หลังเลนส์ในดงลึก/”ใจสัตว์”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ใจสัตว์”

คนทำงานสารคดี โดยเฉพาะสารคดีเรื่องราวของธรรมชาติและสัตว์ป่า เมื่อราว 30 ปีก่อน เกือบทุกคนจะคุ้นเคยและสนิทสนมกับ “พี่สืบ” สืบ นาคะเสถียร

ใครต้องการข้อมูล รวมถึงภาพ หลายครั้งหมายถึงการเดินทางไปตามป่าต่างๆ ด้วย พี่สืบยินดีจัดหาและช่วยอำนวยความสะดวกให้

ภาพและเรื่องราวการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ “โจ๋ย บางจาก” นำมาเสนอในรายการ “ส่องโลก” ทำให้คนจำนวนมากได้เห็นความทุ่มเทอย่างเอาจริงของ “ป่าไม้” คนหนึ่ง

และเสียน้ำตา เมื่องานชุดนี้ออกอากาศภายหลังวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 อีกครั้ง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารสารคดีในตอนนั้น มีโอกาสติดตามพี่สืบไปทำงานหลายครั้ง

เขาบันทึกเหตุการณ์ที่ได้ตามพี่สืบไปทำงานในโครงการอพยพสัตว์ป่า เขื่อนเชี่ยวหลาน ไว้บางส่วนว่า

“ชื่อ สืบ นาคะเสถียร เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นโครงการแรกในเมืองไทยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปรับผิดชอบ แต่พี่สืบก็อาสาเข้าไปทำ เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่าให้ได้มากที่สุดก่อนจะจมน้ำและอดอาหารตาย

เรายังจำได้ดีเมื่อครั้งนั่งเรือไปช่วยอพยพสัตว์ที่อ่างเก็บน้ำ พี่สืบทำงานอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ออกเรือไปเก็บสัตว์ทุกวัน

ค่าง ชะนี เสือ นก กวาง เลียงผา ไปถึงงูจงอาง ซึ่งพี่สืบจับด้วยมือตัวเองโดยไม่เห็นแก่อันตราย”

“หากเราช้าไปเพียงวันเดียวก็จะมีสัตว์ตายอีกมาก” พี่สืบมักกล่าวเช่นนี้…

วันชัยเขียนสารคดีการอพยพสัตว์ป่าไว้ในนิตยสารสารคดี

เป็นงานอันทำให้คนได้รับรู้ว่า มีคนทุ่มเทชีวิตเพื่อพวกมัน

ช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2533

พี่สืบนำของที่เขารักและหวงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ เครื่องฉายสไลด์ เทปอัดเสียง เอกสารงานวิชาการต่างๆ ที่มี ให้กับสถานีวิจัยสัตว์ป่า เขานางรำ โดยหวังว่าสถานีวิจัยจะทำงานได้คล่องตัวขึ้น

และผลงานวิจัยสัตว์ป่าที่ได้มาจะได้นำไปทำสารคดีสัตว์ป่า ด้วยฝีมือของคนไทยเอง พยายามยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล และนำสารคดีต่างๆ นี้ไปเผยแพร่เพื่อผลงานทางการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทย เพื่อให้ประชาชนได้เห็นผลสำเร็จของการอนุรักษ์สัตว์ป่า ในส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

เกือบ 30 ปีแล้ว ที่ผู้ชายคนหนึ่งใช้ชีวิตของเขาประกาศให้โลกรู้ถึงความตั้งใจ

และนี่คือ “แก่น” หลัก อันทำให้หลายคนทำตาม…

ผมเคยได้รับโอกาสให้อยู่ในช่วงเวลาที่สัตว์ผู้ล่าทำงานหลายครั้ง

การอยู่ในเหตุการณ์ที่สัตว์ผู้ล่า โดยเฉพาะหมาไนทำงาน นั่นคือเวลาที่น่าตื่นเต้นและหดหู่

พวกมันเข้ารุมทึ้ง กระโดดกัดลูกนัยน์ตาเหยื่อ หรือไส้ โดนกระชากออกไปตั้งแต่เหยื่อยังไม่ทันล้ม

เสียงโหยหวนเพราะความเจ็บปวด และการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

แม่พยายามปกป้องลูกสุดชีวิต

ความรุนแรงยุติ หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไป

หมาไนเข้ากินซากอย่างเป็นระเบียบ ตัวอาวุโสน้อยต้องรอ และไปทำหน้าที่เป็นยาม

กินเสร็จถึงเวลาพักผ่อน นอนหลับ เล่น หยอกล้อ

ผมทำงานชิ้นหนึ่งให้นิตยสารสารคดี ถึงเรื่องราวของหมาไน

การอยู่กับนักล่า มีชื่อเสียงว่าโหดร้าย หลายวัน ได้เห็นอีกในแง่มุมที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาทำงาน

ผม “รู้จัก” พวกมันมากขึ้น

ผมจบงานชิ้นนั้นด้วยประโยคนี้

“จากที่เคยคิดถึงสัตว์ป่าด้วยสมอง ผมเปลี่ยนมาใช้หัวใจ”

ดร.อลัน ราบิโนวิตซ์ ผู้เข้ามาศึกษาวิจัยเรื่องเสือโคร่งในประเทศไทย และป่าห้วยขาแข้ง หนึ่งในเพื่อนสนิทของพี่สืบ เขียนถึงพี่สืบไว้ว่า

“ตลอดเวลาที่ทำงานที่นี่มา 4 ปี ผมรู้จักคุณสืบดีขึ้น ผมรู้สึกถึงความโชคดีที่ได้เป็นเพื่อนเขา ความกระตือรือร้นของเขาที่จะรักษาสัตว์ป่า และช่วยอนุรักษ์ป่าธรรมชาติแห่งสุดท้าย ทำให้เราได้ใกล้ชิดกัน

ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าเขาเป็นวีรบุรุษโดยแท้

โชคไม่ดีเลยที่วีรบุรุษมักเป็นผู้ทำงานหนัก แบกภาระในโลกนี้เพียงลำพัง และคุณสืบเองก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้น เขาไม่เคยปฏิเสธภาระของเขาที่มีต่อสัตว์ป่าและความปลอดภัย รวมทั้งสวัสดิการของคนที่ทำงานกับเขา ภาระเหล่านี้มักท่วมตัวเขาอยู่เสมอ

ในการพูดคุยกับเขาครั้งสุดท้าย ผมพยายามจะบอกเขาว่า บางครั้งเราต้องถอยห่างออกจากสิ่งที่เรารักบ้าง

“ผมเป็นได้อย่างที่เป็นเท่านั้นแหละ อลัน” เขาตอบ

“ผมรู้ว่าทำอะไรไม่ได้มาก แต่ผมก็จะพยายาม”

แล้วเขาก็เดินจากผมไป … จากไปตลอดกาล

ในแอฟริกา หรือในป่าแห่งอื่นในโลกนี้ แม้จะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ต่างล้วนพบกับปัญหาแบบเดียวกัน นั่นคือการลักลอบฆ่าสัตว์เพื่อเอาอวัยวะ เช่น นอแรด งาช้าง และอื่นๆ

หลายแห่งแก้ปัญหาโดยการตัดนอแรดเพื่อรักษาชีวิตแรดไว้ เช่นเดียวกับช้าง ที่ถูกตัดงาออก

จากการศึกษา เรารู้ว่าอวัยวะพวกนั้นเมื่อถูกตัดออก สัตว์ก็มีชีวิตต่อไปได้

เขา นอ หรืองา สำหรับสัตว์ป่า ย่อมไม่ใช่ส่วนเกินของพวกมัน

มันเป็นเครื่องมืออันแสดงให้เห็นถึงศักดิ์ศรี

เขาใหญ่โตของตัวผู้ มีไว้เพื่ออวดความแข็งแรง

ไม่ได้มีเพียงเพื่อไว้ต่อสู้ เพราะในความเป็นจริง สัตว์ป่าจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้ แผลเล็กๆ อาจลุกลามเป็นอุปสรรคกับการดำเนินชีวิตของพวกมัน

กับการมีชีวิตอยู่โดยไร้ “เครื่องมือ” อันช่วยให้มี “ศักดิ์ศรี”

สำหรับสัตว์ป่า เป็นเรื่องเศร้าระทม

บางที เราพยายามทำความรู้จักกับร่างกายและความเป็นอยู่ของเหล่าสัตว์ป่า กระทั่งหลงลืมบางอย่างไป

เมื่อ “ใช้หัวใจ” มองสัตว์ป่า

ผมนึกถึงงานที่พี่สืบทิ้งไว้

ทุกสิ่งที่พี่สืบพูด ทำ รวมถึง “ปัญหา” ที่พี่สืบพบ ก็ไม่ได้หายไปไหน

เราพยายามทำงานให้ดี ตามแนวทางที่พี่สืบอยากให้เป็น นำเสนอเรื่องราวของสัตว์ป่า โดยใช้ศิลปะ มีพื้นฐานอันถูกต้องตามงานวิชาการ

เพราะการคิดถึงสัตว์ป่าด้วยหัวใจ

ผมมีพื้นที่ในนิตยสารสารคดีหลายปี

ชื่อคอลัมน์ “คนใจสัตว์”

ชื่อนี้ตั้งใจให้มีความหมายว่า

สัตว์ก็มีหัวใจ