จดหมายข่าวเล่าเรื่องบวก/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

จดหมายข่าวเล่าเรื่องบวก

 

เด็กเจน Z มันจะถูกมองว่าไม่ให้ความสนใจข่าวสารบ้านเมืองเท่ากับคนเจนก่อนๆ

แต่ก็อย่างที่ฉันเคยได้เขียนในคอลัมน์นี้ไปแล้วว่าเมื่อทำการสำรวจก็พบว่าความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย เด็กเจน Z แค่สนใจข่าวคนละแบบกับคนเจนอื่นเท่านั้น

เจน Z อยากอ่านข่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ตัวเองให้ความสำคัญ อย่างประเด็นทางสังคม สิทธิมนุษยชน หรือความเท่าเทียมกัน

ยังมีอีกลักษณะนิสัยการเสพข่าวของเจน Z ที่น่าสนใจ ก็คือ เจน Z บอกว่าพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าอ่านข่าวถ้าหากว่าข่าวนั้นๆ เป็นข่าวที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข่าวที่อยู่ในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่

ทุกวันนี้ข่าวส่วนใหญ่ที่เราเสพเข้าไปในแต่ละวันล้วนเป็นข่าวที่เราเห็นจากบนโซเชียลมีเดีย เกือบทั้งหมดเป็นข่าวฟรี และไม่ใช่ข่าวที่เขียนยากอะไรเพราะเป็นแค่การรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยแข่งกันที่ความเร็วเป็นหลัก

ข่าวที่ได้รับความสนใจล้นหลามมักจะเป็นข่าวด้านลบที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ หายนภัย ความเสียหาย เหตุการณ์ฉาวโฉ่ เพราะข่าวด้านลบเป็นข่าวที่อัลกอริธึ่มแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะดันให้ผู้ใช้งานได้เห็นเยอะที่สุด เพราะนี่เป็นรูปแบบของข่าวที่ ‘ขายได้’ มากที่สุด มีแนวโน้มที่คนจะมีส่วนร่วมด้วยมากที่สุด

ตัวอย่างล่าสุดที่ฉันเชื่อว่าทำให้ผู้อ่านหลายๆ คนรู้สึกท่วมท้นจนเสพข่าวต่อไปไม่ไหวก็น่าจะเป็นข่าวเรื่องดาราสาวแตงโมที่เสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน หน้าฟีดโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยเรื่องที่ชวนให้รู้สึกหดหู่และสิ้นหวังจนทำให้เราต้องถามตัวเองว่าการเสพข่าวบนโซเชียลมีเดียทำให้เรารู้สึกดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่ และถ้ามันทำให้เรารู้สึกแย่ ทำไมเราถึงหยุดหยิบมือถือขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ได้เสียที

ความพยายามในการสอดแทรกข่าวดีๆ เข้าไปเพื่อเจือจางปริมาณของข่าวร้ายๆ บ้างก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ฉันเคยเห็นบางเพจที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความตั้งใจว่าจะรายงานเฉพาะเรื่องดีๆ เท่านั้น

แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน

ที่ยกตัวอย่างเจน Z ขึ้นมาในตอนต้นเพราะฉันเห็นว่าเราอาจจะไม่สามารถหยิบมาเฉพาะข่าวดีๆ และคาดหวังว่าจะทำให้สังคมดีขึ้น แต่ข่าวที่ดีนั้นต้องส่งเสริมให้คนอ่านข่าวรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและใกล้ชิดสังคมมากขึ้นด้วย

สตาร์ตอัพชื่อ 6AM City เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาเพราะเกิดขึ้นจากแนวคิดว่าเรามีรายงานข่าวแย่ๆ มากพอแล้ว ดังนั้น ข่าวที่ผู้บริโภคจะได้รับจาก 6AM City จะไม่รวมข่าวอาชญากรรม การเมือง ข่าวที่ชวนให้รู้สึกแย่เข้าไปด้วยเลย

แต่จะเป็นจดหมายข่าว หรือ newsletter ที่ส่งให้ผู้สมัครรับข่าวในแต่ละเมืองได้รู้ถึงความเป็นไป กิจกรรมต่างๆ ของเมืองนั้นๆ สามารถเปิดอ่านได้ในเวลา 6 โมงเช้าของทุกวัน ใช้เวลาอ่านสั้นๆ เพียงแค่ 5 นาทีก็จบ

6AM City จะแบ่งออกเป็นข่าวสำหรับแต่ละเมืองในสหรัฐ โดยเน้นการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในชุมชนที่ตัวเองอยู่ จุดเด่นที่น่าสนใจของเมืองนั้นๆ และกิจกรรมต่างๆ ที่ประชาชนในเมืองสามารถเข้าร่วมได้

อย่างเช่น เมื่อคนรับข่าวในเมือง Kansas City เปิดจดหมายข่าวอ่านก็จะได้เห็นเนื้อหาเกี่ยวกับถนน 12th Street ที่เป็นถนนชื่อดังในเมือง หรือช่องทางที่ประชาชนจะสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับการวางผังเมืองได้

เมื่อเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวกับชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ คนรับข่าวก็จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทำให้จดหมายข่าวของ 6AM City ได้รับความนิยม มีผู้อ่านมากถึง 82,000 คนต่อวัน และมีผู้สมัครรับข่าวแล้วมากกว่า 1 ล้านคน

ทำให้ 6AM City เป็นแพลตฟอร์มจดหมายข่าวที่เติบโตรวดเร็วที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่ง

 

สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกประหลาดใจก็คือฉันเคยคิดว่ารูปแบบการเสนอเนื้อหาด้วยการส่งจดหมายข่าวนั้นเป็นสิ่งที่คนยุคนี้แทบจะไม่คลิกอ่านอีกต่อไปแล้ว ผู้ให้บริการอีเมลเจ้าใหญ่ๆ ก็มักจะดันจดหมายข่าวให้ไปอยู่ภายใต้หัวข้อโฆษณาก็ยิ่งเป็นการลดโอกาสที่ผู้รับจะได้เห็นลงไปอีก เราจึงเห็นจดหมายข่าวจากแบรนด์หรือองค์กรต่างๆ น้อยลงเรื่อยๆ

แต่ 6AM City สามารถฟื้นคืนชีพให้จดหมายข่าวได้จับจองพื้นที่ในกล่องจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของเราอีกครั้ง และยังวางแผนจะเติบโตขยายไปครอบคลุมเมืองต่างๆ ในสหรัฐเพิ่มอีก 30 เมืองภายในสิ้นปีนี้

และตั้งเป้าทำรายได้ให้ถึง 10 ล้านดอลลาร์ด้วย

6AM City ทำให้เห็นว่าอันที่จริงแล้วรูปแบบของจดหมายข่าวไม่ได้เสื่อมความนิยมไปไหน เพราะยังเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารได้ดี แต่ที่ผ่านมาเนื้อหาที่อยู่ในจดหมายข่าวที่อีลุ่ยฉุยแฉกต่างหากที่ทำให้เราเอือมระอาทุกครั้งที่ได้รับ

เมื่อเนื้อหาถูกปรับมาให้เกี่ยวกับตัวเรา เกี่ยวกับชุมชนที่เราอยู่ จดหมายข่าวก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งได้

 

Ryan Heafy ผู้ร่วมก่อตั้งและ COO ของ 6AM City บอกว่าความสำเร็จของบริษัทมาจากการออกแบบให้เป็นคล้ายๆ กับเครื่องจักรการตลาดสำหรับเมืองแต่ละเมือง โดยคัดกรองเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเพื่อนำเสนอและชี้แนะว่าผู้อ่านสามารถทำอะไรบ้างเพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการทำให้เมืองที่ตัวเองอยู่ดีขึ้น และทำให้ตัวเองเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพขึ้น ตั้งแต่เนื้อหาเกี่ยวกับการแนะแนวทางการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการในเมือง องค์กรไม่หวังผลกำไร หรือแม้กระทั่งอีเวนต์การกุศลต่างๆ ที่สามารถเข้าร่วมได้ ไปจนถึงการชี้เป้าว่าควรไปนั่งจิบค็อกเทลที่ไหนในดาวน์ทาวน์

จดหมายข่าวประเภทนี้ช่วยดึงผู้อ่านให้หลุดออกจากการฟาดฟันกับคนที่มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน และช่วยให้เรารู้จักตัวเราเองในฐานะการเป็นประชาชนในเมืองที่เราอยู่ได้ดีขึ้น

ความฝันยิ่งใหญ่ของ 6AM City อีกอย่างก็คือการช่วยหาที่หาทางให้กับสื่อท้องถิ่นอเมริกันที่ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ด้วย เพราะบริษัทก็พิสูจน์แล้วว่าโมเดลธุรกิจของตัวเองเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและเติบโตได้จริง

การรับมือข่าวร้ายๆ ที่ถาโถมเข้าครอบครองโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ได้ทำได้ด้วยการเลิกอ่านข่าวไปเลย หรือเลือกอ่านเฉพาะเรื่องดีๆ เท่านั้น แต่ฉันว่าการที่มีแหล่งข่าวให้เราติดตามสิ่งที่ใกล้ตัวเราจริงๆ อย่างอีเวนต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เราอยู่ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าการกระทำของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และข่าวข่าวนั้นก็เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่เราโดยตรง ไม่ใช่แค่การเสพข่าวดราม่าเลื่อนลอยที่แม้เราจะไม่รู้ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อชีวิตเลย

การได้ตื่นเช้ามาอ่านจดหมายข่าวแบบนี้ก็น่าจะเป็นการเริ่มวันใหม่ที่สดใสกว่าแน่ๆ