ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 เมษายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
ในเวลาที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว กำลังเข้มข้นและตึงเครียด
ถึงแม้เชื้อรอบนี้ที่ชื่อว่าโอมิครอน จะไม่มีอาการหนักหนาสาหัสเหมือนการระบาดยุคแรกเริ่ม เพราะมนุษย์เรามีความสามารถที่จะรับมือได้ดีขึ้น มีการฉีดวัคซีนไปได้มากพอสมควรแล้ว
แต่ถึงกระนั้นก็ยังวางใจไม่ได้ รอบตัวผมมีคนติดเชื้อที่ว่านี้ไปหลายรายแล้ว
กว่าจะถึงวันที่ท่านทั้งหลายได้อ่านบทความนี้ ผมจะติดโควิดไปแล้วหรือยังก็ไม่รู้ได้
เอาเถิดครับ เวลานี้ผมทำใจเสียแล้วว่าเป็นเรื่องของบุญทำกรรมแต่ง ถ้าไปติดเชื้อติดโรคขึ้นมาก็รักษากันไปตามอาการ
วิธีการรักษาอย่างหนึ่งที่เป็นมาตรการสำคัญในเวลานี้ คือการกักตัวผู้ที่ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่ให้ติดต่อสมาคมกับใคร มีการส่งอาหารให้เป็นรอบตามมื้อ มีหยูกยา มีเครื่องมือวัดอุณหภูมิ วัดออกซิเจน มีการส่งอาการหรือรายงานอาการทางโทรศัพท์ หนักหนากว่านั้นก็ค่อยมาพาตัวไปโรงพยาบาล หรือพาไปวัดแล้วแต่กรณี
อุ้ย! (ทำเสียงแบบกรรชัย)
รุ่นน้องที่สนิทคุ้นเคยกันกับผมคนหนึ่งตกอยู่ในฐานะอย่างที่ว่า
นอกจากการโทรศัพท์ไปสอบถามอาการด้วยความห่วงใยแล้ว ผมได้ติดตามชีวิตของน้องคนที่ว่านี้ผ่าน Facebook ซึ่งเขารายงานเหตุการณ์ประจำวันให้บรรดาญาติมิตรเพื่อนฝูงได้รับทราบ เรื่องอาการเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นก็เรื่องหนึ่ง
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับน้องคนที่ว่านี้ในแง่มุมของ “อิสรภาพ”
เขาบอกว่าอย่างนี้ครับ
“อิสรภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต หากคิดดีๆ จะพบว่า ความสุขด้วยการมีอิสระนั้นมีค่ามากกว่ามีเงินทองแต่โดนจำกัดอิสรภาพเสียอีก
มีเงินแต่ห้ามออกจากห้อง อยากได้อะไรต้องสั่งมา แล้วจะใส่สวย กินอร่อยไปเพื่ออะไร ถ้าออกไปไหนมาไหนไม่ได้…
ก็เข้าใจได้ เรามันคนป่วย มีเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้และเป็นอันตรายกับผู้อื่นจริงๆ
เพียงแต่ทำให้หวนมานึกว่าอิสรภาพมันสำคัญจริงๆ แค่ไม่กี่วันเรายังเริ่มจะเบื่อๆ ขนาดโทรศัพท์ทำงานและตอบโทรศัพท์เยี่ยมไข้จนเจ็บคอ กว่า 20 สายต่อวัน มี ipad มี notebook ครบครัน
คนที่สูญเสียอิสรภาพแบบที่เป็นนักโทษสิบปี ยี่สิบปี หรือตลอดชีวิตนี่คงแย่มาก
กลับมาที่อิสรภาพที่ถูกจำกัดจากการติดเชื้อ เมื่อวานภรรยาเอาอาหารการกิน ยาและของใช้มาให้มากมาย พอดีเราอยู่ชั้นล่างของโรงแรมที่พัก มองเห็นด้านนอกได้รำไร เนื่องจากมีแนวต้นไม้กั้นถึงสองชั้น ภรรยาโทรศัพท์คุยและเดินมาจนถึงช่องระหว่างต้นไม้เล็กๆ ให้มองลอดมา
ส่วนเราเขาห้ามเปิดกระจกหน้าต่าง โบกไม้โบกมือให้กัน จึงเข้าใจได้ว่า อิสรภาพมันสำคัญจริงๆ…”
เห็นไหมครับว่าโดนจำกัดบริเวณ ขาดอิสรภาพไปเพียงแค่เจ็ดวันสิบวันยังพิโอดพิโอยถึงขนาดนี้
ของอย่างนี้ใครไม่โดนเข้ากับตัวไม่รู้สึกหรอกครับ
เริ่มต้นจากประเด็นที่รุ่นน้องคนที่ว่านี้พูดถึงเรื่องความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นจากการไปไหนมาไหนไม่ได้ต้องอยู่ในบริเวณที่จำกัด อยู่ภายใต้กติกาที่เคร่งครัด ผมเองมาคิดต่อเนื่องไปอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าการที่ต้องถูกจำกัดอิสรภาพเกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่อธิบายได้ หัวใจของคนที่ถูกจำกัดอิสรภาพเช่นว่านั้นย่อมพอเข้าใจและยอมรับผลที่เกิดขึ้นนั้นได้
ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า “เรามันคนป่วย มีเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้และเป็นอันตรายต่อผู้อื่นจริงๆ”
ขนาดทำใจยอมรับอย่างนี้ได้ พอเมียมาโบกมืออยู่หลังต้นไม้ ยังซึมเลยครับ
ถ้านึกว่าเหตุที่ต้องถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพอย่างที่ว่าเกิดขึ้นด้วยความไม่เป็นธรรม หรือเกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่ตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ความหงุดหงิดความหม่นหมองที่อยู่ในหัวใจก็ย่อมมีเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าทบทวีตรีคูณ
ความจริงที่ผมพูดมาข้างต้นนี้ เป็นเหตุผลธรรมดาที่มนุษย์ทั่วไปก็คิดได้ ไม่ต้องไปทดลองหรือทำวิจัยอะไรให้ยุ่งยาก
ยิ่งถ้าเป็นคนเรียนกฎหมายและสอนหนังสือวิชากฎหมาย (อย่างผม) ก็ยิ่งต้องย้ำกับตัวเองว่าการจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพของใครก็แล้วแต่ ต้องกระทำโดยเหตุผลที่มีกฎหมายอันอ้างอิงได้ ไม่ตีความกฎหมายกว้างขวางไปจนครอบจักรวาล และที่สำคัญเหนืออื่นใด ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมความยุติธรรมไว้ให้มั่นคง
จะเอาแต่ความรู้สึกอันเจือด้วยอารมณ์หรือความเห็นส่วนตัว เพราะอ่านหนังสือพิมพ์มาหลายฉบับ เพราะดูโทรทัศน์บางช่องแบบติดงอมแงม หรือเพราะอ่านไลน์กลุ่มเช้าเย็น แล้วว่าอย่างไรว่าตามกันมาประกอบดุลพินิจในการใช้กฎหมายไม่ได้หรอกครับ
หลักคิดที่ว่านี้ ถ้าปรวนแปรไปเมื่อใด การไปจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพของคนอื่นโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ นอกจากจะเป็นบาปกรรมส่วนตัวของผู้กระทำแล้ว ความเสียหายอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นคือเป็นการทำลายศรัทธาของกระบวนการยุติธรรมโดยรวมอีกด้วย
กระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคดีอาญา กว่าจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั้งหลายได้ ต้องใช้เวลานานหลายชั่วอายุคน ต้องใช้สติปัญญาของบรรพชนจำนวนมาก ค่อยคิดค่อยทำมาตามลำดับกว่าจะมาถึงวันนี้ได้
ถ้าจะมาผุกร่อนลงไปในยุคสมัยของเรา
แหม! น่าเสียดายนะครับ และกว่าจะรื้อฟื้นคืนกลับขึ้นมาได้ก็ต้องใช้เวลาอีกมาก
ผมเคยคุยกับลูกศิษย์ว่า เสรีภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่าด้วยอิสรภาพ คือการไปไหนมาไหนได้โดยไม่ถูกกักกัน เวลามีอยู่ในชีวิตของเราก็ไม่ค่อยรู้สึกหรอกครับว่าเป็นของสำคัญยิ่งยวด จนเมื่อไหร่ขาดหายไปนั่นแหละ จึงจะรู้สึกเดือดร้อนกระวนกระวายเป็นที่สุด
เปรียบเหมือนกับอากาศ ทุกเวลานาทีที่หายใจออกหายใจเข้าก็ไม่เห็นว่าอากาศหน้าตาเป็นอย่างไร และแถมไม่เฉลียวใจนึกคิดด้วยว่าอากาศเป็นของสำคัญ
แต่ถ้าเมื่อไหร่ขาดอากาศขึ้นมา หน้าเขียวหน้าเหลืองเข้าแล้ว เมื่อนั้นแหละจะเห็นความสำคัญของอากาศขึ้นมาทันที
เหมือนอย่างน้องของผมที่ต้องไปกักตัวอยู่ในโรงแรมอย่างที่เล่ามาข้างต้น “ขาดอากาศ” เข้าไปสามวันเจ็ดวันเห็นผลประจักษ์เลยครับ
อยากจะกระซิบเบาๆ ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตทำราชการของผม ผมก็เคย “ขาดอากาศ” มาแล้วเหมือนกัน ถึงแม้จะนานไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม แต่ก็ทำให้กล่าวได้ว่า ผมอยู่ในฐานะคนที่พูดในเรื่องนี้ได้เต็มปากคนหนึ่ง
พอโดนเข้ากับตัวเองแล้ว รู้ชัดทีเดียวครับว่าอิสรภาพมีความสำคัญปานใด
ของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้นะเออ!