สงครามชิง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ระเบิด ‘ขุนศึก’ ต่างขั้ว ลั่นกลองรบ ‘อัศวิน’ ผนึก ‘กปปส.-ปีกอนุรักษ์’ ขอไปต่อ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สงครามชิง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ระเบิด

‘ขุนศึก’ ต่างขั้ว ลั่นกลองรบ

‘อัศวิน’ ผนึก ‘กปปส.-ปีกอนุรักษ์’ ขอไปต่อ

 

แน่ชัดสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศกำหนดให้เลือกตั้งในวันอาทิตย์ 22 พฤษภาคม 2565

นอกจากตรงกับวันครบรอบ 8 ปีการรัฐประหารของ คสช. ยังเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกในรอบ 9 ปีอีกด้วย

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 มีนาคม 2556 โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายชนะ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สองติดต่อกัน

ต่อมาปี 2559 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกกล่าวหาทุจริตโครงการติดตั้งอุโมงค์ไฟ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ขณะนั้น จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งพักงาน ก่อนมีคำสั่งอีกฉบับให้พ้นจากตำแหน่ง

พร้อมแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน

ส่งผลให้นับแต่นั้น ชาวกรุงเทพฯ ต้องอยู่กับผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถึงปัจจุบันนานกว่า 5 ปี

สงครามชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองหลวงครั้งนี้ จึงน่าจับตาการระเบิดศึกตั้งแต่นาทีแรก หลังการเปิดรับสมัครวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2565

ในส่วนของผู้สมัครล้วนแล้วแต่เป็นคนดัง มีทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตอธิการบดี อดีต ส.ส. อดีต ส.ว. อดีตผู้ว่าฯ กทม. อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. มีทั้งลงในนามพรรค ในนามกลุ่ม ในนามอิสระที่อิสระจริงๆ

และอิสระแบบมีพรรคหนุนหลังทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันแบ่งขั้วชัดเจน

สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้จึงเสมือนสงครามตัวแทนการเมืองฝั่งเสรีประชาธิปไตย กับฝั่งอนุรักษนิยมเชื่อมต่อกับฝ่ายอำนาจปัจจุบัน

ใครเป็นใคร อยู่ขั้วไหนเห็นได้จากจุดยืน แนวคิดและนโยบาย ตลอดจนปูมหลังที่มาของผู้สมัคร

เริ่มจากตัวเต็งอย่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ลงในนามอิสระ

แม้จะเคยเป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ด้วยฐานเสียงคนกรุงเทพฯ ที่มีความผันผวนปรวนแปรตามอารมณ์ ไม่เหมือนพื้นที่จังหวัดอื่น ทำให้นายชัชชาติ ตัดสินใจเลือกลงในนามอิสระ ด้วยความยินยอมพร้อมใจของพรรคเพื่อไทย

นายชัชชาติ มาในคอนเซ็ปต์ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ภายใต้สโลแกน “มาช่วยสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

ผู้สมัครอีกคนที่มาแรง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.ดาวสภา จากพรรคก้าวไกล สละตำแหน่ง ส.ส.โดดลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ตั้งเป้าโกยคะแนนเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ แนวคิดก้าวหน้าทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย คนหนุ่มสาววัยทำงาน พร้อมเปิดสโลแกนจุดยืนสอดรับกับพรรคก้าวไกลคือ “เมืองที่คนเท่ากัน”

แม้การลาออกจาก ส.ส.มาลงสนามท้องถิ่นของนายวิโรจน์จะทำให้หลายคนหวั่งเกรงจะเป็นการตัดคะแนนนายชัชชาติ ผู้สมัครขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกัน

แต่เนื่องจากกรุงเทพฯ คือเมืองหลวงของประเทศ เป็นแหล่งรวมฐานเสียงมวลชนอันโดดเด่นทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ที่ต้องยึดกุมไว้ให้ได้

จึงเป็นเรื่องยากที่พรรคการเมือง-นักการเมืองขั้วเดียวกันหรือต่างขั้ว จะยอมหลีกทางให้กัน

ที่น่าสนใจยังมี น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส.กทม. ลงชิงชัยในนามพรรคไทยสร้างไทย มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย เป็นแบ็กอัพหนุนหลังเต็มที่

เป็นการชิมลางสนามเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคไทยสร้างไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากคุณหญิงสุดารัตน์แยกตัวจากพรรคเพื่อไทย มาก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เป็นของตัวเอง

ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ จึงมีศักดิ์ศรี “เจ้าแม่ กทม.” เป็นเดิมพัน

 

สําหรับผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าผู้ว่าฯ กทม.หลายสมัย

รอบนี้เปิดตัว นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ลงชิงชัย พร้อมสโลแกนหาเสียง “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้”

ศึกครั้งนี้ของนายสุชัชวีร์ต้องแบกความหวังของคนในประชาธิปัตย์ไว้ทั้งหมด ภายใต้ภารกิจฟื้นฟูความเสียหายจากศึกเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้หมดรูปในสนาม กทม. ถึงขั้นสูญพันธุ์

ครั้งนี้จะกลับมาได้หรือไม่ต้องจับตา

ที่เรียกเสียงฮือฮาล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่ลาออกมาลงสมัครหวัง “เบิ้ล” เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สองติดต่อกัน

รอบนี้ลงเลือกตั้งโดยมี “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” ให้การสนับสนุน ยึดสโลแกน “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ”

ที่มาที่ไปของ พล.ต.อ.อัศวิน ผันตัวจากการเป็นตำรวจเข้าสู่แวดวงการเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

กระทั่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์โดนตรวจสอบทุจริต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ขณะนั้น ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลด พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม. แทน

รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งก่อนลาออกมาลงสมัครใหม่นาน 5 ปี 5 เดือนกับอีก 5 วัน

อีกคนที่ต้องจับตา นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครในนามอิสระ ใช้สโลแกน “กทม.ดีกว่านี้ได้”

นายสกลธีมีประวัติเป็นแกนนำกลุ่ม กปปส. เคยนำม็อบ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” จนเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้รับแต่งตั้งจาก พล.ต.อ.อัศวิน เข้ามาทำหน้าที่รองผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2559

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ก็คือ ทั้งนายสุชัชวีร์ พล.ต.อ.อัศวิน และนายสกลธี ล้วนมีความสัมพันธ์ผูกโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสองคนหลัง ยังเชื่อมต่อกับ กปปส.ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอีกด้วย

 

หากมองถึงแรงสนับสนุนทั้งของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และนายสกลธี ภัททิยกุล ล้วนมีที่มาเดียวกัน คือเสียงสนับสนุนจากแกนนำ กปปส.

เด่นชัดจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำม็อบ กปปส. ที่ประกาศหนุนนายสกลธี แบบสุดตัว

ด้วยการยกย่องผลงานตั้งแต่สมัยเป็น ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จนมาถึงรองผู้ว่าฯ กทม. ทำให้มีประสบการณ์เรื่องกรุงเทพฯ มากกว่าผู้สมัครคนอื่น

จากประสบการณ์เคยร่วมเป็นร่วมตายกันมา นายสุเทพมองว่าสามารถฝากอนาคตกรุงเทพฯ ไว้กับนายสกลธีได้

นอกจากนี้ ก่อนหน้านายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ และอดีตแกนนำ กปปส. ยังเคยพานายสกลธีเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงในทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว

ตามมาด้วยกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐได้ให้การสนับสนุนนายสกลธีแบบไม่เปิดเผยในการลงสู้ศึก แม้จะไม่ได้หวังผลในระดับสูงสุดก็ตาม

ส่วนแรงสนับสนุนของ พล.ต.อ.อัศวิน ฟากฝั่งกลุ่ม กปปส. มาจากนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. ที่ออกมาประกาศหนุน พล.ต.อ.อัศวินเต็มที่เช่นกัน

ด้วยเหตุที่เมื่อครั้ง พล.ต.อ.อัศวินดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ได้สร้างผลงานดูแลผู้ชุมนุม กปปส.ไว้อย่างประทับใจ

“ผมในฐานะที่ดูแลการ์ด กปปส. 3,000 คน และความปลอดภัยมวลมหาประชาชน ถ้าไม่ได้ พล.ต.อ.อัศวิน อันตรายจะเกิดมากกว่านี้” นายถาวรระบุ

 

การออกตัวสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ของนายถาวร เสนเนียม ด้วยการยกเรื่องที่เคยช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยการชุมนุมกลุ่ม กปปส. อาจเป็นไปด้วยเจตนาดี แต่ไม่ถูกจังหวะเวลา

เห็นได้จากปฏิกิริยาของ พล.ต.อ.อัศวิน ในวันแถลงเปิดตัวสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

“กปปส.ยังไม่รู้เลยคืออะไร กปปส.ก็ กปปส.ไปสิ ตอนเป็น ผบช.น.ผมดูแลทั้งหมด เสื้อเหลือง เสื้อเขียว เสื้อแดง ผมดูแลทั้งหมด ไม่ต้องไปยึดโยง”

ปฏิกิริยาของ พล.ต.อ.อัศวิน ส่วนหนึ่งอาจเพราะขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. จำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางและไม่สนับสนุนการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมาย

การที่นายถาวรนำเรื่องออกมาเปิดเผยในช่วงเวลาของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังจะเริ่มขึ้น อาจส่งผลด้านลบต่อ พล.ต.อ.อัศวิน มากกว่าด้านบวก โดยเฉพาะผลที่ตามมาจากการ “ชัตดาวน์กรุงเทพ”

แต่แน่นอนว่าหากมองลึกไปถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต.อ.อัศวิน กับนายถาวร ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความแน่นแฟ้น

ในการแถลงเปิดตัวทีมงานของ พล.ต.อ.อัศวิน ที่ปรากฏชื่ออดีตนายตำรวจ และอดีตข้าราชการระดับสูงใน กทม.หลายคนมาร่วมงาน

โดยเฉพาะ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีต ผบช.น.และเลขาธิการพรรคไทยภักดี ที่นายถาวรให้การสนับสนุนอยู่ พล.ต.ท.ชาญเทพยังเคยเป็นคณะทำงานของนายถาวร สมัยดำรงตำแหน่ง รมช.คมมาคมอีกด้วย

จึงยากจะปฏิเสธความสัมพันธ์อันดีระหว่าง พล.ต.อ.อัศวิน กับนายถาวร และยังเป็นการตอบคำถามที่ว่า ทำไมนายถาวรที่เคยเป็นรัฐมนตรี เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ถึงไม่สนับสนุนนายสุชัชวีร์ ไม่สนับสนุนนายสกลธี

 

สงครามชิงผู้ว่าฯ กทม.ที่บรรดาขุนศึกต่างขั้ว ลั่นกลองรบ ครั้งนี้จึงน่าจับตา

ไม่ว่าขุนศึกขั้วเดียวกัน แต่ต้องมาตัดคะแนนกันเอง หรือขุนศึกต่างขั้วที่ต้องห้ำหั่นกันอย่างสุดฤทธิ์

แต่ไม่ว่าต่างขั้ว หรือขั้วเดียวกัน ก็เป็นสิทธิ์โดยชอบตามระบอบประชาธิปไตยที่จะลงในนามอิสระ หรือในนามพรรค เป็นสิทธิ์ที่แต่ละพรรคจะส่งคนของตัวเองลงเลือกตั้ง หรือให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ความพิเศษของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 9 ปีของคนกรุง

แต่ยังเป็นเครื่องสะท้อนถึงภาพสนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ที่จะมีขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

สุดท้ายผลจะออกมาอย่างไร ประชาชนชาวกรุงเทพฯ จะตัดสินผ่านคูหาเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคมนี้