วิรัตน์ แสงทองคำ : ผู้นำ กับยุทธศาสตร์(1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคม ในบางมิติซึ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

 

การเปลี่ยนแปลงผู้นำ-ผู้คน กับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลสะเทือนต่อกัน จากระดับนโยบายรัฐ สู่สังคมระดับต่างๆ

ในฐานะเป็น “ผู้ติดตาม” และได้นำเสนอโปรไฟล์บุคคล โดยเฉพาะในสังคมธุรกิจ เชื่อว่ามีข้อมูลบุคคลมากพอ เป็นฐานอ้างอิง เพื่อประกอบ ปรับปรุง และเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์และบุคคลในยุคปัจจุบันเข้าด้วยกัน

โดยอ้างอิงเรื่องสำคัญ–แต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าวและมาตรา 275 บัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดทำ การกำหนด เป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย สาระที่พึงมีและเรื่องอื่นๆ ซึ่งขณะนี้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ขึ้นแล้ว” (ราชกิจจานุเบกษา 29 สิงหาคม 2560)

ที่ให้ความสนใจคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางคน

กานต์ ตระกูลฮุน ชาติศิริ โสภณพนิช บัณฑูร ล่ำซำ ศุภชัย พานิชภักดิ์ และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (เรียงลำดับตามตัวอักษร)

 

เรื่องราวเกี่ยวกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวถึงมาแล้ว (ข้อเขียนชุด ปรากฏการณ์ “ผู้นำ” ได้นำเสนอเรื่อง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 3 ตอน มติชนสุดสัปดาห์ ช่วงมีนาคม-เมษายน 2559) เป็นช่วงเวลาผ่านไปราว 6 เดือน กับการดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (เข้ามาแทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เมื่อ 19 สิงหาคม 2558) ในข้อเขียนชุดใหม่นี้จึงไม่จะลงรายละเอียดให้มากขึ้นอีก

“เขาเป็น “รัฐมนตรี” ในโมเดลเฉพาะมากๆ สำหรับสังคมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน สะท้อนความสัมพันธ์แนบแน่นและลึกซึ้งระหว่างธุรกิจกับการเมือง” ภาพกว้างๆ กล่าวถึงไว้ตอนนั้น โดยมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องมา

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝายเศรษฐกิจ มาพร้อมกับทีมงานหน้าใหม่ในตำแหน่งสำคัญ คือ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ดร.อุตตม สาวนายน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ช่วงสิงหาคม 2558-กันยายน 2559 และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ธันวาคม 2559-ปัจจุบัน) และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ (รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ ช่วงสิงหาคม 2558-ธันวาคม 2559 และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ธันวาคม 2559-ปัจจุบัน)

ความจริงแล้วทั้ง ดร.อุตตม สาวนายน และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในข้อเขียนชุดนี้ จะไม่ขอกล่าวถึงโดยตรง ทั้งนี้ ถือว่าอยู่ใน “ทีมสมคิด”

“ที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง การปรากฏตัวหลายต่อหลายครั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มักแวดล้อมด้วยผู้นำกลุ่มธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะการปรากฏตัวผู้บริหารรุ่นใหม่ อาทิ ทศ จิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล ฐาปน สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มทีซีซี ศุภชัย เจียวรนนท์ แห่งซีพี” จากข้อเขียนที่อ้างถึงข้างต้น

สะท้อนภาพปรากฏการณ์เกี่ยวกับผู้คนและความสัมพันธ์ไว้

 

ภาพต่อเนื่องดังกล่าว เชื่อมโยงมาถึง “สานประชารัฐ” องค์กรจัดตั้งขึ้นใหม่ดูไปแล้วเป็นไปอย่างหลวมๆ ตามแนวคิด “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือร่วมกัน”

บุคคลที่กล่าวถึงข้างต้นทั้ง “ทีมสมคิด” และผู้นำธุรกิจที่กล่าวถึงเกี่ยวข้องกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ล้วนเข้ามาเป็นมีบทบาทสำคัญในคณะทำงานซึ่งมีหลายชุด ย่อมเป็นเรื่องที่เชื่อกันว่า เป็นผลพวงมาจากแนวคิดและแผนการทางยุทธศาสตร์ มีความเชื่อมโยงกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งนี้ มี ทศ จิราธิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการส่งเสริมธุรกิจการค้าและธุรกิจบริการ ฐาปน สิริวัฒนภักดี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ และ ศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

เชื่อกันว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากนั้น อีกขั้นหนึ่งที่สำคัญ

โดยเฉพาะเมื่ออ้างอิงตัวบุคคล ด้วยปรากฏว่า มีทั้ง “ทีมสมคิด” (อภิศักดิ์-อุตตม-สุวิทย์) ทีมสานประชารัฐ เป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

บุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ กานต์ ตระกูลฮุน ซึ่งมีบทบาทเอาการเอางานอย่างมากในคณะกรรมการสานประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าทีมเอกชนในคณะทำงานถึง 2 ชุด คือ การยกระดับนวัตกรรมและการผลิต และกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกบุคคลหนึ่งคือ ชาติศิริ โสภณพนิช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมภาคเอกชน การดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างของประเทศ

บางคนมีภาพสะท้อนที่ปรากฏในวงกว้าง ว่าด้วยความสัมพันธ์ ดูไปแล้วอาจแตกต่างออกไป นั่นคือกรณี บัณฑูร ล่ำซำ และ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

บัณฑูร ล่ำซำ มีเรื่องราวปรากฏความเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันมาตั้งแต่แรกเลยก็ว่าได้ ด้วยปรากฏชื่อใน คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ แต่งตั้งโดย รสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ตั้แต่ช่วงแรกๆ เมื่อเข้ามามีอำนาจ (มิถุนายน 2557) ตามแนวทาง “เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นเอกภาพ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมกองทุนในกิจการของรัฐ”

ในช่วงเวลาเดียวกัน การประกาศกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีความพยายามร่างกฎหมายให้อำนาจอย่างเป็นจริงเป็นจัง กับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

 

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

กรณี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ในฐานะคนไทยมีบทบาทในองค์กรระหว่างประเทศมานานพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงเวลาสังคมไทยมีความผันแปรอย่างมากๆ ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ในฐานะเลขาธิการ (Director-General) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ในช่วงปี 2545-2548 และเลขาธิการ (Secretary-General) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UN Conference on Trade and Development-UNCTAD) ในช่วงปี 2548-2556

เป็นเรื่องบังเอิญ ผมเคยเขียนถึง ดร.ศุภชัย พานิชย์ภักดิ์ ไว้เมื่อปี 2540 (หนังสืออำนาจธุรกิจใหม่ โดย วิรัตน์ แสงทองคำ ปี 2541)

“นับเทียบในคนรุ่นเดียวกันแล้ว เขาได้ชื่อว่าเป็นคนที่สามารถแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ได้มากที่สุดคนหนึ่ง แต่งานส่วนใหญ่หลังจากพ้นจากแบงก์ชาติ ล้วนไม่เหมาะกับเขา จนมาถึงวันนี้หลังจากรอคอยมาถึง 10 ปีเต็ม”

แล้วสรุปด้วยว่า

“ในที่สุดโอกาสของเขาก็มาถึง 14 พฤศจิกายน 2540 พรรคประชาธิปัตย์สร้างปาฏิหาริย์ เข้ามาเป็นรัฐบาล เขาก็มีโอกาสดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้พิเศษกว่าเดิม ตรงที่เขามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์”

นั่นคือตำแหน่งทางการเมืองในสังคมไทยช่วงสำคัญ (2540-2543) เชื่อว่ามีส่วนนำพาให้เขาก้าวสู่เวทีระดับโลกในบทบาทที่ต่อเนื่องกัน

เรื่องราว ดร.ศุภชัย พานิชย์ภักดิ์ ควรนำเสนอเพิ่มเติมอีกในตอนๆ ต่อไป

ว่าไปแล้ว ทั้ง กานต์ ตระกูลฮุน ชาติศิริ โสภณพนิช และ บัณฑูร ล่ำซำ ผมเคยนำเสนอเรื่องราวของเขามาแล้ว ควรทบทวนในเบื้องต้น เพื่อต่อเติมภาพให้สมบูรณ์มากขึ้นต่อไปเช่นกัน

 

กานต์ ตระกูลฮุน

“กานต์ ตระกูลฮุน เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการใหญ่ (Chief Executive Officer : CEO) เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ในฐานะผู้บริหารธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เวลาที่ผ่านมาพอสมควร ควรให้ภาพที่ชัดเจนแล้ว”

ผมเคยนำเสนอเรื่องราวของเขาอย่างจริงจังเมื่อ 4 ปีที่แล้ว (5 ตอน)

โดยเฉพาะบทบาทสำคัญ

“ถือเป็นความพยายามสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่หยั่งรากลึก และต้องใช้เวลา ซึ่งมีการพูดถึงอย่างฉาบฉวยมาแล้วในแวดวงธุรกิจไทย หรือแม้แต่เอสซีจีในอดีต นั่นคือ การลงทุนการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง”

ด้วยมีบทสรุปไว้ว่า “ไม่มียุคใดของเอสซีจี ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากภายในมากที่สุดเท่ายุค กานต์ ตระกูลฮุน”

 

ชาติศิริ โสภณพนิช

“ชาติศิริ มีโปรไฟล์การศึกษาที่ดีมากคนหนึ่ง (ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เคมีจาก Worchester Polytechnic Institute ปริญญาโทสาขาเดียวกันจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ MBA จาก Sloan School of Management, MIT) เมื่อเปรียบเทียบกับบิดาเขา (ชาตรี) มีเส้นทางสั้นมาก ในการก้าวขึ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 8 ปีเท่านั้น (2529-2537)” (ข้อเขียนชุด โฉมหน้าธนาคารไทย ราว 50 ตอน นำเสนอช่วงปี 2558) ได้กล่าวถึงธนาคารกรุงเทพ แต่ไม่ได้เจาะจงตัวบุลคล แต่เชื่อว่าให้ภาพได้ระดับหนึ่ง

“อยู่ภายใต้โมเดลของธนาคารอันดับหนึ่งที่สืบทอดมา ชาติศิริ ต้องอยู่ท่างกลางผู้มีบทบาทในธนาคารที่รุ่นราวคราวเดียวกับบิดา ชาติศิริ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ (2537-ปัจจุบัน) ต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างที่มีผุ้อาวุโสหลายรุ่น…ธนาคารกรุงเทพคงบุคลิกที่น่าสนใจ มีความพยายามผสมผสาน และสร้างความต่อเนื่องในฐานะธุรกิจครอบครัวถึงสามรุ่น ให้ความสำคัญ “สายสัมพันธ์” และ “คุณค่า” ของบุคคล เชื่อว่าจะนำพาไปสู่ยุคใหม่ที่ท้าทายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายธนาคารระดับภูมิภาค”

ส่วน บัณฑูร ล่ำซำ เรื่องราวของเขามีมากมาย แม้ว่าเสนอมามากแล้ว

แต่เชื่อว่ายังมีบางเรื่องสามารถเพิ่มเติมได้อีก