สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร/รุนแรงมิใช่ทางออก

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————-

รุนแรงมิใช่ทางออก

—————————-

เหตุการณ์โด่งดังกระฉ่อนโลก

กรณีหนึ่ง วิล สมิธ ตบหน้า คริส ร็อก บนเวทีประกาศรางวัลออสการ์

อีกกรณี รัสเซีย บุก ยูเครน

ทั้งสองเหตุทำให้เห็นแนวโน้มสำคัญอันหนึ่ง

นั่นคือ “ความรุนแรง” ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา และไม่ได้รับการยอมรับ แม้จะมีเหตุผลอธิบายอยู่ตามสมควร

ในกรณี วิล สมิธ “การตบ” ที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก นั้น มีคำอธิบายถึงความพยายามปกป้องภรรยา ที่ถูกฝ่ายคู่กรณี หยิบฉวยเอาความป่วยไข้ที่ทำให้ผมร่วงจนต้องโกนศรีษะมาล้อเลียน

ซึ่งน่าเห็นใจ และพอเข้าใจ ภาวะปรอทแตก ของ วิล สมิธ ได้

แต่กระนั้น “การตบ” ที่เป็นการทำร้ายต่อคนอื่น ก็มิใช่สิ่งที่ถูกต้อง ผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งพฤติกรรม-จริยธรรม

รวมถึงผิดจรรยาบรรณของสถาบันวิทยาการและศิลปะภาพยนตร์(อคาเดมี่)ที่มอบเกียรติยศ นักแสดงยอดเยี่ยมฝ่ายชาย ให้กับวิล สมิธ

วิล สมิธ มีวิธีอีกหลายวิธีที่จะตอบโต้แต่เขาก็เลือกวิธีรุนแรง ทำให้ความสมเหตุสมผล ถูกทำลาย

ต้องออกมาขอโทษ และยังไม่รู้ว่าออสการ์ที่ได้รับจะหลุดจากมือหรือไม่

กรณี รัสเซีย ก็เช่นกัน แม้ ประธานาธิบดีปูติน จะมีข้ออ้างถึงภัยคุกคาม กรณีที่ยูเครนเข้าร่วมนาโต้กับชาติยุโรปและสหรัฐ รวมถึงการอ้างถึงการปกป้องคนเชื้อสายรัสเซียในยูเครนที่ถูกล้างเผ่าพันธ์

แต่ ความรุนแรง ไม่ว่าในนาม ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร หรือ สงครามบุกรุกชาติอธิปไตยอื่น ก็ไม่อาจเป็นที่ยอมรับ

ด้วยความรุนแรงนี้ได้สร้างผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล ไม่เพียงต่อรัสเซีย หรือยูเครน เท่านั้น หากแต่สะเทือนไปทั่วโลก ทั้งที่ชาติอื่นๆจำนวนมาก รวมถึงไทย มิได้มีส่วนได้เสีย กับ สงครามที่เกิดขึ้นเลย

ปรากฏการณ์เหล่านี้ ตอกย้ำโดยชัดแจ้งว่า ความรุนแรง มิใช่ทางแก้ปัญหา และก่อผลสะเทือนไปทั่วทั้งคู่กรณีโดยตรง หรือแม้แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ก็พลอยต้องมารับผลกระทบไปด้วย

มองโลกแล้วย้อนกลับมามองตัวเราเอง

ว่าไปแล้ว ตอนนี้ ก็เหมือนอยู่ในสมรภูมิย่อมๆ

เป็น สมรภูมิการเมือง ที่ค่อยๆระอุร้อนขึ้นตามลำดับ

จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการเมืองพัทยา และจะกำลังก้าวไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ในอีกไม่นาน

ซึ่ง ควรจะเป็นเรื่องบวก

และควรจะเป็นการถอยห่างจาก”ความรุนแรง”อันหมายถึง การหักโค่น หรือล้มล้างประชาธิปไตย จากการปฏิวัติรัฐประหาร ที่ผ่านมาเกือบ 8 ปี

เราคงได้ตระหนัก(ครั้งแล้วครั้งเล่า)ว่า การล้มกระดานโดยการรัฐประหาร(ที่มากมายด้วยเหตุผล และข้ออ้าง) มิได้ทำให้ประเทศดีขึ้น

ความหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ที่คนกลุ่มหนึ่งถึงขนาดยอม”เดินถอยหลัง”ที่จะให้มีปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

แต่เอาเข้าจริง ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ล้มเหลว

และมีพิษตกค้าง มาจนถึงวันนี้

จึงหวังว่า การเลือกตั้งตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ จะทำให้ประชาธิปไตยของเรากลับเข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้น

นั่นก็หมายความว่าเราจะต้อง หลีกเลี่ยง การใช้วิธีการรุนแรงต่อกันอย่างถึงที่สุด

ไม่ควรต้องมี นิติสงคราม สงครามมวลชน สงครามข่าวสาร สงคราม…ฯลฯ เกิดขึ้น

และเชื่อมั่นในเสียงของประชาชน ที่จะเป็นผู้ตัดสิน

อย่าให้ความรู้สึก กลัวว่าจะแพ้ กลัวว่าขั้วการเมืองที่เห็นต่างจากเราจะชนะ

แล้วไปกวักมือเรียกเอา”อำนาจนอกระบบ”เข้ามากระทำรุนแรงต่ออีกฝ่ายอย่างที่เกิดขึ้นอีกเลย

————–