ประวัติศาสตร์เบื้องหลังสงครามของปูตินในยูเครน : เป้าหมายของปูติน (2) | เกษียร เตชะพีระ : การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ประวัติศาสตร์เบื้องหลังสงครามของปูตินในยูเครน

: เป้าหมายของปูติน (2)

 

(เรียบเรียงจากคำให้สัมภาษณ์ของ Anatol Lieven อดีตผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรัสเซียและยุโรปตะวันออกที่ King’s College London และ Quincy Institute for Responsible Statecraft ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในรายการวิทยุ Behind the News ของ Doug Henwood เมื่อ 3 มีนาคมศกนี้ https://www.leftbusinessobserver.com/Radio.html#S220303)

 

ดั๊ก เฮนวูด : อะไรคือเป้าหมายของปูตินในเรื่องนี้ครับ? เราพอรู้บ้างไหมครับว่าเขาเชื่อจริงๆ รึว่าชาติยูเครนเป็นแค่นิยาย หรือเป็นนิยายมากกว่าที่ชาติส่วนใหญ่เป็นกัน? เขาแค่อยากได้เขตกันชนหรืออยากจะผนวกกลืนหมดประเทศเลยทีเดียว? ฉากจบเกมมันคืออะไรกันแน่ครับ?

อนาโตล ลีเวน : ผมไม่ทราบครับ เรื่องน่าหลากใจคือผมได้พูดคุยกับผู้คนจำนวนมากในสังกัดของสิ่งที่คุณอาจเรียกได้ว่าสถาบันอำนาจรอบนอกของรัสเซีย ปรากฏว่าพวกเขาล้วนแต่แปลกใจกับการรุกรานครั้งนี้หลายต่อหลายแง่ และพวกเขาล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตอนนี้แวดวงการตัดสินใจในรัสเซีย ในรัฐบาลรัสเซียและวงในของผู้คนที่ปูตินรับฟังจริงๆ น่ะหดแคบลงเหลือไม่ถึงสิบคน มันกลายเป็นแวดวงที่ปิดเอามากๆ เลยทีเดียวครับ

ดั๊ก เฮนวูด : ภาพปูตินนั่งอยู่ตรงโต๊ะตัวยักษ์ที่เผยแพร่ออกมานั่นมันยึดกุมสภาพความจริงบางอย่างไว้ได้ อย่างนั้นใช่ไหมครับ?

อนาโตล ลีเวน: ใช่ครับ และแน่ล่ะก็อย่างที่หลายคนบอกว่าโควิดมันยิ่งทำให้แวดวงตัดสินใจที่ปิดแคบดังกล่าวบีบคับเข้าไปอีก สถานการณ์คงคล้ายรัฐบาลสหรัฐชุดต่างๆ ช่วงก่อนเกิดสงครามเวียดนาม แต่หนักหนาสาหัสกว่ามาก ดูเหมือนปูตินน่าจะถูกตัดออกหรือตัดตัวเองออกจากข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำทางภววิสัย ถ้าหากปูตินกับสมัครพรรคพวกใกล้ชิดโง่เหลือเชื่อเสียจนกระทั่งดันเชื่อว่าพวกเขาสามารถยัดเยียดรัฐบาลหุ่นให้ยูเครนได้ทั้งประเทศ เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาทั้งบอดทั้งบ้าไปแล้วละก็ พวกเขาย่อมต้องตระหนักได้ว่าความเข้มแข็งแห่งการต่อต้านของยูเครนและการแสดงออกซึ่งความสามัคคีของชาวยูเครนนับแต่เริ่มสงครามมานั้นได้ทำให้สิ่งที่พวกเขาคาดหวังเป็นไปไม่ได้แล้วโดยสิ้นเชิง

นี่ไม่ใช่กรณีแบบเชโกสโลวะเกียหรือฮังการีสมัยสงครามเย็นที่อย่างน้อยคุณก็มีโครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์คอยช่วยธำรงรักษาการครอบงำของโซเวียตไว้นะครับ

คุณไม่มีปัญญาจะสร้างอะไรขึ้นมาได้นอกจากทางการหุ่นเชิดที่ประหลาดพิกล น่าเย้ยหยันและโจ่งแจ้งแดงแจ๋ที่สุดในกรุงเคียฟเท่านั้น ถ้านั่นคือสิ่งที่ปูตินต้องการแล้ว มันก็จะไม่มีความชอบธรรมเอาเลย ย่อมเหลือวิสัยโดยสิ้นเชิงที่มันจะบริหารรัฐที่มั่นคงได้ มันจะเผชิญการประท้วงต่อต้านอย่างต่อเนื่องซึ่งจะต้องกดปราบลงไปด้วยวิธีการอันเหี้ยมเกรียม และมันจะทำให้จำต้องคงกำลังทัพรัสเซียไว้ในยูเครนโดยถาวรเพื่อค้ำยันมันไว้เหมือนอย่างที่สหภาพโซเวียตหรืออเมริกาต้องทำในอัฟกานิสถานนั่นแหละครับ

สงครามที่ผ่านมาถึงตอนนี้ได้ทำให้บางเรื่องราวกระจ่างชัดขึ้น อย่างหนึ่งที่มันทำให้ชัดเจนคือถึงแม้นาโตจะยัดเยียดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัสใส่รัสเซีย แต่กระนั้นนาโตก็จะไม่สู้รบให้ยูเครนหรอก ซึ่งแน่ล่ะว่านั่นทำให้ความคิดเรื่องสมาชิกภาพของยูเครนในนาโตเป็นเรื่องเหลวเปล่าทั้งเพ ถึงขั้นนี้แล้วยูเครนน่าจะล้มเลิกความคิดนั้นเสียแล้วลงนามในสนธิสัญญาความเป็นกลางแทน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผมก็คิดว่ามันได้ทำลายแผนการของรัสเซียลงโดยสิ้นเชิงถ้าหากรัสเซียมีแผนว่าจะยัดเยียดรัฐบาลหุ่นให้ยูเครนละก็

เพื่อยึดเมืองต่างๆ ในยูเครน รัสเซียจะเดินเทิ่งๆ เข้าไปมิได้ คนยูเครนจะต่อสู้ตอบโต้อย่างหนักหน่วงแม้ในพื้นที่ซึ่งพูดภาษารัสเซียก็ตาม และในกระบวนการนั้น บริเวณอันกว้างใหญ่ในเมืองเหล่านี้ก็จะถูกทำลายราบลง และพลเรือนจำนวนมากก็จะถูกสังหาร ลองคิดดูก็แล้วกันครับว่าคุณจะตั้งรัฐบาลนิยมรัสเซียขึ้นมาได้ยังไงบนพื้นฐานนั้น? จริงๆ มันดูเหมือนพวกรัสเซียกำลังจะบุกเมืองคาร์เคียฟและตอนนี้ก็กำลังโจมตีเมืองมาริอูโปลกับทางภาคใต้อยู่ สำหรับเคียฟซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของยูเครนนั้น ยังไม่รู้ว่าปูตินตัดสินใจหรือยังว่าเอาเข้าจริงจะบุกโจมตีมันหรือตั้งเป้าจะปิดล้อมมันเพื่อพยายามกดดันรัฐบาลยูเครนให้ยอมตกลง สันติภาพตามเงื่อนไขบางอย่างของรัสเซียซึ่งอาจไม่ได้ตามที่รัสเซียต้องการทั้งหมด เราไม่รู้ว่ารัสเซียจะยอมต่อรองรอมชอมเงื่อนไขของตัวแค่ไหน ก็ต้องรอดูกันไป

แต่ผมคิดว่าต้องขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่เป้าหมายสูงสุดที่รัสเซียตั้งไว้ในยูเครนนั้นได้ปราชัยไปเรียบร้อยแล้วด้วยฝีมือประชาชนและกองทัพยูเครน

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียสนทนากับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสในมอสโก 7 กุมภาพันธ์ศกนี้ ภาพจาก SPUTNIK

ดั๊ก เฮนวูด : การสู้รบจะยาวนานไปได้แค่ไหนครับ?

อนาโตล ลีเวน : นี่มันก็เริ่มเข้าข่ายสถานการณ์ด้านต่างๆ ของสงครามที่รัสเซียรุกรานยึดครองเชชเนียในปี ค.ศ.1994 ถึง 1996 แล้วนะครับ ซึ่งตอนนั้นผมทำข่าวที่นั่นอยู่ในฐานะนักหนังสือพิมพ์บริติช หรือในแง่หนึ่ง มันก็เริ่มคล้ายการยึดครองอิรักของอเมริกา ผมไม่รู้ว่ากองทัพรัสเซียโดยรวมสนับสนุนการรุกรานครั้งนี้มากแค่ไหน มีกระแสข่าวทำนองว่าไม่มีการปรึกษาบรรดานายพลส่วนใหญ่ และแน่นอนว่านายพลบางคนดูไม่สบายใจเอามากๆ ทางทีวี แต่พอกองทัพเข้าสู่สงครามโดยเฉพาะสงครามชนิดที่สำคัญกับรัสเซียขนาดนี้ พวกเขาก็อยากชนะแหละครับ และแน่ล่ะว่าปูตินจะผละออกจากยูเครนไม่ได้โดยไม่ดูเหมือนประสบความสำเร็จบางอย่างในระดับจำกัดเป็นอย่างน้อย มิฉะนั้นแล้วผมคิดว่าเขาก็จบเห่กัน ผมคิดว่าในกรณีนั้นจะมีรัฐประหารบางรูปแบบเพื่อโค่นเขาจากภายในระบอบเอง

ผมก็เลยสังหรณ์ใจว่าถ้าพวกรัสเซียบรรลุข้อตกลงสันติภาพที่เอาไปอวดอ้างว่าประสบความสำเร็จบางระดับไม่ได้แล้วละก็ พวกเขาก็จะรู้สึกว่าตัวไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรบต่อไปมิไยว่าจะก่อความพินาศฉิบหาย และพลเรือนบาดเจ็บล้มตายมากเพียงใด

ผมหวังมากเลยนะครับว่าปูตินจะถูกโค่นเพราะเหตุนี้ แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีรัฐบาลรัสเซียชุดใดยอมถอนกำลังออกจากยูเครนโดยรวมและสละทิ้งไครเมียและดอนบาสง่ายๆ อย่างนั้น ดังนั้น รัสเซียคงจะไม่ถอนกำลังออกจากยูเครนในแบบที่สหภาพโซเวียตหรืออเมริกาได้เคยถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน ในที่สุดแล้ว ก็คงจะต้องมีทางแก้ไขผ่านการเจรจาบางรูปแบบให้รัสเซียถอนกำลังออกไปจนได้นั่นแหละ

ส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าเราทั้งหมดควรเจรจาหาทางแก้ไขกันเสียแต่เดี๋ยวนี้ เพราะก็เป็นไปได้ว่า ในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า เราก็จะได้ทางแก้ไขแบบเดียวกับที่เราอาจได้มาวันนี้โดยพื้นฐานนั่นเอง แน่ล่ะครับ ว่าข้อแตกต่างก็คือมันจะสิ้นเปลืองชีวิตชาวยูเครนไปอีกหลายหมื่นหลายแสนคน

 

ดั๊ก เฮนวูด : แล้วเรื่องภัยคุกคามนิวเคลียร์ล่ะครับ? ผมนี่พบว่าตัวเองหวนหาอาลัยฝ่ายนำของโซเวียตแต่ก่อนเลยทีเดียวเพราะอย่างน้อยพวกนั้นก็ดูเหมือนมีเหตุผล ปูตินนี่เขาเสียสติถึงขั้นที่เราควรถือเรื่องภัยคุกคามนิวเคลียร์เป็นเรื่องจริงจังไหมครับ?

อนาโตล ลีเวน : ไม่หรอกครับ ผมไม่คิดว่าอย่างนั้น เขารู้ด้วยเหตุผลที่ดียิ่งว่าผู้คนกลัวสงครามนิวเคลียร์ ในโลกที่มีเหตุผล ขืนทำอะไรแบบนั้นเข้าก็คงจะบ้า แต่แน่ล่ะครับว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกที่มีเหตุผล ในโลกที่เป็นจริง นิวเคลียร์เป็นอาวุธใกล้มือให้รัสเซียกวัดแกว่งข่มขวัญตะวันตก แต่นั่นน่ะไม่ได้หมายความว่าเขาจะปล่อยอาวุธนิวเคลียร์เข้าโจมตี และแน่นอนว่าพวกเราก็คงไม่ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ผมวิตกกว่าคือถ้าหากเราเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอย่างลึกซึ้งโดยถาวร ถ้าหากเรามีสงครามจรยุทธ์บริเวณชายแดนรัสเซีย ซึ่งบางทีก็อาจจะก่ายเกยไปเป็นการก่อการร้ายในรัสเซียเองที่ตะวันตกหนุนหลังโดยผ่านโปแลนด์ ถ้าเป็นแบบนั้น ระดับความตึงเครียดและศักยภาพจากการปะทะกันจะจัดอยู่ในประเภทที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในยุโรประหว่างมอสโกกับตะวันตกนับแต่การปิดล้อมกรุงเบอร์ลินเมื่อปี ค.ศ.1948 นั่นเทียว

และในสภาพความตึงเครียดและหวาดหวั่นอย่างสูงทั้งสองฝ่ายดังกล่าวนั้น มันย่อมมีความเป็นไปได้เสมอที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือการคำนวณผิดที่วิบัติหายนะบางอย่างขึ้น จำเป็นยิ่งจริงๆ ที่เราต้องจดจำรำลึกถึงจำนวนครั้งที่อาจเกิดการยิงอาวุธนิวเคลียร์ใส่กันโดยอุบัติเหตุระหว่างสงครามเย็น สุดท้ายแล้วมันก็มาลงเอยที่ปรีชาญาณและความรอบคอบรัดกุมของใครสักคนในแต่ละฝ่าย เพียงเพราะปูตินคงจะไม่จงใจยิงขีปนาวุธใส่เราแค่นั้น มันไม่ได้หมายความว่าไม่มีภัยคุกคามอยู่อย่างแท้จริงเลยนะครับ

(ต่อสัปดาห์หน้า)