือหัวทิ่มวูบอย่างรุนแรง

ล่าสุดเดือนเมษายน ออกมาย้ำอีกว่า เศรษฐกิจจีนจะซ้ำรอยเศรษฐกิจอเมริกา ปี ค.ศ.2008 ซึ่งเกิดวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรง เนื่องจากจีนมีการปล่อยสินเชื่อมากและเกิดหนี้เสียสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม บ๊อบ บิชอป อดีตหัวหน้าการลงทุน โซรอส ฟันด์ แมเนจเมนต์ อดีตลูกน้องของโซรอส ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารกองทุนอิมพาลา ซึ่งมีขนาดเงินลงทุน 2.2 พันล้านดอลลาร์ กลับมองตรงกันข้ามกับโซรอส โดยระบุว่าเศรษฐกิจจีนได้ crash หรือพังไปแล้วเรียบร้อยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือเศรษฐกิจจีนได้ถึงจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อปลายปี 2558 และนับจากนี้ไปจะเป็นช่วงขาขึ้น

หากพูดตามภาษานักเล่นหุ้นสายเทคนิค ก็ต้องบอกว่าเส้น RSI ของจีน ได้เข้าเขต oversold หรือขายมากเกินไป (จนทำให้หุ้นมีราคาถูกมาก) และบัดนี้เส้น RSI ได้หักหัวขึ้นแล้ว เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ราคาหุ้นพุ่งทะยาน ใครรีบซื้อหุ้นตอนนี้รับรองว่ารวยเละ

บิชอปชี้ว่า เศรษฐกิจจีนในระยะ 2 ปีข้างหน้าจะดีมากกว่าที่หลายๆ คนคิด โดยเขาระบุว่ากองทุนของเขาได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มจาก 4 เป็น 20% ตั้งแต่ต้นปี

แม้บิชอปจะไม่ยอมเปิดเผยผลประกอบการของกองทุน แต่คนใกล้ชิดของเขาบอกว่า กองทุนหุ้นหลักของอิมพาลา มีผลกำไร 7.7% ในเดือนมีนาคม ทำให้ 3 เดือนแรกของปีมีกำไร 2.2%

การเพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้นโภคภัณฑ์ บ่งบอกว่าบิชอปมั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนเป็นขาขึ้น เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าเหล็ก ทองแดง สินแร่เหล็กและโลหะอื่นๆ รายใหญ่ของโลก การที่ราคาโภคภัณฑ์ เช่น สินแร่เหล็กปรับตัวขึ้น 44% ในปีนี้ สะท้อนให้เห็นภาวะเศรษฐกิจจีนโดยอ้อม

 

บิชอปไม่ใช่ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์จากอเมริกาเพียงรายเดียวที่มีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจจีน แต่ยังมี จอร์ดิ วิสเซอร์ หัวหน้าการลงทุนของ Weiss Multi-Strategy Advisors ซึ่งมีขนาดเงินลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์ เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ว่า ภายในสิ้นปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นเซินเจิ้น คอมโพสิต จะเอาชนะตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ได้

ประเด็นเรื่องหนี้เสีย หนี้สาธารณะที่พอกพูนขึ้น อันเนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลงเหลือไม่ถึง 7% ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจำนวนมาก เป็นจุดศูนย์กลางในการถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งแม้แต่นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ดังๆ ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน

บางฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจจีนจะเสียหายหนักและก่อวิกฤตโลกครั้งใหม่ แต่บางฝ่ายกลับมองว่าเป็นผลจากการที่จีนได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่โดยลดการพึ่งพาส่งออก หันมาเน้นการบริโภคภายในและภาคบริการแทน ไม่ได้มีอะไรน่าห่วงมาก พร้อมกับเห็นด้วยและชมเชยที่จีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจังเพื่อการเติบโตยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเงินทุนไหลออกนี้ ตามมุมมองของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) บอกว่าสภาพที่เงินไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กลางปี 2557 นั้น อาจจะเกิดจากบริษัทของจีนเองทำการชำระหนี้ที่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ เพราะคาดหมายว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น มากกว่าจะเกิดจากนักลงทุนพากันขายทิ้งสินทรัพย์ในจีนเพื่อนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศเพราะวิตกเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลง


เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์ของวาณิชธนกิจ UBS ที่เห็นด้วยกับสมมุติฐานของ BIS โดยเขาชี้ว่าคนมักกังวลเกี่ยวกับการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมากเกินไป แต่อันที่จริงแล้วทุนสำรองของจีนไม่ได้กำลังจะหมดไปแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการลดหนี้ต่างประเทศและ unwind of carry trade

unwind of carry trade หมายถึงการเทขายสินทรัพย์สกุลเงินต้นทุนต่ำ (ดอกเบี้ยต่ำ) ที่ผู้กู้ได้ไปกู้เพื่อมาลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศอื่นหรือสกุลเงินอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูง

เช่นที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐ ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ นักลงทุนจึงไปกู้เงินดอลลาร์เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูง (เรียกว่า dollar carry trade) สินทรัพย์ที่ลงทุนอาจมีทั้งหุ้น น้ำมัน โภคภัณฑ์ต่างๆ

แต่เมื่อสหรัฐเริ่มขึ้นดอกเบี้ยและดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่า ก็ทำให้ผู้ที่เคยกู้ดอลลาร์ไปลงทุนต้องเทขายสินทรัพย์ลงทุนเหล่านี้เพื่อเอาเงินดอลลาร์กลับไปใช้หนี้ ซึ่งเรียกว่าการ unwind of carry trade

แจน เดห์น หัวหน้าฝ่ายวิจัยของแอชมอร์ อินเวสเมนต์ แมเนจเมนต์ ชี้ว่าทุนสำรองของจีนที่ลดลงเหลือ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 3.99 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องของคนจีนกำลังดั๊มพ์ขายสินทรัพย์ในจีนทิ้งเพื่อนำเงินออกไปลงทุนที่อเมริกาอย่างรวดเร็ว

หากแต่เป็นเรื่องการชำระหนี้รูปดอลลาร์ของภาคเอกชน และในที่สุดภาวะการไหลออกของเงินก็จะกลับสู่ปกติเมื่อการปรับตัวด้านงบดุลของภาคเอกชนเข้าสู่สมดุล

“เราเห็นสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ด้วยเช่นกัน และประเทศเหล่านี้ต่างพูดว่าตอนนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศของพวกเขาเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง” เดห์น บอกไว้อย่างนั้น

หากจะให้สรุปง่ายๆ ก็ต้องบอกว่าในมุมมองของ BIS และอีกหลายคนข้างต้น การไหลออกของเงินทุน การลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ถูกพูดถึงมากว่าจะเป็นสาเหตุให้จีนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ-การเงินครั้งใหญ่ จนส่งแรงกระเพื่อมฟาดหางไปทั่วโลกนั้น

แท้จริงแล้วไม่ได้ร้ายแรงจนต้องวิตกจริตเกินเหตุ