นิธิ เอียวศรีวงศ์ | อินเตอร์เน็ตกับทุนทางสังคม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

โควิดทำลายทุนทางสังคมของเราซึ่งมีน้อยอยู่แล้วไปมากทีเดียว

เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนนี่เรื่องใหญ่กว่าได้เรียนความรู้ในหนังสือเรียนน้อยกว่าที่หลักสูตรต้องการ โรงเรียนให้ประสบการณ์ที่เป็นพื้นฐานของทุนทางสังคมเลยทีเดียว อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายโอนทางออนไลน์ได้ นั่นคือได้เรียนรู้การสร้างเครือข่ายทางสังคมระดับพื้นฐาน แล้วพัฒนาไปสู่การร่วมกิจกรรมอื่นๆ (รวมถึงการยกพวกตีกันด้วย) เครือข่ายทางสังคมเช่นนี้แหละที่ทำให้ต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์เชิงต่างตอบแทน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทุกชนิดเลยก็ว่าได้ และเพราะ “ต่างก็ตอบแทน” นี่แหละที่ทำให้เราเรียนรู้การให้ความไว้วางใจกัน

ปราศจากทั้งหมดเหล่านี้ สังคมก็ทำงานไม่ได้ ไม่เฉพาะแต่การทำเงินซึ่งกลายเป็นเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวของสมัยนี้ไปแล้ว แต่ทำอย่างอื่นๆ ทั้งหมด นับตั้งแต่รัฐบาล ไปจนถึงรักษาโควิด หรือกวาดถนนก็ไม่ได้ด้วย

ที่ทำงานก็เหมือนกัน มองจากสายตาของนายจ้าง ที่ทำงานเป็นเพียงแหล่งที่สามารถก่อให้เกิด “ผลิตภาพ” ได้ เพราะฉะนั้น ในการผลิตบางอย่าง จึงไม่มีความจำเป็นต้องมี “โรงงาน” ก็ได้ การ “เวิร์กฟรอมโฮม” กลายเป็นเรื่องก้าวหน้าโก้เก๋ แต่ที่จริงลดต้นทุนการผลิตให้แก่นายจ้างไปเยอะ ในส่วนลูกจ้าง ที่ทำงานคือที่ซึ่งเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานได้หลากหลายมิติ ไม่เฉพาะแต่การกินข้าวกลางวันด้วยกันเท่านั้น แต่ในหลายกรณีคือการคบหากันสนิทมากขึ้น จนแม้แต่คู่สมรสหรือลูกๆ ก็กลายเป็นเพื่อนกันไปด้วย (เครือข่ายทางสังคมชนิดหนึ่ง) ต่างก็สร้างทุนทางสังคมที่ต่างเอาไปใช้ประโยชน์ของตนเองโดยไม่ต้องเสนอนายจ้าง เป็นอีกส่วนหนึ่งของ “ค่าตอบแทน” ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินเดือน

การเที่ยวเตร่กลางคืนอาจเป็นอบายมุข ไม่เหมาะแก่พระภิกษุ แต่มันก็ทำหน้าที่สร้างทุนทางสังคมที่สำคัญแก่ฆราวาส การสังสันทน์ (ไม่ว่าจะมีเหล้าด้วยหรือไม่) มีความสำคัญในทุกสังคม นอกจากเป็นประโยชน์แก่บุคคลแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายทางสังคม ผมคิดว่า ในเมืองไทยไปเน้นแต่เรื่องการปลดปล่อยอารมณ์ของบุคคลเพียงด้านเดียว ที่จริงถ้ากลับไปมองการสังสันทน์ของชาวบ้านในสมัยก่อน ก็จะเห็นว่ามีมากกว่าด้านบุคคล หลายครั้งใช้เป็นสำนวนว่าไป “ช่วย” งานเขาด้วยซ้ำ ทุกงานเลี้ยงในหมู่บ้าน คือการยืนยันความสัมพันธ์, สถานภาพ และพันธะที่บุคคลมีต่อกัน และแน่นอนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความเห็น จนบางครั้งก่อให้เกิดกิจกรรมทางสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย

อันที่จริง นั่งโทษแต่โควิดอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะรัฐประหารของ คสช.นั้นเอง ก็มีส่วนอย่างมากในการทำลายทุนทางสังคมโดยตรง ในทางการเมือง ทุนทางสังคมช่วยผ่อนปรนมิให้ความขัดแย้งกลายเป็นการแตกขั้ว ถึงจะเป็นสลิ่มหรือสามกีบก็ยังเป็นเพื่อนกัน หรือร่วมในเครือข่ายทางสังคมเดียวกัน ที่ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นประโยชน์ เช่น ร่วมในวงดนตรีไทยวงเดียวกัน

ถึงผมจะโทษ กปปส.ว่าสร้างการแตกขั้วอย่างสุดโต่งขึ้นในสังคม แต่ผมก็ยอมรับด้วยว่าความสำเร็จของ กปปส.จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าสังคมไทยสมัยใหม่ไม่ยากจนทุนทางสังคมถึงเพียงนี้ ผมคิดว่าความยากจนดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเข้าสู่ความทันสมัยของรัฐไทย เพราะกระบวนการเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่นั้น ผู้ปกครองไทยเลือกจะทำลายความสัมพันธ์ทางสังคม (และการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม) ที่เคยมีมาก่อน และอยู่นอกการควบคุมของรัฐลงหมด

เช่น พุทธศานาเคยมีส่วนอย่างมากในการจัดองค์กรทางสังคม ซึ่งชาวบ้านมีส่วนร่วมกันในการกำกับควบคุม แต่รัฐสมัยใหม่ก็ใช้อำนาจสร้างองค์กรกลางของรัฐขึ้นเพื่อทำให้องค์กรทางศาสนาเหลืออยู่เพียงองค์กรเดียวที่รัฐกำกับได้อย่างรัดกุมเท่านั้น

จนปัจจุบันก็เคยชิน กฎหมายใหม่มุ่งจะทำให้องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรทุกรูปแบบตกอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐ แล้วเราจะยังเลือกเพื่อน, เลือกชีวิต, เลือกคู่ชีวิต ฯลฯ ได้อย่างอิสระเสรีต่อไปในอนาคตหรือไม่

นอกจากการสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทยจะทำลายทุนทางสังคมต่างๆ ลงและคอยขัดขวางมิให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่แม้ไม่ผิดกฏหมาย แต่เป็นอิสระจากการกำกับควบคุมของรัฐแล้ว เทคโนโลยีของโลกปัจจุบันก็ยังมีส่วนอย่างมากในการทำให้คนกลายเป็นปัจเจกบุคคลล้วนๆ ไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับคนอื่น

เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ทำให้เราดูหนังกันคนละเรื่อง, ฟังเพลงกันคนละชนิด, รับเรื่องเล่ากันคนละแบบ, มี “ความจริง”, “ความงาม” และความดีกันคนละชุด

เรื่องนี้มีผู้พูดถึงมามากแล้ว แต่ผมอยากเตือนไว้อย่างหนึ่งด้วยว่า เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่กระทบต่อสังคมต่างๆ ในระดับใกล้เคียงกัน หรือแทบจะเหมือนกัน แต่กระทบต่อทุนทางสังคมของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน บางแห่งกระทบมาก บางแห่งกระทบไม่มากเท่า ยังเหลือการรวมกลุ่มจริง (ไม่เสมือน) พูดคุยกันจริง เถียงกันต่อหน้า และทำกิจกรรมอีกหลายชนิดแบบเห็นหน้าเห็นตากัน

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสื่อสารเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด แม้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากก็ตาม

 

มีคนเล่าว่า ในร้านกาแฟที่เมืองหนึ่งในญี่ปุ่น เขาได้พบเด็กหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งคง “เดต” กันมา แต่ทั้งคู่ไม่ได้พูดคุยกันเลย เพราะต่างก้มหน้าลงบนจอโทรศัพท์แล้วพิมพ์ข้อความอะไรในนั้น ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสังเกตอย่างละเอียดแล้ว ทั้งคู่กำลังสนทนากันเองผ่านตัวหนังสือ

ถึงฟังดูเป็นกรณีสุดโต่ง แต่ที่จริงแล้วมีฐานทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นหนุนหลังอยู่ด้วย คนญี่ปุ่นแต่งงานโดยผ่านแม่สื่อ จะเป็นผู้ใหญ่จัดหาหรือเจ้าตัวจัดหาเองอย่างสมัยหลังก็ตาม เพิ่งมานิยมรักโรแมนติกระหว่างสองปัจเจกบุคคลไม่นานมานี้เอง ผมจึงให้สงสัยเป็นกำลังว่า ธรรมเนียมการ “จีบ” (แบบรักโรแมนติก) ของญี่ปุ่นไม่สู้จะแข็งแรงนักกระมัง จึงทำให้หนุ่มสาวต้องแอบอยู่ข้างหลังตัวหนังสือ

ทุกครั้งที่เราสื่อสารกับใครผ่านตัวหนังสือ เรามีสติที่จะใคร่ครวญก่อนว่า เราจะเผยตัวตนของเราแค่ไหน ยิ่งกว่านั้นมันเป็นช่องทางการสื่อสารตัวตนที่แคบกว่าการสนทนากันมาก เช่น ไม่มีแววตา, ไม่มีเสียงหัวเราะ, หรือเสียงสะเทือนใจ, ไม่มีการสัมผัส (ซึ่งสามารถใช้สื่อความได้ในทุกวัฒนธรรมกระมัง) ฯลฯ

เหมือนประเพณีของการ “แอ่ว” สาวในภาคเหนือ เขาไม่ได้พูดทุกอย่างที่อยากจะพูด แต่มีโค้ดหรือคำ-วลี-อนุประโยคตามประเพณีในการตอบโต้กันระหว่างหนุ่มสาว จนกว่าเมื่อสาวแสดงความใส่ใจกับหนุ่มคนใดเป็นพิเศษแล้วนั่นแหละ เพื่อนๆ ร่วมแอ่วจึงจากไป เพื่อปล่อยให้หนุ่มสาวได้สนทนากันตามลำพังนอกกรอบของประเพณี

ประเพณีของการแอ่วคือที่สำหรับการแฝงตัวตนอย่างเดียวกับตัวหนังสือบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

ไม่เฉพาะแต่การจีบกันของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เปิดโอกาสให้ทุกคนสื่อสารระหว่างกัน โดยไม่ต้องมีตัวตน ผู้สื่อก็มีแต่ชื่อของ “เพจ” ผู้อ่านคือใครก็ตามที่เข้าไปอ่าน จะคอมเมนต์อะไรก็ได้โดยไม่มีใครรู้ว่าผู้เมนต์คือใคร เราทุกคนมีแต่ความเห็นว่อนไปว่อนมาบนพื้นที่ไซเบอร์ แต่ละคนอาจมี “เพื่อน” เป็นร้อยเป็นแสน และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจ “ตัดเพื่อน” คนใดคนหนึ่งทิ้งเสียก็ได้

ลองคิดถึงการ “ตัดเพื่อน” ในชีวิตจริงที่เราต้องสัมพันธ์กันโดยผ่านตัวตนครบบริบูรณ์ดูสิครับ ว่ามันจะสร้างความเจ็บปวดแก่คนที่ถูกตัดและคนตัดมากสักเพียงไร และคงไม่มีใครทำง่ายๆ เพียงเพราะเขาพูดไม่เข้าหูเราเท่านั้น

มนุษย์บนโซเชียลนั้นเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์ที่เคยครองโลกมาตั้งแต่ก่อนยุคหิน และได้สร้างวัฒนธรรม (หรือบางคนอาจเรียกว่าอารยธรรมก็ยังได้) สำหรับการติดต่อสื่อสารกันตัวต่อตัวไว้อย่างละเอียดซับซ้อน

มนุษย์สายพันธุ์ใหม่นี้อาจค่อยๆ พัฒนามาอย่างช้าๆ ตั้งแต่ก่อนเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่จะก้าวหน้าเท่าปัจจุบัน ครูที่สอนภาษาอินโดนีเซียแก่ผมเคยบ่นว่า คนรุ่นหลังจากท่านไม่รู้วิธีทำลายความแปลกหน้าของคนที่บังเอิญต้องมา รอรถเมล์ร่วมกัน เพราะมันมีบทสนทนาที่คนรุ่นท่านคุ้นเคยคือการพูดถึงภูมิอากาศ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ตอบโต้กันโดยมารยาท แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่บางคนบางคู่อาจใช้เพื่อนำไปสู่การสนทนาเรื่องอื่น ถ้าถูกคอกันดี พบกันครั้งหน้าก็อาจคุยเรื่องอื่น จนในที่สุดก็อาจคบหาเป็นเพื่อนในชีวิตจริงก็ได้

และเมื่อผมต้องไปเรียนภาษาดัทช์ที่มหาวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งข้าวโพดแห่งหนึ่งในสหรัฐ เดินผ่านหญิงชายสูงอายุที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนเลย เขาจะเอ่ยคำว่าสวัสดีทันที แม้บางครั้งเอ่ยโดยไม่ได้มองหน้าเราด้วยซ้ำ แต่ไม่เป็นไร เพราะการทักทายทำให้เราสำนึกถึงสิ่งที่เราไม่เคยมองเห็นเลย คือความเป็นชุมชนที่เราต่างเป็นสมาชิกร่วมกัน

ผมจะไม่พูดถึงผลทางการเมืองและสังคมของเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างอื่นที่พูดกันมามากแล้ว เช่น การแตกขั้วอย่างสุดโต่งของคนในสังคม เพราะต่างก็เลือกจะรับรู้ข่าวสารเฉพาะที่ตรงกับอคติส่วนตัวของตนเอง ไม่มีช่องทางการสื่อสารที่ให้ข้อมูลหลากหลายด้านอย่างที่เคยเป็นมา แต่อยากจะยืนยันอย่างเดียวกับคนอื่นว่า ความเปลี่ยนแปลงของผู้คนอันเกิดขึ้นจากชีวิตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่นี้ (ซึ่งก็คือความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนั่นเอง) กระทบต่อระบบการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมอย่างรุนแรง (และเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วด้วย) บางส่วนอาจเป็นผลดี บางส่วนจะดีจะร้ายอย่างไรยังไม่รู้ชัด (เช่น บิตคอยน์) และบางส่วนน่าจะเป็นผลร้าย เช่น การแตกขั้วทางการเมืองอย่างสุดโต่ง ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่เป็นแนวโน้มในทุกประเทศ ทั้งเผด็จการเต็มรูปอย่างรัสเซีย หรือประชาธิปไตยจ๋าอย่างสหรัฐ

ผมไม่ทราบหรอกว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร และจะแก้ได้จริงหรือไม่ แต่ก็ดังที่กล่าวข้างต้น ความเปลี่ยนแปลงเกิดไม่เท่าและไม่เหมือนกันในแต่ละสังคม ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละสังคมจะตอบสนองต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไร ฉะนั้น ทางแก้หรือบรรเทาปัญหาในแต่ละสังคมจึงน่าจะต่างกันด้วย เรียนรู้จากกันนั้นดี แต่ลอกเลียนจากกันนั้นทำไม่ได้

ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวว่า ในสังคมไทยนั้น การศึกษาควรปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อทำให้คนไทยตอบสนองต่อเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์

ผมคิดว่า การศึกษาไทยให้ความสำคัญแก่การสื่อสารระหว่างคนกับคนน้อยเกินไป เราแทบไม่มีการอภิปรายกลุ่มในชั้นเรียนเลย แม้แต่เมื่อนักเรียนเป็นฝ่ายเสนอผลงานการค้นคว้าของตนเองต่อชั้นเรียน ก็ไม่มีใครหยิบข้อดีขึ้นมายกย่องและ/หรือหยิบข้ออ่อนมาชี้ให้เห็นว่าควรแก้ไขอย่างไร อาจเกรงว่าจะถูก unfriend ในชีวิตจริง วัฒนธรรมที่เปิดช่องให้ขัดแย้งกันซึ่งหน้าได้น้อยมาก ย่อมมีทุนทางสังคมร่อยหรอเต็มทีสำหรับสังคมในโลกปัจจุบัน

ชั้นเรียนน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการวางทักษะที่จำเป็นในการสั่งสมทุนทางสังคมด้วย นั่นคือความสามารถในการติดต่อสื่อสารและสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อร่วมมือกันและขัดแย้งกันอย่างเป็นมิตร ในขณะเดียวกันก็ทำให้การศึกษาไทยมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากขึ้น

ที่เรียกกันว่า “กิจกรรมนอกหลักสูตร” หรือนอกห้องเรียนนั้น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าในหลักสูตรหรือในห้องเรียน ไม่ใช่เป็นเพียงเวลาว่างสำหรับให้เด็กได้วิ่งเล่นเพียงอย่างเดียว แต่การเล่นของเด็กนั้นสร้างเสริมทักษะที่จำเป็นหลายอย่างในชีวิตที่มนุษย์ต้องสัมผัสกันเองจริงๆ นับตั้งแต่การรู้จักประนีประนอม แบ่งปันให้กันและกัน, เรียนรู้การแสวงหาความยอมรับจากคนอื่นที่ซับซ้อนขึ้นตามวัย, เรียนรู้การจัดองค์กร, เรียนรู้การทำกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก และเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างที่อินเตอร์เน็ตสอนให้ไม่ได้ แต่คนด้วยกันสอนกันเองได้ตลอดมาในประวัติศาสตร์

แน่นอนผลกระทบจากเทคโนโลยีย่อมตกแก่สังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้จักผลร้ายของมันและจัดการรับมือมันอย่างเท่าทันได้เพียงพอ ก็ย่อมบรรเทาผลกระทบในทางร้ายของมันได้แน่