หลั่งยะสิว ไม่ใช่ลังกาสุกะที่ปัตตานี แต่เป็นลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง สืบเนื่องจากสุวรรณภูมิ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

หลั่งยะสิว

ไม่ใช่ลังกาสุกะที่ปัตตานี

แต่เป็นลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

สืบเนื่องจากสุวรรณภูมิ

 

ช่วงนี้นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ออกมาประกาศหนักแน่นอีกระลอกหนึ่งว่า อะไรที่เอกสารจีนโบราณเรียกว่า “โถโลโปติ” ซึ่งคือเสียงเรียกชื่อรัฐ “ทวารวดี” ในสำเนียงแบบจีนนั้น ไม่ได้หมายถึงบ้านเมืองทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างนครปฐม หรืออู่ทอง

คุณสุจิตต์ให้เหตุผลไว้หลายข้อ เช่น ทวารวดีเป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะ อวตารหนึ่งของพระนารายณ์ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่เมืองอู่ทอง และนครปฐมนั้น มีหลักฐานโบราณวัตถุสถานข้างพุทธอย่างหนาแน่น ดังนั้น ทวารวดีจึงควรเป็นรัฐที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นหลัก (ตามอย่างที่ อ.พิริยะ ไกรฤกษ์ และนักวิชาการอีกหลายท่านได้เสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว) เป็นต้น

แต่เหตุผลข้อหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึงเป็นพิเศษในที่นี้ก็คือ คุณสุจิตต์ได้เน้นย้ำว่า ในเอกสารจีนอย่างน้อย 2 ฉบับ (หมายถึงบันทึกของพระภิกษุเสวียนจั้ง คือพระถังซัมจั๋ง และพระภิกษุอี้จิง) ระบุว่า ทวารวดีนั้นมีพื้นที่ต่อเนื่องอยู่กับรัฐโบราณในกัมพูชาคือ อีศานปุระ

ดังนั้น ทวารวดีจึงควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาต่างหาก

ที่สำคัญก็คือ คุณสุจิตต์ยังได้อธิบายต่อไปด้วยว่า หากจะพิจารณาจากข้อความในเอกสารของพระภิกษุเสวียนจั้งแล้ว พื้นที่บริเวณเมืองอู่ทอง-นครปฐมนั้น ควรจะเป็นอะไรที่พระชื่อดังรูปนี้จดบันทึกเอาไว้ในชื่อว่า “เกียม้อลังเกีย” ต่างหาก

 

โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการกระแสหลักมักจะเหมารวมกันว่า “เกียม้อลังเกีย” คือ “ลังกาสุกะ” แล้ว อ้างว่าหมายถึง “ปัตตานี”

แต่ก็มีผู้คัดค้านว่า ลังกาสุกะนั้นเป็นชื่อสมัยหลัง ที่ไม่ได้เก่าแก่ไปถึงช่วงก่อน พ.ศ.1800 ดังนั้น คำว่า เกียม้อลังเกีย จึงไม่น่าจะหมายถึงลังกาสุกะ อย่างที่มักจะอ้างกัน

และคุณสุจิตต์ก็ไม่ใช่คนแรกที่อธิบายอย่างนี้นะครับ เพราะปราชญ์ผู้ล่วงลับของกรมศิลปากรอย่าง อ.มานิต วัลลิโภดม ได้เคยเสนอเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2515 แล้วว่า “เกียม้อลังเกีย” ในเอกสารของเสวียนจั้งนั้น ควรจะตรงกับชื่อ “หลั่งเกียฉู่” ในเอกสารของอี้จิง หรือ “หลั่งยะสิว” ในเอกสารจีนฉบับอื่นๆ ต่างหาก

ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ “หลั่งเกียฉู่” หรือ “เหล่งเกียฉู่” (ที่พำนักของมังกร) นั้น เป็นคำที่ชาวจีนยังคงใช้เรียกพื้นที่บริเวณ “ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง” ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาอีกเนิ่นนาน แม้กระทั่งทุกวันนี้ ห้างร้านบางแห่งในบริเวณพื้นที่แถบมหาชัย ยังคงตั้งชื่อร้านว่า เหล่งเกียฉู่ อยู่เลยด้วยซ้ำ

ภาพลายเส้นทูตจากหลั่งยะสิว คือเกียม้อลังเกีย ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักของราชวงศ์เหลียง (ภาพจาก : https://www.matichon.co.th/columnists/news_35708)

ข้อความในบันทึกการเดินทางของพระภิกษุเสวียนจั้ง ตามคำถ่ายถอดของปราชญ์ทางภาษาอย่างซามูเอล บีล (Samuel Beal) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2427 ได้ระบุเอาไว้ว่า

“เดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังชายขอบของมหาสมุทร เราจะมาถึงอาณาจักร (kingdom) ศรีเกษตร (ชิลิฉาตาหลอ)

ไกลออกไปจากนั้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชายฝั่งของมหาสมุทร เราจะมาถึงประเทศ (country) กามลังกา (เกียม้อลังเกีย) ห่างออกไปทางทิศตะวันออกจะเป็นอาณาจักรแห่งทวารวดี (โถโลโปติ) ทางทิศตะวันออกต่อไปเป็นประเทศแห่งอิศานปุระ (อิซางป๋อหลอ) และไกลทางทิศตะวันออกต่อไปจะเป็นประเทศแห่งมหาจามปา (โมโหเฉนโป) ซึ่งก็คือหลินอี้ ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นประเทศที่ชื่อว่า ยามนทวีป (ยาวนทวีป, เยนเนียวนาฉือ) ทั้ง 6 ประเทศนี้ ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำที่ไม่อาจเข้าถึงได้ แต่ขอบเขต, ลักษณะของผู้คน และประเทศสามารถเรียนรู้ได้ด้วยการสอบถาม”

จะเห็นได้ว่าเสวียนจั้งนั้นระบุชื่อรัฐที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ถัดไปทางทิศตะวันออกเรื่อยๆ และเมื่อจะเปลี่ยนทิศไปยังยาวนทวีป (เข้าใจว่าคือ ชวา) ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า เปลี่ยนไปทางตะวันตกเฉียงใต้

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ประหลาดพิลึกดีเหมือนกัน ถ้าเสวียนจั้งจะพูดถึงศรีเกษตร (ชิลิฉาตาหลอ) ทางตอนใต้ของลุ่มน้ำอิรวดี ในประเทศพม่า แล้วลงใต้ไปพูดถึงปัตตานี ก่อนที่จะวกขึ้นเหนือมาหาทวารวดี พูดง่ายๆ ว่าถ้าจะซื่อสัตย์ต่อตัวบทในบันทึกของภิกษุเสวียนจั้งแล้ว เกียม้อลังเกีย ก็ควรที่จะอยู่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง อย่างที่คุณสุจิตต์ว่าจริงๆ นั่นแหละ

 

แต่บันทึกของเสวียนจั้ง ซึ่งเป็นเอกสารสมัยต้นราชวงศ์ถัง (ราชวงศ์ถังสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.1161) ก็ไม่ใช่เอกสารจีนโบราณชิ้นเก่าแก่ที่สุดที่พูดถึง “เกียม้อลังเกีย”, “หลั่งเกียฉู่” หรือ “หลั่งยะสิว”

หนังสือ “เหลียงซู” ซึ่งเป็นพงศาวดารของราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.1045-1100) อันเป็นราชวงศ์หนึ่งในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ.963-1132) ที่จีนแตกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ และมีราชวงศ์เหลียงปกครองอยู่ทางใต้ (จึงมักเรียกกันในอีกชื่อว่า ราชวงศ์เหลียงใต้) โดยมีเมืองหลวงคือนครเจี้ยนคัง (ปัจจุบันคือ เมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู) ได้กล่าวถึงการติดต่อกับชาติต่างๆ (ซึ่งราชวงศ์เหลียงถือว่าเป็น “อนารยชน”) โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรกที่เหลียงซูคือกลุ่มชนที่อยู่ทางทะเลใต้ (หมายถึงอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาค) ในบทที่ชื่อว่า “หนานซู” และได้กล่าวถึงหลั่งยะสิว โดยผมได้เคยไหว้วานให้มิตรสหายที่เชี่ยวชาญอักษรจีนโบราณ ช่วยถ่ายถอดจากภาษาจีนออกมาเป็นภาษาไทยเมื่อนานมาแล้ว ดังมีข้อความว่า

“หลั่งยะสิวตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ ในดินแดนแห่งนี้ใช้เวลาเดินทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกราว 30 วัน จากทิศเหนือไปยังทิศใต้ใช้เวลาราว 20 วัน ทางเหนือของหลั่งยะสิวอยู่ห่างจากมณฑลกวางตุ้ง 24,000 ลี้ (ในสมัยนั้น กลุ่มราชวงศ์ทางใต้ของจีนกำหนดให้ 1 ลี้ มีความยาวเท่ากับ 415.8 เมตร-ผู้เขียน)

สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศรวมทั้งพืชภัณฑ์ผลผลิตไม่แตกต่างจากฝูหนาน (หรือที่ในโลกภาษาไทยมักจะเรียกว่า ฟูนัน) แต่ว่าจะมีปลูกพืชจำพวกไม้หอม เช่น จ้าน ต้นเฉิน และพัวลุ่ย

ประเพณีวัฒนธรรมของหลั่งยะสิวนั้น ทั้งชายหญิงล้วนแต่ไม่สวมเสื้อ ปล่อยผมสยายบ่า ใช้ผ้าที่ทำจากใบเป้ย (เป้ย คือ ใบไม้ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการจารคัมภีร์) มาทอเป็นโสร่งใช้สวมใส่ ส่วนกษัตริย์ และชนชั้นสูง จะใช้ผ้าสีเหมือนท้องฟ้ายามเย็น (สีแดดปากผ้าอ้อม) พาดบ่าอีกหนึ่งผืนและใช้ทองคำที่ถักเป็นเส้นร้อยรัดเข้าไว้ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับคือต่างหูทองคำ ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงก็จะนุ่งห่มด้วยผ้าฝ้าย และใช้สายสร้อยที่ทำจากหินมีค่า และหยกพันรอบกาย

สิ่งปลูกสร้างที่นี้ใช้อิฐในการก่อสร้าง และมีการสร้างป้อมเหนือประตูเมืองด้วย

กษัตริย์ใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทาง และมีร่มคันใหญ่สีขาวกางป้องกันแดดลม มีทหารองครักษ์เป็นผู้ถือธงประจำตัว และมีการประโคมดนตรีไปตลอดการเดินทาง การอารักขากษัตริย์เป็นไปอย่างแน่นหนา

ประชาชนของหลั่งยะสิวเล่าให้ฟังว่า ได้ก่อตั้งมาสี่ร้อยกว่าปีแล้ว องค์รัชทายาทนั้นไม่มีความสามารถ ดังนั้น เมื่อประชาชนเห็นว่า ในกลุ่มชนชั้นสูงมีผู้มีบุญญาธิการ ประชาชนจึงพร้อมใจกันสวามิภักดิ์ต่อบุคคลผู้นั้น เมื่อกษัตริย์ทราบความดังกล่าวจึงออกคำสั่งให้จับบุคคลผู้นั้น เสียแต่ทว่าเมื่อเข้าจับกุมบุคคลผู้นั้น กุญแจที่ใช้คล้องโซ่ก็แตกหักออกจากกัน กษัตริย์เห็นว่าบุคคลผู้นี้ต้องเป็นผู้มีบุญญาธิการอย่างแน่แท้ จึงไม่กล้าที่จะทำร้าย ดังนั้น จึงไล่บุคคลนี้ออกนอกราชอาณาเขต

เมื่อเป็นดังนี้ บุคคลผู้นั้นจึงได้หนีภัยไปยังอินเดีย กษัตริย์ของอินเดียได้ยกราชธิดาให้เป็นมเหสีของคนผู้นี้ หลังจากนั้นไม่นาน กษัตริย์ของประเทศหลั่งยะสิวก็สวรรคต ขุนนางและประชาชนจึงได้เชิญบุคคลผู้นี้กลับมาเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศต่อไป

หลังจากนั้นอีกราว 20 ปีให้หลัง กษัตริย์ผู้นี้ก็สวรรคตลง บุตรของกษัตริย์ชื่อว่า พัวเจียต๋าตัว ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา

ปีศักราชเทียนเจียน (ศักราชในรัชกาลของพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ ตรงกับ พ.ศ.1059) ที่ 14 พัวเจียต๋าได้ส่งทูตชื่อ อาเช่อตัว มาถวายบรรณาการแก่จักรพรรดิจีน”

ถ้าเชื่อตามข้อมูลในพงศาวดารราชวงศ์เหลียงฉบับนี้แล้ว “หลั่งยะสิว” หรือ “เกียม้อลังเกีย” ในบันทึกของภิกษุเสวียนจั้งก็มีอายุตั้งแต่ พ.ศ.750 มาแล้วเป็นอย่างน้อย สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ที่มีชุมชนสถานีการค้านานาชาติในยุคเหล็ก และตรงกับช่วงเวลาที่เอกสารจากอินเดียเรียกเราว่า “สุวรรณภูมิ” •