ผู้ว่าฯอิสระ กับ สังกัดพรรค มีข้อดีข้อเสียอย่างไร/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ผู้ว่าฯอิสระ กับ สังกัดพรรค

มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

 

เป้าหมายของผู้สมัครอิสระ

คือดึงคนกลางๆ มาสนับสนุน

สภาพการเมืองในปัจจุบัน 70% ของผู้มาใช้สิทธิ์ยังมีการแยกฝ่ายตามขั้วการเมืองอยู่ และมีจำนวนพอๆ กัน ส่วนอีก 30% สามารถแปรเปลี่ยนไปลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดี หรือมีนโยบายดี หรืออาจเลือกไปตามแรงจูงใจอื่นๆ

ผู้สมัครลงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) แบบอิสระ จึงต้องการดึงคนกลางๆ ให้เลือกผู้ว่าฯ ตามคุณสมบัติและนโยบายของตนเองที่ได้โฆษณาออกไปว่าจะพัฒนาและแก้ไขปัญหาของ กทม.อย่างไร แม้คนกลุ่มนั้นจะไม่เคยผูกพันหรือเลือกฝ่ายทางการเมือง

แต่ในความเป็นจริงคะแนนเสียงหลักจะมาจากมวลชนที่มีความความคิดการเมืองคล้ายกับผู้สมัครทั้งอิสระและสังกัดพรรค ทุกคนจึงมีกองหนุนกองเชียร์ที่เป็นฐานเสียงอยู่แล้ว อาจจะผ่านพรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างๆ

และผู้สมัครก็พอรู้ว่าคนกลุ่มใดจะเชียร์ตัวเองบ้าง เช่น…

ผู้สมัครตัวเด่นฝั่งประชาธิปไตยคือ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีกองเชียร์ที่มาจากผู้ที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย (แต่อาจจะไม่ทั้งหมด) เมื่อเพื่อไทยไม่ส่งสมัครผู้ว่าฯ แต่ส่ง ส.ก. ทำให้การสนับสนุนง่ายไม่สับสน คนที่อยู่กลุ่มกลางๆ ที่จะมาสนับสนุนเพิ่ม จะเป็นกลุ่มกลางแบบไม่เอาเผด็จการ

ผู้สมัครอิสระในฝั่งรัฐบาล คืออดีตผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง และคุณสกลธี ภัททิยกุล ทั้งคู่เคยบริหารงาน กทม.จากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. และพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้น คะแนนจะมาจากกองเชียร์ที่เคยเชียร์พลังประชารัฐที่ไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ เป็นหลัก ทั้งสองคนคงต้องแบ่งคะแนนกัน

แต่แกนนำ กปปส. อย่างนายถาวร เสนเนียม ก็ได้ให้สัมภาษณ์เชียร์ผู้ว่าฯ อัศวินอย่างแจ่มชัดว่าคนนี้คือผู้ที่ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส.ในช่วงปี 2556-2557 อย่างเข้มแข็ง เมื่อครั้งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

เป้าหมายที่ 2 ของผู้สมัครอิสระทุกคนก็คือการสามารถกำหนดนโยบายที่จะแก้ไขหรือพัฒนากรุงเทพฯ ได้เอง โดยไม่ต้องไปขึ้นต่อนโยบายพรรคการเมืองใด

การกำหนดตัวบุคคลผู้บริหาร เช่น รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ปรึกษาหรือทีมงานอื่นๆ ก็สามารถจัดการได้ตามที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องไปถามพรรคหรือรอโควต้าจากพรรคว่าจะส่งใครมา

 

เป้าหมายของผู้สมัครที่ลงแบบมีพรรคหนุน

ทุกคนต้องการใช้ชื่อเสียงพรรค ฐานคะแนน และศักยภาพของพรรคสนับสนุน เพราะลำพังตัวบุคคลยังไม่เด่นและเข้มแข็งพอ การลงในนามพรรคได้เปรียบกว่า ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พรรคจะส่งผู้สมัคร ส.ก.ด้วย เพราะต้องวางฐานเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ในอนาคต แต่ครั้งนี้กฎหมายห้ามข้าราชการการเมือง เช่น รมต.หรือ ส.ส.ช่วยหาเสียง (แบบเปิดเผย)

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ถือว่าน่าจะได้เปรียบที่สุด เพราะมีกำลังตามอุดมการณ์พรรคที่เข้มแข็งมากมาหนุน การหาเสียงก็อิงแนวการเมืองใหญ่ เพื่อดึงผู้สนับสนุนแนวอุดมการณ์การเมืองมาลงคะแนนให้มากสุด นี่จะเป็นขั้วตรงข้ามกับ กปปส.

พรรคก้าวไกลไม่ได้ตัดคะแนนนายชัชชาติ แต่เป็นคู่แข่งหลัก

อีกพรรค ก็คือไทยสร้างไทย พรรคใหม่ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ส่ง น.ต.ศิธา ทิวารี โดยหวังฐานคะแนนที่เหนียวแน่นของสุดารัตน์ใน กทม.ที่เคยอยู่กับเพื่อไทย ว่าคงจะหันไปสนับสนุน น.ต.ศิธาจำนวนหนึ่ง พรรคนี้จึงเป็นตัวตัดคะแนนชัชชาติอย่างแท้จริง น่าจะมีผลถึง 100,000 คะแนน

ดร.ชัชชาติจึงจะต้องเสริมคะแนนจากคนกลางๆ ให้มากที่สุด มิฉะนั้นจะทำคะแนนไม่ถึงเป้าหมาย

อีกพรรคคือประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ส่ง ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงสนาม องค์กรพรรคพร้อมฐานเสียงขาประจำ เหลือประมาณ 470,000 เพราะถูกดึงไปให้พลังประชารัฐในปี 2562 มาครั้งนี้อยากจะดึงกลับ แต่ต้องมาถูกแบ่งไปให้กับผู้ว่าฯ อัศวินและคุณสกลธี ถ้า ปชป.ไม่เร่งเครื่องให้ดี อาจแพ้พวกเดียวกัน และจะเสียหายถึงเลือกตั้ง ส.ส.

แต่ ปชป.จะดึงเสียงกลางขวามาเสริมได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้สมัครด้วย

 

ผู้สมัครอิสระไม่มี ส.ก.เป็นทีมของตนเอง

จะเป็นปัญหาหรือไม่?

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งลงแบบอิสระอาจจะส่ง ส.ก.ร่วมแบบอิสระก็ได้ หรือไม่ส่งเลยก็ได้ เพราะมีทั้งข้อดีข้อเสีย

ขณะหาเสียงถ้าไม่ส่ง ส.ก. ข้อเสียคือไม่มีผู้ช่วยหาเสียงในเขตต่างๆ ที่ทุ่มเทแบบมีผลประโยชน์ทางการเมืองร่วม แต่ข้อดีคือสามารถขอความสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ ได้ง่ายกว่า

การส่งคนสมัคร ส.ก. 50 เขต ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีค่าใช้จ่ายเยอะ พรรคใหญ่ๆ อาจทำได้ หรือผู้สมัครอิสระที่มีคะแนนนิยมนำ ก็อาจมีคนมาขอร่วมลง ส.ก.จำนวนมาก

ปัญหาที่หนักใจที่สุดคือการคัดคนที่มีคุณภาพ มีความคิดสอดคล้องกัน การส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ อย่างเดียว ใช้จ่ายไม่เยอะในโลกยุคใหม่ที่ใช้การสื่อสารหาเสียง

ถ้าส่งสมัคร ส.ก.ต้องไปทะเลาะกับผู้สมัคร ส.ก.อีกหลายร้อยคนจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งในอนาคตจะต้องเข้ามาร่วมมือกันทำงานหลังเลือกตั้งแล้ว

หลังเลือกตั้ง การทำงานจริงจะพบว่า การทำงานใหญ่ต้องใช้งบประมาณ และอำนาจของรัฐบาล เพื่อให้โครงการต่างๆ บรรลุเป้าหมาย

ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ว่าจะสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคการเมือง ยังมีความจำเป็นจะต้องร่วมมือในการทำงานอย่างดีกับรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีงบประมาณจำนวนมากที่ไม่ใช่ กทม.หามาเอง แต่จะต้องขอผ่านรัฐบาล หรือขอผ่าน ส.ส.

สำหรับความร่วมมือกับ ส.ก.ในการบริหารนั้นไม่เป็นที่ต้องกังวลเพราะผู้ว่าฯ มีอำนาจในการบริหารมาก และถ้าผู้ว่าฯ คนนั้นไม่มี ส.ก.ในกลุ่มของตนเองก็จำเป็นต้องร่วมมือกับทุกกลุ่มทุกคนที่เป็น ส.ก.ทั้ง 50 คน ส.ก.ของพรรคการเมืองหรือ ส.ก.อิสระที่ได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในสภา กทม.

โดยทั่วไปไม่ค่อยจะขัดแย้งกันเพราะต่างคนก็ดูแลเขตที่ตนเองรับผิดชอบ ยกเว้นช่วงหาเสียงในการเมืองระดับชาติ

ถ้าผู้ว่าฯ กทม.เป็นอิสระจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนี้ได้ง่ายกว่าผู้ว่าฯ สังกัดพรรค

ส.ก.ทุกพรรค นอกจากทำหน้าที่ตรวจสอบ ก็มักจะต้องช่วยรับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในเขต และนำมาปรึกษาผู้ว่าฯ หรือเขต เพื่อหาวิธี หาโครงการแก้ไข ส่วนใหญ่ด้านที่ร่วมมือจึงมีมากกว่า

 

มีกฎหมายที่แก้ไขและตัดสินความขัดแย้งในการบริหาร กทม.

มาตรา 101 ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เห็นชอบด้วยกับสภากรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าฯ ส่งร่างข้อบัญญัตินั้นพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่เห็นชอบด้วยให้สภา กทม.ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ว่าฯ ได้รับร่างเพื่อให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาใหม่ ถ้าผู้ว่าฯ ไม่ส่งให้สภากรุงเทพมหานครภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ว่าฯ เห็นชอบด้วย

ในกรณีที่สภากรุงเทพมหานครมีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องดำเนินการต่อไปตามมาตรา 100 ถ้าผู้ว่าฯ กทม.ไม่ดำเนินการตามกำหนด ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่าฯ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย

มาตรา 103 งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครให้ทำเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าฯ เป็นผู้เสนอ ถ้าข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทัน ปีงบประมาณใหม่ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณที่แล้วนั้นไปพลางก่อน

มาตรา 105 ภายใต้บังคับมาตรา 106 ในกรณีที่สภา กทม.ไม่เห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ให้สภากรุงเทพมหานครตั้ง ส.ก. 8 คน และผู้ว่าฯ ตั้งบุคคลซึ่งมิได้เป็น ส.ก. 7 คน เป็นคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้งในสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย แล้วรายงานผลการพิจารณาต่อสภา กทม.ภายใน 10 วัน ถ้าสภา กทม.ยังไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภา กทม.ทั้งหมด ให้ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เป็นอันตกไป และให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีที่แล้วนั้นไปพลางก่อน

ในกรณีเช่นว่านี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งยุบสภากรุงเทพมหานครถ้ามีข้อเสนอของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

สภาพการเมืองในขณะนี้คงไม่มีพรรคใดได้ ส.ก.ถึง 3 ใน 4 ของสภา และส่วนใหญ่ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก็มีฝีมือทางการเมือง ไม่สร้างความขัดแย้งจนเป็นปัญหาในการบริหาร

 

กระทรวงมหาดไทย

โดยมติ ครม. มีอำนาจปลดผู้ว่าฯ

มาตรา 18 ในกรณีที่การดำเนินงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานคร ขัดแย้งกันจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม ผู้ว่าฯ อาจยื่นข้อเสนอพร้อมด้วยเหตุผลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ยุบสภา กทม.เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม.ใหม่ได้

ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ประกาศยุบสภาภายใน 15 วัน ผู้ว่าฯ อาจยื่นข้อเสนอทบทวนให้พิจารณาใหม่ได้อีกครั้งหนึ่งภายในสามสิบวัน

ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเห็นควรให้ยุบสภากรุงเทพมหานครตามข้อเสนอทบทวนหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน

มาตรา 19 ถ้าปรากฏว่าการดำเนินงานของผู้ว่าฯ และสภา กทม.ขัดแย้งกัน หรือเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม และการแก้ไขไม่อาจกระทำได้โดยเหมาะสมด้วยวิธีการอื่นนอกจากการยุบสภา กทม. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีอาจให้ยุบสภา กทม.เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม.ใหม่ได้

แต่ถ้ายุบสภาแล้วผู้ว่าฯ ก็หลุดจากตำแหน่งไปด้วยตามมาตรา 52(7)

มาตรา 52 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้…

(7) มีการยุบสภากรุงเทพมหานคร

(8) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยมติคณะรัฐมนตรีสั่งให้ออกจากตำแหน่งเมื่อมีกรณีแสดงให้เห็นว่า ได้กระทำการอันเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์หรือปฏิบัติการหรือละเลยไม่ปฏิบัติการ เป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานครหรือแก่ราชการโดยส่วนรวม หรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน

แต่เรื่องนี้ต้องมาจากการลงมติของสภากรุงเทพมหานคร ที่ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องนำเรื่องเสนอต่อ ครม.ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งมติของสภากรุงเทพมหานคร

(9) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ในกรณีมีพฤติการณ์ดังที่ระบุไว้ตาม

ตาม พ.ร.บ.บริหารราชการ กทม. 2528 ที่ผ่านมา 37 ปี ถือว่าการเลือกตั้งและการบริหารโดยผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งเป็นไปโดยราบรื่น มีการเลือกตั้งถึง 9 ครั้ง ถ้ามีผู้ว่าฯ ลาออกก็เลือกตั้งใหม่ แม้มีการรัฐประหารก็ไม่มีใครมายุ่ง แต่มาถึงการรัฐประหาร 2557 ของ คสช. กลับมีการใช้อำนาจปลดและใช้ระบบแต่งตั้งเข้าไปแทนการเลือกของประชาชน ตั้งแต่ปี 2559 ไม่ยอมเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 22 พฤษภาคม 2565 ไม่ว่าจะเลือกใคร ถือเป็นการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ ให้เดินหน้าต่อไป