จดหมาย ฉบับประจำวันที่ 1-7 เมษายน 2565 ฉบับที่ 2172

 

จดหมาย

 

• เสียงประชาชน (1)

เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน

ร่วมยื่นกว่า 13,000 รายชื่อ จากแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org

ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพื่อรับทราบว่า “พวกเราคัดค้านและไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกรูปแบบ”

ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายได้จัดเวทีเสวนา ประชุม ออกแถลงการณ์ พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความความกังวลและคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. แล้วอย่างน้อย 10 ครั้ง

แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

กระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังเดินหน้าจัดทำต่อไป

เครือข่ายจึงได้จัดให้มีการรณรงค์รวบรวบรายชื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์ไม่แสวงหากำไร พ.ศ….

และมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. ยกเลิกกระบวนการร่างและผลักดันพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. โดยทันที

2. เรียกร้องให้ทุกขั้นตอนในการร่างกฎหมายมีการสร้างระบบและพื้นที่รับฟังความคิดเห็น อย่างโปร่งใส เข้าถึงได้ และไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งประเมินผลกระทบต่อสาธารณะและองค์กรประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างแท้จริง

3. ประกันว่าสิทธิในการสมาคมรวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในการดำเนินงาน ต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย และปราศจากการแทรกแซงที่ไม่ได้สัดส่วนของรัฐ เพื่อความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการสมาคม

ทั้งนี้ เครือข่ายเป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาสังคมด้านต่างๆ รวมจำนวน 1,867 องค์กร ที่รวมตัวกันเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์ไม่แสวงหากำไร พ.ศ…. นี้

เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน

 

ดูเหมือนว่าความต้องการควบคุมเอ็นจีโอของรัฐบาลชุดนี้

ดูจะแน่วแน่มาก

ไม่รู้ว่าจะเร่งรีบออก ก่อนยุบสภาหรือไม่

ความจริง เรื่องนี้หากจะให้ดี

น่าจะเป็นประเด็น “เปิด”

ให้พรรคการเมืองนำไปใช้เป็นประเด็นหาเสียง

ว่าแต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างไร

เพื่อให้ชาวบ้านได้ตัดสิน

 

 

• เสียงประชาชน (2)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “ความหนักใจของคนไทย ณ วันนี้”

กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,047 คน สำรวจระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2565

พบว่า เรื่องที่ประชาชนหนักใจมากที่สุด อันดับ 1 คือ ของแพง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 89.73

โดยรู้สึกค่อนข้างหนักใจกับปัญหาต่างๆ ร้อยละ 56.73

หนักใจมาก ร้อยละ 38.78

สาเหตุที่ทำให้หนักใจคือ ทุกอย่างขึ้นราคา ร้อยละ 80.97

รองลงมาคือ การแก้ปัญหาของรัฐบาล ร้อยละ 57.10

ทั้งนี้ ประชาชนรับมือกับปัญหาด้วยการตั้งสติ อดทน ให้กำลังใจตัวเอง ร้อยละ 76.14

อยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็น ช่วยเหลือประชาชนให้มากขึ้น ร้อยละ 75.77

ในภาพรวมรายได้ของประชาชน ณ วันนี้ไม่พอใช้และมีหนี้สิน ร้อยละ 41.26

จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก และต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง รวดเร็ว แก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยเชิญผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เข้าใจอย่างถ่องแท้เข้ามาช่วย ฟังเสียงประชาชนอย่างจริงใจ เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นจริง

ทางรัฐบาลนั้นเชื่อว่าขณะนี้ค่อนข้างทำงานหนักเพราะเจอสถานการณ์วิกฤตต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า ความวัวไม่ทันหาย ความวุ่นวายอย่างอื่นก็เข้ามาแทรกตลอดเวลา

ข้อสังเกตจากผลโพลอีกประการหนึ่งในเรื่องวิธีรับมือปัญหาหนักใจคือ การตั้งสติ ยอมรับ ปลงนั้น ประชาชนไม่ควรท้อ กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาแล้วหาทางออกอย่างมีสติ ไม่ว่าจะฐานะใด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้นดีที่สุด เพราะจะมองเห็นปัญหาก่อนเพื่อการแก้ไขที่รวดเร็วและตรงจุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาถ ทนันชัย

ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรการจัดการบัณฑิต

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

การที่ชาวบ้านสะท้อนความรู้สึกผ่านโพล

ตั้งสติ ปลง อดทน ให้กำลังใจตัวเอง

กับการเผชิญปัญหาอันน่าหนักใจนั้น

ด้านหนึ่ง ก็เป็นการบอกนัยๆ

ถึงการไม่คาดหวังอะไรจากรัฐบาลแล้วนั่นเอง

รัฐบาลคงไม่เข้าใจผิดว่าชาวบ้านช่วยแบ่งเบาภาระตนเองกระมัง!?! •