ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 เมษายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
มีคำถามจากหลายฝ่ายว่าสงครามยูเครนครั้งนี้จะจบลงอย่างไร?
คำตอบจริงๆ ก็คือไม่มีใครรู้
แต่กูรูทางยุทธศาสตร์การทหารและการเมืองหลายสำนักต่างก็นำเสนอ “ฉากทัศน์” หลายสูตรที่น่าสนใจ
ผมเองก็มี “ฉากทัศน์” ของผม
และพอมาเปรียบกับของผู้รู้ท่านอื่นๆ ที่ผมติดตามอยู่ในสื่อระดับสากลทั้งหลายก็น่าจะสรุปได้ว่ามีเกมนี้จะจบลงอย่างไร
ผมเริ่มด้วยความเชื่อที่ว่าสงครามครั้งนี้ไม่ “จบ” ง่ายๆ
เพราะแม้ว่าการสู้รบภาคพื้นดินจะปิดฉากด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ “ชัยชนะ” แต่ก็ไม่ได้หมายความเกมนี้จะ “จบ”
ความขัดแย้งนี้จะยืดเยื้อไปในรูปแบบต่างๆ อย่างแน่นอน
เพราะการเผชิญด้วยกำลังกันคราวนี้เป็น “สงครามลูกผสม” ที่มีทั้งสงครามภาคพื้นดิน, สงครามไซเบอร์, สงครามเศรษฐกิจ, สงครามข่าวสาร, สงครามจิตวิทยาและอื่นๆ
แต่ถ้าหากจะพิจารณาเฉพาะการสู้รบทุกวันนี้ และมองว่า “ฉากทัศน์” ต่อไปเป็นอย่างไร ก็พอจะแบ่ง scenarios ได้หลายๆ แบบ เช่น
ฉากทัศน์ที่ชาวยูเครนต้านรัสเซียอยู่และการต่อสู้จะลากยาวออกไป
แน่นอนว่าการโจมตีด้วยอาวุธของรัสเซียต่อยูเครนอย่างหนักหน่วงนั้นจะทำให้ยูเครนที่ต้องเสียหายและบอบช้ำอย่างมาก
แต่ก็อาจจะทำให้ยูเครนมีการเชื่อมโยงกับสหภาพยุโรปที่สอดคล้องกับเป้าหมายเดิมที่จะเป็น “ส่วนหนึ่งของยุโรป” มิใช่ “ส่วนหนึ่งของรัสเซีย”
หากทหารรัสเซียไม่สามารถจะ “พิชิต” ยูเครนได้ทั้งหมดและไม่สามารถจะ “ยึด” ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของ Greater Russia ตามความใฝ่ฝันของปูตินเอง สถานภาพของปูตินในเวทีการเมืองรัสเซียก็จะสั่นคลอน

อีกฉากทัศน์หนึ่งคือรัสเซียเผชิญ “กับดักอัฟกานิสถาน” อีกครั้งหนึ่ง
นั่นคือเมื่อพิชิตยูเครนอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ปูตินอาจจะเสริมกำลังเข้าไปเพิ่มอีก
หากเป็นเช่นนั้นมอสโกก็อาจจะ “ติดหล่ม” ในยูเครนเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นที่อัฟกานิสถานในยัคสมัยของผู้นำโซเวียตชื่อ เลโอนิด เบรจเนฟ หลังปี 1979
หรือที่สหรัฐและพันธมิตรเจอในอัฟกานิสถานหลังจากปี 2001
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือกองกำลังยูเครนได้ต่อต้านการรุกรานของรัสเซียอย่างได้ผลในระดับหนึ่ง
ทหารยูเครนสามารถเอาชนะความพยายามของพลร่มรัสเซียที่จะยึดเมืองหลวงเคียฟในจังหวะเดียวกับที่เปิดปฏิบัติการเพื่อพยายามควบคุมเมืองใหญ่ๆ เช่น คาร์คิฟ และมาริอูโปล
แม้ว่ารัสเซียอ้างว่ามีความเหนือกว่าทางอากาศเต็มรูปแบบ แต่การป้องกันทางอากาศของยูเครนรอบๆ เมืองหลวงเคียฟและในพื้นที่อื่นก็ทำได้ดีพอสมควร
ขณะที่ชาวยูเครนจำนวนมากได้เข้าร่วมหน่วยป้องกันดินแดนทางทหารรัสเซียก็มีปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจ
กับปัญหาการส่งกำลังบำรุงและการขนส่งทหารที่มีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์
ยูเครนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของตะวันตกและขีปนาวุธต่อต้านรถถังและขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศและสามารถรักษาป้อมปราการในเมืองใหญ่ๆ ได้ดีพอสมควร
ที่ต้องไม่ลืมคือปูตินต้องคอยกังวลเกี่ยวกับเสียงคัดค้านสงครามในประเทศเองด้วย
การเดินขบวนต่อต้านสงครามเกิดขึ้นในเมืองต่างๆ ตั้งแต่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปจนถึงมอสโก โดยมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 6,000 คน
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณของรอยแตกในชนชั้นปกครองด้วย
ผู้มีอำนาจบางคน ส.ส. และแม้แต่กลุ่มธุรกิจน้ำมันบางกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิงหรือยุติการต่อสู้อย่างเปิดเผย
แม้ว่ากองทหารรัสเซียจะขับไล่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนและเอาชนะการต่อต้านของยูเครนที่อื่น ปูตินก็จะเผชิญกับความท้าทายในการครอบครองประเทศที่มีประชากร 40 ล้านคน
การยึดเมืองกับการปกครองประเทศนั้นเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง
อีกฉากทัศน์หนึ่งคือทหารรัสเซียยึดครองเมืองใหญ่ๆ ของยูเครนสำเร็จ
ประธานาธิบดีเซเลนสกีต้องหลบออกนอกประเทศเพื่อตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” เพื่อต่อสู้กับรัสเซียต่อเนื่องโดยได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก
ขณะที่อเมริกาและสหภาพยุโรปเดินหน้าคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหนักขึ้นอีก
นั่นก็จะทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับตะวันตกยังดำรงอยู่ต่อไป
ฉากทัศน์ที่น่ากลัวที่สุดคือการเปิดสงครามระหว่างรัสเซียกับ NATO
เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเปิดศึกเต็มรูปแบบ
อาจนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์
ซึ่งนั่นก็คือ “ฉากทัศน์ Armageddon” หรือหายนะของทั้งโลก
เป็นภาพที่ทุกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิด
สูตรที่ผมอยากจะเห็นที่สุดคือต้องไม่ทำให้สงครามบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับ NATO
เพราะหากเกิดขึ้นจริงก็มีโอกาสกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบทั่วยุโรป…และอาจจะกลายเป็น “สงครามโลกครั้งที่สาม”
นั่นหมายความว่าโลกอาจจะต้องเผชิญกับ “สงครามนิวเคลียร์” ที่จะนำไปสู่หายนะอย่างน่ากลัวยิ่ง
เพราะหนีไม่พ้นว่าหากถึงจุดนั้นเอเชียและบ้านเราก็จะถูกลากเข้าไปอยู่ในการสู้รบเช่นนั้นด้วย
“ฉากทัศน์” ที่จะหลีกเลี่ยงสงครามเต็มรูปแบบบนทวีปยุโรปคือการให้ทุกฝ่ายมาตกลงกันว่ายูเครนควรจะวางสถานภาพของตนอย่างไร…โดยประชาชนคนยูเครนเองต้องมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดชะตากรรมของตนด้วย
จึงแปลว่าทุกฝ่ายต้องเอาประเด็นของตนมาวางบนโต๊ะเจรจา
ไม่ว่าจะเป็นความกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซียที่กลัวว่าสหรัฐและ NATO ต้องการจะดึงยูเครนเข้าไปเป็นสมาชิกเพื่อจะสามารถส่งทหารและติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์มาประชิดชายแดนรัสเซีย
หรือความกังวลของ NATO ว่ารัสเซียภายใต้การนำของปูตินกำลังต้องการจะฟื้นจักวรรดิโซเวียตอันยิ่งใหญ่ในอดีต
อันหมายความถึงความพยายามของปูตินที่จะดึงเอาประเทศที่เคยอยู่ใต้สหภาพโซเวียตกลับมาอยู่ใต้ร่มเงาของตนเอง
และความกังวลของยูเครนเองก็จะต้องได้รับความสำคัญในระดับต้นๆ
คนยูเครนลุกขึ้นมาก่อการ “ปฏิวัติสีส้ม” เมื่อปี 2014 เพื่อโค่นผู้นำคนก่อนและเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปก็ได้โหวตให้ผู้นำที่ตนเชื่อถือมาเป็นผู้นำ
ผู้นำของยูเครนต้องการจะให้เป็นส่วนหนึ่งของยุโรป แต่ทำให้รัสเซียรู้สึกว่ายูเครน “เอาใจออกห่าง” จนอาจจะกระทบความมั่นคงของรัสเซียเอง
อีกด้านหนึ่งก็ต้องพิจารณาความกังวลของสองแคว้นที่ขอแยกตัวเองออกไปเป็นอิสระ และโอนเอียงไปข้างรัสเซีย
ดังนั้น สูตรที่จะทำให้ “อยู่ร่วมกันได้” จะต้องทำให้ “ความกังวล” ของทุกฝ่ายลดน้อยลง
จึงต้องมีกลไกที่จะรับรองความมั่นคงของคนยูเครนเองเป็นลำดับแรก
นั่นคือจะมีกลไกที่จะทำให้คนยูเครนมั่นใจได้ว่าเหตุการณ์ทำนองการผนวกไครเมียโดยรัสเซียเมื่อปี 2014 จะไม่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆ ของยูเครนอีก
และหากแคว้น Luhansk กับ Donetsk แยกตัวออกไปแล้วจะไม่กลายเป็นอาวุธของรัสเซียที่จะมาทิ่มแทงยูเครนส่วนอื่นๆ
สูตรนี้ต้องให้ NATO และรัสเซียออกแบบการ “คานอำนาจ” ของยักษ์ใหญ่
อีกทั้งต้องมี “คนกลาง” ที่จะเป็นผู้รับรู้และร่วมกำกับให้การดำเนินตามข้อตกลงนี้เป็นไปอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“ฉากทัศน์อันพึงประสงค์” ในความเห็นของผมจึงต้องมีความจริงจังและจริงใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นั่นหมายถึงความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่ายในอันที่จะฟื้นฟูให้สังคมยูเครนที่ถูกสงครามครั้งทำทำลายอย่างย่อยยับกลับมาสู่ภาวะปกติที่สุดเท่าที่จะปกติได้
เพราะเหยื่อที่สำคัญที่สุดของความขัดแย้งครั้งนี้คือประชาชนชาวยูเครนที่ถูกระเบิดและการโจมตีอย่างโหดร้ายทำลายวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ รัสเซียประกาศว่า “ภาค 1” ของปฏิบัติการทางทหารในยูเครนได้จบลงแล้ว
กำลังเข้าสู่ “ภาค 2” ที่จะเน้นไปทางภาคตะวันออกของยูเครน
อย่างนี้แปลว่า “ถอยตั้งหลัก”
หรือ “เปิดฉากสงครามยืดเยื้อ”
ยังต้องเกาะติดเพื่อวิเคราะห์ “ฉากทัศน์นอกความคาดหมาย” กันต่อไป