“นก กับ คนตาบอด” : ธุรกิจพอดีคำ

ณห้องประชุมแห่งหนึ่ง ในองค์กรมหาชนขนาดใหญ่

กรวิชญ์ คนทำงานหนุ่มไฟแรง กำลังนำเสนอแผนงานปีหน้า

“ผมคิดว่าเรื่องของ Machine Learning ในอุตสาหกรรมหนัก เน้นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อทำการพยากรณ์การทำงานของเครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะเป็นสิ่งที่บริษัทเราควรลองศึกษา เพื่อที่จะเป็นธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตได้”

พี่ผู้บริหารท่านหนึ่งยกมือถาม

“เธออธิบายไม่รู้เรื่องเลย พี่ไม่เข้าใจ”

กรวิชญ์กล่าวเสริม “สิ่งที่ผมพูดถึงนั้น ในโลกของ “นวัตกรรม” ตอนนี้เขาเรียกว่า “Industrial Internet of Things (IIoT)” ครับ เป็นการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสร้างประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม”

ผู้บริหารท่านเดิมถามต่อ “แล้วมันจะทำเป็นธุรกิจได้อย่างไรเล่า พี่ยังไม่เข้าใจ”

กรวิชญ์กล่าวเสริม “เมื่อเราสามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราก็สามารถหาวิธีปรับปรุงการทำงานจากข้อมูลที่เรามีได้ เช่น การพยากรณ์ว่าเครื่องจักรต่างๆ จะพังเมื่อไรล่วงหน้า ทำให้เราเข้าไปซ่อมได้ทันการณ์ ก่อนที่จะรอให้มันเจ๊งไปก่อน หรือว่าเสียค่าใช้จ่ายซ่อมมัน โดยที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร เมื่อเราเก่งในสิ่งนี้แล้ว เราก็สามารถทำเป็น “บริการ” ไปขายคนอื่นๆ ได้”

ผู้บริหารท่านเดิมกล่าวต่อ “พี่ยังไม่เข้าใจ แล้วมันจะเป็นธุรกิจแบบไหนได้เล่า ตลาดมันจะใหญ่แค่ไหนกันเชียว”

กรวิชญ์แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

“ตลาดมีความต้องการขนาดใหญ่ ประเมินค่าได้หลายแสนล้านบาทครับ แต่ว่ายังต้องการการพิสูจน์ทางด้านเทคโนโลยีอีกมาก นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่เราน่าจะรีบเข้าไปทดลองดูครับ”

ผู้บริหารท่านเดิมส่ายหน้า

“ถ้าเธออธิบายมันให้ชั้นเข้าใจไม่ได้ แสดงว่าเธอยังเข้าใจมันยังไม่ดีพอ”

เมื่อวันก่อนผมได้ดูสารคดีเรื่องหนึ่งทางทีวี

เขาไปสัมภาษณ์เด็กๆ ชั้นประถมที่เชียงใหม่

พวกเขาอาศัยอยู่บนดอยห่างไกล ห้อมล้อมด้วยป่าเขาอุดมสมบูรณ์

หากแต่ว่ามีสิ่งหนึ่งที่พวกเขายังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัส

ไม่เคยมีโอกาสได้เห็น

สิ่งนั้นคือ “ทะเล”

ที่น่าสนใจก็คือพิธีการรายการสารคดีพยายามที่จะอธิบาย “ทะเล” ให้เด็กๆ ฟัง

มันใหญ่มากๆ เลย

เป็นแผ่นน้ำไกลสุดลูกหูลูกตา

มีผืนทรายกว้างไกล เรียกว่า “ชายหาด”

หาดทรายที่เปียกพอประมาณ ก็สามารถจะก่อเป็นปราสาททรายขึ้นมาได้

น้ำทะเลมีรสชาติ “เค็มปี๋” เลย

แถมเสียงคลื่นที่อยู่บนน้ำทะเล ก็จะสาดเข้าหาชายฝั่ง

เป็นเสียงที่มีมาตั้งแต่ในอดีต และจะไม่มีวันหมดไป

ตกกลางคืน ผืนน้ำทะเลก็จะร่นระยะลงไป

ตอนเช้า น้ำทะเลก็จะเขยิบเข้ามาใกล้ฝั่ง

เรียกว่า “น้ำขึ้นน้ำลง” ตามแรงดึงดูดของดวงจันทร์

เมื่อพิธีกรดำเนินรายการเล่าจบ

ปฏิกิริยาของเด็กๆ กลับไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอย่างที่ผมคาดไว้

น้องๆ ต่างถามว่า “แล้วมันเป็นยังไงหรอ”

มันเหมือนกับน้ำใน “แม่น้ำ” บนยอดเขาหรือเปล่า

มันกว้างใหญ่กว่ามากมายแค่ไหน

ชายหาดที่พาดผ่านผืนทะเล มันต่างกับผืนทรายในป่าหลังบ้านอย่างไร

“เด็กๆ” นึกภาพไม่ออก

คำถามของ “พวกเขา” มีพื้นฐานมาจาก “ความรู้” ที่พวกเขามี

ยากนักที่จะ “จินตนาการ” ถ้าไม่ไปเห็นด้วยตาตัวเอง

วันก่อนได้มีโอกาสฟังพี่ “ฉิ่ง” วินัย ฉัยรักษ์พงศ์ นักออกแบบชื่อดัง

ขึ้นพูดบนเวที TEDxBangkok เล่าเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์”

พี่ฉิ่งถามคนดูว่า ให้ลองคิดถึง “เอเลี่ยน” ดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมก็ลองคิดๆ ดู ก็คงจะหน้าตาเหมือนที่เราเห็นในหนัง

หัวโตๆ ตัวลีบๆ มีสองขา สองแขน ตาโหลๆ

เมื่อคิดเสร็จ พี่ฉิ่งก็เปิดสไลด์ถัดไปให้เราดูว่า

แล้วถามว่า “คิดแบบนี้” ใช่มั้ยล่ะ

รูปของ “เอเลี่ยน” ก็เป็นแบบที่ผมนึกจริงๆ

คงจะเป็นเหมือนกับใครหลายคน ไม่ได้มีอะไรมากเป็นพิเศษ

จนพี่ฉิ่งถามคนดูต่อว่า

“มีใครเคยเห็นเอเลี่ยนหรอครับ”

ซึ่งคำตอบคือ “ไม่เคย”

แต่ที่น่าสนใจคือ ทำไมเราถึงคิดเหมือนๆ กัน

อาจจะเป็นแค่ฉากในภาพยนตร์ที่เราเคยดูมา “กรอบ” ความคิดของเราไว้

ที่จริงแล้ว “เอเลี่ยน” ที่ยังไม่มีใครเคยเห็นเป็นเรื่องของ “จินตนาการ” ล้วนๆ

มันอาจจะหน้าตาเหมือนแมลงวัน กิ้งกือ ต้นไม้ กระเป๋า โต๊ะ ตู้ พยาธิ ทะเล ภูเขา

เป็นอะไรก็ได้เลยจริงๆ เพราะยังไม่มีใครเคยเห็น

เด็กๆ ที่ยังไม่เคยดูภาพยนตร์ “เอเลี่ยน” ก็อาจจะคิดอะไรที่แตกต่างจาก “ผู้ใหญ่” อย่างเรา

มนุษย์เรามักจะมี “กรอบความคิด” ที่ใกล้กับสิ่งที่เราเห็นเสมอ

ทำให้เรา “จินตนาการ” ไปได้ไม่ไกลพอ

การสร้าง “นวัตกรรม” ในโลกธุรกิจ

ก็เหมือนการนำพาองค์กรไปใน “ดินแดน” ที่ยังไม่มีใครเคยเห็น

ใครบางคนที่ออกเดินทางไปเสาะแสวงหา “ดินแดน” แห่งนั้น

ก็อาจจะเริ่มมีภาพรางๆ เหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แต่การจะ “อธิบาย” สิ่งนั้นๆ ให้กับ “คนที่ไม่เคยออกเดินทาง” ให้เข้าใจเห็นภาพตรงกัน

ก็คงจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

ด้วยข้อจำกัดของ “ภาษา” ที่มนุษย์สร้างขึ้น

เปรียบเทียบกับความรู้สึกจาก “ประสาทสัมผัส” ที่ซับซ้อนของมนุษย์

เราคงจะพอเข้าใจได้ว่า “ภาษา” ไม่มีทางจะอธิบายอารมณ์ ความรู้สึกได้ดี อย่างที่ควรจะเป็น

หลายครั้ง มีคำพูดของ “ผู้รู้” ที่บอกไว้ว่า

“ถ้าคุณอธิบายมันไม่ได้ แสดงว่าคุณยังเข้าใจมันไม่ดีพอ”

ก็อยากจะลองถามผู้รู้กลับไปว่า

คุณจะอธิบาย “นก” ให้กับ “คนตาบอด” เห็นภาพอย่างที่คุณเห็นได้จริงหรือ