อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (21)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (21)

 

ถุงลมโป่ง-แตก

ต้อหิน ต้อกระจก ต่อมลูกหมาก ลำไส้ทะลุ

เส้นเลือดฝอยตีบ หนองในตับ

เมื่อจะออกจากโรงพยาบาลหลังพักรักษาอยู่ห้าหกวัน ตอนทำต่อมลูกหมากเมื่อปี 2550 หมอสุชาย สุนทราภา ส่งหนังสือเล่มเล็กๆ ให้ฉันเล่มหนึ่งชื่อว่า …การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ฉันดูชื่อหนังสือแล้วเงยหน้ามองหมอ …ระยะสุดท้าย ? …สายตาฉันคงถามอย่างนั้น และหมอก็คงอ่านออก

“เอาเถอะ นี่แหละถือเป็นระยะสุดท้ายทั้งนั้น”

ก็คงจริงของคุณหมอท่าน อาจินต์ตอนนั้น 80 ปีแล้ว แม้ฉันจะไม่ค่อยรู้สึกเช่นนั้นเลยก็ตาม

 

เนื้อหาของหนังสือ ก็พูดถึงการดูแลตามอาการของโรคที่เป็นแต่ละชนิด ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ซึ่งบางอย่างหมอก็อธิบายแล้ว และเนื้อหาที่สำคัญซึ่งดูเหมือนหมอจะเน้นมากกว่าคือการดูแลด้านจิตใจ

คนป่วยวัยชรามักมีความกังวล ต้องการการเอาใจใส่ใกล้ชิด ความอบอุ่น ความเพลิดเพลิน ความสะดวกสบายตามสมควรในชีวิตประจำวัน

อย่าปล่อยให้เขาว่าง ว้าเหว่ เหงาหงอย ชวนพูดคุย ไปไหนมาไหนกันบ้าง

คนแก่ที่เจ็บป่วยและไม่มีลูกหลานหรือคนใกล้ชิดอยู่ใกล้ คอยเอาใจใส่มักมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากมีชีวิตอยู่

การให้ความอบอุ่น ความเพลิดเพลิน ความคลายเหงา ความเครียด เหล่านี้ มีรายละเอียดในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นกับวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา

โชคดีของเรา (คือทั้งตัวอาจินต์และพวกเราคนดูแลที่มีสองสามคน ฉัน กบ และฉลองหรือจักรคนใดคนหนึ่งที่เป็นผู้ชายคอยช่วยเหลือเวลาต้องการความแข็งแรง) ที่อาจินต์เป็นคนที่ดูแลง่ายมาก

เป็นคนแก่ที่ไม่ขี้บ่น ไม่จู้จี้ ทุกอย่างง่ายๆ ตามความสะดวกรวดเร็วของคนทำให้ ไม่เคยเรียกร้องอะไร และขอให้ทำตามหมอสั่งอะไรก็ทำอย่างนั้นไม่เคยขัดข้อง บางอย่างไม่ชอบทำขี้เกียจทำที่ไม่สำคัญก็ไม่เป็นไร

อาจินต์ก็หาความเพลิดเพลินเจริญใจให้ตัวเองได้ง่ายๆ เสมอๆ ตลอดมา ไม่ว่าจะฟังเพลง แกะตัวโน้ตดนตรีเพื่อแต่งเพลงเล่น ดูหนัง ทั้งที่เป็น VDO CD ต่อมาจนถึงหนังยุคดิจิตอลนี่ไม่ค่อยเป็นแล้ว

ว่างๆ ก็เล่นกีตาร์ เล่นแบนโจตัวหนึ่งหลายปีจนซ่อมไม่ได้แล้วเหลือแต่โครง เวลานี้ก็ยังตั้งอยู่ บางทีก็เป่าหีบเพลงปาก (เขาเรียกอย่างนั้น) ดังลั่น แสบแก้วหูคนทั้งบ้าน ฟังวิทยุเครื่องใหญ่เครื่องเล็กจนเหลือแต่ซากของเหล่านี้เต็มไปหมด

สรุปว่าการดูแลเรื่องใจคอนั้น เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย อาจินต์ทำให้ตัวเองโดยไม่มีช่องว่างให้เราทำให้เลย นอกจากตอนช่วงสุดท้ายจริงๆ ที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว ซึ่งน่าสงสารมาก

sdr

พูดถึงสุขภาพแล้ว จะถือว่าสุขภาพอาจินต์ดีมาตลอดก็ไม่ถูกนัก เพราะก็มีการป่วยเข้าโรงพยาบาลหลายหนเหมือนกัน แต่มันก็เป็นหนเป็นทีและเป็นที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องรักษาอย่างไร

เริ่มตั้งแต่ต้น เมื่อแต่งงานตอนอายุ 50 ปีพอดีนั้น อาจินต์มีโรคประจำตัวอย่างหนึ่งคือต้อหิน เป็นมาหลายปีแล้ว ต้องหยอดยาอย่างเดียว บางทีปวดตามากก็มียาแก้ปวดตากินแล้วก็หาย หยอดยาตลอดมา

ต้อหินคือการที่ของเหลวหรือน้ำในดวงตาไม่สามารถระบายออกตามปกติ มันจึงคั่งอยู่ในตา ดันลูกตาให้เจ็บปวด เหมือนท่อระบายน้ำตัน เวลาที่เครียด ตื่นเต้นมากๆ หรือมีแอลกอฮอล์เข้าไปมาก เหล่านี้ทำให้น้ำในตาระบายออกไม่ทันก็ปวด ไม่ได้ทำให้ตามัวเหมือนต้อกระจก

การผ่าตัดหรือเจาะทางระบายน้ำในตาของต้อหินนี้ หมอไม่ทำให้ง่ายๆ ต้องรอให้สุกงอมก่อน จึงหยอดตาเรื่อยมานาน แรกๆ อาจินต์ก็เป็นข้างเดียว ภายหลังเป็นทั้งสองข้าง

ก่อนแต่งงาน เคยเล่าว่าเข้าโรงพยาบาลหนหนึ่ง เกี่ยวกับปอด ดูเหมือนอาจมีผลจากการใช้ค้อนปอนด์หนักๆ จนไอเป็นเลือดสมัยอยู่เหมืองแร่ หลังจากนั้นก็มีแต่ต้อหินที่เริ่มเป็นตั้งแต่อายุสี่สิบกว่าๆ

จนปี 2541 หมองามแขผู้ดูแลตาของอาจินต์สืบต่อมาจากหมอคนก่อนซึ่งเกษียณไปบ้าง ไปต่างประเทศบ้าง ก็ได้เวลาจะทำต้อหินให้อาจินต์เสียที

ก่อนทำก็ต้องส่งไปเช็กปอด เช็กหัวใจ เช็กอะไรต่างๆ ตามระบบของหมอ

เช็กปอดก็คือต้องเอ็กซเรย์ ผลเอ็กซเรย์ออกมาก็ไปพบหมออ่านฟิล์ม หมอเวรคนที่อ่านฟิล์มวันนั้นหยุดงาน แต่มีอาจารย์หมอคนหนึ่งว่างอยู่เลยช่วยอ่านให้ นั่นคือหมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล มันอาจจะเป็นความบังเอิญหรือเป็นโชคชะตาที่หมอคนนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับอาจินต์ต่อมาอีกนานจนตลอดชีวิตอาจินต์

หมอนิธิพัฒน์ดูฟิล์มเห็นจุดเล็กๆ แล้วบอกว่าเป็นของเก่า เคยมีปัญหามาก่อนใช่ไหม อาจินต์ตอบว่าใช่ ฉันไม่รู้เรื่องนี้ สรุปว่าปอดมีจุดอยู่ แต่ไม่เป็นไร รักษาไปแล้ว คงจะเป็นมาตั้งแต่ทำเหมืองแร่ สภาพปอดตอนนี้ปกติ ไม่มีปัญหากับการทำผ่าตัดอะไร

แล้วหมอก็พูดอะไรบางอย่างเหมือนจะรู้จักอาจินต์ก่อนจะบอกให้นัดหมองามแขทำตาได้เลย ตบท้ายด้วยว่า

“ถ้ามีอาการหายใจผิดปกติอย่างไรก็มาหาผมได้เลย ให้ลูกสาวโทร.มาก็ได้” หมอสรุป

เราเดินออกมาจากตึกอัษฎางค์ ถือฟิล์มกลับไปหาหมอที่ตึกสยามินทร์

“พี่ พี่ ทำไมหมอเขาว่าพี่มีลูกสาวล่ะ”

“ไม่รู้สิ ก็เธอมั้งเป็นลูกสาวฉัน”

ไม่นานต่อมา ยังไม่ถึงวันนัดทำตากับหมองามแข ปลายปี 2541 เกือบสิ้นปีแล้ว อาจินต์ตื่นขึ้นมานั่งอยู่สักพักก็รู้สึกอึดอัด เหมือนจะหายใจไม่ออก ก็เลยไปหาหมอนิธิพัฒน์

ได้เรื่อง

หมอสั่ง admit เลย ถุงลมปอดรั่ว พูดให้น่ากลัวว่าปอดแตก สงสัยหมอจะเห็นเค้าลางถุงลมโป่งตั้งแต่วันก่อนแล้ว

รักษาโรคนี้ เอ็กซเรย์เกือบทุกวัน

หมอดูฟิล์มเห็นกลุ่มเหมือนควันหรือลมขาวๆ เป็นกระจุกอยู่ตรงไหนในปอด ก็เจาะอกตามร่องซี่โครงสอดสายเข้าไปดูดลมออกมา มีท่อลมดูดจากข้างฝา ดูดลมรั่วออกจากปอดออกทางสายยางที่ปลายสอดไว้ในขวดฝาปิดใส่น้ำไว้ที่ก้นขวด ขวดนี้วางไว้ในตะกร้าเล็กๆ ใต้เตียง จะลุกจากเตียงไปไหนก็หิ้วตะกร้านี้ไปด้วย

หมอมาดูทุกวัน ดูว่าลมออกมาเยอะไหม เวลาลมออกจากทางสายยางไปสู่น้ำในขวด มันจะเกิดฟองปุดๆ ตราบใดที่ลมยังไม่หมด น้ำก็จะยังไม่หยุดนิ่ง ถ้าน้ำนิ่งสนิทแล้ว จนแน่ใจว่าไม่มีลมออกมาอีก ก็เอ็กซเรย์ดูอีก ถ้าถุงลมหยุดแตกแล้วก็จะใส่ยาเข้าไปเชื่อมแผลที่แตกให้ปิดสนิท รักษาแผลแล้วก็จบ

แต่มันไม่หยุดสักที ใช้เวลาเป็นเดือน จากวันคริสต์มาสปลายปี 2541 ต่อมาจนเลยกลางมกราคม ปี 2542 หมอก็พาหมอผ่าตัดเข้ามาอีกคน ต้องผ่าตัดแล้ว ผ่าเข้าไปมัดปอดส่วนนั้นรวบให้แน่น ไม่ให้ลมออกมาอีก ตอนนี้น่ากลัวแล้ว หมอจัดทีมผ่าตัด นัดห้องผ่าตัด เตรียมการนัดหมายในเร็วๆ นั้น ก่อนวันผ่าตัด เข้ามาดูอีกที ชักไม่แน่ใจ เอ็กซเรย์แล้ว จนเช้าวันนัด หมอเข้ามาดูก่อนย้ายเข้าห้องผ่าตัด ดูแล้วบอกไม่มีลมออกมาแล้ว แล้วกลับไปพาหมอผ่าตัดมาดูอีกคน หมอผ่าตัดบอก

“โชคดีครับคุณลุง ไม่ต้องผ่าตัดแล้ว”

อาจินต์ดีใจจนมือสั่น

“แหมหมอ ผมดีใจจัง”

“ผมดีใจยิ่งกว่าคุณลุงอีกครับ”

 

นับตั้งแต่วันนั้น หมอนิธิพัฒน์ก็มารักษาต่อ ใส่ยาเข้าไปในท่อที่เจาะสอดสายดูดลมไว้ ครั้งแรกไม่ได้ผล ปล่อยยาทิ้ง ครั้งที่ 2 ด้วย จนสุดท้าย ครั้งที่ 3 จึงได้ผล

เกมนี้ใช้เวลาเป็นเดือน อาจินต์อยากกลับบ้านแทบตายมาหลายวันแล้ว พอหมอบอกลับบ้านได้กลับบอกว่า

“ผมยังไม่อยากกลับนะหมอ หายรึยังก็ไม่รู้ อยู่อีกหน่อยได้ไหม”

ตกลงอยู่เพื่อความแน่ใจอีกสองสามวัน

ก่อนกลับ ฉันคุยกับหมอนิธิพัฒน์ว่า ปอดแตกแล้วมันจะแตกอีกได้ไหม -ได้ แต่ข้างขวานี้ทำแล้วคงไม่แตกอีก -แล้วมันจะใช้เวลานานไหมที่จะแตกอีก -ไม่แน่ ส่วนมากก็ห้าปีหกปี ไม่เกิน 10 ปี

รวมแล้วคราวนี้อยู่โรงพยาบาล 25 ธันวาคม-23 มกราคม 2542

 

หลังจากรักษาถุงลมโป่งแตก กลับมานัดหมองามแขทำตาต่อ ตลอดปี 2542 จนถึงต้นปี 2543 อาจินต์ต้องเข้าศิริราชทำตาต้อหินสองข้างข้างละหน ทำต้อหินคือเจาะรูระบายน้ำในดวงตาที่ตันให้น้ำระบายออกได้

ปลายปี 2542 ถึงต้นปี 2543 ทำต้อกระจก สลายพังผืดที่ทำให้ตามัวในตาทั้งสองข้าง ทำข้างละหน ตกลงปี 2542 นี้อยู่ในโรงพยาบาลสี่รอบ รอบแรก มกราคม ต่อมาจากปลายปี 2541 รักษาปอด ต่อมาทำตา 3 หน รวมเป็น 4 อีกหนสุดท้าย ทำต้นปี 2543

ทำตากลับมาบ้านแล้ว ถามว่ามองอะไรชัดดีไหม อาจินต์ตอบเสียงใส

“โอ้ย สวย เห็นผ้าขี้ริ้วสวยเลย”

เว้นว่างจากนั้นมา 5 ปี ถุงลมก็ยังไม่แตก 10 ปีก็ไม่แตก

แต่ก่อน 10 ปี คือ 2550 อาจินต์ก็เข้าโรงพยาบาลอีก ทำต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะไม่ได้ ลุกเข้าลุกออกห้องน้ำจนหกล้มหกลุกหลายหน จนวันหนึ่งรับปากยอมทำ หลังจากถกเถียงต่อรองกันมานาน พอพบหมอ หมอถามกลับหลอกหมอเสียอีก

“ผมไม่เป็นไร ยังไม่ทำ”

หมอก็ต้องแล้วแต่คนไข้

ฉันฟังแล้วต้องลุกหนีออกมาหน้าห้อง อาจินต์ดีใจไม่ต้องทำ เดินตามออกมา

ถกเถียงซ้ำซาก ในที่สุดก็ยอมเดินกลับไปหาหมอเอง หมอเรียกฉันไปพบ อธิบายถึงการทำ ผลของมัน ตกลงไหม ตกลง

ทำต่อมลูกหมากไม่ยากอะไร 4-5 วันก็กลับบ้านได้ คราวนี้ฉลองขอมาช่วยนอนเฝ้าอาจินต์

 

พ้นจากต่อมลูกหมาก สบายมา 5 ปี ปลายกรกฎาคม 2555 ก็ปวดท้อง เข้าโรงพยาบาลทันที ลำไส้ทะลุ ตัดทิ้งไปสิบกว่าเซ็นต์ เย็บเปิดหน้าท้องไว้ ขับถ่ายทางหน้าท้อง ตามปกติคนแข็งแรงถ้าอายุไม่มากนัก สักสามเดือนก็ผ่าเอากลับไปต่อเข้าตามเดิมก็เหมือนปกติ แต่กรณีนี้หมอไม่ยอมทำ เพราะปอดไม่ดี โดนยาสลบ ยาปฏิชีวนะ มากๆ ปอดก็ทรุด ต้องเยียวยาปอดต่ออีกนานกว่าจะหายหรืออาจไม่หายเลย

คนปกติถ้าอยู่นิ่งๆ บนเตียงไม่มีการเคลื่อนไหว แค่ 2 อาทิตย์ กล้ามเนื้อขาก็สูญเสียพลังงานไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าคนแก่อยู่บนเตียงเป็นเดือน ต้องกายภาพอีกไม่รู้เท่าไร และนี่จึงเป็นเหตุให้ต้องพากันไปทำกายภาพที่กาญจนบุรี ทำทั้งที่โรงพยาบาลพระยาพหลฯ และที่บ้านเดินขึ้นลงทุกเช้าเย็นทีละครึ่งชั่วโมง

อาจินต์ทำได้ดีมาก 3 เดือนเดินด้วย Walker ได้เองแล้ว

 

ขึ้นปีใหม่ 2556 เช้าตื่น อาจินต์ก็เดินยก Walker กึกๆ ออกมาจากห้องพร้อมคำอวยพร

“สวัสดีปีใหม่ทุกคน ขอให้โชคดีมีความสุข ทั้งหลองทั้งจักร ทุกคนในบ้าน”

“สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในบ้านด้วยไหม”

“ใช่”

“งูล่ะ”

“งูด้วย ให้มันได้กัดคน”

“อ้าว ไม่ไหว ให้แมงป่อง ให้ตะขาบด้วยไหม” กบซึ่งเคยถูกกัดตั้งแต่มาอยู่ใหม่ๆ ยังเกลียดกลัวไม่ลืม

“ด้วย”

ปีใหม่ อาจินต์ก็มีโทรศัพท์อวยพรจากคนเก่าๆ ในกรุงเทพฯ สองสามคน คนที่คุยกันบ่อยกว่าคนอื่นก็คือคุณน้อย-สุรพล โทณะวณิก, สุภี ปสุตนาวิน คุยมานานๆ ที ส่วนอาจินต์โทร.ไปหา ยศ วีระยศ

“นพพรยังอยู่ไหม” นี่เป็นคำถามที่อาจินต์ถามฉันหลายครั้งในช่วง 6-7 ปีที่อยู่ที่นี่ มีครั้งหนึ่ง เขาคุยกันว่า ยังเหลืออยู่แต่เราสองคนนี่นะ คนอื่นเขาสบายแล้ว

คนอื่นหมายถึง รัตนะ ยาวะประภาษ กับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ สมัยหนุ่ม คนทั้ง 4 ที่เป็นนักเขียนวัยเดียวกันนี้ได้รับการขนานนามว่า สี่มือทอง

 

พ้นปีใหม่ที่ได้อวยพรทั้งนกหนูตะขาบแมงป่องให้โชคดีมาได้ไม่กี่วัน อาจินต์ก็โชคไม่ดีเสียเอง

สายๆ วันที่ 8 มกราคม ฉันเอาเอกสารไปถ่ายสำเนากลับมาไม่ทันไร อาจินต์ฉี่ใส่กระป๋องที่วางไว้ข้างตัวเพื่อที่จะได้ไม่ต้องหกล้มตอนเดินไปห้องน้ำอีกก็มีอาการแปลกๆ

“กุก กุก กัก โกะ…” พูดซ้ำๆ อยู่หลายรอบ

“พี่พูดอะไร”

ตอบเป็นคำๆ แปลกๆ อย่างเดิมอีก ฉันรีบเดินไปดูใกล้ๆ

“พี่ทำอะไร”

“ฉี่”

“แล้วไง” ฉันถาม อาจินต์มีท่าทางงงๆ เอามือชี้ๆ ไปหัวเตียงนอนเล่น

“เอาทิชชู่ไหม”

“ใช่ ใช่ เอาทิชชู่” แล้วก็พึมพำว่า

“มันแปลกๆ ยังไงก็ไม่รู้”

ฉันรีบโทรศัพท์หาพี่สาว เขาว่า

“รีบไปโรงพยาบาลเลย โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน แล้วถ้าไม่ดีขึ้นก็เข้ากรุงเทพฯ”

พาเข้าโรงพยาบาลพระยาพหลฯ ทันที หมออายุรกรรมที่พบชื่อหมอรักษ์พงศ์บอกว่า

“ดีใจจัง ได้เห็นตัวจริงครั้งแรก ผมเป็นแฟนหนังสือฟ้าเมืองไทย”

หมอตรวจแล้วก็สั่งทำ SCAN จองห้องให้ ตกลงอยู่โรงพยาบาลดูอาการและตรวจเช็กเบื้องต้น

คุณเป้า เพื่อนบ้านคนที่ปลูกบ้านใกล้เราที่สุดคือราว 200 เมตรถัดจากเรา เป็นพยาบาลผู้ใหญ่ของที่นี่ ก็ช่วยดูแลหาคนเฝ้าไข้ให้ ฉลองกำลังอยู่กรุงเทพฯ ก็ไปติดต่อขอหนังสือรับรองจากฝ่ายศิลปินแห่งชาติที่สำนักวัฒนธรรม (สวช.) จะเอามาให้วันสองวันนี้ ทุกคนต่างช่วยเหลือกันคนละไม้ละมือ

อยู่โรงพยาบาลวันสองวันก็ดีขึ้น หมอบอกว่ามีร่องรอยของเส้นเลือดสมองตีบเล็กน้อย เป็นเส้นเลือดฝอยๆ อาจตีบมาก่อนแล้วก็ได้ ให้ยามา 8 อย่าง มีซ้ำที่กินอยู่แล้ว 2 อย่าง เลยเหลือ 6 อย่าง

ออกจากโรงพยาบาลวันที่ 11 เหมือนคนปกติ หมอบอก ต่อไปต้องระวังมากๆ มีโอกาสเส้นเลือดตีบอีก อาจอ่อนแรงบางส่วน

 

พักผ่อนอยู่บ้านสามสี่วัน บางวันก็ไม่มีแรงเดิน ฉันก็ตัดสินใจพาเข้าศิริราชอีก โทร.หาหมอปอดคู่บุญอาจินต์-หมอนิธิพัฒน์จัดการนัดหมอคลินิก neuro ให้ทันที ให้เข้าไปหาหมอเองก่อนสักบ่ายสอง แล้วจะให้คนพาไปหาหมอชัชวาล ที่ตึก 72 ปี ชั้น 4

ตรวจเช็กให้ยาแล้วก็ให้กลับบ้าน คอยติดตามผลเป็นระยะ

อาจินต์ก็ปกติเหมือนคนดีๆ ไม่เป็นอะไร

ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่เป็นอะไรอีกเลย ได้แต่อ่อนกำลังทีละนิดๆ จนสุดท้าย ต้องนั่งรถเข็นเวลาออกนอกบ้าน แต่อยู่ในบ้านก็ยังพอช่วยตัวเองได้ มีบางวันที่บอกเดินไม่ได้ ไม่มีแรงหรือขาไม่มีแรง ก็หยุดเว้นการเดินบ้าง ไม่บ่อยนัก บางทีเดินๆ อยู่ก็หยุดนิ่ง ไปต่อไม่ได้

“เอาเก้าอี้ขาวมาใส่ตูดฉันที”

จากนั้น 2555 เราก็ไปกลับกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ตามเวลามีนัดหมอ มีงานรับรางวัลวรรณกรรมสองสามงานตอนท้ายๆ ก็ไม่ได้มา ฝากน้องๆ ในวงการรับแทน

สุขสบายจนกระทั่ง 2561

5 พฤษภาคม ต้องบึ่งเข้าศิริราชทันที เพราะปวดท้องมาก ฉันคิดว่าลำไส้ที่เปิดออกหน้าท้องอยู่นั้นมีปัญหา แต่ไม่ใช่ ตับอักเสบหรือติดเชื้ออะไรสักอย่าง ต้องดูดเอาหนองออก

เอาหนองออกแล้ว ตับไม่เป็นไรแล้ว แต่ปอดทรุดตามแล้ว คราวนี้ทรุดแล้วทรุดเลย อาจินต์อยู่โรงพยาบาล 2 แห่ง ศิริราช 3 เดือนกว่า ออกไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลบางไผ่ 3 เดือน แล้วไม่ได้กลับบ้านอีกเลย

ไม่ว่าบ้านไหนก็ตาม