สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง การสำรวจเศษเสี้ยวชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ อันกระจัดกระจายทับถมของสงครามเย็น (1) / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง

การสำรวจเศษเสี้ยวชิ้นส่วนประวัติศาสตร์

อันกระจัดกระจายทับถมของสงครามเย็น (1)

 

จากการสิ้นสุดของสงครามเย็นหลังการทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเย็นก็กลายเป็นสิ่งที่ตกยุคและล้าสมัยจนแทบไม่มีใครพูดถึงอีก แม้แต่ในภาพยนตร์ก็ตาม

แต่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้คนอดคิดไม่ได้ว่าสงครามเย็นอาจยังไม่จบ และอาจปะทุขึ้นมาอีกครั้งก็เป็นได้

ในตอนนี้เราเลยขอพูดถึงนิทรรศการศิลปะที่หยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเย็นมาสำรวจตรวจสอบได้อย่างน่าสนใจ นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง (Cold War : the mysterious)

นิทรรศการรวมผลงานแสดงเดี่ยวของ ทัศนัย เศรษฐเสรี ศิลปินร่วมสมัย, อาจารย์ศิลปะ และนักต่อสู้ด้านประชาธิปไตยและสิทธิพลเมือง (เจ้าของวาทะ “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร” อันลือลั่น) โดยจัดแสดงผลงานของเขาอย่างยิ่งใหญ่อลังการกว่า 60 ชิ้น

นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์
นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง “ภาพ” กับประวัติศาสตร์การเมือง ในยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์, เรื่องเล่า, ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน และปมความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งนำไปสู่สงครามตัวแทนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ส่งอิทธิพลต่อความไม่ลงรอยทางการเมืองไทย

เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ตลอดจนความรุนแรงทางการเมืองระหว่างรัฐที่มีต่อประชาชน เช่น การถูกบังคับให้สูญหาย, การวิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง

ศิลปินจัดเรียงความสัมพันธ์ที่พัวพันกันนี้ นำเสนอผ่านชุดผลงานศิลปะที่ใช้เทคนิคการปะติดกระดาษสี อันเป็นเทคนิคแบบดั้งเดิมในภูมิภาคล้านนา ผสานกับกระบวนการเฉพาะตัวของศิลปิน ทั้งการพิมพ์ภาพ, การสร้างและย้อมสีกระดาษ และการทำสีขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการวาดภาพโดยเฉพาะ

นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์
นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วน อย่าง สี่เสืออีสาน, ผู้นำเสรีไทยสายอีสาน รหัสลับ “พลูโต”, Librianna, Bitch of the Black Sea, ของเล่นยุคสงครามเย็น, โฆษณาชวนเชื่อ, การตายของชัยภูมิ ป่าแส, 6 ตุลาคมจดจำคนที่จาก, สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง และ การกลับมาของถนอม กิตติขจร

ผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมจัดวางจากกระดาษปะติดเหล่านี้ มีความหนาเป็นพิเศษจากการปะติดทับซ้อนกระดาษหลายสิบชั้น ซึ่งไม่เพียงแสดงการทับซ้อนกันทางทัศนธาตุ หากแต่ยังหมายรวมถึงเรื่องราวความรุนแรงในประวัติศาสตร์อันไม่ไกลนัก ที่ถูกห่มคลุมแอบซ่อนไว้ด้วยความสวยงามของกระดาษสีสันตระการตา บางชิ้นมีขนาดใหญ่โตมโหฬารจนน่าตื่นตะลึง

กระดาษสีเหล่านี้ยังแอบเรียงตัวเป็นรูปสัญลักษณ์ทางประติมานวิทยา (การศึกษาประวัติศาสตร์และการตีความหมายในเนื้อหาของภาพต่างๆ ) ที่ซ่อนรหัสจำนวนมหาศาล ชวนให้ตีความถึงอิทธิพลของสงครามเย็นที่มีต่อนิทานปรัมปรา, วัฒนธรรมป๊อป, ซอฟต์เพาเวอร์

หรือแฝงเร้นภาพของนักคิดนักทฤษฎีทางสังคมการเมือง, ภาพของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือภาพของเผด็จการ ทรราชในอดีต และความทรงจำถึงผู้เสียชีวิตและสูญหาย

นอกจากผลงานที่กล่าวมาทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ภายในนิทรรศการยังมีวิดีโอบันทึกการสัมภาษณ์ที่ช่วยให้ผู้ชมเข้าใจกระบวนการและปฏิบัติการทางศิลปะของศิลปินมากยิ่งขึ้น ผลงานบางชิ้นยังมีคิวอาร์โค้ดให้ผู้ชมสแกนเพื่อรับฟังเสียงบรรยายบอกเล่าเรื่องราว, เหตุการณ์ และบริบทางสังคมเบื้องหลังความคิดของผลงานแต่ละชุด ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย

นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์
นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์

ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการอย่างทัศนัย กล่าวถึงที่มาที่ไปและแนวความคิดเบื้องหลังนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ของเขาว่า

“ไอเดียของงานชุดนี้ผมพัฒนามาก่อนนิทรรศการแสดงเดี่ยวในช่วงปี 2016 (What you don’t see will hurt you ที่แกลเลอรี่เวอร์ และคาร์เทล อาร์ตสเปซ) ย้อนกลับไปตอนนั้นไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องสงครามเย็นกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย การพยายามจะเข้าไปสำรวจประวัติศาสตร์สงครามเย็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเด็นแบบเรื่องเล่าขนาดเล็ก (little narrative) ซึ่งเป็นประเด็นร้อนของวงการศิลปะบ้านเรา แต่ก็ไม่ค่อยพูดถึงสงครามเย็นในความหมายเชิงปัญหาทางการเมือง”

“ผมสนใจศึกษาเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ทั้งจากการค้นคว้าวิจัยผ่านวัตถุ ข้อมูล ภาพทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการใช้วิธีวิทยา (วิธีการค้นหาหลักฐาน คาดการณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีหลักการ) และกรอบคิด ซึ่งไม่ได้ทำขึ้นเฉพาะนิทรรศการครั้งนี้เท่านั้น แต่ข้อมูลเหล่านี้เกิดจากการค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน”

“ในมุมมองของผม การทำงานครั้งนี้คือความล้มเหลวของการปะติดปะต่อหรือเชื่อมโยงเรื่องราวและโครงสร้างของการเล่าเรื่องสงครามเย็น เพราะธรรมชาติของประเด็นเกี่ยวกับสงครามเย็น คือความเป็นเศษเสี้ยวที่ไม่สามารถปะติดปะต่อลากเส้นเรื่องให้เชื่อมโยงกันได้ ถ้าสังเกตให้ดี ลักษณะเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในองค์ประกอบสำคัญของงานแต่ละชิ้น ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกัน”

“แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นเศษเสี้ยวกระจัดกระจาย ทับซ้อนกัน เพื่อให้ผู้ชมได้สำรวจพินิจพิจารณาแต่ละประเด็นและเรื่องเล่าที่แตกต่างกัน”

นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์
นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์

“เวลาดูงานศิลปะ ผู้ชมมักจะถามศิลปินเกี่ยวกับกรอบคิดรวบยอดของงาน หรือการปะติดปะต่อในแต่ละประเด็นของงานแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันจนเป็นเรื่องเล่าหลัก แต่อย่างที่ผมบอกว่านิทรรศการครั้งนี้เป็นการแสดงความล้มเหลวของการปะติดปะต่อประเด็นและเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นภาพรวมหรือองค์รวม ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของประเด็นเกี่ยวกับสงครามเย็น ที่เราไม่สามารถสร้างข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับมันออกมาได้”

“แต่ความไม่ปะติดปะต่อกัน หรือความล้มเหลวของการสร้างภาพรวมหรือองค์รวมที่ว่านี้ นอกจากเรื่องราวของสงครามเย็นแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นของมิติของพื้นที่และเวลาด้วย เพราะก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายในปี 1989 ในช่วงสงครามเย็น โลกถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย คือกลุ่มประเทศโลกเสรีและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายก็จะมีวิธีการปะติดปะต่อเรื่องเล่าของตัวเอง ที่เราเรียกว่าอุดมการณ์ เพื่อให้เกิดมวลชน และเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับโลก หรืออะไรก็ตาม ซึ่งเป็นมรดกของความเป็นสมัยใหม่”

“คลื่นระลอกแรกของความเป็นสมัยใหม่ประเทศไทยเกิดขึ้นในยุคหลังรัชกาลที่ 3, 4, 5, ระลอกที่สองคือการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎรในปี พ.ศ.2475, ส่วนความพยายามให้เกิดความทันสมัยในประเทศไทยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือระลอกที่สาม หลังจากนั้นประเทศเราก็เข้าสู่สงครามอินโดจีน, ต่อด้วยสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ตามมาด้วยสงครามเย็น ในยุคนั้น”

“ชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองของไทยพยายามปะติดปะต่อเส้นเรื่องของความเป็นไทยให้มีความเป็นอุดมคติ เชื่อมโยงกันผ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นคุณลักษณะสำคัญของความสมัยใหม่ คือการขุดรากเหง้าตัวเอง และสร้างสิ่งที่เป็นเส้นเรื่องเดินไปข้างหน้าในลักษณะที่เป็นวิภาษวิธี (dialectic) หรือการโต้แย้งด้วยเหตุผล การวิพากษ์วิจารณ์ ท้าทาย เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปใหม่”

นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์
นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง ภาพถ่ายโดยกรินทร์ มงคลพันธ์

นิทรรศการ สงครามเย็น : ปริศนาลวงพราง จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2565-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566, ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท, ผู้สูงอายุ/นักศึกษา 100 บาท, สถาบันการศึกษาสามารถขอเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในวันจันทร์ (ติดต่อล่วงหน้า), เวลาทำการ 10:00-18:00 น. เปิดทุกวันศุกร์-จันทร์

นิทรรศการยังกิจกรรมสาธารณะ ทั้งการจัดฉายภาพยนตร์คัดสรร การเสวนาวิชาการ การเปิดตัวหนังสือนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปตลอดทั้งช่วงเวลาจัดแสดง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5278-1737, อีเมล : [email protected] เว็บไซต์ : www.MAIIAM.com FB : MAIIAM Contemporary Art Museum

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม •