การก่อ “เจดีย์ทราย”ในแบบฉบับคนล้านนา

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เจดีย์ซายสุดส้าว”

เจดีย์ซาย หมายถึง เจดีย์ทราย

สุดส้าว คือ สุดไม้สอย

“เจดีย์ทรายสุดส้าว” ได้แก่ เจดีย์ทรายที่มีความสูงระดับสุดปลายไม้สำหรับสอย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไผ่ลำใหญ่

การก่อ “เจดีย์ทราย” จะกระทำกันในวันสงกรานต์ ซึ่งความหมายหรือประวัติของการก่อเจดีย์ทรายมีเรื่องเล่ามาว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ 8 หมื่น 4 พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา

เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง 8 หมื่น 4 พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร

ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

อีกตำนานหนึ่งซึ่งอยู่ในคัมภีร์ใบลานชื่อ “ธรรมอานิสงส์เจดีย์ทราย” ได้กล่าวไว้ว่า ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นชายเข็ญใจชื่อว่า “ติสสะ” มีอาชีพตัดฟืนขาย

วันหนึ่งติสสะได้พบลำธารที่มีหาดทรายสะอาดงดงามนัก จึงได้ทำการก่อทรายเป็นรูปเจดีย์และเพื่อให้เจดีย์นั้นสวยงามจึงฉีกเสื้อผูกกับเรียวไม้แล้วปักไว้บนยอดกองทรายเป็นรูปธงสัญลักษณ์ แล้วตั้งสัตย์อธิษฐานขอให้ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

เมื่อเขาเวียนว่ายในวัฏสงสารได้บำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้ว ก็ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าชื่อสมณโคดมองค์ปัจจุบัน

ภาพของธงที่ทำจากเสื้อของติสสะ ทำให้ชาวล้านนานิยมนำตุงไปปักเจดีย์ทราย ซึ่งตุงที่พบเห็นมักเป็นตุงที่มีลักษณะเป็นพู่ระย้าที่เรียก “ตุงไส้หมู” หรือตุงที่มีรูปสัตว์นักษัตรที่เรียกว่า “ตุงตั๋วเปิ้ง” ตุงดังกล่าวมักแขวนติดกิ่งไม้ไผ่หรือก้านเขือง (เต่าร้าง)

เช้าของวันพญาวันคือวันเถลิงศก ชาวบ้านจะนำตุงไปปักที่เจดีย์ทราย พอถึงตอนสายจะมีการถวายองค์พระเจดีย์ทรายแด่พระสงฆ์ ซึ่งชาวบ้านจะมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง ด้วยหวังอานิสงส์เป็นหลัก

ซึ่งนอกเหนือจากคัมภีร์ที่กล่าวมา ยังมีคัมภีร์แสดงอานิสงส์โดยตรงที่ชื่อ “ธรรมอานิสงส์ก่อเจดีย์ทราย” อีกฉบับหนึ่ง โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงผลบุญมากมาย เช่น จะได้เกิดในตระกูลอันประเสริฐ เลอเลิศด้วยรูปสมบัติ เรืองจรัสในชีวิต ไม่ตกติดในนรก ยกระดับไปเกิดบนสวรรค์ จนถึงขั้นได้เกิดเป็นพระอินทร์

ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัด เพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์

และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

ปัจจุบันประเพณีนี้พบเพียงในประเทศไทยและลาวเท่านั้น โดยจัดในช่วงเทศกาลสำคัญเป็นการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนศักราช เช่น ในวันตรุษและวันสงกรานต์ เป็นต้น

ในวันพญาวันของชาวล้านนา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวล้านนาจะทำบุญตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน เช้าวันพญาวันผู้คนจะเข้าวัดเพื่อทำบุญสืบชะตากรรม ขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทรายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การขนทรายเข้าวัดถือว่าให้มีความรู้เท่ากับเม็ดทรายและมีเงินมีทองไหลมาเทมาเท่าเม็ดทราย

สำหรับเจดีย์ทรายสุดส้าวนั้น วัดเจ็ดลิน เชียงใหม่ได้เริ่มทำเจดีย์ทรายสูงใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ เรียกว่า “เจดีย์ทรายสุดส้าว” มีขนาดกว้าง 10 เมตร คูณ 10 เมตร สูง 15 เมตร ซึ่งในภาษาล้านนาเทียบความสูงสุดของไม้ไผ่ 1 ลำ เรียกว่า “สุดส้าว” และได้ก่อเจดีย์ทรายเป็น 5 ชั้น หมายถึงเทพเจ้า 5 พระองค์ เพื่อเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่สงกรานต์อีกโสดหนึ่ง

การก่อเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ ก็เพื่อดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ให้สืบทอดประเพณีก่อเจดีย์ทรายสืบไป