…คือความเคลื่อนไหว ระหว่างขั้นบันไดเสียง / เครื่องเสียง : พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

 

…คือความเคลื่อนไหว

ระหว่างขั้นบันไดเสียง

 

ท่ามกลางกระแสความนิยมในการฟังเพลงสตรีมมิ่งที่เชี่ยวกราก แบบมาแรงด้วยจำนวนสมาชิกของแต่ละผู้ให้บริการด้านนี้ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกค่ายอย่างเห็นได้ชัด เมื่อไม่นานวันที่ผ่านพ้นมีข่าวเล็กๆ ในแวดวงบันเทิงต่างประเทศหลุดออกมาให้เห็น ซึ่งยังความแปลกใจแบบเล็กๆ อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน นั่นก็คือข่าวยอดจำหน่ายแผ่นซีดีเพลงของปีที่ผ่านมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น

และนั่นหมายถึงเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี คือนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมานั่นเอง

ตัวเลขที่ว่านั้นได้มาจากคำประกาศของสมาคมอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงของสหรัฐอเมริกา หรือ Recording Industry Association of America ที่ผู้คนในวงการเพลงรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อย่อ RIAA ในฐานะเป็นสถาบันควบคุมข้อกำหนดและมาตราฐานต่างๆ รวมทั้งมีหน้าที่ออกมาตรการด้านอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงอย่างเป็นสำคัญ

โดย RIAA ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าเมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2564) ได้มีการจัดส่งแผ่นซีดีเพลงเพิ่มขึ้นจากจำนวน 31.6 ล้านแผ่น ในปี พ.ศ.2563 เป็นจำนวน 46.6 ล้านแผ่น และมีรายรับเพิ่มขึ้นจาก 483.2 ล้านยูเอสดอลลาร์ เป็น 584.2 ล้านยูเอสดอลลาร์ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ยอดขายแผ่นซีดีเพลงเพิ่มขึ้นคือปี พ.ศ.2547 ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแหละครับ โดยในข่าวระบุว่าจำนวนหน่วยจำหน่ายเพิ่มขึ้น 47% ขณะที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 21%

แต่หากจะพูดถึงยอดขายแผ่นซีดีเพลงที่เพิ่มขึ้นสูงสุด ก็ต้องย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ.2543 ที่มีการจัดส่งแผ่นสูงถึงเกือบหนึ่งพันล้านแผ่นโน่นเลย

 

ซึ่งกับตัวเลขที่เห็นล่าสุดของปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ คนในวงการอดคิดไม่ได้ ว่านี้มันเป็นลางดีของสื่อบันเทิงชนิดจับต้องได้คล้ายๆ กับการกลับมาของแผ่นไวนีลหรือไม่ และจะเป็นการก้าวเดินตามรอยเดียวกันหรือเปล่า ที่ยอดจำหน่ายแผ่นเสียง หรือแผ่น Vinyl ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 15 ปีเข้าให้แล้ว โดยในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2564) มียอดขายสูงถึง 39.7 ล้านแผ่น และสร้างรายได้เกือบถึง 1,000 ล้านยูเอสดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่ารายได้จากแผ่นซีดีเพลงเกือบเท่าตัว แม้จำนวนแผ่นที่ขายได้จะมีจำนวนน้อยกว่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบรายได้กับผู้ให้บริการด้านสตรีมมิงแล้ว ยังถือว่าสื่อบันเทิงประเภทจับต้องได้ยังมีรายได้ต่ำกว่าแวดวงสตรีมมิ่ง (การเล่นเพลงจากไฟล์เสียงซึ่งเป็นสื่อประเภทที่จับต้องไม่ได้) มากนัก เพราะในอุตสาหกรรมเพลงที่มีมูลค่าสูงถึง 8.6 พันล้านยูเอสดอลลาร์นั้น บรรดาผู้ให้บริการสตรีมมิ่งที่ผู้บริโภคต้องสมัครเป็นสมาชิกด้วยการชำระเงิน อย่าง Spotifi, Apple Music, Tidal และ Amazon Music เป็นอาทินั้น มีส่วนแบ่งในจำนวนเม็ดเงินดังกล่าวมากกว่า 57%

ในขณะที่รายได้จากยอดขายแผ่นซีดีเพลงและแผ่นเสียงรวมกันแล้ว คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 11% ด้วยซ้ำ

นอกจากนั้นแล้ว บรรดาผู้ให้บริการสตรีมมิ่งยังสามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาผ่านการสร้างคอนเทนต์อื่นๆ นอกเหนือไปจากการให้บริการเพลงในช่องทางเดียวกันได้อีกถึง 1.8 พันล้านยูเอสดอลลาร์

อย่างสปอติฟายนั้น นอกจากให้บริการเพลงแล้ว ยังมีโปรดักต์อื่นๆ ให้บริการอีก ทั้งคอนเทนต์และข่าว ทั้งช่องทางที่ให้ผู้คนมาพูดคุยกันได้ รวมทั้งรายการ Podcast ที่กำลังได้รับความนิยมกันมากในเวลานี้ด้วย

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ขอเลยเถิดไปถึงเรื่องที่ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งรายใหญ่สุด คือสปอติฟายที่กำลังออกอาการสะดุดมาตั้งแต่พ้นปีใหม่ไม่นาน เมื่อศิลปินเบอร์ใหญ่อันดับต้นๆ ของวงการอย่าง Neil Young ได้ออกมาขอให้ถอดผลงานเพลงทั้งหมดออกจากบัญชีให้บริการ รวมถึงเริ่มมีบางศิลปินออกมาเป็นแนวร่วมนั้นด้วย

เท่านั้นไม่พอยังมีผู้ใช้บริการหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยได้ถอนตัวด้วยการลบแอพพลิเคชั่นทิ้ง ทั้งยังสร้างกระแสในสังคมออนไลน์ผ่านทวิตเตอร์ด้วยการชักชวนกันติดแฮชแท็ก #DeleteSpotify และ #CancelSpotify จนทำให้ติดเทรนด์อันดับต้นๆ อย่างรวดเร็ว จึงช่วงไม่กี่วันหลังปรากฏการณ์นีล ยัง ทำให้มูลค่าด้านการตลาดของค่ายลดลงหรือหายไปกว่า 4 พันล้านยูเอสดอลลาร์เลยทีเดียว

สปอติฟายนั้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสตรีมมิ่ง สัญชาติสวีเดน เปิดให้บริการมานานกว่าสิบปี เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วด้วยแนวคิดที่ว่าลืมแผ่นซีดีเพลงไปได้เลย ไม่ต้องดาวน์โหลดอีกต่อไป เพราะใครๆ ก็สามารถฟังเพลงได้จากทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการผ่านแอพพลิเคชั่นของเขานี่ล่ะ

ปัจจุบันมีสมาชิกแพ็กเกจพรีเมียมมากกว่า 150 ล้านบัญชี (สมาชิกรวมเกือบสี่ร้อยล้านราย) ซึ่งมากกว่าผู้เล่นอันดับสองอย่างแอปเปิล มิวสิก กว่าเท่าตัว

จึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึงกับทำเอาสปอติฟายนั่งไม่ติด ส่วนสาเหตุนั้นมาจากหนึ่งในรายการพอดแคสต์ที่ได้ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปซื้อลิขสิทธิ์มา คือรายการ The Joe Rogan Experience ครับ

พอดแคสต์ดังกล่าวดำเนินรายการโดยพิธีกรชื่อดังอย่าง Joe Rogan ด้วยรูปแบบรายการมาตรฐานทั่วๆ ไป คือเชิญแขกมาพูดคุยแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะกำลังเป็นที่สนใจกันอยู่ในเวลานั้น เป็นรายการที่โด่งดังและได้รับความนิยมมากในสหรัฐอเมริกา

โดยในช่วง Covid-19 ครองโลกนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับไวรัสร้ายตัวนี้ได้ถูกนำมาพูดคุยกันในรายการอยู่หลายๆ ประเด็น จากผู้สันทัดกรณีในหลายสาขา

แต่หลังๆ หลายๆ เรื่องเกี่ยวกับไวรัสที่นำมาถกกันในรายการ มักจะมีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งนอกจากจะสื่อออกมาทำนองต่อต้านการฉีดวัคซีนอยู่เนืองๆ ซึ่งจะชี้นำไปในกลุ่มคนหนุ่มคนสาวที่มีสุขภาพดีแล้ว ยังมักจะชอบเจือข่าวทำนอง Fake News เข้าไปอีก

อาทิ เรื่องที่วัคซีนจะเข้าไปเปลี่ยน DNA หรือองค์ประกอบของยีนส์ในร่างกาย และที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ (เชิงลบ) กันมากก็คราวจัดรายการร่วมกับนักชีววิทยาระดับศาสตราจารย์ ที่ไปชื่นชมว่ายาบางตัวที่ใช้ฆ่าพยาธิในคนและสัตว์ได้นั้น สามารถนำมาใช้รักษาโควิด-19ได้, อะไรทำนองนั้น

กระทั่งกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และด้านสุขภาพสาขาต่างๆ เกือบ 300 ราย ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงสปอติฟายเพื่อแสดงความเป็นกังวลต่อการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในรายการของโจ โรแกน รวมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นเชิงต่อต้านออกมาอย่างมากในสังคมออนไลน์

ในที่สุดนำมาถึงการสิ้นความอดทนต่อเรื่องดังกล่าวของบรรดาศิลปินอีกลายต่อหลาย ที่ได้ออกมาประกาศถอนตัวจากแพล็ทฟอร์มนี้หลังจากที่นีล ยัง ได้ออกมาแสดงจุดยืนนั้นก่อนหน้านี้

 

ครับ, จนวันนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าวิบากกรรมในเรื่องนี้ของสปอติฟายจะลงเอยอย่างไร แม้ว่าทั้งทางผู้บริหารและตัวพิธีกรเอง จะได้ออกมาแสดงบางความรับผิดชอบเพื่อให้รู้สึกดูดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม

แต่ก็อย่างที่พูดๆ กันนั่นแหละครับ สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไอ้เจ้าไวรัสร้ายตัวนี้มันมีเอี่ยวเข้าไปทำลายล้างได้ในแทบจะทุกเรื่องจริงๆ •