รถยนต์ไฟฟ้าจีน อีกธุรกิจจีนซึ่งมีอิทธิพล เปิดฉากในฐานะ “ผู้มาก่อน” ในสังคมไทย / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

รถยนต์ไฟฟ้าจีน

อีกธุรกิจจีนซึ่งมีอิทธิพล

เปิดฉากในฐานะ “ผู้มาก่อน” ในสังคมไทย

 

“…สำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยครองการเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงกว่า 90% อีกทั้งยังสามารถดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็ว MG Super Charge ได้แล้วทั่วประเทศจำนวน 120 แห่ง เป็นต้น…” ถ้อยแถลงอย่างเป็นการเป็นงาน สรุปผลการดำเนินกิจการในปี 2564 บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ MG ในประเทศไทย (18 มกราคม 2565) ว่าไว้อย่างนั้น

จากนั้น (21 มีนาคม 2565) “…ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงการขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต…” เข้ากับจังหวะก่อนใครๆ เมื่อรัฐบาลเปิดแพ็กเกจสนับสนุนกระตุ้นการใช้รถไฟฟ้าครั้งใหญ่ในประเทศไทย พร้อมๆ กับ MG เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ราคาใหม่ (ที่ถูกลง) ในงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งได้การตอบรับอย่างดี

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (SAIC Motor – CP) เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น (SAIC : Shanghai Automotive Industry Corporation) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี : CP) มีสัดส่วนการถือหุ้น SAIC 51% และ CP 49% เปิดฉากก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2556 ส่วนบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MG Sales (Thailand) กำกับดูแลงานด้านการขาย การตลาด และบริการหลังการขายรถยนต์ MG ในประเทศไทย

เป็นดีลสำคัญเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ เกี่ยวข้องกับซีพี เชื่อมโยงกับธุรกิจหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งดำเนินมา 4 ทศวรรษแล้ว และเชื่อมโยงกับบทบทสำคัญปัจจุบันหลายมิติของซีพีในสังคมไทย

 

จากเรื่องเล่า “บันทึกความทรงจำ” (Nikkei My Personal History โดยธนินท์ เจียรวนนท์) บทที่ 19 เรื่อง ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ ความสำเร็จครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นจาก “การคิดต่าง” ได้กล่าวถึงธุรกิจหนึ่งไว้อย่างตั้งใจ เริ่มต้นด้วยการก่อตั้งบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp ช่วงต้นทศวรรษ 2520 โดยร่วมทุนฝ่ายละครึ่งหนึ่งกับ Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจที่แตกแขนง แตกต่างจากเดิมอย่างมากๆ

ต่อมาได้มีความสัมพันธ์กับยักษ์ใหญ่ธุรกิจรถยนต์ญี่ปุ่นด้วย โดยได้สิทธิ์ผลิตมอเตอร์ไซค์แบรนด์ Honda (2528) ธุรกิจดำเนินไปอย่างดี มีโอกาสเพิ่ม (ปี 2533) ร่วมทุนกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลเหอหนาน (Henan) ผลิตรถมอเตอร์ไซค์เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซีพีตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp ออกไป

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์นั้นยังคงและดำเนินไป ก่อให้เกิดดีลใหญ่ดังที่ว่าไว้

เป็นจังหวะประจวบเหมาะกับยุคใหม่จีน การเติบโตของธุรกิจใหญ่ใหม่ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” เป็นโอกาสครั้งใหญ่ ทั้งการเปิดตัวและก้าวสู่โลกภายนอก

สำหรับเมืองไทย เปิดฉากอย่างเป็นกระบวนด้วยธุรกิจธนาคาร สื่อสาร ค้าปลีกออนไลน์ และรถยนต์

ทั้งนี้ ธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทยเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมากๆ เป็นฐานการผลิตแห่งหนึ่งในภูมิภาคของบรรดาเครือข่ายกิจการยานยนต์ระดับโลก ไม่ว่าญี่ปุ่น สหรัฐ หรือยุโรป

ดังนั้น จึงถือเป็นครั้งแรกที่รถยนต์จีนได้เข้าสู่เวทีอันคึกคักนี้ด้วย

 

Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในปี 2538 ต่อเนื่องมาจากตำนานอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนดำเนินการโดยรัฐ ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ปัจจุบัน SAIC เป็นธุรกิจยานยนต์อันดับหนึ่งในประเทศจีน ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์ในประเทศจีนทั้งแบรนด์ตนเองและร่วมทุนเครือข่ายธุรกิจระดับโลกอย่าง GM แห่งสหรัฐแล้ว และ Volkswagen แห่งเยอรมนี

ต่อมาปี 2555 ภายหลังการควบรวมกิจการรถยนต์ในเครือข่ายรัฐบาลจีนครั้งใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อ SAIC Motor Corporation Limited

SAIC วางตำแหน่งในระดับโลก ดังที่ระบุไว้ว่า “เป็นบริษัทอยู่ใน100 อันดับติดต่อกัน 8 ปีซึ่งจัดโดย Fortune Global 500” และมีฐานงานวิจัยและพัฒนาสำคัญ 3 แห่ง ที่อังกฤษ สหรัฐ และอิสราเอล

ส่วนรถยนต์แบรนด์ MG มีประวัติศาสตร์และรากเหง้ามาจากสหราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ปี 2550 กิจการและแบรนด์ MG ได้ขายกลายเป็นสินค้าจีน โดย Nanjing Automobile Group หรือ NAG (ต่อมาปี 2551 NAG ปรับโครงสร้างและได้ควบรวมกิจการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอยู่ใน SAIC)

ขณะกิจการ MG ในอังกฤษ ภายใต้ SAIC ยังดำเนินไปในฐานะที่มีบทบาทด้านการตลาดและบริการ ที่สำคัญเป็นฐานงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ในนาม MG Motor มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Birmingham รถยนต์รุ่นเรือธงใหม่ – MG6 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2555 ถือเป็นงานใหญ่มีขึ้นในประเทศอังกฤษ Wen Jiabao นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีด้วย

ต่อมามีการเปิดตัวในเมืองไทยในปี 2557 “MG6 ก้าวแรกในประเทศไทยเช่นเดียวกับรถยนต์ MG ที่เป็นตำนานและสร้างเกียรติประวัติมากมายตลอดประวัติศาสตร์ 90 ปี MG6 ถูกพัฒนาและออกแบบมาจากเบอร์มิ่งแฮม สหราชอาณาจักร บ้านของแบรนด์ MG ทุกองค์ประกอบของ MG6 ยังคงรักษาความน่าหลงใหลสไตล์อังกฤษแท้ๆ เอาไว้…” (https://www.mgcars.com/th) ด้วยพยายามเชื่อมกับคุณค่าแบรนด์อังกฤษไว้

 

ใช้เวลาไม่นานเลยก็ได้บทสรุปว่า รถยนต์จีนแบรนด์รากเหง้าอังกฤษไปได้ดีในตลาดไทย จากดัชนีความสามารถมียอดขาย (ปี 2557-2559) รวมกันมากกว่า 10,000 คัน

จากนั้นตามมาด้วยแผนการใหญ่ขึ้น สร้างโรงงานแห่งใหม่ (เริ่มก่อสร้างปี 2559) บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ (700,000 ตารางเมตร) ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 2 ชลบุรี

ว่ากันว่าใช้งบประมาณการลงทุนถึง 10,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คัน/ปี เป็น “โรงงานที่มีระบบอัตโนมัติ (Automations) และหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Robotics)…เป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับการพัฒนาแบรนด์ MG ในประเทศไทย เป็นฐานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาที่ประเทศไทย และครอบคลุมทั่วอาเซียน” (อ้างจากถ้อยแถลง SAIC-CP ที่มีขึ้นเวลานั้น)

โรงงานแห่งที่ 2 ได้ฤกษ์เปิดขึ้น (8 ธันวาคม 2560) โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์

อีกฉากตอนของ MG เปิดขึ้นเมื่อรถยนต์แบรนด์รากเหง้าอังกฤษผสมผสานประสบการณ์จีนอย่างลงตัว ว่าด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle) เป็น “ชิ้นส่วน” แห่งภาพสะท้อนท่ามกลางการพัฒนาและวางรากฐานอย่างจริงจังมานานนับทศวรรษในจีนแผ่นดินใหญ่

อาจเรียกว่าคู่ขนานกับแบรนด์ใหญ่ Tesla แห่งสหรัฐเป็นแผนการบุกเบิกทางธุรกิจอันโด่งดัง ขณะที่ที่จีนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐ ภายใต้ “ผู้เล่น” รายย่อยนับร้อยแบรนด์ ข้อมูลในปี 2551 ระบุว่า จีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก

กรณี MG ZS มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ไปไกลขึ้น จากแบรนด์อังกฤษ ในโมเดลในชื่อรุ่นดั้งเดิมเคยผลิตมาก่อนหน้าเกือบๆ 2 ทศวรรษในขณะนั้นเป็น MG Rover เข้าสู่ตลาดโลกอีกครั้งตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งเริ่มผลิตและจำหน่ายในเมืองไทยด้วย ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ตลาดไทยกลายเป็น 1 ใน 4 แห่งที่สำคัญในระดับโลก รองจากจีน ยุโรป และออสเตรเลีย

ในที่สุดก็มาถึงก้าวใหญ่ สู่รถยนต์ไฟฟ้า 100% – MG ZS EV ในเวลากระชั้นชิด เป็นผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นประหยัดในระดับโลก รวมทั้งเมืองไทย •