อำลา A&W จากนวัตกรรม Root Beer อินเดียนแดง สู่ร้าน Franchise/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

อำลา A&W

จากนวัตกรรม Root Beer อินเดียนแดง

สู่ร้าน Franchise

 

ข่าวไม่เล็กไม่ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา คือข่าวการปิดตัวของ A&W ในประเทศไทย

แม้จะถูกกระแสข่าวอื่นๆ กลบไปจนเกือบมิด แต่มิตรรักแฟนเพลงของ A&W ต่างพากันแสดงความรู้สึกเสียใจ และใจหายกับการจากไปของ A&W ร้านอาหาร Franchise ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกากันเป็นจำนวนมาก

ก่อนปิดกิจการ A&W มีแคมเปญ และโปรโมชั่นมากมายออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแถมเหยือก Root Beer อันเป็นเอกลักษณ์ของ A&W

จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมเล็กๆ ก็ได้ สำหรับการใช้เหยือกที่เรียกว่า Frosty Mugs ซึ่งทำจากแก้วเนื้อหนา นำไปแช่ให้เย็นจัด ก่อนริน Root Beer เหมือน “เบียร์วุ้น” ที่ทั้งน่ามอง และน่าดื่ม

นอกจากเรื่องเหยือกแล้ว นวัตกรรมใหญ่ หรือนวัตกรรมหลักที่แท้จริง ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับ A&W ก็คือ Root Beer

แม้ว่า A&W จะไม่ใช่ผู้คิดค้น Root Beer ขึ้นมาเป็นเจ้าแรก ทว่า A&W คือผู้ปรุงรสชาติของ Root Beer ให้ถูกปากคนอเมริกัน และขยายสาขา Franchise ออกไปทั่วโลก

เพราะต้นตำรับ Root Beer ที่แท้จริง คือเครื่องดื่มสมุนไพร หรือยาหม้อ ของคนอินเดียนแดงแห่งทวีปอเมริกาเหนือ สรรพคุณรักษาโรคผิวหนัง ไปจนถึงข้ออักเสบ และไต

Root Beer ดั้งเดิม ผสมขึ้นจากดอก Dandelion หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Tampopo มาบดกับเปลือกไม้เบิร์ชดำ ราก Sassafras และราก Sarsaparilla

ออกมาเป็นนวัตกรรม Root Beer ต้นตำรับ

 

สูตร Root Beer ของอินเดียนแดง ได้รับการต่อยอด เมื่อคนยุโรปมาตั้งรกรากในอเมริกา และได้ทดลองเติมแอลกอฮอล์ลงไปใน Root Beer เล็กน้อย ตั้งชื่อว่า Small Beer

ขณะที่ Small Beer เริ่มได้รับความนิยม แต่กลับต้องหยุดผลิต เพราะรัฐบาลสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สูตร Small Beer ที่กำลังลงตัว จึงต้องกลับไปเป็น Root Beer ตามเดิม

แต่กลายเป็นว่า ขายดียิ่งกว่าเก่า เพราะถือเป็นทางเลือกใหม่ของคนที่โหยหาแอลกอฮอล์ ที่หลายคนยังคงเข้าใจว่า Root Beer คือ Small Beer

ต่อมา Root Beer ได้รับการพัฒนาสูตรไปอีกทางหนึ่ง โดยเติมน้ำตาล และยีสต์เข้าไป และตั้งชื่อใหม่ว่า Root Tea หรือ “ชารากไม้”

ด้วยฝีมือของ Charles Elmer Hires เภสัชกรแห่งเมือง Philadelphia รัฐ Pennsylvania ซึ่งเป็นนักชิมชาตัวยง

Root Tea ของ Charles Elmer Hires คือการนำสูตร Root Beer จากตำรายาอินเดียนแดงโบราณ มาเติมวานิลลา อบเชย ฮ็อปส์ ชะเอม และเบอร์รี่ชนิดต่างๆ รวมถึงเปลือกต้นเชอร์รี่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำมันระกำ”

ซึ่งเจ้า “น้ำมันระกำ” นี้เอง ที่ทำให้หลายคนล้อ Root Beer ว่าเป็น “น้ำยาหม่อง” เพราะ “น้ำมันระกำ” คือส่วนผสมหลักของ “ยาหม่อง” นั่นเอง

 

ต่อมา Charles Elmer Hires ได้เปลี่ยนชื่อ Root Tea เป็น Root Beer

เนื่องจากเพื่อนสนิทของ Charles Elmer Hires คนหนึ่ง แนะนำว่า การใช้คำว่า Tea นั้น ไม่เข้ากับลูกค้าเพศชายที่นิยมดื่มเบียร์ ไม่ก็กาแฟ

Charles Elmer Hires ในขณะนั้น กำลังเดินสายโฆษณา Root Tea ที่งาน World Fair บรรดาคนงานเหมืองถ่านหินได้แวะมาที่บูธ ซึ่ง Charles Elmer Hires ได้สร้าง “น้ำพุ Root Tea” ให้ชิมฟรี

คนงานเหมืองถ่านหินรายหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า อ้าวคิดว่าแจกเบียร์ฟรี เนื่องจากดูไกลๆ “น้ำพุ Root Tea” ฟองเยอะเหมือนเบียร์จริงๆ

(โดยฟองที่หนานุ่มเหมือนเบียร์นั้น เกิดขึ้นจากส่วนผสมจากต้น Yucca)

เมื่อได้ยินดังนั้น Charles Elmer Hires จึงเปลี่ยนชื่อ Root Tea ให้กลายเป็น Root Beer นับตั้งแต่นั้น

เมื่อลงตัวแล้ว Charles Elmer Hires จึงได้เริ่มผลิต Root Beer ยี่ห้อ Hires ของตัวเองเพื่อจำหน่ายหน้าร้านขายยาของเขา

ทำให้ Root Beer สูตรของ Charles Elmer Hires เริ่มที่เป็นรู้จัก ก่อนที่เขาจะจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท Hires Root Beer Co. ขึ้น

ต่อมา Charles Elmer Hires เริ่มคิดขยายธุรกิจ Root Beer โดยค้นหาวิธีการกระจายสินค้าให้ง่ายขึ้น โดยทำ Root Beer เป็นผง ตั้งชื่อว่า Powder Root Beer

แม้ Powder Root Beer จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีอานิสงส์ คือทำให้ชื่อของ Charles Elmer Hires กับ Root Beer โด่งดังคู่กัน

 

หลังจากนั้น คู่แข่งของ Root Beer ยี่ห้อ Hires ก็ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดหน้าฝน โดยนอกจากจะแข่งกันที่รสชาติแล้ว ยังขับเคี่ยวกันด้วยความหนานุ่มของฟอง

ว่ายี่ห้อไหนฟองจะหนากว่า ข้นกว่า และฟองของใครคงตัวอยู่ได้นานกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ Mug Barq’s IBC หรือ Bundaberg และแน่นอน A&W

ตำนาน A&W เริ่มจากการที่ A หรือ Roy Allen พ่อค้าขมองอิ่มแห่ง California ผู้ชื่นชอบรสชาติของ Root Beer

Roy Allen ชิม Root Beer มาแล้วทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น Mug Barq’s IBC หรือ Bundaberg โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hires

ระหว่างที่นั่งดื่ม และมอง Root Beer หลากยี่ห้อ ประกายความคิดที่จะผลิต Root Beer ของตัวเองก็วาบขึ้นมา

เขาจึงไปซื้อสูตร Root Beer ดั้งเดิมมาพัฒนา และนำไปขายในขบวนพาเหรดสดุดีทหารผ่านศึกสงครามโลก ปรากฏว่า ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

Roy Allen จึงตัดสินเปิดร้านขาย Root Beer ขึ้นมา โดยหุ้นกับ W หรือ Frank Wright ลูกจ้างที่ไปช่วยขาย Root Beer ในขบวนพาเหรดดังกล่าว

ร้านของ Allen และ Wright ได้รับความนิยมจากชาว California เป็นอย่างมาก ถึงขนาดต้องขยายสาขา 2 และ 3 ที่เมือง Stockton และ Sacramento

ทั้งคู่ขึ้นป้ายชื่อร้าน A&W Root Beer (A คือ Allan และ W คือ Wright) ที่ต่อมาทั้งสองคนเห็นว่าชื่อยาวเกินไป ทำให้จดจำยาก

จึงเปลี่ยนมาเป็น A&W ในที่สุด

 

ที่สาขา Sacramento ทั้งคู่ได้ทดลองระบบ Drive-through ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

เนื่องจากยุคนั้น หนุ่มสาวชาวอเมริกันนิยมขับรถเปิดประทุน และโรงหนังแบบ Drive-in ก็กำลังฮิตไปทั่วอเมริกา

เมนูยอดนิยมของ A&W ในตอนนั้นก็คือ แฮมเบอร์เกอร์ และไส้กรอกทอด แกล้มกับ Root Beer ที่เสิร์ฟมาใน Frosty Mugs เย็นฉ่ำเหมือนเบียร์วุ้น

โดยมีจุดขายคือ การเสิร์ฟอาหารถึงรถ นั่งกินแบบส่วนตัวสุดโรแมนติก

นอกจากนี้ ที่ Sacramento เช่นกัน Allen และ Wright ได้คิดค้นเมนูพิสดาร ทว่า กลับได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้

นั่นคือ Root Beer Float หรือ Root Beer ใส่ไอศกรีมวานิลลา

ซึ่งในส่วนผสมของ Root Beer เดิมก็มีกลิ่นวานิลลาเจืออยู่แล้ว รสชาติจึงเข้ากันเป็นอย่างดี

โดยที่ในเวลาต่อมา ก่อนที่ทั้งคู่จะเปิดสาขาที่ 4 ได้มีคนมาติดต่อขอนำป้ายชื่อร้าน A&W ไปใช้

Roy Allen และ Frank Wright จึงคิดขึ้นได้ว่า แทนที่จะให้ใช้ชื่อร้านฟรี ทำไมไม่ขายเป็นลิขสิทธิ์ หรือให้เช่าเสียล่ะ?

และนี่ก็คือที่มา หรือประวัติศาสตร์ การอนุญาตให้ใช้ป้ายชื่อ หรือที่ในปัจจุบันเรารู้จักกันในนามของ Franchise

ดังนั้น A&W จึงได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารที่เปิดขายเป็น Franchise รายแรกของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

 

การปิดตัวของ A&W ในบ้านเรา ทำให้แฟนพันธุ์แท้ A&W หัวใจสลายไปตามๆ กัน

ซึ่งหลายคนยังคงตั้งความหวัง ว่าสักวันหนึ่ง อาจมีเศรษฐีใจดี ซื้อ Franchise ของ A&W กลับมาทำตลาดในเมืองไทยใหม่

เพราะ A&W ต้นตำรับในสหรัฐอเมริกา หรือ A&W ที่อื่นๆ ทั่วโลก ยังคงได้รับความนิยมอยู่นั่นเอง