‘สถานะชาติเป็นกลาง’ ทางออกสงครามยูเครน-รัสเซีย?/บทความต่างประเทศ

Turkish President Tayyip Erdogan addresses Russian and Ukrainian negotiators before their face-to-face talks in Istanbul, Turkey March 29, 2022. Murat Cetinmuhurdar/Presidential Press Office/Handout via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS PICTURE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY. NO RESALES. NO ARCHIVES.

บทความต่างประเทศ

 

‘สถานะชาติเป็นกลาง’

ทางออกสงครามยูเครน-รัสเซีย?

 

เวลานี้สงครามในประเทศยูเครนยังคงร้อนระอุ กองทัพรัสเซียยังคงโจมตีหลายๆ เมืองของยูเครนอย่างต่อเนื่อง

ในอีกฟากหนึ่งตัวแทนของยูเครน และรัสเซีย ก็นั่งโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งในครั้งนี้

และหนึ่งในหัวข้อเจรจาสำคัญที่สองฝ่ายกำลังหารือกันนั่นก็คือ “สถานะชาติเป็นกลาง” ของยูเครน

“สถานะชาติเป็นกลาง” ไม่ใช่เรื่องใหม่โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป แต่มีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเย็น โดย “สถานะเป็นกลาง” นั้นเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศสำหรับ “ประเทศที่เล็กกว่า” ในการปกป้อง “บูรณภาพของชาติ” ตนเองเอาไว้จากชาติชาติมหาอำนาจ

สถานะเป็นกลาง ถูกอธิบายเอาไว้ง่ายๆ ว่าหมายถึงการที่โลกเห็นชอบที่จะให้นำบางสิ่งบางอย่างออกจากนโยบายต่างประเทศของชาติใดชาติหนึ่ง ที่ทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันที่จะไม่โจมตีชาตินั้นๆ

สำหรับในยุโรป เคยมีตัวอย่างมาแล้วก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นชาติในสหภาพยุโรป (อียู) อย่างออสเตรีย, ฟินแลนด์, สวีเดน, ไอร์แลนด์ และมอลตา รวมไปถึงชาตินอกอียูอย่างสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง โดยประเทศเหล่านี้มีกองทัพเป็นของตัวเองและยังคงมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเองได้หากมีใครมาละเมิดความเป็นกลางของชาติ

 

ฟินแลนด์เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับยูเครน เนื่องจากเป็นชาติที่มีชายแดนติดกับรัสเซียยาวถึง 1,200 กิโลเมตร โดยฟินแลนด์ถูกสหภาพโซเวียตรุกรานในปี 1939 และแม้ฟินแลนด์จะทำสงครามปกป้องเอกราชของตัวเองเอาไว้ได้ แต่ก็ต้องทำสนธิสัญญามิตรภาพกับสหภาพโซเวียตในปี 1948 เพื่อป้องกันไม่ให้โซเวียตรุกรานฟินแลนด์อีก โดยฟินแลนด์ยอมที่จะมีสถานะชาติเป็นกลางในช่วงสงครามเย็นหลังจากนั้น

ด้านออสเตรียได้สถานะชาติเป็นกลางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เข้ายึดครองออสเตรีย

ออสเตรียจึงต้องยอมที่จะประกาศเป็นชาติที่มีสถานะเป็นกลางเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถูกยึดครอง โดยออสเตรียบรรจุเรื่องในลงรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 ตุลาคม ปี 1955 โดยกำหนดไว้ว่าออสเตรียจะไม่เลือกข้างในสงครามใดๆ ในอนาคต และจะไม่อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติเข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศด้วย

 

สําหรับยูเครนนั้น ล่าสุดได้เปิดข้อเสนอเกี่ยวกับ “สถานะชาติเป็นกลาง” ของตนออกมาแล้วในการเจรจาที่ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยยูเครนพร้อมที่จะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางการทหารใดๆ ซึ่งรวมไปถึงนาโต และจะไม่ให้ประเทศเป็นที่ตั้งฐานทัพกับต่างชาติ

และเพื่อไม่ให้ยูเครนถูกรุกรานอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงคราม แน่นอนว่าเงื่อนไขเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยการได้รับการ “รับรองด้านความมั่นคง” จากชาติอื่นๆ ด้วย

ข้อเรียกร้องของยูเครนในเรื่องนี้ ยูเครนต้องการให้มีการลงนามในสนธิสัญญาระดับนานาชาติ ลงนามโดยชาติผู้ให้การรับรองความมั่นคง โดยมีรายละเอียดคือ

1. กรณีเกิดสงคราม หรือการรุกราน หรือปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ชาติผู้ให้การรับรองมีข้อผูกมัดทางกฎหมายที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับยูเครนภายใน 3 วัน

2. ความช่วยเหลือจะเป็นรูปแบบของการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และการปิดน่านฟ้า ความช่วยเหลือซึ่งชาติตะวันตกปฏิเสธที่จะทำในสงครามยูเครนเวลานี้

3. ผู้ให้การรับรองจะเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รวมถึงรัสเซีย ซึ่งจะต้องมีการหารือแยกส่วนออกไป

4. ยูเครนต้องการให้ตุรกี เยอรมนี แคนาดา อิตาลี โปแลนด์ และอิสราเอล มีส่วนร่วมเป็นผู้ให้การรับรองความมั่นคงกับยูเครนด้วย

5. การรับรองความมั่นคงจะไม่บังคับใช้ในดินแดนที่รัสเซียยึดครองอย่างโดเนตสค์ และลูฮานสค์ เป็นการชั่วคราว

และ 6. ชาติผู้ให้การรับรองความมั่นคงจะต้องไม่คัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของยูเครน และต้องให้ความช่วยเหลือในกระบวนการนั้นด้วย

 

ด้านรัสเซียเวลานี้ยังไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัสเซียยืนยันที่จะลดปฏิบัติการทางทหารลงในบริเวณโดยรอบกรุงเคียฟ และเมืองเชอร์นิกอฟ ตอนเหนือของยูเครนลง ซึ่งนั่นส่งสัญญาณที่ดีต่อการเจรจาในขั้นต่อไปได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม “สถานะชาติเป็นกลาง” ของยูเครน ก็ยังคงมีคำถามตามมาเช่นกัน เมื่อในเวลานี้ รัสเซียยังคงใช้ขีปนาวุธและปืนใหญ่ถล่มเข้าใส่โครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่ชุมชนของยูเครนอย่างต่อเนื่องในหลายเมืองไม่เฉพาะแต่กรุงเคียฟ และเชอร์นิกอฟเท่านั้น

ล่าสุดมีพลเรือนชาวยูเครนเสียชีวิตแล้วมากว่า 1,000 คน ชาวยูเครนมากกว่า 10 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ในจำนวนนี้กว่า 4 ล้านคนต้องหนีออกจากประเทศ

นั่นส่งผลให้ชาวยูเครนส่วนใหญ่อาจจะยังคงเห็นว่าการยอมรับสถานะชาติเป็นกลางเหมือนกับเป็นการถูกปืนจี้บังคับขู่เข็ญ และยากเกินกว่าที่จะยอมรับได้ นั่นอาจจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยข้อตกลงหยุดยิงโดยสมบูรณ์ก่อนหรือไม่?

นอกเหนือจากนั้นยังมีคำถามตามมีอีกเช่นกันในเรื่องของ “ดินแดน” ของยูเครน ว่า รัสเซียจะเรียกร้องให้รับรองแคว้นไครเมีย ที่รัสเซียผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2014 รวมถึงบางส่วนของแคว้นดอนบาส ให้เป็นของรัสเซียอย่างเป็นทางการเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยหรือไม่?

 

แน่นอนว่าคำถามเหล่านี้ย่อมถูกนำมากางบนโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนของรัสเซียและยูเครนในรอบต่อๆ ไป และแน่นอนว่าคงไม่ง่ายที่จะหาจุดลงตัวได้ และจะยิ่งยากเป็นเท่าทวีคูณหากสงครามยังคงดำเนินต่อไป

เวลานี้ความเห็นของผู้สังเกตการณ์มองออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่า การเจรจาหารือ ถกเถียง ที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นเพียงส่วนประกอบ แต่ผลลัพธ์ของสงครามที่แท้จริงนั้นจะตัดสินกันในสนามรบเท่านั้น

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ทุกสงครามย่อมจบลงด้วยข้อตกลงเสมอ ดังนั้น ยิ่งทำข้อตกลงเพื่อให้ยูเครนมีสถานะเป็นกลางได้เร็วเท่าใดก็ยิ่งเลี่ยงโศกนาฏกรรมได้มากขึ้นเท่านั้น

หรือไม่เช่นนั้น ยูเครนอาจมีชะตากรรมเดียวกันกับ “อัฟกานิสถาน” ก็เป็นได้