นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เทคโนโลยีในสุญญากาศ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

พรรคการเมืองหนึ่ง ประกาศในทำนองว่า ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญกว่าประชาธิปไตย ว่ากันไปแล้ว ก็ไม่ใช่พรรคการเมืองนั้นเพียงพรรคเดียว หลายพรรคด้วยกันที่คาดว่าประชาชนเบื่อหน่ายกับความแตกแยก ต่างพากันพูดในทำนองเดียวกัน แม้ไม่ถึงกับตรงไปตรงมาขนาดนี้

รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ เองนั่นแหละ ก็พูดทำนองนี้มานานแล้ว สิทธิพลเมืองประชาธิปไตยไม่มีความสำคัญเท่ากับปากท้องหรือความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ “ประชาธิปไตยที่กินได้” ของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ดูจะมีความหมายไปในทำนอง “กินได้” มากกว่า “ประชาธิปไตย”

อันที่จริงระบอบปกครองอะไรก็ไม่เกี่ยวกับปากท้องสักระบอบเดียว เผด็จการทำให้เกิดความยากจนในประเทศต่างๆ มากเสียยิ่งกว่าทำให้มีกินมีใช้มากขึ้น ทุกครั้งที่พูดถึงเผด็จการ ในเมืองไทยมักยกเอาเผด็จการที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจขึ้นมาอ้าง ทั้งๆ ที่ประเทศเผด็จการเช่นนี้มีน้อย

และน่าสังเกตด้วยว่า แม้เผด็จการจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มพูนรายได้ของประเทศ ส่วนใหญ่มักจะล้มเหลวในการกระจายรายได้ เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่น่าเกลียดมากๆ เกือบทุกแห่ง อย่ายกแต่สิงคโปร์ ให้คิดถึงเวียดนาม, จีน รวมทั้งไทยเองด้วย

ประชาธิปไตยก็ไม่เป็นหลักประกันให้แก่ปากท้องเช่นกัน แต่ประชาธิปไตยให้หลักประกันอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมาก นั่นก็คือทุกฝ่ายมีอำนาจต่อรองในด้านการใช้ทรัพยากรของประเทศ ถึงไม่ใช่อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันจริง แต่ทุกกลุ่มมีเสียงดังพอที่จะดึงเอาคนกลุ่มอื่นมาร่วมสนับสนุนการต่อรองของตนได้ ดังนั้นทรัพยากรจึงไม่ถูกใช้ไปในทางที่จะก่อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มอย่างเหลือเฟือ ต้องแบ่งสรรหรือกระจายมายังคนกลุ่มอื่นบ้าง

ถึงกระนั้น ทุนก็ยังมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ นี่ขนาดคนอื่นมีอำนาจต่อรองจากการรับประกันของระบอบปกครองแล้วนะครับ ถ้าไม่มีอำนาจต่อรองเลยอย่างเช่นในระบอบเผด็จการ โอกาสที่ทุนจะถูกกระจุกตัวยิ่งเกิดง่ายขึ้นไปใหญ่

ในประเทศไทย ผมยอมรับว่า เผด็จการทหารสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะการปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนตามคำแนะนำของสหรัฐ ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของกองทัพ แต่นโยบายพัฒนาดังกล่าวมีเจตนาตั้งแต่ต้นที่จะเบนทรัพยากรไปให้คนบางกลุ่มได้ใช้ โดยตรงหรือโดยอ้อม โดยอาศัยแรงงานของคนส่วนใหญ่ซึ่งมีรายได้เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น แต่รายได้ทางอื่นหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รายได้เป็นตัวเงินของคนส่วนใหญ่ก็ถูกกดให้ต่ำไว้เพื่อดึงดูดการลงทุน

การใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ไม่ใช่หนทางเดียวที่จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจเป็นหนทางที่ทำได้เร็วกว่าหนทางอื่น แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพึ่งพาต่างประเทศในทุกทาง (ทุน, ฝีมือ, เทคโนโลยี, ตลาด) จึงค่อนข้างเปราะบาง ซ้ำยังไม่มีนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งภายในเพื่อลดการพึ่งพาลงด้วย เพราะต้องการรักษาประโยชน์ของพรรคพวกและบริวารเท่านั้น

เช่น ถ้าจะลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศลงบ้าง ก็ต้องเพิ่มรายได้ของแรงงานในไทยและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อทำให้เกิดตลาดภายในที่มีกำลังซื้อเข้มแข็งพอสมควร นั่นหมายความว่าต้องเลิกนโยบายกดค่าแรง และกดราคาสินค้าเกษตร อันจะเป็นเหตุให้นายทุนได้กำไรน้อยลง (และต้องลดค่าต๋งที่เผด็จการทหารโซ้ยอยู่ลงด้วย) ดังนั้น เผด็จการสฤษดิ์และทายาทจึงเลือกจะไม่ทำ ผลก็คือเศรษฐกิจไทยที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างแรงมากขึ้นทุกที สืบมาจนถึงปัจจุบัน และความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยก็ยังดำรงอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

เรื่องนี้ต้องเปรียบเทียบกับเผด็จการทหารของเกาหลีใต้ ถึงจะเหี้ยมโหดและไม่สุจริตนักพอๆ กัน แต่เผด็จการทหารของเกาหลีใต้ปล่อยให้ทุนบริวารของตนเติบโตขึ้นอย่างอิสระ พัฒนาฝีมือแรงงานอย่างจริงจังจนได้ประชากรที่มีคุณภาพสูง เศรษฐกิจขยับขึ้นไปเป็นเศรษฐกิจทันสมัยที่พึ่งตนเองได้มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่สูง แต่อย่างน้อยรายได้ของคนส่วนใหญ่ก็ทำให้พอเงยหน้าอ้าปากในเศรษฐกิจแบบใหม่ได้

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มักจะแบ่งผู้สมัครตาม “กระแส” การเมืองสองฝ่าย คือฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตย แต่ผมคิดว่าที่น่าสนใจกว่าการแบ่งตามกระแสการเมือง คือแบ่งตามนโยบายแบบแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี ตั้งแต่เทคโนระดับอ่อน (ที่ประชาชนทั่วไปพอคาดเดาได้ว่าให้ผลดี เช่นหมั่นลอกท่อเพื่อบรรเทาน้ำท่วม) ไปจนถึงเทคโนระดับเข้มข้น (ที่ประชาชนฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นเทคโนของมนุษย์ต่างดาว ซึ่งทรงสัมฤทธิผลเพราะฟังไม่รู้เรื่อง)

แต่ไม่มีใครเสนอการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งเน้นว่าปัญหาต่างๆ ที่ชาวกรุงเทพฯ เผชิญอยู่เป็นประจำในชีวิตนั้น เอาเข้าจริงล้วนเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งครอบความล้มเหลวในการจัดการต่างๆ เอาไว้ พูดให้แสบขึ้นก็คือ ความล้มเหลวนั่นแหละ คือพลังที่ช่วยพยุงโครงสร้างนั้นเอาไว้

ผมคิดว่ามีผู้สมัครเพียงสองคนที่เสนออะไรไปในทำนองนี้ คือคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แม้กระนั้นทั้งสองคนก็ยังมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต่างกัน ดังผมจะอธิบายต่อไปนี้ (ซึ่งเป็นการ “อ่าน” ของผมเอง อาจจะผิด อย่ารีบเชื่อ)

คุณชัชชาติเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผู้สมัครส่วนใหญ่เลย นั่นก็คือเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ กระบวนการจัดการกับปัญหาต่างหากที่สำคัญกว่า กระบวนการที่ผ่านมาทำประหนึ่งว่า ปัญหาถูกแก้ด้วยความ “ชำนัญการ” (expertee) ของระบบหรือของบุคคลเพียงอย่างเดียว คุณชัชชาติกลับไปเน้นกระบวนการทางสังคมในการแก้ปัญหา ต้องมีกระบวนการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ช่วยกันคิดไปจนถึงช่วยกันบริหาร คุณชัชชาติทำให้ดูด้วยการจัดองค์กรของผู้สนับสนุนในลักษณะดังกล่าว คุณชัชชาติยืนยันว่านโยบายทั้งหลายไม่ใช่ของตนแต่ผู้เดียว แต่เป็นการร่วมกันคิดมาจากประชาชนที่เข้ามาทำงานร่วมกัน

จะว่า “ท่าที” อย่างนี้ไม่ใช่ของใหม่แท้ก็ได้ เพราะเป็นท่าทีของการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนมานานแล้ว แต่การจัดองค์กรในภาคประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวมักทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง ในขณะที่การจัดองค์กรของคุณชัชชาติดูจะแตกต่าง เพราะเป็นการจัดองค์กรระยะยาว เพื่อจัดการกับภารกิจประจำวัน ทั้งพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้ในทางปฏิบัติด้วย (คือมีอายุมาสองปีแล้ว ก็ยังอยู่ ซ้ำขยายขึ้นด้วย)

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราย้อนกลับไปคิดว่า เทคโนโลยีทางสังคมไม่เคยได้รับความใส่ใจจากผู้ปกครองไทยเลย โดยเฉพาะหลังการปฏิรูปในสมัย ร.5 เป็นต้นมา ก็ต้องถือว่า สิ่งที่คุณชัชชาติกำลังทำให้ดูนั้น เป็นทั้งเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่มาก แทบจะพูดได้ว่าหันเหการบริหารสาธารณกิจแบบไทยไปเลย รวมทั้งปฏิเสธการบริหารแบบเผด็จการไปพร้อมกัน ไม่มีการปฏิรูปที่แท้จริงภายใต้การกำกับในโลกนี้

คุณวิโรจน์ไปไกลกว่าเทคโนโลยีทางสังคมในกระบวนการบริหาร แต่มุ่งไปยัง “วาทกรรม” พื้นฐานของอำนาจในสังคมไทยเลยทีเดียว นั่นคือความชอบธรรมของอำนาจแบบไทยไม่ใช่การยอมรับของประชาชน แต่คือช่วงชั้นหรือลำดับขั้นอันไม่เท่าเทียมกันของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมต่างหาก ด้วยเหตุดังนั้นคนไทยจึงเป็นเจ้าของสาธารณสมบัติไม่เท่ากัน และพึงมีอำนาจในการบริหารจัดการสาธารณสมบัตินั้นไม่เท่ากันด้วย

คุณวิโรจน์เสนอว่า “วาทกรรม” พื้นฐานประเภทนี้แหละที่เป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ทำไมเขาจึงส่งเสริมรถไฟสายสีต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาค่าโดยสารเลย เพราะรถไฟทำให้อสังหาริมทรัพย์สองข้างทางมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ขายและผู้ซื้อซึ่งเป็นคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปได้ประโยชน์จากรถไฟสี ในขณะที่รถเมล์ซึ่งเป็นพาหนะของคนจน แม้จะเสื่อมโทรมแออัดอย่างไร ก็ไม่เคยมีใครคิดจะปรับปรุงให้สะดวกสบายมากขึ้น ในราคาที่คนจนเข้าถึง

การมองว่าคนเท่ากันหรือไม่เท่ากัน จึงสัมพันธ์โดยตรงกับนโยบายสาธารณะ หลักการหรืออุดมการณ์ทางสังคมการเมืองไม่ใช่อะไรสวยๆ ที่ลอยอยู่บนอากาศโดยไม่เกี่ยวกับใครเลย แท้จริงแล้วมันคือตัวกำหนดนโยบายสาธารณะโดยตรง ใครควรได้อะไร เมื่อไร เท่าไร และอย่างไร

เราไม่อาจพูดแต่เรื่องว่าใครควรได้อะไร เมื่อไร ฯลฯ โดยไม่พูดถึงหลักการที่ผมขอเรียกว่า “วาทกรรม” พื้นฐานได้เลย

ถ้าบอกว่า ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญกว่าประชาธิปไตย ความผิดของคสช.ที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เหลืออยู่เพียงอย่างเดียว คือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ เชิญนักเศรษฐศาสตร์ผิดคนมาเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ถ้าเชิญให้ถูกคนเช่นนักการเมืองที่เสนอแต่เรื่องปากท้อง การปล้นอำนาจบ้านเมืองก็กลับกลายเป็นวีรกรรมไปแล้ว

อันที่จริง ความคิดว่าเทคโนโลยี (ทุกชนิด) ไม่เคยอยู่ในสุญญากาศ แต่จะถูกใช้อย่างไรและเพื่อใคร ขึ้นอยู่กับวาทกรรมพื้นฐานทางด้านสังคมและการเมือง หรือที่คนโบราณเรียกว่า “ธรรมะ” เสมอ ไม่ใช่ความคิดใหม่อะไร เป็นความคิดปรกติธรรมดาในหมู่คนไทยก่อนการปฏิรูปใน ร.5

การปฏิรูปในครั้งนั้นมีเป้าหมายแคบๆ เพียงการรักษาพระราชอำนาจให้มั่นคง และขยายพระราชอำนาจเพื่อทำให้เกิดการรวมศูนย์การปกครองและนโยบาย ที่ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจตะวันตก อันเป็นอำนาจเดียวที่เหลืออยู่อันจะเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

นับแต่นั้นมา การพระศาสนา, รัฐประศาสนศาสตร์, การศึกษา, การคมนาคม, การทหาร, วัฒนธรรม ฯลฯ ก็มีเป้าหมายแคบๆ เพื่อประโยชน์รูปธรรมเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนที่คนโบราณเรียกว่า “ธรรมะ” กลายเป็นความฟุ่มเฟือยที่ควรใส่ใจเมื่อท้องอิ่มแล้วเท่านั้น

แต่ในโลกนี้ มันมีอะไรที่เป็นรูปธรรมโดยปราศจากนามธรรมเลยหรือ กระป๋องทุกใบ แม้จะมีรูปลักษณ์ต่างกันอย่างไรก็มีความเป็นกระป๋องเหมือนกัน ผมไม่ต้องการจะเน้นย้ำ “สาระ” อันไม่แปรผันของสรรพสิ่งอย่างนักปราชญ์กรีก ผมเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างที่เรามองเป็นรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ที่จริงแล้วที่เรามองเห็นอย่างนั้นเกิดขึ้นจาก “มุมมอง” นามธรรมบางอย่างกำหนดให้รูปธรรมมีลักษณะเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะรู้สำนึกถึง “มุมมอง” นามธรรมนั้นหรือไม่ก็ตาม

ผมทำนายไม่ถูกหรอกว่า แล้วผู้สมัครคนใดจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ถ้าคุณชัชชาติหรือคุณวิโรจน์ชนะ หรือถึงไม่ชนะ ก็ได้คะแนนรวมกันค่อนข้างมาก ย่อมแสดงให้เห็นว่า วิธีคิดอะไรที่แคบๆ ตื้นๆ มุ่งแต่เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมเพียงอย่างเดียว อันเป็นมรดกวิธีคิดที่ตกทอดมาตั้งแต่การปฏิรูปใน ร.5 กำลังเริ่มอ่อนกำลังลงในกรุงเทพฯ และประเทศไทยกำลังออกจากโหมด “ราชปฏิรูป” ที่ครอบงำสังคมไทยมานานเกิน 1 ศตวรรษแล้ว