กระแสมาแรง…เมืองในภูมิภาคของญี่ปุ่น/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

กระแสมาแรง…เมืองในภูมิภาคของญี่ปุ่น

 

กระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค การขนส่งและการท่องเที่ยว(国土交通省) ของญี่ปุ่นทำการสำรวจราคาที่ดินทั่วประเทศญี่ปุ่น 26,000 แห่ง ณ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี สำหรับปีนี้ จากการประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 22 มีนาคม พบว่าราคาที่ดินทั่วประเทศทั้งที่ดินเชิงพาณิชย์และที่พักอาศัยโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 0.6% หลังจากที่ไม่ขึ้นมา 2 ปีแล้ว

ราคาที่ดินของ 3 เมืองใหญ่ คือโตเกียว โอซากา นาโงยา มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.7% เป็นราคาที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมา 2 ปีแล้ว แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อยผ่อนคลายลง หลังจากที่แพร่ระบาดอย่างหนัก 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหนึ่ง

ที่น่าสนใจคือ มี “4 เมืองในภูมิภาค” ที่ราคาที่ดินเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ซัปโปโร (จังหวัดฮอกไกโด) เซนได (จังหวัดมิยางิ) ฮิโรชิมา และ ฟุกุโอกะ มีราคาที่ดินเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 5.8%

ที่เมืองฟุกุโอกะ ทางเหนือของเกาะคิวชู ที่ดินเชิงพาณิชย์มีราคาสูงขึ้นถึง 4.1% ในปีนี้ จากปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้น 2.4% แม้ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสาเหตุมาจากระบบคมนาคมที่สะดวก และมีการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

บริเวณเขตเทนจิน(天神)ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ และศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของฟุกุโอกะ ในปี 2015 เทศบาลเมืองได้อนุมัติให้รื้ออาคารเก่าใจกลางเมือง เพื่อพัฒนาโครงการขนาดยักษ์ มูลค่า 8.5 แสนล้านเยน (2,400 ล้านบาท) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการผ่อนคลายกฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาเมือง

กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดความสูงของอาคารที่ 75 เมตร เพื่อความปลอดภัยด้านการบินทางอากาศ เนื่องจากตัวเมืองอยู่ห่างจากสนามบินโดยรถไฟใต้ดินเพียง 10 นาที ให้มีความสูงเพิ่มขึ้น เป็น 115 เมตร และยังผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถหารายได้จากสิ่งก่อสร้างได้มากขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุน โดยทางเทศบาลไม่ต้องอุดหนุนเงินช่วยเหลือเลย และขณะนี้มีอีกกว่า 70 อาคารที่กำลังอยู่ในแผนรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารทันสมัยใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไป

เดือนกันยายนปีที่แล้ว อาคารสำนักงาน “เทนจินบิสิเนส เซ็นเตอร์” ความสูง 89 เมตร 19 ชั้น สร้างเสร็จสมบูรณ์ และไม่เพียงเป็นที่ตั้งของธุรกิจในจังหวัดฟุกุโอกะเท่านั้น แต่ธุรกิจจากจังหวัดอื่นก็สนใจมาใช้สถานที่ด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทขายสินค้าออนไลน์ มีสำนักงานที่โตเกียว ย้ายบางแผนกมาที่นี่ ผู้จัดการบอกว่า ตอนที่แจ้งพนักงานว่าจะย้ายมาที่นี่ ไม่คิดว่าจะมีพนักงานจำนวนมากขอย้ายตามมา ฟุกุโอกะเป็นเมืองที่เราสามารถผสมผสานชีวิตการทำงานกับความใกล้ชิดธรรมชาติได้อย่างลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

โครงการสำนักงานที่เทนจินนี้ เริ่มต้นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างการก่อสร้าง ทุกคนต่างเป็นกังวลว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ เมื่อเสร็จแล้วจะมีผู้สนใจเข้ามาเช่าพื้นที่ในอาคารขนาดใหญ่นี้หรือไม่ แต่วันนี้ ทุกอย่างก็สำเร็จอย่างงดงาม เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างดีระหว่างเอกชนและหน่วยราชการท้องถิ่น

ส่วนราคาที่ดินสำหรับที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นสูงสุดคือ จังหวัดฮอกไกโด สูงถึง 4.6%

เมืองคิตะฮิโรชิมา(北広島市)ซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวฮิโรชิมาที่อพยพมาอยู่กันตั้งแต่สมัยเมจิ อยู่ห่างจากเมืองซัปโปโรเมืองศูนย์กลางของฮอกไกโด โดยรถไฟประมาณ 20 นาที เป็นเมืองที่เรียกตามศัพท์ภาษาญี่ปุ่นว่า ベッドタウン(Bed Town) คือ เมืองสำหรับอยู่อาศัย ไม่ใช่สำหรับทำธุรกิจ อยู่ห่างจากเมืองใหญ่ไม่มาก ผู้คนส่วนใหญ่จะเดินทางออกไปทำงานที่เมืองใหญ่แล้วกลับมาพักอาศัย

จู่ ๆ เมืองนี้ก็เป็นที่น่าสนใจขึ้นมา เพราะกำลังก่อสร้างสนามแข่งเบสบอลแห่งใหม่ของทีมเบสบอลอาชีพเจ้าถิ่น Nippon-Ham Fighters ซึ่งเดิมมีสนามแข่งที่ซัปโปโรโดม สนามแข่งแห่งใหม่นี้จะเปิดใช้ในปีหน้า ทีมเบสบอลขวัญใจชาวญี่ปุ่นจะมาใกล้ชิดกับชาวเมืองทั้งที บรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เคลื่อนไหวด้วย

ราคาอพาร์ตเมนต์สร้างใหม่อยู่ห่างจากสนามแข่งเบสบอลไม่ถึง 100 เมตร มีราคาสูงถึง 150 ล้านเยน(42 ล้านบาท) เป็นราคาที่แพงทีเดียวสำหรับที่พักอาศัยนอกตัวเมืองซัปโปโร แต่กระนั้นก็ตาม ห้องเกินกว่าครึ่งหนึ่งขายหมดภายในวันเดียว ผู้ซื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัย 50 ปี มีทั้งผู้ซื้อเพื่อเป็นที่อยู่หลักและผู้ซื้อเป็นบ้านหลังที่สอง

บริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนยังพัฒนาที่ดิน อยู่ห่างจากสถานีรถไฟ JR ของเมืองนี้ เดินประมาณ 20 นาที ให้เป็นอาคารสูง14 ชั้น มีร้านค้า ร้านอาหารและโรงแรม พร้อมรถโดยสารเชื่อมต่อไปยังสนามแข่งเบสบอลแห่งใหม่ รองรับบรรดาแฟนคลับในอนาคตอีกด้วย

เมื่อมีสนามแข่งเบสบอลแห่งใหม่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น คนที่มาอยู่อาศัยก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ธุรกิจเอกชนย่อมไม่อยู่นิ่ง มองหาช่องทางการลงทุนอื่น ๆ อีก ทำให้เกิดการพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น คาดการณ์ว่า 8 ปีหลังจากนี้ คือในปี 2030 จะมีประชากรในเมืองนี้เพิ่มขึ้นอีก 4%

ชายหนุ่มวัย 37 ปี ภรรยาและลูกสาว ซื้ออพาร์ตเมนต์มือสองที่เมืองนี้แล้วรีโนเวท เขาบอกว่าราคาที่อยู่อาศัยในตัวเมืองซัปโปโรเอื้อมไม่ถึงแล้ว เขายอมออกมาอยู่เมืองใกล้เคียง ที่เริ่มมีโครงการพัฒนาต่างๆ แล้วนั่งรถไฟไปทำงาน จะประหยัดกว่า

นอกจากเมืองคิตะฮิโรชิมาแล้ว ยังมีหน่วยงานท้องถิ่นของอีกหลายเมืองใกล้เคียงเมืองซัปโปโรที่เริ่มมีโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อจูงใจให้คนมาอยู่อาศัยกันมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ในอนาคตญี่ปุ่นคงได้เห็นแนวโน้มการกระจุกตัวของประชากรเฉพาะพื้นที่ เมื่อก่อนผู้คนทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวต่างมุ่งหน้าเข้าเมืองใหญ่อย่างโตเกียวที่เป็นศูนย์รวมการศึกษา การทำงานมาโดยตลอด ทิ้งให้เมืองต่าง ๆ ในชนบทเหลือแต่ผู้สูงวัย หากจำนวนการเกิดของประชากรญี่ปุ่นยังคงลดลงต่อไปอีก มีความกังวลกันว่าผู้คนจะกระจุกตัวหนาแน่นอยู่แต่เมืองใหญ่แม้ไม่ใช่โตเกียว ชนบทจะโดดเดี่ยวแทบไร้ผู้คน ขณะนี้แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งพยายามจูงใจผู้คนให้ย้ายมาอาศัยอยู่ ก็ทำได้ในวงจำกัดเฉพาะพื้นที่ที่มีการเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ ๆ ใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก

โตเกียวซึ่งเคยเป็นศูนย์รวมทุกอย่าง(東京一極集中)มาเป็นเวลานาน เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาล่วงเข้าปีที่ 3 ทำให้เกิดกระแส “บ๊าย บาย โตเกียว” (อ่านเพิ่มเติม “บ๊าย บาย โตเกียว” สุภา

ปัทมานันท์ มติชนสุดสัปดาห์ 18-24 ก.พ.65) ผู้คนก็เริ่มขยับขยายไปสู่เมืองใหญ่อื่น ๆ ที่เคยอยู่นอกสายตามาโดยตลอด จากนี้ไปกระแส “ปักหมุด 4 เมืองในภูมิภาค” คือ ซัปโปโร เซนได ฮิโรชิมา และฟุกุโอกะ(札仙広福一極集中)คงจะมาแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงต้องรับมือกับปัญหาประชากรเด็กเกิดน้อย ผู้สูงวัยมีเพิ่มขึ้น(少子高齢化)ต่อไป

ท้องถิ่นต่าง ๆ พยายามหากลยุทธ์จูงใจหนุ่มสาวญี่ปุ่นให้ย้ายมาอยู่ เป็นการแย่งชิง “เค้กที่มีอยู่จำกัด” มาให้ได้นั่นเอง