วงค์ ตาวัน : ชนะฟาวล์ 99 ศพ

วงค์ ตาวัน

คดี 99 ศพ กลับมาอยู่ในกระแสความร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตกเป็นจำเลย ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยเป็นการพิพากษายืนตามชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เป็นอันจบสิ้นทั้ง 3 ศาล

โดยที่คดีนี้ยังไม่ได้นำขึ้นพิจารณานำสืบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย

เนื่องจากนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ยื่นคำร้องต่อสู้ประเด็นข้อกฎหมายว่า จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะนายกฯ และรองนายกฯ รวมทั้ง ผอ.ศอฉ. จึงเป็นการฟ้องผิดประเด็น

ควรจะต้องฟ้องในเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจะต้องให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวน และหากมีมูลต้องฟ้องในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ต่อมาศาลอาญาและอุทธรณ์ ฎีกา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่ขอบเขตอำนาจของศาลอาญา จึงให้ยกฟ้อง โดยให้เป็นขั้นตอนของ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน

“ผลที่ออกมาเช่นนี้ เท่ากับเป็นไปตามประเด็นที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต่อสู้ด้วยเทคนิคข้อกฎหมาย”

ขณะที่ญาติพี่น้องของคนตาย 99 ศพ คงอัดอั้นพูดไม่ออก เพราะรอคอยความยุติธรรมมาถึง 7 ปี บัดนี้ไม่มีอะไรคืบหน้า

ปัญหาต่อมาก็คือ จะไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. แล้วจะมีการนำมาพิจารณาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ชุดก่อน ได้เคยตีตกสำนวนคดี 99 ศพมาแล้ว

“ปัญหาจากนั้นก็คือ ถ้า ป.ป.ช. นำคดี 99 ศพกลับมาพิจารณาไต่สวนใหม่จริง คดีอาญาในส่วนการฆาตกรรมจะไม่มีการพิจารณา เพราะไม่ใช่อำนาจของ ป.ป.ช.”

จึงเป็นความสำเร็จในการต่อสู้ด้วยข้อกฎหมายของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ซึ่งประกาศมาตลอดว่าจะไม่ขอรับการนิรโทษกรรม ไม่หนีออกนอกประเทศ พร้อมต่อสู้คดี และพร้อมเข้าคุกถ้าศาลตัดสินว่าผิด

“แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองต่อสู้ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อไม่ให้เป็นคดีอาญา และบรรลุในที่สุด!”

นี่จึงทำให้กระแสคดี 99 ศพกลับมาเป็นประเด็นอีกหน

แถมการยกฟ้องก็บังเอิญเกิดขึ้นในวันสิ้นเดือนสิงหาคม ขณะที่ตลอดทั้งเดือน มีการพิพากษาคดีเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทยตกเป็นจำเลย โดยเฉพาะคดีจำนำข้าว ซึ่งลงเอย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ ไม่มาฟังคำตัดสิน ส่วน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก โดยจำคุกอย่างหนักหลายสิบปี

ก่อนทิ้งท้ายเดือน ด้วยการตัดสินคดี 99 ศพ ซึ่งเป็นฝ่ายนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพที่โล่งอก รอดพ้นคดีฆ่าไปได้

ย้อนกลับเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ตอนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องคดีนี้ มีจุดที่น่าสนใจอย่างมากคือ นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนคดีนี้ด้วย โดยยืนยันว่า ไม่เห็นชอบกับคำพิพากษานี้ เพราะการฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในความผิดดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้

ที่สำคัญ อธิบดีศาลอาญาได้ชี้ว่า

“”หาก ป.ป.ช. เห็นว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีมูล ก็ย่อมทำให้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นยุติไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ศาลในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 66 นอกจากนั้น ยังเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติผู้ตาย ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10 อีกด้วย หากอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่ ป.ป.ช. ตามคำพิพากษาขององค์คณะที่วินิจฉัยมา ย่อมเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหาย จะเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้””

เป็นความเห็นแย้งของระดับอธิบดีศาลอาญา จึงเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมอย่างมาก

“อ่านแล้วก็รู้สึกทันทีว่า อธิบดีศาลอาญา ต้องการให้ญาติพี่น้องของคนตายได้มีที่พึ่งด้านความยุติธรรมนั่นเอง!”

แน่นอนว่า ในความเป็นจริงแล้ว หลังจากคดี 99 ศพต้องพ้นไปจากระบบของศาลอาญาแล้ว ความรู้สึกของญาติผู้สูญเสียเต็มไปด้วยข้อสงสัยว่า ในเมื่อมีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธจริงเข้าปฏิบัติการ แล้วมีคนตายด้วยกระสุนจริงไปร่วมร้อย กลับไม่สามารถฟ้องร้องในคดีฆาตกรรมได้

แต่ทนายความของผู้สูญเสีย ยืนยันว่าจะต้องค้นหาทุกช่องทางเพื่อนำคดีนี้กลับมาฟ้องร้องให้ได้ เช่น เปลี่ยนเป็นการฟ้องร้องในระดับปฏิบัติแทน

รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญระดับอดีตผู้พิพากษาศาลและอดีต ป.ป.ช. ได้ชี้ช่องทางที่สำคัญว่า หากไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. อาจจะติดปัญหาว่า ป.ป.ช. เคยตีตกคดีนี้ไปแล้ว

“ดังนั้น จึงเสนอให้ยื่นร้องต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา เพื่อให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระขึ้นมา หากผู้ไต่สวนเห็นว่ามีความผิดในเรื่องฆ่าและพยายามฆ่า ก็ส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องร้องข้อหาการฆ่าต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้”

เท่ากับชี้ว่า ช่องทางคดีฆาตกรรมสำหรับคดี 99 ศพ ยังสามารถดำเนินการได้อยู่!

ญาติพี่น้องคนตาย 99 ศพ หวังอย่างยิ่งว่า คดีควรเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ เพราะทุกคนรู้ดีว่า คดีนี้มีร่องรอยมากมาย ซึ่งควรจะได้รับการพิสูจน์ผ่านกระบวนการสืบพยานหลักฐาน

ไม่ใช่ใช้ช่องทางเทคนิคกฎหมายมาปิดฉากการดำเนินคดี

“หรือไม่ใช่ จบลงแบบชนะฟาวล์!?!”

ร่องรอยที่สำคัญสุด คือ มีการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ โดยทยอยส่งศาลไปแล้วจำนวนหนึ่ง และศาลได้ชี้ผลไต่สวนแล้วจำนวน 17 ศพ ว่าตายด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ. หรือตายด้วยกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่

“เช่นนี้แล้ว คดีไม่ควรจบ”

อีกประเด็นต่อมา หากพิจารณาข้อมูลข่าวสารในเหตุการณ์นี้ จะรู้ได้ว่ามีกระบวนการสร้างวาทกรรม เพื่อทำให้คนในสังคมที่ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง มีความเอนเอียงไปตามการครอบงำด้วยกระบวนการวาทกรรมนี้ อันเป็นวิธีการที่ใช้มาตั้งแต่ยุคนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว ยุคกวาดล้างคอมมิวนิสต์ หรือยุคฆ่าคนอย่างโหดเหี้ยมเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เพราะถูกครอบงำด้วยวาทกรรมว่า มีคอมมิวนิสต์ต่างชาติอยู่เต็มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ในเหตุการณ์ 99 ศพ มีวาทกรรมผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ!”

ระบุว่าเป็นกองกำลังที่ปะปนในม็อบ ใช้อาวุธฆ่าเจ้าหน้าที่ แต่ข้อเท็จจริงจะพบว่า มีคลิปเห็นชายชุดดำยิงปืนจริง ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 แต่ไม่เห็นว่ายิงใส่ใคร ยิงถูกใคร จากนั้นฝ่าย ศอฉ. ได้ใช้ข้ออ้างชายชุดดำ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าปฏิบัติการพร้อมกระสุนจริง อ้างว่าเพื่อป้องกันตัว

แต่ลงเอยผู้ชุมนุมและชาวบ้านถูกยิงตายไปร่วมร้อย ซึ่งไม่มีชายชุดดำ ไม่มีผู้ถืออาวุธแม้แต่ศพเดียว

“วาทกรรมต่อมา คือคำว่าเผาบ้านเผาเมือง!!”

ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมเลวร้าย ทั้งที่ข้อเท็จจริง ระหว่างชุมนุมมีการเผาแค่ยางรถยนต์เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยสไนเปอร์เล็งยิงได้ง่ายๆ

มีการเผาจริงจังคือห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่เกิดเหตุในบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลัง ศอฉ. ยึดราชประสงค์ได้แล้ว แกนนำเสื้อแดงถูกคุมตัวไปหมดแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเสื้อแดงกล้าตาย ยังปฏิบัติการอยู่

ต่อมามีการจับกุมผู้ชุมนุมส่งฟ้องฐานเผาห้าง และศาลพิพากษายกฟ้องเพราะไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้แน่ชัด

นอกจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นคนเผาบ้านเผาเมืองเผาห้างแล้ว

ที่สำคัญการเผาเกิดหลังจากการฆ่าไปแล้วร่วมร้อยศพ ดังนั้น วาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองจึงไม่ควรทำให้ต้องหลงเชื่อว่า สามารถฆ่าผู้ชุมนุมได้

2 วาทกรรมนี้แหละ ที่ครอบงำให้สังคมหลงไป เป็นใบอนุญาตฆ่า!