ออสการ์ 2022 ซีน ‘วิลล์ สมิธ’ ตบหน้าพิธีกร ก่อกระแสดราม่าเหนือ ‘รางวัล’ / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ออสการ์ 2022

ซีน ‘วิลล์ สมิธ’ ตบหน้าพิธีกร

ก่อกระแสดราม่าเหนือ ‘รางวัล’

 

เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา หลายคนคงได้ชมการถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 กันไปแล้ว โดยเฉพาะคอภาพยนตร์คงจะไม่พลาด

ความสนุกของออสการ์นอกจากจะลุ้นว่าภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบและเชียร์ จะได้รับการประกาศให้รับรางวัลอะไรบ้าง เรายังเฝ้าดูถึงการแสดงโชว์บนเวทีที่มักจะสรรหาครีเอทีฟมานำเสนอให้ผู้ชมได้ประทับใจกัน ซึ่งบางปีก็ทำออกมาได้งั้นๆ ชวนให้ผิดหวังก็มี

นอกจากนั้นแล้วบรรยากาศพรมแดงหน้างานก็สร้างสีสันไม่น้อย โดยเฉพาะเหล่าแฟชั่นนิสต้าทั้งหลาย ที่จะคอยดูว่าดาราดังๆ ฝ่ายหญิงจะสวมใส่ชุดของแบรนด์ดังใด เกิดหรือดับ

งานในปีนี้ก็ได้บรรยากาศของพรมแดงกลับมา เพราะสถานการณ์ของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในความรู้สึก จึงได้เห็นภาพของคนแต่งตัวสวยมารวมตัวกันคึกคักดุจเดิม โดยไม่ต้องสวมแมสก์กันเลย

ช่วงหลังๆ มานี่เรตติ้งของการถ่ายทอดสดรางวัลออสการ์ตกลงอย่างน่าใจหาย ผู้จัดจึงพยายามหากลยุทธ์ต่างๆ มาดึงความสนใจจากผู้ชม อย่างงานในปีนี้ก็ลดเวลาการจัดงานลงให้เหลือเพียงสองชั่วโมงกว่าๆ ให้กระชับไม่เยิ่นเย้อน่าเบื่อเกินไป

นอกจากนั้น ในช่วงพรมแดงก็ได้มีการเล่นเกมทายคำถามกับแฟนๆ ที่มารอชมดาราของพวกเขาด้วย และยังเปิดโอกาสให้แฟนๆ ได้ร่วมโหวตรางวัลประเภทป๊อปปูลาร์ต่างๆ เพื่อเรียกความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วม อย่างเช่น ภาพยนตร์ขวัญใจ และฉากที่น่าติดตาตรึงใจ เป็นต้น

Oscar 2022 /AFP

เพราะความพยายามสร้างกระแสในช่วงที่ผ่านมานี้ จึงมีประเด็นให้แฟนๆ กังขาและอดสงสัยไม่ได้ในหลายๆ ครั้ง อย่างเช่น การประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมผิด ในปี 2560 ว่าผิดจริงหรือแกล้งประกาศผิด

จนส่งผลให้ในปีนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จู่ๆ วิลล์ สมิธ ขึ้นเวทีไปตบหน้าคริส ร็อก ที่กำลังดำเนินรายการอยู่ เพราะไม่พอใจที่เอาเรื่องการป่วยของภรรยาของเขามาพูดเป็นเรื่องตลกบนเวที

ตอนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ตอนแรกก็นึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของรายการในงาน แต่พอเห็นสมิธพูดด่าใส่คริสอย่างหยาบคายด้วยสีหน้าและอารมณ์จริงจัง ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องหลอกกันเล่น แต่เป็นเรื่องจริงจนเกิดเป็นกระแสตามมา

โปรดิวเซอร์ผู้จัดงานในปีนี้ คงต้องเอากระเช้าดอกไม้ไปขอบใจวิลล์ สมิธ ที่ช่วยทำให้เกิดกระแสดราม่าขึ้นจนคนพูดถึงมากกว่ารางวัลที่ได้กันเสียอีก แม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ได้ดีถึงเรื่องการบูลลี่ที่สังคมแอนตี้กันมากในช่วงที่ผ่านมานี้ หลายคนจึงให้ความเห็นในเชิงสมน้ำหน้า ที่คริส ร็อก โดน แต่หลายเสียงก็บอกว่าสมิธก็ไม่น่าจะตอบโต้โดยใช้ความรุนแรงและหยาบคายเช่นนั้น ยังมีการแสดงออกที่สง่างามและสามารถตบหน้าผู้พูดได้โดยไม่ต้องตบจริงก็ได้

การกระทำของสมิธนั้นก็เพื่อปกป้องภรรยาของเขาที่ถูกบูลลี่ ซึ่งก็ช่างสอดคล้องกับคำกล่าวของเขาเมื่อขึ้นไปรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง “King Richard” ที่ก็พูดถึงเรื่อง “การปกป้อง” เช่นกัน

Will Smith /Sky News

สมิธกล่าวถึงบท Richard ที่เขาแสดงว่าเป็นพ่อที่คอยปกป้องครอบครัว เป็นพ่อที่ปกป้องลูกสาวของเขาเพื่อให้ได้รับแต่สิ่งที่ดี และเขาก็กล่าวกว้างไปถึงการปกป้องผู้คนจากสังคมที่เลวร้าย ระหว่างกล่าวสปีชนั้นเขาร้องไห้ออกมา

ไม่ทราบว่าเพราะความตื้นตันในเบื้องลึกของตัวละครที่เขาแสดงจนคว้ารางวัลมาได้ หรือเพราะมันย้อนไปแทงใจดำถึงเหตุการณ์ปกป้องภรรยาของเขาก่อนหน้านี้

ที่วิลล์สามารถคว้ารางวัลนี้มาได้ นอกจากจะเป็นการแสดงที่เขาขยี้มันได้อย่างลึกซึ้งจนกรรมการประทับใจแล้ว อาจเพราะเป็นเรื่องของความภาคภูมิในความเป็นอเมริกันชนด้วยก็ได้ เพราะในชีวิตจริงของ Richard William นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่ด้อยโอกาสเพื่อให้บรรลุถึงความฝันให้ได้แม้มันจะยากเย็นแค่ไหน ตามแบบฉบับอเมริกันดรีมแท้ๆ

Jessica Chastain /AFP

จากนำชายมาถึงนำหญิง ซึ่งผู้ที่ได้รับไปก็คือ “เจสซิกา แชสเทน” จากเรื่อง The Eyes of Tammy Faye นำมาจากเรื่องจริงของ Tammy Faye ที่เป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ชื่อดังในอดีต

สังเกตได้ว่าออสการ์จะรักบทบาทที่นำมาจากชีวิตจริงเป็นพิเศษ ผู้ที่พิชิตรางวัลประเภทนักแสดงนำหลายต่อหลายปีมาแล้ว คือผู้ที่รับบทที่สร้างจากคนจริงๆ อย่างอับราฮัม ลินคอล์น, มาร์กาเร็ต แธตเชอร์, วินสตัน เชอร์ชิล, คานธี, เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ เป็นต้น รวมทั้งในปีนี้ก็ด้วย ที่ตัวละครของนักแสดงนำชายและหญิงก็สร้างมาจากเรื่องจริง

นอกจากสองคนที่ได้รับรางวัลแล้ว ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคนอื่นก็สวมบทบาทจากเรื่องจริงหลายคน เช่น เลดี้ ไดอาน่า จากเรื่อง Spencer ที่คริสเตน สจ๊วต แสดง, ดาราตลก ลูซี่ บอลล์ จากเรื่อง Being the Ricardos ที่นิโคล คิดแมน แสดง, แบรนดี้ วิลเลี่ยม ภรรยาของริชาร์ด วิลเลี่ยม จากเรื่อง King Richard ที่อวนจานู เอลลิส แสดง

นักเขียนบทละครเวที โจนาทาน ลาร์สัน จากเรื่อง tick, tick…BOOM ที่ได้แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ สวมบทบาท

Troy Kotsur (Photo by Neilson Barnard/Getty Images)

ที่อยากจะเขียนถึงคือรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ที่ตกเป็นของทรอย คอตเชอร์ จาก CODA เขาเป็นนักแสดงชายหูหนวกคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ ซึ่งทรอยก็เป็นตัวเต็งจากการได้รับรางวัลมาแล้วหลายเวทีก่อนหน้านี้

ตอนที่ทรอยเดินเพื่อขึ้นไปรับรางวัล ภาพของผู้ร่วมงานลุกขึ้นแสดงความยินดีด้วยภาษามือที่แสดงถึงการปรบมือให้เกียรติเขานั้นช่างน่าประทับใจอย่างยิ่ง

ซีนที่ทรอยขึ้นรับรางวัล และกล่าวสปีชโดยใช้ภาษามือนั้น เขายืนเคียงข้างผู้ประกาศผล ซึ่งก็คือนักแสดงหญิงชาวเกาหลี “ยูน ยอ จอง” ที่ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในปีที่แล้วจากเรื่อง Minari

เป็นช็อตที่น่าประทับใจหนึ่งจากงานประกาศรางวัลออสการ์ในปีนี้ ด้วยมันแสดงถึงการเปิดใจที่กว้างขึ้นสำหรับความเป็น “ออสการ์” ที่แต่ไรมานั้นมีความเป็น “ฮอลลีวู้ดจ๋า” จนละเลย เพิกเฉย ไม่เปิดพื้นที่และโอกาสให้กับผู้มีความสามารถอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากตน

ที่ว่าแตกต่างไปจากตน ตนนั้นก็คือการเป็นคนผิวขาวชาวอเมริกัน ซึ่งกว่าคนผิวสีที่เป็นคนอเมริกันจะขยายพื้นที่ได้มากขึ้นอย่างในช่วงหลังนี้ก็ต้องใช้เวลาอย่างมาก อย่าหมายถึงความแตกต่างที่เป็นคนชาติอื่น ยิ่งชาวเอเชียด้วยแล้วอย่าได้หวัง หรือแม้คนพิการต่างๆ ก็กลายเป็นบุคคลชั้นสองไป

ดังนั้น เมื่อเห็นคนที่เคยเป็นประเภท “รองบ่อน” ได้มายืนอย่างเฉิดฉายและมีคุณค่าได้รับการยอมรับในความสามารถเช่นนี้ จึงเป็นความงดงามอย่างยิ่ง

Ariana DeBose /The Independent

จากนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม มาถึงนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลไปก็ไม่เกินการคาดเดาเช่นกัน นั่นก็คือ อาเรียนา เดโบซ จากเรื่อง “West Side Story” อาเรียนา สวมบทบาทของแอนนิต้า สาวเปอร์โตริกันที่มีความฝันในดินแดนอเมริกา ก่อนจะพบกับความผิดหวังและขมขื่น เธอทั้งร้องทั้งเต้นทั้งแสดงอย่างหมดจิตหมดใจจนชนะใจกรรมการไปได้

สำหรับบทแอนนิต้านี้ ผู้ที่แสดงในเวอร์ชั่นแรก คือ ริต้า มอริโน่ ก็เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาเดียวกันนี้มาก่อน จึงนับว่าเป็นบทที่ส่งให้ผู้แสดงได้ส่องประกายได้จริงๆ

สำหรับภาพยนตร์จากฝั่งเอเชียของเราที่ได้ก้าวชิงชัยในเวทีออสการ์ปีนี้เป็นผลงานจากฝั่งญี่ปุ่นบ้าง หลังจากเกาหลีใต้ได้สร้างความฮือฮาไปแล้วเมื่อสองปีก่อนกับผลงานเรื่อง Parasite ครั้งนี้ญี่ปุ่นมีเรื่องราวดราม่าประทับใจในเรื่อง Drive My Car มาประชันขันแข่ง

แต่ก็ทำได้เพียงรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมเท่านั้น พลังของหนังยังไม่แข็งแรงให้ได้รับเพิ่มเติมในสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม เหมือนที่ Parasite เคยทำได้

ถึงอย่างนั้นก็น่าดีใจที่ผลงานจากเอเชียของเรามีพื้นที่ให้ได้แสดงตัวตน

 

มีหนังหลายเรื่องที่ผมเองยังไม่ได้ดู รวมทั้งเรื่อง CODA ที่เข้าชิง 3 รางวัลก็สมหวังไปทั้ง 100% คือได้จากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

โลกของภาพยนตร์ก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป คนที่มีความสามารถหน้าใหม่ๆ ก็ได้มีพื้นที่และฉายแววมากขึ้น สำหรับโลกของการเมืองไทยนั้น ยังคงวนเวียนอยู่กับผู้แสดงหน้าเดิมๆ บทเน่าๆ เดิมๆ บางทีถ้าเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่ๆ ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถมากขึ้น หลายอย่างอาจจะดีขึ้นก็เป็นได้

ถ้าเป็นไปได้ตามที่ว่าจริง ขอเชิญชวนให้ทุกคนยืนขึ้นพร้อมแสดงท่าปรบมือแบบภาษามือ คือ กางแขนตั้งขึ้นสั่นมือไปมาเร็วๆ สั่นให้ถี่ๆ เลยครับ แสดงถึงเสียงที่ดังและพึงพอใจมากๆ นั่นเอง •