ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

มีข่าวดีมาบอก

4 เมษายน 2565 อันเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

แน่นอน นโยบายและโครงการต่างๆ คงถูกนำเสนอออกมาทะลักทลายเป็น “เขื่อนแตก”

เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชน “ฟัง” และ “เลือก”

ซึ่งในฝั่งฟากประชาชนเอง นอกจาก “ฟัง” ดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าก็คงต้องการให้ “ผู้เสนอตัว” เหล่านี้ ได้ “ฟัง” ประชาชนด้วยเช่นกันว่า ต้องการให้ทำ ให้แก้อะไร

มติชนสุดสัปดาห์ ในฐานะสื่อ จึงเสนอตัวเป็นเวทีให้เสียงประชาชนก้องไปถึงผู้เสนอตัวเหล่านั้น

โดยจัดเวทีเสวนา “Parasite หรือ Paradise : ไฉนกรุงเทพฯ เป็นเมืองเหลื่อมล้ำ” ขึ้นมา

ในวันที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 น.

เป็นการเสวนาสด ผ่านออนไลน์ Facbook Matichon Weekly – มติชนสุดสัปดาห์, Matichon Online – มติชนออนไลน์, Khaosod – ข่าวสด, Prachachat – ประชาชาติ / Youtube มติชนสุดสัปดาห์, มติชนทีวี / Line @ข่าวสด

สามารถติดตามชมและรับฟังได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

สําหรับผู้เข้าร่วมการเสวนา ที่จะเป็นตัวแทนสะท้อนนำข้อเสนอจากฝั่งฟากประชาชน ก็น่าสนใจยิ่ง

นับแต่ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

มีประสบการณ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

จนไปเข้าตานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดึงตัวมาช่วยในคณะทำงานด้านนโยบาย

เธอจึงเป็นเสมือนข้อต่อที่จะนำข้อเสนอประชาชนไปประสานกับข้อเสนอจากฝ่ายผู้สมัครได้เป็นอย่างดี

 

วิทยากรคนที่สอง

กชกร วรอาคม สตรีรุ่นใหม่ แห่งวงการภูมิสถาปนิก มีผลงานการออกแบบงานภูมิทัศน์และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะหลายแห่ง

อาทิ สวนเกษตรลอยฟ้าใจกลางสยามสแควร์ Siam Green Sky

ออกแบบสระว่ายน้ำสำหรับผู้พิการทางสายตา มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย

ออกแบบอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ 28 ไร่ ที่ออกแบบให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมือง ที่สมาคมสถาปนิกสยาม มอบรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี พ.ศ.2561

ออกแบบอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เป็นห้องเรียนกลางแจ้ง เพื่อเรียนรู้ประชาธิปไตย

ประสบการณ์และความชำนาญของเธอน่าจะนำไปสู่ข้อเสนอที่น่าสนใจยิ่งในการออกแบบเมือง

 

วิทยากรคนที่สาม อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

เป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

เชี่ยวชาญการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำและความเป็นเมือง

เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อเมืองมากมาย

ทั้งการดูแลและสนับสนุนด้านการศึกษาของเด็กบนท้องถนนใน กทม.

การเข้าถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่ กทม.

การวิจัยเพื่อท้องถิ่นจากมิติยุทธศาสตร์เรื่องความเป็นธรรมและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

วิทยากรคนที่สี่ “น้องธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์” ที่คนไทยรู้จักกันดี

สำหรับสาวน้อยที่ไปประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ชน จนสูญเสียขาทั้งสองข้าง

แทนที่เธอจะจมดิ่งในความมืด

แต่กลับใช้ประสบการณ์อันเลวร้ายนั้น กลับมามองโลกในแง่งาม ผ่านบุคลิกร่าเริงสดใส

จนได้รับสมญา “น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก”

เธอจะนำมุมมองการปรับตัวในการใช้ชีวิต “คนเมือง” ในช่วงที่ต้องพบเจอวิกฤตมาเป็นกำลังใจ

 

เหล่านี้น่าจะทำให้เวทีเสวนาออนไลน์ “Parasite หรือ Paradise : ไฉนกรุงเทพฯ เป็นเมืองเหลื่อมล้ำ”

น่าสนใจยิ่ง

อย่าพลาด 15.00 น. วันที่ 4 เมษายน 2565 •