คุยกับทูต : โจเซ่ บอร์เจส โดส ซัสโตส จูเนียร์ จากดินแดนมหัศจรรย์แห่งอเมริกาใต้-บราซิล (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : โจเซ่ บอร์เจส โดส ซัสโตส จูเนียร์

จากดินแดนมหัศจรรย์แห่งอเมริกาใต้-บราซิล (1)

 

คนไทยมักรู้จักบราซิลเพราะชื่อเสียงของนักบอลระดับโลก และนักบอลบราซิลก็มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก บราซิลเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัย

เป็นดินแดนแห่งกาแฟและส่งออกกาแฟมากที่สุดในโลก

มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในผืนป่าแอมะซอน ป่าซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลภูมิอากาศโลก ช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ป่าฝนแอมะซอน /ภาพถ่ายโดย Phil P Harris

ประชากรบราซิล 220 ล้านคน มากเป็นอันดับ 6 ของโลก พื้นที่ประเทศเกือบเท่าประเทศจีน 8.5 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

ณ อาคารที่พำนักอย่างเป็นทางการของเอกอัครราชทูตบราซิล ในบริเวณอันเงียบสงบย่านถนนเชื้อเพลิง กรุงเทพฯ ภายในตกแต่งด้วยภาพเขียนงดงามจากบราซิล เราได้นั่งสนทนากับเอกอัครราชทูตโจเซ่ บอร์เจส โดส ซัสโตส จูเนียร์ (H.E. Mr. Jose Borges dos Santos Junior)

เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อประเทศไทย ตลอดจนความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ

โจเซ่ บอร์เจส โดส ซัสโตส จูเนียร์ (H.E. Mr. Jose Borges dos Santos Junior) เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย

“ผมเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนปี 2021 และได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายอักษรสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชาและลาว ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน”

ประเทศไทยและบราซิลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1959

“คุณรู้หรือไม่ว่า บราซิลก็เคยมีกษัตริย์ปกครอง เมื่อประเทศเพื่อนบ้านเป็นสาธารณรัฐ แต่บราซิลเป็นราชอาณาจักร เพราะเจ้าชายแห่งโปรตุเกสได้ลี้ภัยไปบราซิลครั้งที่นโปเลียนบุกโปรตุเกส และเมื่อเจ้าชายเสด็จกลับโปรตุเกส ก็ได้แต่งตั้งพระราชโอรสเป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่บราซิล”

หลังจากนโปเลียนยึดครองโปรตุเกส ราชวงศ์บราแกนซา (Bragança) ได้ย้ายราชสำนักลี้ภัยไปตั้งอยู่ที่บราซิลซึ่งเป็นอาณานิคมที่สำคัญที่สุดของโปรตุเกส หลังจากนั้นก็กลายเป็นเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ (Algarve)

ราชวงศ์บราแกนซา เป็นราชวงศ์ที่ปกครองประเทศโปรตุเกสในตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดี และประเทศบราซิลในตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดิ

การย้ายราชสำนักโปรตุเกสไปที่บราซิล หมายถึง การลี้ภัยของราชวงศ์บราแกนซา และข้าราชบริพารเกือบ 15,000 คน ออกจากกรุงลิสบอนในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 1807 สองวันก่อนที่กองทัพนโปเลียนจะยึดกรุงลิสบอนในวันที่ 1 ธันวาคม พระมหากษัตริย์บราแกนซาประทับอยู่ที่บราซิลตั้งแต่ ปี 1808 กระทั่งเกิดการปฏิวัติเสรีนิยม ปี 1820 ทำให้เจ้าชายฌูเอาที่ 6 แห่งโปรตุเกส (John VI of Portugal -Jo?o VI de Portugal) เสด็จนิวัติเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 1821

เป็นเวลา 13 ปีที่นครรีโอ เด จาเนโร (Rio de Janeiro) ของบราซิลมีสถานะเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรโปรตุเกส ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเรียกว่า “มหานครผกผัน” (metropolitan reversal) คือ เป็นอาณานิคมที่ปกครองจักรวรรดิโปรตุเกสทั้งหมด

หลังได้รับอิสรภาพจากโปรตุเกสเมื่อวันที่ 7 กันยายน ปี 1822 แล้ว บราซิลมีการปกครองโดยระบอบราชาธิปไตย จักรวรรดิบราซิลรุ่งเรืองมาจนถึงการก่อตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี1889 อันสืบเนื่องมาจากการเลิกทาสในบราซิลปี ค.ศ.1888

ในช่วงก่อนหน้านั้นบราซิลปกครองโดยจักรพรรดิสองพระองค์ คือ จักรพรรดิเปดรูที่ 1 ผู้ครองราชย์ระหว่างปี 1822-1831 และพระราชโอรสคือ จักรพรรดิเปดรูที่ 2 ผู้ครองราชย์ระหว่าง ปี 1831-1889 ส่วนพระเจ้าโจเอาที่ 6 แห่งโปรตุเกสทรงดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิแห่งบราซิลในข้อแม้ที่ระบุในสนธิสัญญาในการยอมรับอิสรภาพของบราซิล

จักรพรรดิเปดรูที่ 2 มีพระสมัญญานามว่า “ผู้มีจิตใจสูงส่ง” (the Magnanimous) ทรงเป็นประมุขพระองค์ที่สองและพระองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิบราซิล

 

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดพายุฝน ลูกเห็บ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง น้ำท่วม ดินถล่มแบบเฉียบพลันทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่เมืองเปโตรโปลิส (Petropolis) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่บนเนินเขาที่สวยงามของนครรีโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล

“เมืองเปโตรโพลิสนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยจักรพรรดิแห่งบราซิลที่ 2 (Pedro II – Emperador de Brasil) เนื่องจากนครรีโอ เด จาเนโร มีอากาศที่ร้อนมาก จักรพรรดิจึงนำวิศวกรมาจากเยอรมนี และสร้างเมืองบนภูเขาใกล้นครรีโอ เด จาเนโร”

ชื่อของเมืองนี้ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิเปดรูที่ 2 แห่งบราซิล จึงมีฉายา “Imperial City” เป็นเมืองที่ชาวเยอรมันมีอิทธิพลอยู่มาก เคยเป็นที่ประทับฤดูร้อนของจักรพรรดิและขุนนางบราซิลในศตวรรษที่ 19 และเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการของนครรีโอ เด จาเนโร ในช่วงสาธารณรัฐบราซิลที่ 1ระหว่างปี 1894-1902

โจเซ่ บอร์เจส โดส ซัสโตส จูเนียร์ (H.E. Mr. Jose Borges dos Santos Junior) เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย

ชีวิตนักการทูตอาชีพ

“ผมเกิดในเมืองชื่อโบอา วิสต้า (Boa Vista) ทางตอนเหนือของบราซิล เป็นนักการทูตมากว่า 41 ปีนับตั้งแต่เข้ารับราชการกระทรวงต่างประเทศช่วงทศวรรษ 1980 ผมมีความภูมิใจที่เป็นเอกอัครราชทูตคนแรกของเมืองที่ผมอยู่”

“มีอยู่วันหนึ่ง คุณแม่ได้มอบกล่องเล็กๆ ให้ ซึ่งในนั้นบรรจุสิ่งของที่ผมใช้ในวัยเด็ก เช่น หนังสือสำหรับเด็ก ในหนังสือเขียนไว้ว่า คุณพ่ออยากให้ผมเป็นนายแพทย์ ส่วนคุณแม่อยากให้ผมเป็นนักการทูต”

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้รับการปูพื้นฐานจากครอบครัวเป็นอย่างดีตั้งแต่อายุยังน้อย คุณแม่ซึ่งเตรียมให้ผมเป็นนักการทูต ได้ส่งผมไปเรียนภาษาอังกฤษที่อเมริกา และเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ Alliance Française”

“ก่อนที่จะย้ายมากรุงเทพฯ ผมเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีเขตอาณาครอบคลุมราชรัฐลิกเตนสไตน์ (Liechtenstein) ตั้งแต่ปี 2016-2018”

“สำหรับเมืองที่เคยไปประจำการ ได้แก่ ลอนดอน แคนเบอร์รา ซานฟรานซิสโก บรัสเซลส์ โบโกตา ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และฮูสตัน”

“นับเป็นครั้งแรกที่ผมมาประจำในเอเชีย และประเทศไทยคือความปรารถนาสูงสุดของผม ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ผมมาประเทศไทย ซึ่งเป็นการมาประจำสถานทูตบราซิลกรุงเทพฯ”

“การมาเมืองไทยครั้งแรกนั้น ผมประจำสถานทูตที่กรุงแคนเบอร์รา (Canberra) เมืองหลวงของออสเตรเลีย และในระหว่างเดินทางกลับไปบราซิล ผมแวะที่กรุงเทพฯ ผมชอบประเทศไทยเพราะเป็นประเทศที่สวยงาม และเกือบทุกคนที่ผมรู้จัก ต่างก็เคยมาเยือนเมืองไทยกันทั้งนั้น ถือเป็นความคุ้มค่าแก่การมาเยี่ยมชม”

“ส่วนครั้งที่สอง เป็นการมาดูแลความเรียบร้อยของสถานทูตที่นี่ โดยพักที่บ้านท่านทูตหลังนี้ ตอนนั้นคือ เอกอัครราชทูต Edgard Telles Ribeiro”

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และอุปทานอาหารแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทย

สาเหตุที่เลือกมาประจำประเทศไทย

“เพราะเอเชียเป็นภูมิภาคแห่งอนาคต และประเทศไทยอยู่ตรงใจกลางของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion – GMS) สะดวกในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและท่องเที่ยวตามเส้นทางสายไหมใหม่”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญมากสำหรับบราซิล การส่งออกของเรามายังประเทศไทย มากกว่าเราส่งออกไปฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยสามารถเป็นประตูสำคัญสู่อาเซียน เอเชีย และจีนได้ทั้งหมด”

โครงการ GMS เป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ตั้งแต่ปี 1992 ผู้ให้การสนับสนุนหลัก คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank-ADB)

กลุ่มประเทศ GMS มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2 ล้าน 3 แสน ตารางกิโลเมตร หรือประมาณพื้นที่ของยุโรปตะวันตก มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ที่สำคัญคือ ไทยเป็นประเทศที่ผู้คนเป็นมิตร มีอัธยาศัยไมตรี และให้การต้อนรับเป็นอย่างดี มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมากมาย กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นจุดศูนย์กลางของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเงิน อีกทั้งมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย โดยเราสามารถเข้าถึงสิ่งทันสมัยในโลกได้อย่างง่ายดาย” •