อนิเมะ ‘รามายณะ’ จาก ‘ความขัดแย้งทางศาสนา’ สู่ ‘การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

อนิเมะ ‘รามายณะ’

จาก ‘ความขัดแย้งทางศาสนา’

สู่ ‘การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม’

 

เกือบสามทศวรรษก่อน “Ramayana : The Legend of Prince Rama” หนังการ์ตูนญี่ปุ่น (อนิเมะ) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของมหากาพย์ “รามายณะ” ได้เปิดตัวสู่โลกภาพยนตร์

ในปี 2022 หนังเรื่องนี้จะได้รับการรีมาสเตอร์เป็นไฟล์ดิจิตอลคุณภาพความชัดระดับ 4K เพื่อเดินทางไปพบกับผู้ชมรุ่นใหม่ๆ อีกครั้ง

“เรารีมาสเตอร์อนิเมะเรื่องนี้สำหรับแฟนๆ ชาวอินเดีย ที่ต้องการจะดูหนังในเวอร์ชั่นที่มีคุณภาพดีขึ้น แล้วก็หวังที่จะทำให้มันมีอายุยืนยาวไปอีกสองพันปี” เคนจิ โยชิอิ หนึ่งในแม่งานผู้ดำเนินการรีมาสเตอร์หนัง อธิบาย

โยชิอิ และ อัตสึชิ มัตสิโอะ ซึ่งเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ บอกว่า “Ramayana : The Legend of Prince Rama” ถูกสร้างขึ้นโดยทีมงานชาวญี่ปุ่น-อินเดีย ในยุคสมัยที่การร่วมสร้างหนังแบบ “ข้ามชาติ” ยังมิได้เป็นที่คุ้นเคยสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นมากนัก

“สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ แฟกซ์ หรือว่าอีเมล เราเลยต้องสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยการนั่งดูภาพต่างๆ ที่ถูกจัดส่งมาทางไปรษณีย์เท่านั้น” โยชิอิย้อนเล่าบรรยากาศการทำงาน

ก่อนจะเสริมว่า แม้แต่การติดต่อสารกันทางโทรศัพท์ของทีมงานสองประเทศก็ยังดำเนินไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากคุณภาพที่ไม่น่าพอใจนักของสัญญาณโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดียในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โปรเจ็กต์การผลิตอนิเมะเรื่องนี้เริ่มก่อตัวขึ้น

ขณะที่มัตสึโอะ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ถึงกับกล่าวว่า นั่นคือเรื่อง “ปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง” ที่ “รามายณะ” ฉบับอนิเมะสามารถถูกสร้างสรรค์ออกมาได้สำเร็จ ท่ามกลางสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยข้างต้น

จากทางด้านขวา : ยูโกะ ซาโกะ และ ราม โมหัน /ภาพจาก Reddit

ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “Ramayana : The Legend of Prince Rama” มีผู้กำกับฯ สามคน ได้แก่ โคอิชิ ซาซากิ ยูโกะ ซาโกะ และราม โมหัน ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งภาพยนตร์การ์ตูนของอินเดีย”

หนังเรื่องนี้ออกฉายในปี 1993 ด้วยทุนสร้าง 800 ล้านเยน (ประมาณ 200 ล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) นับว่าสูงกว่าทุนสร้างของภาพยนตร์การ์ตูนทั่วไปในยุคสมัยเดียวกัน

โดยบทสนทนาของตัวละครจะใช้เสียงพากย์ภาษาอังกฤษ ส่วนคำร้องของเพลงประกอบภาพยนตร์จะเป็นภาษาสันสกฤต

หนึ่งในผู้กำกับฯ อย่างซาโกะ เริ่มรู้สึกหลงใหลสนใจมหากาพย์ “รามายณะ” ระหว่างที่เขาต้องถ่ายทำหนังสารคดีเกี่ยวกับสายน้ำสำคัญๆ แห่งทวีปเอเชีย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือแม่น้ำคงคาของประเทศอินเดีย นั่นส่งผลให้ซาโกะถึงกับไปตามอ่าน “รามายณะฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น” ในทุกเวอร์ชั่น เท่าที่มีวางจำหน่าย ณ เวลานั้น

“ซาโกะรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องราวและบรรดาตัวละคร ซึ่งมีทั้งมนุษย์ สัตว์ รวมถึงพืช เขาบอกว่านี่คือเรื่องราวในอุดมคติ ที่เหมาะจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์” เชียลา ราว ภรรยาของราม โมหัน กล่าวถึงชาวญี่ปุ่น ซึ่งมากำกับฯ ภาพยนตร์อนิเมะร่วมกับสามีของเธอ

ก่อนที่โยชิอิซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ จะกล่าวเสริมว่า “ซาโกะบอกว่าสื่อที่เหมาะสมที่สุด ที่จะใช้ถ่ายทอดเรื่องราวอันเต็มไปด้วยความเลื่อนไหลของรามายณะไปสู่ผู้ชมทั่วโลกนั้นควรเป็นภาพยนตร์การ์ตูน ไม่ใช่หนังปกติ”

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกเริ่ม โปรเจ็กต์นี้ได้ถูกต่อต้านขนานหนักจากกลุ่มอนุรักษนิยมทางศาสนาในประเทศอินเดีย ซึ่งมองว่าภาพยนตร์การ์ตูนเป็นเพียงความบันเทิงสำหรับเด็ก

กระทั่งรัฐบาลอินเดียต้องแสดงความวิตกกังวลต่อเรื่องนี้มายังกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ในบริบทที่ความขัดแย้งทางศาสนาในอินเดียกำลังทวีความรุนแรง

โดยมีศูนย์กลางความขัดแย้งอยู่ที่ “มัสยิดบาบรี” ซึ่งชาวฮินดูจำนวนมากเชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้ถูกก่อสร้างขึ้นบนสถานที่ประสูติของพระราม

กระทั่งกลุ่มชาตินิยมฮินดูได้บุกเข้าไปทุบทำลายมัสยิดบาบรีในปี 1992

 

“มันก็คงเหมือนกับการที่คนอินเดียจะมาสร้างหนังการ์ตูนเกี่ยวกับราชวงศ์ญี่ปุ่น ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องปกติ ที่รัฐบาลอินเดียจะรู้สึกตกใจและวิตกกังวล (กับภาพยนตร์การ์ตูนรามายณะ)” โยชิอิ พยายามอธิบายถึงอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง

ถึงกระนั้น โปรเจ็กต์การ์ตูน “รามายณะ” ระหว่างคนทำหนังชาวญี่ปุ่นและอินเดียก็ยังเดินหน้าต่อไป

“ซาโกะไม่ยอมปล่อยให้โปรเจ็กต์นี้ล้มหายตายจากไปอย่างง่ายๆ ส่วนสามีของฉันก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไป” เชียลา ราว ย้อนอดีต ซึ่งเสริมด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ทางทีมงานผู้สร้างชาวญี่ปุ่นได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะอธิบายให้สังคมอินเดียตระหนักว่า ในสังคมญี่ปุ่นเอง อนิเมะจำนวนหนึ่งก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้บอกเล่าประเด็นที่เคร่งเครียดจริงจังเช่นกัน

แต่ท้ายที่สุด “Ramayana : The Legend of Prince Rama” ฉบับปี 1993 ก็ต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่อินเดียแบบเงียบๆ โดยแทบไม่ได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ

“ภาพยนตร์การ์ตูนยังถือเป็นของใหม่มากๆ สำหรับสังคมอินเดียยุคนั้น มันถูกมองเป็นแค่การ์ตูนธรรมดาๆ ดังนั้น ถ้าคุณบอกว่าคุณกำลังจะสร้างหนังการ์ตูนรามายณะ พวกเขาก็จะนึกขึ้นมาทันทีว่า ‘คุณมันบ้า'” รวี สวามี นักวาดการ์ตูนและภาพประกอบ ที่เป็นคนบริติชอินเดีย กล่าวถึงกรณีนี้

อย่างไรก็ดี “Ramayana : The Legend of Prince Rama” กลับเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เมื่อถูกนำมาเผยแพร่เป็นตอนย่อยๆ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น สวามีเล่าว่าเด็กๆ ชาวอินเดียที่เกิดในทศวรรษ 1990 ต่างรอคอยจะชมการ์ตูน “รามายณะ” หน้าจอทีวี โดยพวกเขาแทบไม่รู้ว่านี่คืออนิเมะที่คนญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ปรากฏการณ์เช่นนั้นถือเป็นการเปิดประตูบานใหม่ทางวัฒนธรรมความบันเทิง จนมีการสร้างหนังการ์ตูนเกี่ยวกับเทพเจ้าและมหากาพย์ของศาสนาฮินดูตามมาอย่างมากมาย

“การนั่งดู (การ์ตูน) รามายณะกลายเป็นพิธีกรรมในช่วงวันหยุดไปแล้ว ปัจจุบันนี้ คุณแทบจะไม่เห็นใครที่ไม่ดูมันในเวลาว่าง” การ์ติก โมหัน บุตรชายของราม โมหัน เพิ่มเติมข้อมูล

“Ramayana : The Legend of Prince Rama” เวอร์ชั่น 4K จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์, สถานีโทรทัศน์, แพลตฟอร์มออนไลน์ และจัดจำหน่ายเป็นแผ่นดีวีดี/บลูเรย์ นับจากปี 2022 เป็นต้นไป เพื่อร่วมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสายสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่น

อัตสึชิ มัตสึโอะ ยังเปิดเผยด้วยว่า รายได้ส่วนหนึ่งของหนังการ์ตูนรีมาสเตอร์เรื่องนี้ จะถูกนำมาใช้ก่อตั้ง “กองทุนรามายณะ” เพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สันติภาพโลก และสันติภาพมนุษย์

ในห้วงเวลาที่ประชาคมนานาชาติกำลังเผชิญหน้ากับความสับสนอลหม่านทางเศรษฐกิจและการเมือง •

 

ข้อมูลจาก

https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3170979/miracle-japanese-anime-based-hindu-epic-ramayana-now

ภาพประกอบจาก

https://www.facebook.com/ramayana.anime/

ชมตัวอย่าง “Ramayana : The Legend of Prince Rama”  ได้ที่นี่