‘เดวิด’ สไตล์ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

‘เดวิด’ สไตล์

 

คุณเคยเถียงกับเพื่อนเรื่องความทรงจำในอดีตไหมครับ

เถียงกันว่า “ความทรงจำ” ของใครถูกต้อง

เรื่องเดียวกัน แต่ละคนกลับจำได้ไม่เหมือนกัน

สมัยก่อน ผมจะเถียงกับเพื่อนเป็นประจำ

เพราะเป็นคนที่เชื่อเรื่อง “ความจำ” ของตัวเองมาก

โดยเฉพาะรายละเอียดของเรื่องราวต่างๆ

ครั้งหนึ่ง สมัยเป็นนักข่าวเด็กๆ ผมเคยสัมภาษณ์นักการเมืองระดับใหญ่เพื่อทำประวัติชีวิตของเขา

เป็นการสัมภาษณ์ที่ยาวนานมาก

ประมาณ 8 ชั่วโมง

เป็นยุคที่ยังใช้เครื่องอัดเทปเล็กๆ อัดเสียง

จำได้ว่าอัดไปเกือบ 10 ม้วน

สัมภาษณ์เสร็จเกือบเที่ยงคืน นั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน

ระหว่างทางก็เปิดเทปฟังเสียงสัมภาษณ์

เฮ้ย…

เฮ้ย…

ทำไมเสียงที่อัดไว้จึงรัวเร็ว ฟังไม่รู้เรื่อง

อาการง่วงหายวับไปพร้อมกับคำว่า “ชิบ”

ผมพลิกดูด้านล่างของเครื่องอัดเทป เป็นอย่างที่คาดไว้จริงๆ

ปุ่มที่กำหนดความเร็วการอัดเสียงขยับจากปกติไปอยู่ที่ตำแหน่งเร็วขึ้น

เสียงที่ควรฟังรู้เรื่องจึงกลายเป็นภาษาต่างดาว

ถ้าเป็นคนปกติธรรมดาคงไม่เท่าไร เพราะคงบอกเขาได้ถึงความผิดพลาดทางเทคนิค

ขอโทษแล้วขอสัมภาษณ์ใหม่ เขาคงให้อภัย

แต่คนนี้เป็นผู้ใหญ่ระดับรัฐมนตรี และสัมภาษณ์ยาวถึง 8 ชั่วโมง

แค่จะเอ่ยปากบอก ลิ้นไก่ก็ไม่ขยับแล้ว

โชคดีที่ผมบอกกติกาไว้ล่วงหน้าว่าสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นการคุยเพื่อวางโครงเรื่องแบบละเอียด

และจะมีการสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้งเพื่อเจาะตามโครงเรื่อง

ผมกลับถึงบ้านประมาณตีหนึ่ง อาบน้ำเสร็จก็นั่งพิมพ์โครงเรื่องจากความทรงจำทันที

เป็นโครงเรื่องขนาดยาวประมาณ 5 หน้า

เก็บทุกเม็ด ไม่มีหลุดเลยครับ

ส่งไปให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นอ่านในวันรุ่งขึ้น

เขาพอใจมาก ไม่มีแก้ไขเลย

จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์ตามโครงเรื่องอีกครั้ง และออกมาเป็นต้นฉบับเรียบร้อย

จนป่านนี้เขายังไม่รู้เลยว่าบทสัมภาษณ์ 8 ชั่วโมงนั้นไม่มีการถอดเทปและใช้ประโยชน์เลย

เมื่อ “ความจำ” ดีขนาดนี้ ผมจึงมั่นใจมากเวลาที่คุยถึงเรื่องในอดีต

เถียงเพื่อนอย่างมั่นใจทุกครั้ง

พยายามหาข้อมูลหลักฐานมายืนยันว่าเราถูก-เพื่อนผิด

แต่มาวันนี้ รู้เลยว่า “ความจำ” แบบนั้นเป็นเรื่อง “อดีต” ไปแล้ว

รอยหยักเริ่มไม่พอบรรจุข้อมูล

ตอนนี้ในบ้านผมมีกติกาข้อหนึ่งที่ผมกับภรรยายึดถือร่วมกัน

คือ ถ้าวันไหนคุยถึงเรื่องในอดีต และแต่ละคนจำไม่เหมือนกัน

เราจะหยุดทันที

ไม่ต้องเถียงกันว่าใครถูก-ใครผิด

เสียเวลา

เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสร้างกติกาขึ้นมาใหม่

ตอนที่เป็นนักข่าวและผู้บริหารใน “มติชน”

ผมจะใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงสแล็กส์ และรองเท้าหนัง เป็นประจำ

มีสูทแขวนไว้ที่ทำงาน

ถ้ามีแขกหรือต้องออกไปงานสำคัญก็จะใส่สูท

แต่ไม่ผูกเน็กไท เพราะผูกไม่เป็น

และไม่ชอบ

ทุกวันต้องคิดว่าจะใส่เสื้อตัวไหน กางเกงสีอะไร

น่าเบื่อมาก

จนเมื่อผมลาออกจาก “มติชน” เมื่อ 8-9 ปีก่อน

เป็น “ฟรีแลนซ์”

“ชุดทำงาน” ของผมก็เปลี่ยนไป

ผมนึกถึง “ไอดอล” ด้านการแต่งตัว

“พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล และ “อัสนี โชติกุล”

“พี่เก้ง” จะใส่เสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสีน้ำตาล

…ทุกวัน

เช่นเดียวกับ “อัสนี”

เขาใส่เสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนส์

…ทุกวัน

ผมก็เลียนแบบทันที

เปลี่ยนจากเสื้อเชิ้ต เป็นเสื้อโปโลสีดำ

กางเกงสแล็กส์เป็นกางเกงยีนส์สีดำ

และรองเท้าผ้าใบสีขาว

…ทุกวัน

ยกเว้นวันที่ต้องไปงานที่ต้องแต่งตัวเป็นทางการ

พอมี “เครื่องแบบ” ประจำ ชีวิตง่ายขึ้นเยอะเลยครับ

ไม่ต้องคิดว่าจะใส่เสื้อ หรือกางเกงตัวไหน สีไหนดี

หยิบตัวไหนก็ใส่ได้เลย

เพราะเหมือนกันทุกตัว

ใส่ประจำจนคนชิน

วันไหนอยากใส่สีอื่นบ้าง คนที่คุ้นเคยจะทักทันที

นึกถึงเรื่องนี้แล้วก็แปลกเหมือนกัน

เพราะตอนเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ผมเคยประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะออกกฎให้นักศึกษาต้องใส่เครื่องแบบ

ผมปฏิเสธเครื่องแบบ เรียกร้องเสรีภาพในการแต่งกาย

แต่วันนี้กลับสร้าง “เครื่องแบบ” ให้กับตัวเอง

555

บางทีอาจเป็นเพราะช่วงวัย

ในวัยที่ความคิดอิสระ เราต้องการทุ่งกว้างให้เราเลือกเดินได้

แต่พอถึงวัยหนึ่ง ทุ่งกว้าง ไม่ใช่ความจำเป็น

ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเราควรโฟกัสกับอะไร

สิ่งที่ไม่จำเป็น เราก็ลดทอนลง

การเถียงเรื่อง “ความทรงจำ” ในอดีตก็ไม่จำเป็น

เลิกเอาชนะ

ลดทอนปัญหาที่หาคนตัดสินไม่ได้ว่าใครถูก-ใครผิด

หรือการคิดว่าวันนี้จะใส่เสื้อตัวไหนก็ไม่จำเป็น

ลดทอนลงด้วยการสร้าง “เครื่องแบบ” ของตัวเอง

 

ตอนนี้ถ้ามีใครถามว่าวันนี้ใช้ชีวิตแบบไหน

ผมจะตอบเท่ๆ

“ใช้ชีวิตแบบเดวิด”

“เดวิด” ไหนหรือครับ

รูปปั้นเดวิด ของ “ไมเคิล แองเจโล” ไงครับ

จากหินอ่อนก้อนใหญ่ เขาค่อยๆ แกะสลักกลายเป็นรูปปั้นที่มีชีวิตขึ้นมา

เคยมีคนถามว่าเขาแกะสลักอย่างไร

“ไมเคิล แองเจโล” ตอบว่าเขามองเห็นรูปของเดวิดอยู่ในหินก้อนนั้นแล้ว

“สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ สกัดเอาส่วนที่ไม่ใช่เดวิดออกไป”

สกัดออก คือ การลดทอน

อะไรที่ไม่ใช่ ไม่จำเป็น

ก็เอาออกไป

แค่นั้นเอง

แต่อะไรควรเพิ่ม ก็ควรเพิ่มเข้าไป

เหมือน “บางอย่าง” ของรูปปั้น “เดวิด”

…เพิ่มได้อีก •