ตบเพื่อ ‘เธอ’ ขย้ำ ‘เพื่อไทย’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ตบเพื่อ ‘เธอ’

ขย้ำ ‘เพื่อไทย’

 

เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

และช็อกผู้ชมถ่ายทอดสดการประกาศผลรางวัลออสการ์ไปทั่วโลก เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อ “วิลล์ สมิธ” นักแสดงชื่อดัง เดินขึ้นไปบนเวที และตบหน้า “คริส ร็อก” นักแสดงตลกชื่อดังอย่างแรง หลังจากขึ้นทำหน้าที่พิธีกร และเล่นมุขตลกโดยเอ่ยถึง “เจดา พินเก็ตต์ สมิธ” ภรรยาของวิลล์ ที่มีอาการป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia) อันเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอต้องตัดผมเกรียนติดหนังศีรษะ

โดย”คริส ร็อก” กล่าวล้อเลียนว่า “เจดา รอไม่ไหวที่จะเล่น ‘จีไอ เจน’ ภาค 2” ภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยเดมี่ มัวร์ ซึ่งต้องโกนศีรษะเพื่อเล่นภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน

มุขดังกล่าว ทำให้วิลล์เดินขึ้นไปบนเวทีและตบหน้าคริสอย่างจังจนหน้าหัน ก่อนจะเดินกลับลงมานั่งที่ และตะโกนกลับขึ้นไปบนเวทีอีกครั้งว่า “อย่าพูดชื่อเมียชั้นจากปากพล่อยๆ ของแกอีก”

ด้านร็อกแสดงอาการตกตะลึงและพูดว่า “นั่นเป็นวันที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์วงการทีวี” ก่อนที่ร็อกจะทำหน้าที่ต่อไป

เช่นเดียวกับวิลล์ สมิธ ยังอยู่ร่วมรายการต่อไป และสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม จากบทบาท “ริชาร์ด วิลเลียมส์” พ่อของ “วีนัส” และ “เซเรนา” วิลเลียมส์ สองนักเทนนิสหญิงชื่อดังระดับโลก จากภาพยนตร์เรื่อง “King Richard” ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ทั้งน้ำตาว่า

“ผมอยากขอโทษสถาบันวิทยาการและศิลปะภาพยนตร์ อยากขอโทษเพื่อนผู้ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัล นี่ควรเป็นช่วงเวลาที่สวยงาม แต่ตอนนี้ผมดูเหมือนเป็นพ่อบ้าๆ ความรักจะทำให้คุณทำเรื่องบ้าๆ ได้”

เหตุการณ์นี้ แม้ “วิลล์ สมิธ” จะทำไปเพื่อปกป้องภรรยา

แต่สถาบันวิทยาการและศิลปะภาพยนตร์ (อคาเดมี) ผู้จัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ได้ทวีตข้อความระบุว่า “อคาเดมีไม่ยอมรับความรุนแรงในทุกรูปแบบ”

และจะทำการสอบสวนเรื่องนี้

โดยการกระทำของวิลล์ สมิธ อาจนำไปสู่การร้องขอให้ส่งคืนตุ๊กตาออสการ์ เนื่องจากเป็นการละเมิดหลักจรรยาบรรณของสถาบัน ที่ระบุถึงการไม่แบ่งแยก สร้างบรรยากาศแห่งการสนับสนุนความรุนแรง และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คนในแวดวงบันเทิงต่างชี้ว่า วิลล์ สมิธ ไม่สามารถควบคุมความโกรธและความรุนแรงได้

เขาเสียสติไปแล้ว

 

ปฏิกิริยาไม่ยอมรับพฤติกรรมรุนแรงของวิลล์ สมิธ ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนในที่สุดเขาต้องโพสต์ในอินสตาแกรมขอโทษในสิ่งที่ทำไป

“ผมอยากขอโทษคุณในที่สาธารณะ คริส ผมทำผิด และผมก็ผิด”

“ความรุนแรงในทุกรูปแบบเป็นพิษและเป็นอันตราย พฤติกรรมของผมในงานเมื่อคืนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และให้อภัยไม่ได้”

“ผมเสียใจอย่างสุดซึ้งที่พฤติกรรมของผมได้สร้างความแปดเปื้อนในการเดินทางที่แสนวิเศษของพวกเราทุกคน” สมิธระบุ

คำขอโทษนี้จะได้รับการอภัยจากสังคมเพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไป

แต่ก็เป็นบทเรียนอันสำคัญว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไม่ว่าจะมีเหตุผลอธิบายอย่างไรก็ตาม

แต่ก็ดูเหมือนสังคมจะยอมรับไม่ได้

 

นั่นเป็นประวัติศาสตร์อันเหนือความคาดหมาย บน “เวทีออสการ์”

ย้อนกลับมาพิจารณเวทีการเมืองไทย

แม้จะเป็น “คนละเรื่อง” เดียวกัน แต่ก็มากด้วยดราม่าเช่นกัน

เป็นดราม่าที่ต่างจากเวทีข้างต้น

ด้วยเกิดปรากฏการณ์ “ไม่เหนือความคาดหมาย”

เพราะพลันที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ปรากฏกายบนเวทีของพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความคาดหมายว่า เธอนี่แหละจะเป็นเคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ภายใต้ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์

ก็มีฝ่ายที่ต่อต้านตระกูลชินวัตร เปิดตัวรุม “ขย้ำ” อย่างไม่ยั้ง

ตั้งแต่แรมโบ้อีสาน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์อำนาจในทำเนียบรัฐบาล โดยสวมหมวกผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า “นายทักษิณ ชินวัตร กำลังสร้างตราบาปให้กับคนในครอบครัว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเครือข่ายอดีตรัฐมนตรีหลายคนที่ติดคุกติดตะราง”

“การที่คุณอุ๊งอิ๊งเข้ามาเล่นการเมือง ก็จะถูกครอบงำ ชักใย เป็นการสืบทอดอำนาจ เป็นทายาทอสูร ซึ่งสิ่งที่ผมเป็นห่วงคือกลัวว่าจะเจอวิบากกรรมเหมือนนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

 

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ที่เคยมีบทบาทนำมวลชนโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุตอนหนึ่งว่า ที่นายทักษิณส่ง น.ส.แพทองธารมาเดินเกมการเมือง เพื่อหวังเป็นนายกฯ หญิงอีกคนของตระกูลนั้น อย่ากังวลใจว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง ให้นึกว่าเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของการเมือง ไม่ต้องไปวิตกกังวลมาก เพราะเราเคยรู้เห็น ประสบกันมาแล้วว่าระบอบทักษิณทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไร

“ผมไม่คิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนการ หรือตามความฝันของคุณทักษิณ เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไปมากแล้ว ประชาชนทุกฝ่ายได้รับข้อมูลข่าวสารพร้อมกัน เร็วเท่ากัน มีการวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความรู้กัน ฉะนั้น ทุกคนก็รู้ข้อเท็จจริงมากพอๆ กัน หลอกไม่ง่ายเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนที่คุณทักษิณเคยทำ ผมไม่รู้สึกกังวลใจ” นายสุเทพระบุ

 

ด้านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นประหนึ่งพรรค 250 เสียงสนับสนุนนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายวันชัย สอนศิริ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “ทนายวันชัย สอนศิริ” ที่แม้จะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ก็สามารถเป็นตัวแทนสะท้อนความรู้สึกที่ฝังอยู่ในวุฒิสมาชิกได้ระดับหนึ่ง

นายวันชัยระบุว่า “ทักษิณใจเร็วด่วนได้ ทำลายพรรค ทำลายครอบครัว ทุกคนกำลังจับจ้องดูความเปลี่ยนแปลงของเพื่อไทยภายใต้การนำของ นพ.ชลน่าน คงจะลดความขัดแย้งสร้างความปรองดองกับทุกฝ่าย สร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง พรรคเพื่อไทยกำลังจะถูกปลดปล่อยจากตระกูลชิน”

“แต่พอประกาศตัวอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร หัวหน้าพรรคอย่าง นพ.ชลน่านหมดท่าไปเลย รัศมีดับแสงไปทันที เห็นหน้านายทักษิณลอยทะมึนขึ้นมาบดบังพรรคเพื่อไทยไปในบัดดล หงายไพ่เล่นกันไปเลยว่าทักษิณมาแล้ว นพ.ชลน่านไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริง”

“ต้องยอมรับว่านายทักษิณมีทั้งคนรักและคนเกลียดแบบเข้ากระดูกดำ แม้จะผ่านไป 7-8 ปี ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะลุกขึ้นมาขัดแย้งกัน แล้วคุณจะรีบมาทำไม ส่งอุ๊งอิ๊งเข้ามาตายในสนามการเมืองทำไม เกมนี้ผมว่าเป็นการทำลายพรรค ทำลายลูก ทำลายครอบครัวแบบเลือดเย็น” นายวันชัยระบุ

 

ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า “คุณทักษิณและครอบครัวตัดสินใจเปิดหน้าชก เทหน้าตัก ใช้ชีวิตของลูกสาวคนโปรดเป็นเดิมพันเพื่อสู้ทางการเมือง น่าจะเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของคุณทักษิณ หลังจากถูกรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้ง หากมีรัฐบาลแพทองธารขึ้นมาอีก ไม่มีหลักประกันใดว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก”

สอดคล้องกับเฟซบุ๊ก “Warong Dechgitvigrom” หรือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตหัวหน้าพรรคไทยภักดี ที่มีจุดยืนต่างจากนายทักษิณอย่างสุดขั้ว โพสต์ข้อความว่า “อุ๊งอิ๊งจะขึ้นมาเป็นนายกฯ หรือจะเอา ‘โอ๊ค’ มาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยด้วยก็ได้ แต่พวกคุณต้องยอมรับหลักนิติรัฐ นิติธรรม หลักความถูกต้อง เพราะนี่คือระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าพวกคุณคิดว่าได้เป็นนายกฯ แล้ว อยากจะทำอะไรก็ได้ ไม่สนใจถูกผิด ไม่สนใจกฎหมายบ้านเมือง ก็ไม่ต่างจากเผด็จการ ถึงไทยภักดีจะเป็นพรรคเล็ก พวกเราจะสู้กับพวกคุณ ถ้าไม่มีแผ่นดินอยู่ อย่ามาว่ากันนะ”

 

การออกมา “รุมขย้ำ” อย่างเป็นขบวนเช่นนี้

พรรคเพื่อไทยอยู่เฉยไม่ได้ มีการตอบโต้จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยบอกว่า อยากให้ประชาชนติดตามว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ พรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการพรรค มีการรีแบรนด์ ปรับปรุงโครงสร้างตัวเอง ก็เพื่อเป็นสถาบันทางการเมือง ถ้าครอบครัวเพื่อไทยได้รับการตอบรับทั้งแผ่นดิน 10-12 ล้านเสียง อะไรจะเกิดขึ้น นั่นคือการยอมรับ และสนับสนุน ไม่ใช่ทำให้อนาคตทางการเมืองของ น.ส.แพทองธารดับเหมือนที่นายวันชัยพูด เราจะพิสูจน์ที่ผลงานที่ประชาชนตอบรับน่าจะดีกว่า” นพ.ชลน่านกล่าว

ขณะเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย ที่ห่างหายจากเวทีไปนาน

ก็กลับมาปรากฏตัวและปกป้อง น.ส.แพทองธาร โดยชี้ว่า เข้ามาทำงานการเมืองเป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นความสามารถส่วนบุคคล อย่าโจมตีเด็กที่บริสุทธิ์ทางการเมือง ไม่อยากให้คนที่มีความตั้งใจ และบริสุทธิ์ใจทางการเมืองต้องมาแปดเปื้อนเพราะนักการเมืองจัญไรบางคน

“เรื่องนี้มีการวางแผนกันไว้เพื่อสกัดกั้นบุตรสาวนายทักษิณ ประชาชนจะเลือกใครไม่ใช่เรื่องของพวกท่าน แต่เป็นเรื่องของประชาชน” ร.ต.อ.เฉลิมระบุ

 

จะเห็นว่า บนเวทีการเมืองไทยตอบโต้กันดุเดือดทั้ง 2 ฝ่าย

ซึ่งสิ่งที่ นพ.ชลน่าน ร.ต.อ.เฉลิม พูด แม้จะถูกมองว่าทำไปเพื่อปกป้อง “ครอบครัวเพื่อไทย”

แต่มองในเชิงหลักการแล้ว ก็พอ “รับได้”

นั่นคือถึงที่สุดอยากให้เป็นเรื่องของ “ประชาชนที่จะตัดสิน”

แต่ที่ผ่านมานั้น เรามีบทเรียนร่วมกันแล้วว่าการแก้ไขปัญหาและวิกฤต รวมถึงการเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

มิได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง

มีการใช้การเมืองนอกระบบเข้ามาแทรกแซงและ “รุนแรง” ถึงขนาดล้มกระดานนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ที่มีการปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจจนทำให้การเมืองไม่อาจกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แม้กระทั่งวันนี้

8 ปีนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 ยังมีพิษตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน

และพิษตกค้างนี้ได้นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองมาหลายครั้งและสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่ความรุนแรงได้อีกในอนาคต

ซึ่งเป็นเรื่องอันไม่พึงประสงค์

 

บทเรียนที่เราเห็นบนเวทีออสการ์

แม้วิลล์ สมิธ จะมีเหตุจูงใจที่พอจะอธิบายการลงมือกระทำความรุนแรงกับคนอื่นได้

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ยอมรับ

ด้วยความรุนแรงไม่ใช่เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในทุกกรณี

ด้วยเหตุนี้ วิลล์ สมิธ จึงต้อง “ขอโทษ”

ถือเป็นบทเรียนที่ควรจะเรียนรู้

โดยเฉพาะกับเวทีการเมืองไทยที่อ้าง “เหตุผล” ต่างๆ แต่ถึงที่สุดก็ควรต่อสู้ตามครรลองประชาธิปไตย

แล้วให้ประชาชนตัดสิน

มิใช่ใช้ความรุนแรง “นอกระบบ” มาล้มกระดาน อย่างที่เราเห็นและรับรู้มาตลอด